ว่ากันว่า John Maynard Keynes สมัยเรียนอยู่ Eton (โรงเรียนเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ชอบนอนหลับเป็นอย่างยิ่ง จนเพื่อนๆ รู้กันทั่ว เขาไม่ค่อยชอบกรีกกับละติน แต่กลับชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขาศึกษาชีวิตและความคิดของ Sir Issac Newton จนทะลุปรุโปร่ง และเป็นคนหนึ่งที่เคยมีบันทึกฉบับลายมือเขียนของ Newton ไว้ในครอบครอง เป็นของสะสมส่วนตัวอันมีค่ายิ่ง
ทว่า Keynes ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีจิตใจอ่อนโยนมากคนหนึ่ง เขาชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ คู่รักชายแบบ Homosexual ของเขาที่เขารักมาก ก็เป็นศิลปิน ดังนั้น เมื่อเขาเห็นคนงานต้องตกงาน เขาจึงสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เขามองว่ามนุษย์ที่ไร้งานทำ ย่อมไร้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน
เศรษฐศาสตร์ของเขาจึงมุ่งเน้นไปที่การจ้างงาน เขาเสนอให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยอาศัยนโยบายการคลัง และเครื่องมืออื่นเช่นรัฐวิสาหกิจ เข้ากระตุ้นอุปสงค์มวลรวม เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ Full Employment หรือสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่คนวัยทำงานทุกคนพึงมีงานทำกันถ้วนหน้า
นั่นเป็นเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้คำนึงถึง “มนุษย์” อยู่ในเป้าหมายนั้นด้วย มันเป็นเป้าหมายแบบมนุษยนิยม ต่างกับเป้าหมายแบบเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่อง “ภาวะสมดุล” หรือ Market Equilibrium
ความคิดของเขาเคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากบรรดา Policy Maker หลังผ่านการทดสอบจากนโยบาย New Deal เพื่อกู้เศรษฐกิจอเมริกาจากการตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อ 80 ปีก่อน แต่เมื่อหลายประเทศประสบวิกฤติจากกรณีหนี้สินภาครัฐในราวทศวรรษที่ 60-70 ความคิดของเขาก็เริ่มถูกปฏิเสธ และแทนที่โดยความคิดแบบเสรีนิยมขวาจัด ประเภทต้องให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ อย่าไปยุ่งอะไรกับระบบเศรษฐกิจ ปล่อยให้ตลาดปรับตัวเอง คอยแต่คุมกฎและเปิดเสรีทุกอย่าง ทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะตลาดการเงิน เพื่อให้ทุนและการค้าไหลผ่านพรมแดนไปมาได้อย่างเสรี (ความคิดแบบนี้ รู้จักกันในนาม Neo-Liberalism หรือ Washington Consensus)
เอาไปเอามา การปล่อยปละละเลยก็กลับเป็นพิษ ส่งผลให้เกิดวิกฤติในตลาดหุ้นและต่อระบบเศรษฐกิจการเงินหลายครั้งหลายหน ในรอบหลายสิบปีมานี้ และดูเหมือนจะถี่ขึ้นๆ จนมาเกิด “วิกฤติซับพราม” ซึ่งถือเป็นที่สุดของวิกฤติการเงินที่โลกตะวันตกกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ผู้กุมนโยบายต้องพลิกตำรากลับแบบ 180 องศา กลับมาหานโยบายประชานิยมแบบ Keynes อีกครั้ง เริ่มโดยพี่เบิ้มอเมริกาโดดเข้าอุ้มสถาบันการเงิน (Hank Paulson รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ บอกว่า “Objectable, me include, but Necessary” ส่วน George Bush หัวหน้าพี่เบิ้ม ก็ออกมาพูดน่าตาเฉยว่า “….Government intervention is to preserve the free market”) พี่เบิ้มยุโรปก็ทำบ้างแถมยังจะตั้งกองทุนพยุงหุ้น คล้ายๆ “กองทุนวายุภักษ์” ที่รัฐบาลไทยเคยทำมา เล่นเอานักเศรษฐศาสตร์หัวเสรีนิยมและผู้กุมนโยบายในประเทศโลกที่สาม ซึ่งเคยเดินตามพี่เบิ้มและเคยแสดงความรังเกียจ “นโยบายประชานิยม” ทั้งหลาย ตกตะลึงจนแทบ “ลมใส่” (Allan Greenspan ผู้ยิ่งใหญ่เพิ่งจะออกมายอมรับกับคณะกรรมาธิการการเงินของรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าในอดีตเขาเข้าใจผิดไป นึกว่า “Self-interested principle in banks will be the best way to protected the shareholders interests”)
วิกฤติการณ์ปัจจุบัน จะจบยังไง ยังไม่มีใครรู้ได้ แต่รู้อย่างเดียวว่าหนักแน่ๆ ดีไม่ดี รัฐบาลใหม่ของอเมริกา อาจหันกลับไปใช้นโยบายแบบ New Deal อีกครั้ง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเภทจ้างคนมา “ขุดดิน” เสร็จแล้วก็จ้างทีมใหม่มา “กลบดิน” กลับเข้าที่เก่า เป็นต้น
ในการบรรยาย (Lecture) ครั้งหนึ่งของ Keynes ที่ Cambridge เขาได้กล่าวพาดพิงถึงนโยบายประชานิยมอันหนึ่ง ซึ่ง MBA เห็นว่าน่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในเมืองไทยได้ทันที
MBA จึงได้ลงมือหาข้อมูลเพิ่มจากที่ Keynes ได้พาดพิงไว้เพียงประโยคเดียว แล้วก็พบว่า สมัยที่นโปเลียนยังฟาดงวงฟาดงาอยู่ในยุโรป ยุคปลายรัชกาลที่ 1 ต่อต้นรัชกาลที่ 2 นั้น รัฐบาลอังกฤษได้ใช้นโยบายปิดล้อม หรือ Blockade คล้ายกับสหรัฐฯ ใช้กับอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซ็น แต่สมัยนั้น อาศัยกองทัพเรือของ Nelson อันเกรียงไกร อุดเส้นทาง Inport-Export ของฝรั่งเศสกับโลกภายนอกทุกทาง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นบางอย่างในฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือย ที่กระทบปารีสเข้าอย่างจัง
ทว่า ฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศสิ้นไร้ไม้ตอก ฝรั่งเศสมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรขึ้น และอุดมไปด้วยช่างฝีมือทุกด้าน เคยยิ่งใหญ่ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและปัญญา นโปเลียนจึงแก้เกมด้วยการใช้นโยบายประชานิยมในหลายด้าน เช่นสร้างงานก่อสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ สนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญ และยกหนี้ให้เกษตรกร เป็นต้น (ใช้ก่อน New Deal ของประธานาธิบดี Roosvelt ร้อยกว่าปี และก่อนรัฐบาลทักษิณเกือบสองร้อยปี)
นโยบายหนึ่งของนโปเลียน ที่มีลักษณะ Innovative มากในสมัยนั้น คือการอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการประเภทช่างฝีมือทุกด้านทั่วประเทศ โดยให้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นผลงานแทนเงิน พูดแบบภาษานักการเงินสมัยใหม่ ก็อาจเทียบได้กับ “Payback-in-Kind”
นโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดการผลิตงานครั้งใหญ่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ทอง เงิน โลหะ หนัง เครื่องประดับ สลักหิน พรม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยานพาหนะ ฯลฯ หรือแม้แต่อุตสาหกรรม Textile ระดับฟุ่มเฟือยที่เคยพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ก็สามารถทดแทนได้
นโยบายนี้ ยังทำให้รัฐบาลสามารถบรรเทาความขาดแคลน และการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ตลอดจนป้องกันภาวะจารจล โดยลดผลกระทบทางลบต่อวิธีชีวิตประจำวันของผู้คนอันเนื่องมาแต่การ Blockade ลงอย่างได้ผล
นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโปเลียนได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แสดงว่านโยบายแบบนี้ ส่งผลกับ Popularlity ทางการเมืองอีกด้วย
ประเทศไทยเราก็มีหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการประเภทช่างฝีมือจำนวนมาก ทั้ง ธนาคารวิสาหกิจระดับกลางและเล็ก (SME Bank) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจระดับกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สถาบันอาหาร สถาบันฯลฯ เป็นต้น..ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ที่เน้นการปล่อยเงินกู้กับผู้ประกอบการประเภทนี้อย่างเป็นเป้าหมายสำคัญ ก็มีไม่น้อย
น่าจะลองศึกษาเรื่องที่เรากล่าวมานี้ดูอย่างละเอียด เผื่อจะก่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งอาจจะช่วยคนเล็กคนน้อยที่มีฝีมือและอยากประกอบการ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น