วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เราจะมีประมุขเป็นผู้หญิงได้หรือไม่



หากนับเอา ความคิด ความกล้า ความใฝ่ฝัน จินตนาการ รวมตลอดถึงความปรารถนา และอุปนิสัยฝ่ายดีของมวลมนุษย์ เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งแล้วไซร้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า เกือบครึ่งหนึ่งของทรัพยากรเหล่านั้น ถูกละเลยมาตลอดนับแต่มนุษย์อุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้


อย่างน้อย นับแต่ที่มนุษย์รู้จักการจดบันทึก เราก็ทราบว่า ความคิด ความกล้า จินตนาการ และความเห็น ของผู้หญิงส่วนใหญ่นั้น ถูกละเลยมาตลอด และในฐานะที่ผู้หญิงถือเป็นครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น การละเลยความคิดและจิตใจของผู้หญิง ก็เท่ากับปฏิเสธการใช้ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติให้เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนา และต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์เอง

มองฝรั่ง…..

จะมีก็แต่บางสังคมของบางเผ่าชนหรือบางเชื้อชาติเท่านั้นแหละ ที่ยอมรับความเท่าเทียมของผู้หญิง และสามารถเอาประโยชน์จากมันสมองและความกล้าหาญของผู้หญิงได้ในยามคับขัน พวกยิวนับเป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดที่สุดในเรื่องทำนองนี้ ไม่เชื่อก็ลองอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่หน้าแรกๆ ดูก็ได้


พระคัมภีร์ไบเบิล นับเป็นเอกสารบันทึกประวัติของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด โดยเฉพาะคัมภีร์เก่าหรือ “พันธสัญญาเดิม” ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Old Testament ซึ่งบันทึกกันมาโดยพวกยิวนั้น ได้บันทึกเรื่องราวหลายช่วงที่พระเจ้าให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือสังคมยิวบุพกาลเห็นพ้องให้ยกผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำ เพื่อวางแผนหรือเป็นแม่ทัพในการรบทัพจับศึกกับศัตรู


ถ้าไม่นับ “เอวา” ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้ Passion ของมนุษย์เริ่มทำหน้าที่อย่างที่มันควรจะเป็น และขับเคลื่อนชะตากรรมของมนุษย์ให้ต้องดำรงชีวิต “แบบมนุษย์” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ปฐมกาลหรือ Book of Genesis บทที่ 3) ก็ยังมี “ซาราห์” ภรรยาของอับราฮัมที่แอบหัวเราะเยาะพระเจ้า และคนของพระเจ้า ต่อหน้าสามีของนาง (ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชาย) กับความคิดที่ว่านางกำลังจะให้กำเนิดบุตรชาย เพราะอายุนางในขณะนั้นปาเข้าไป 90 ปี และประจำเดือนก็หมดแล้ว แม้นางจะโกหกว่ามิได้แอบหัวเราะ ทว่า พระเจ้าก็เพียงแต่ตำหนินาง หาได้ลงโทษนางแต่ประการใดไม่ นั่นนับเป็น Joke ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีการบันทึกไว้ว่ามนุษย์หัวเราะเป็น (ปฐมกาล บทที่ 18)

เมื่ออ่าน “พันธสัญญาเดิม” ไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าเรื่องราวของชาวอิสราเอลที่ดำเนินไปและคลี่คลายขยายตัวมาเป็นลำดับแบบเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิงไม่น้อยเลย และคุณธรรม ความปรารถนา ตลอดจนความอ่อนโยนของผู้หญิงบางคน ก็ได้รับการกล่าวถึงในทางยกย่องหรือในทางบวกไม่น้อยเช่นกัน


ก่อนกลับมาดูบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยเรา ผู้เขียนอยากจะยกเรื่องราวของการยกย่องผู้หญิงที่บันทึกไว้ใน “พันธสัญญาเดิม” ซึ่งถือเป็นต้นธารของอารยธรรมตะวันตกมาเล่าให้ฟังก่อน อย่างเรื่องของ “เดโบราห์” และ “ยาเอล” (ผู้วินิจฉัยหรือ Book of Judges บทที่ 4-5) ก็เป็นการยกย่องผู้หญิงอย่างชัดเจน แม้การปฏิบัติต่อศัตรูของยาเอลจะดูเหี้ยมโหดไร้ศักดิ์ศรี


เดโบราห์เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถและพรสวรรค์มากมาย อย่างแรก เธอเป็นผู้เผยพระวัจนะ (Prophet) เป็นผู้วินิจฉัย (Judges) อีกทั้งยังเป็นแม่ทัพ และเป็นกุนซือเสนาธิการผู้วางแผนการรบอีกด้วย แม้เราจะได้ยินชื่อ Prophet ที่เป็นหญิงหลายคน เช่น มิเรียม (อพยพหรือ Exodus บทที่ 15) และแอนนาในพันธสัญญาใหม่ (ลูกาหรือ Luke บทที่ 2) แต่ผู้วินิจฉัยที่เป็นหญิงนั้น ดูเหมือนจะมีแต่เธอคนเดียว “นางนั่งอยู่ใต้ต้นอินทผลัม...ในแดนเทือกเขาเอฟราอิม และคนอิสราเอลก็มาหานางเพื่อให้ชำระความ”


สมัยที่บันทึกไว้ใน Book of Judges นั้น เป็นยุคสมัยที่สังคมชาวยิวเริ่มเสื่อมทรามลง มีการนับถือพระเจ้าหลายองค์ และปนเปื้อนด้วยการสมสู่กับคนเชื้อชาติอื่น คนยิวจึงถูกพระเจ้าลงโทษ ให้ถูกกดขี่อย่างร้ายกาจมาถึง 20 ปี โดยกษัตริย์ยาบินแห่งคานาอันซึ่งมีรถรบเหล็กกล้าเก้าร้อยคัน และเมื่อพวกชาวยิวที่ถูกกดขี่เหล่านั้นพากันมาหาเดโบราห์ เพื่อขอให้พระเจ้าทรงเมตตา เธอจึงให้คนไปเรียกบาราคมาเป็นแม่ทัพ เพราะตอนนั้นเธออาจจะอายุมากแล้ว หรือไม่ก็อาจเจียมตัวในความเป็นผู้หญิง แต่เธอก็เสนอแผนยุทธการให้บาราคไประดมพลหนึ่งหมึ่นคนไว้ที่ภูเขาทาโบร์ แล้วจะล่อให้สิเสราแม่ทัพของยาบินให้มาเผชิญกับเขาที่แม่น้ำคีโชน พร้อมรถรบและกองทหารของเขา แล้วก็ให้บาราคเผด็จศึก ณ ชัยภูมินั้น


นายพลบาราคเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ของนาง แต่กลับขอให้นางไปเป็น Spiritual Leader ของกองทัพด้วย เพราะเขาอาจพิจารณาแล้วว่าการมีนางไปด้วย จะทำให้ขวัญกำลังใจของทหารกล้าแข็ง อีกทั้งยังจะสามารถขอความเห็นในเชิงยุทธวิธีการรบต่อนางได้อีกด้วยในเวลาคับขัน “ถ้าแม้นางไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไป ถ้าแม้นางไม่ไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ไป” แล้วนางก็ให้คำตอบในแบบที่พวก Feminist อาจฟังแล้วชอบใจ นางว่า“ฉันจะไปกับท่านแน่ แต่ว่าทางที่ท่านไปนั้นจะไม่นำท่านไปถึงศักดิ์ศรี เพราะว่าพระเจ้าจะขายสิเสราไว้ในมือของหญิงคนหนึ่ง”


ในวันเผด็จศึก ทุกอย่างเป็นไปตามแผน “ทั้งรถรบและกองทัพแตกพ่ายด้วยคมดาบต่อหน้าบาราค....และกองทัพของสิเสราก็ล้มตายด้วยคมดาบ ไม่เหลือสักคนเดียว” แต่สิเสราหนีไปได้ ทว่ากลับหนีไปที่เต็นท์ของยาเอล


ยาเอลให้การต้อนรับสิเสราอย่างดี เอาผ้าห่มให้ เอานมให้ดื่ม และรอจนเขาหลับสนิทเพราะความเหน็ดเหนื่อย แล้วเธอจึง “หยิบหลักขึงเต็นท์และถือค้อนย่องเข้ามา ตอกหลักเข้าที่ขมับของสิเสราทะลุติดดิน” สมองก็คงกระจายเต็มพื้น และนับแต่วันนั้น กษัตริย์ยาบินก็นอบน้อมต่อคนอิสราเอล และในที่สุดคนยิวก็ทำลายกษัตริย์เมืองคานาอันลงได้


แล้วนางเดโบราห์กับบาราคจึงร้องเพลงถวาย ว่ากันว่าเป็นโศลกที่ไพเราะมากในภาษาฮิบรู ซึ่งในคำแปลภาษาไทยบางตอนที่มีการยกย่องผู้หญิงมีอยู่ว่า


“สมัยยาเอล ทางหลวงก็หยุดชะงัก
ผู้สัญจรไปมาก็หลบไปเดินตามทางซอย
ชาวไร่ชาวนาในอิสราเอลก็หยุดยั้ง
เขาหยุดยั้งจนดิฉันเดโบราห์ขึ้นมา
จนดิฉันขึ้นมาเป็นอย่างมารดาอิสราเอล”

และ

“หญิงที่น่าสรรเสริญมากที่สุดก็คือยาเอล
ภรรยาของเฮเอร์คนเคไนต์
เป็นหญิงที่น่าสรรเสริญมากที่สุดที่อยู่เต็นท์
เขาขอน้ำ เธอก็ให้น้ำนม
เธอเอานมข้นใส่ชามหลวงมายื่นให้
เธอเอื้อมมือหยิบหลักเต็นท์
ข้างมือขวาของเธอฉวยตะลุมพุก
เธอตอกสิเสราเข้าทีหนึ่ง
เธอบี้ศีรษะของสิเสรา
เธอตีทะลุขมับของเขา
เขาจมลง เข้าล้ม
เขานอนที่เท้าของนาง
ที่เท้าของนางเขาจมลง เข้าล้ม
เขาจมลงที่ไหน ที่นั่นเขาล้มลงตาย”


นอกจากเรื่องราวใน “พันธสัญญาเดิม” แล้ว เรายังอาจพบเหตุการณ์ที่ยกย่องผู้หญิงหรือผู้หญิงเป็นผู้นำอีกหลายแห่ง อย่างใน Apocrypha บันทึกที่ค้นพบใหม่แต่ไม่ได้รวมไว้ในไบเบิลของโปรแตสเทนต์จึงไม่สามารถหาอ่านได้ในภาคภาษาไทย แต่ผู้สนใจอาจค้นคว้าได้ใน Book of Judith เรื่องราวของหญิงม่ายผู้ร่ำรวย ทรงเสน่ห์ และงามอย่างยิ่ง ซึ่งเธอแสดงความกล้าหาญและความเป็นผู้นำ ที่อาสาปลอมตัวเข้าไปอยู่กินกับกษัตริย์ของฝ่ายศัตรูผู้ทรงอานุภาพมาก (มีทหารราบถึง 120,000 นาย และทหารม้า 12,000 นาย) แล้วก็มอมเหล้า จนสามารถตัดศีรษะออกมาได้ นับเป็นการเอาชนะทางจิตวิทยา ซึ่งต่อมากองทหารฝ่ายตรงข้ามก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด เพราะขวัญเสียและขาดผู้นำ

เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับการเล่าขานและอ่านกันสืบต่อมาในหมู่ชาวยิว (ต่อมาก็ชาวคริสต์) ช่วยให้ผู้หญิงยิวยุคหลังมีแรงบันดาลใจและภูมิใจในเกียรติภูมิของหญิง ถึงขั้นที่บางครั้งก็ลงมือเขียนบันทึกเองเลยก็มี อย่าง “ประวัตินางรูธ” หรือ Book of Ruth ใน “พันธสัญญาเดิม” ก็ว่ากันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิง เป็นต้น

ศิลปินฝรั่งหลายคนในหลายยุคได้นำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปกันมานักต่อนักแล้ว ผมเคยเดินทางไปที่เมือง Albi ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อดูออร์แกนท่อที่ใหญ่อลังการที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป อีกทั้งเยี่ยมชมผลงานของ Toulouse-Lautrec ศิลปินที่ผมชื่นชอบ ณ Musee Toulouse-Lautrec

ณ โบสถ์ใหญ่ใจกลางเมือง ผมได้เห็นรูปปั้น Judith ซึ่งสร้างมาแต่ก่อนยุคบาโรค โดยเมื่อพินิจพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่าเธอเป็นเพียงหญิงตัวเล็กๆ ที่แต่งตัวดีและงาม ไม่มีลักษณะเหี้ยมโหดแต่อย่างใด ผมจึงได้เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ Uffizi ที่เมืองฟลอเรนซ์ ทางภาคอิสานของอิตาลี เพื่อดูภาพ "Judith Slaying Holofernes" ของ Artemisia Gentileschi ซึ่งว่ากันว่าน่าสพรึงกลัว และสยดสยองมาก ก็ได้ประจักษ์กับตัวเองว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง

อิทธิพลเหล่านี้ ส่งผลต่อมาถึงฝรั่งทั้งมวล ทำให้ผู้หญิงยังพอมีที่ยืนอยู่บ้างในสังคมตะวันตก ดังจะเห็นว่า นักบุญ (Saint) ในคริสต์ศาสนาหลายองค์ก็เป็นผู้หญิง และแม่ทัพผู้หญิงหลายคนในประวัติศาสตร์ ก็ได้ถูกบันทึกว่าเคยแสดงความกล้าหาญและความมีไหวพริบ ที่ไม่แพ้ชายชาตรี อีกทั้ง ประเทศสำคัญๆ ในยุโรป ก็ล้วนยอมรับผู้หญิงในฐานะประมุขมานักต่อนักแล้ว อย่างในอังกฤษนั้น ยุคสมัยของพระนางเจ้าอลิสเบธที่ 1 และพระนางเจ้าวิกตอเรีย ก็เป็นยุคที่อังกฤษรุ่งเรืองเป็นที่สุด หรือรัสเซียในสมัยพระนางเจ้าแคธเธอรีน ก็รุ่งเรืองไม่แพ้กัน แม้กระทั่งปัจจุบัน อังกฤษก็ยังมีผู้หญิงเป็นประมุขของรัฐ อันนี้ยังไม่นับผู้หญิงที่เป็นประมุขขององค์กรธุรกิจเอกชนในสังคมตะวันตกอีกจำนวนมาก


น่าเสียดายที่ ฮิลรารี คลินตัน แพ้การเลือกตั้งเมื่อปีกลาย มิฉะนั้น เราก็จะได้เห็นผู้หญิงก้าวขึ้นไปเป็นประมุขสูงสุดของประเทศที่ทรงแสนยานุภาพที่สุดในโลก ซึ่งประวัติศาสตร์การยอมรับผู้หญิงก็จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง อย่างแน่นอน

....แล้วย้อนดูตัวเอง

คนไทยเคยยอมรับผู้หญิงเป็นองค์พระประมุขอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนไทยทางเหนือนั้นมีบันทึกอยู่ชัดเจน ว่าเมื่อ ประมาณ 600 กว่าปีก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองสุโขทัย ครั้งนั้น เมืองหริภุญชัย (ลำพูนปัจจุบัน) ขาดบุคลากรที่เหมาะสมจะเป็นกษัตริย์ได้ ก็ได้มีการขอพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ผู้ครองเมืองละโว้ (ลพบุรีปัจจุบัน) ขึ้นไปปกครอง


ศรีศักร วัลลิโภดม เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ล้านนาประเทศ” ว่า “การเสด็จมาครองราชย์ยังเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและวัฒนธรรม ขึ้นแก่บ้านเมืองในที่ราบลุ่มเชียงใหม่อย่างมากมาย เพราะพระนางจามเทวีไม่ได้เสด็จมาเพียงองค์เดียว หากนำคณะสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลปะและนักวิชาการ ขึ้นมาด้วยเป็นจำนวนมาก”


พระนางจามเทวีได้สร้างบ้านแปลงเมือง และวางพื้นฐานการปกครองแบบละโว้ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย (ซึ่งเป็นมหาอำนาจและมีอารยธรรมสูงส่งมากที่สุดในเอเซียยุคนั้น) อีกทอดหนึ่ง จนอาณาจักรหริภุญชัยมีอายุต่อมาอีกหกร้อยกว่าปี จึงเสียแก่พระเจ้ามังรายที่ผนวกเอาหริภุญชัยไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา


นั่นเป็นเรื่องของคนไทยทางเหนือ สำหรับคนไทยภาคอื่นโดยเฉพาะภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีอยุธยาเป็นศูนย์กลางและสืบเนื่องมาสู่กรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันนั้น ก็มีเรื่องราวของประมุขหญิงบันทึกไว้เป็นหลักฐานอยู่บ้าง อย่างเรื่องความกล้าหาญของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็เป็นเรื่องที่ประทับใจคนไทย หรือของคุณหญิงโม (ซึ่งก็มีนักประวัติศาสตร์บางสำนักออกมาแย้งว่าท่านไม่มีตัวตนจริง) และวีรสตรีเมืองถลาง เป็นต้น


แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นับเป็นประมุขหญิงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ของคนไทยลุ่มเจ้าพระยา พระนางทรงครองอำนาจการเมืองระยะหนึ่ง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์สองพระองค์ คือพระยอดฟ้า และขุนวรวงศาธิราช ทว่า เรื่องราวของพระนาง ก็ยังคงคลุมเครือว่าควรจะตัดสินให้เป็นการกระทำในเชิงรัฐบุรุษหรือในเชิงกบฏกันแน่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้ความเห็นในหนังสือ “อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง” ไว้ว่า “ในการเขียนประวัติศาสตร์สกุลลัทธิชาตินิยม ทรงได้รับการตำหนิว่าเป็น “หญิงชั่ว” ในหน้าประวัติศาสตร์อยุธยาและราชสำนัก (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงกับระบุว่า “เรื่องพงศาวดารตอนนี้เป็นเรื่องของความชั่วไม่น่าอธิบาย”) แต่ในระยะหลังทรงได้รับการพิจารณาใหม่ว่าเป็นบทบาทของผู้ฟื้นฟูความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ละโว้-อโยธยา (อู่ทอง)”


กระนั้นก็ตาม “นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” ก็มิได้ขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด


สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า ความคิดความเชื่อทางการปกครองของไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยเฉพาะในด้านการปกครองอาณาจักรนั้น (Administration) เรารับความคิดมาจากพราหมณ์หรือฮินดูเป็นหลัก แต่ทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual) เรายกย่องความคิดของพุทธให้เหนือกว่าของพราหมณ์ ความคิดแบบพราหมณ์นั้นเน้นเรื่องอำนาจและความเด็ดขาด จึงเหมาะกับการจัดการ การปกครอง และกฎหมาย แต่ความคิดแบบพุทธเป็นความคิดคู่ขนาน ที่สามารถเหนี่ยวรั้งจิตใจมิให้ผู้นำหรือพระมหากษัตริย์กลายเป็นเผด็จการทรราช (Tyrant) นับเป็นการคานอำนาจกันอย่างชาญฉลาด


หลักธรรมอย่าง “จักรวรรดิวัตร” หรือ “ทศพิธราชธรรม” นั้น เป็นหลักธรรมที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตใจพระมหากษัตริย์มิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต อีกทั้งพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันศาสนาก็ได้รับการยกย่องในสังคมไทย แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ก็ต้องกราบไหว้ มีหลายครั้งในอดีตที่พระสงฆ์สามารถเปลี่ยนพระทัยพระมหากษัตริย์ได้ อย่างในกรณีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะทรงประหารชีวิตแม่ทัพนายกอง ก็ได้สมเด็จพระวันรัตน์เป็นผู้ทัดทานไว้ จนในที่สุดก็เลิกล้มพระทัย เป็นต้น


การผสมผสานระหว่างพุทธกับพราหมณ์มี Implications ต่อความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้ความเชื่อแบบพุทธจะยกย่องผู้หญิง (พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าผู้หญิงก็สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้เช่นเดียวกับผู้ชาย) แต่ความเชื่อแบบพราหมณ์นั้น “กด” ผู้หญิงอยู่มาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ประเทศไทยไม่เคยมีผู้หญิงเป็นองค์พระประมุขมาก่อนเลย แม้ก่อนรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เราจะยังไม่ได้รับเอาธรรมเนียมฝรั่งเรื่องการแต่งตั้งให้พระโอรสองค์โตที่เป็นเจ้าฟ้า ดำรงตำแหน่งเป็นองค์รัชทายาทตามกฎหมายก็ตาม


อิทธิพลทางความคิดแบบพราหมณ์ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เคยอ้างไว้ใน “เจ้าชีวิต” ว่า “....เป็นกฎการสืบราชสมบัติของไทยเราฉบับแรกที่กำหนดเอาการสืบโดยสายตรงดังอังกฤษเรียกว่า primogeniture ฉะนั้นพระราชโอรสของรัชทายาทที่สิ้นพระชนม์แล้ว จะได้สืบราชสมบัติก่อนทูลกระหม่อมอา….” และว่า “…..แต่บ่งไว้อย่างแน่วแน่ในมาตรา 13 ว่า ‘ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัว บรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใดๆ เข้าไว้ในลำดับราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด’


นับแต่มีการตรากฎมณเฑียรบาลฯ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นต้นมา ประเทศไทยเคยมีปัญหาการสืบราชสมบัติถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือเมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคต ขณะที่พระราชธิดาพระองค์เดียวเพิ่งประสูติ โดยพระองค์ก็มิได้ทรงเลือกองค์รัชทายาทไว้ก่อน และเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๗ ซึ่งไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ทรงสละราชสมบัติ โดยมิได้ทรงระบุตัวองค์รัชทายาทไว้เช่นกัน และครั้งหลังสุดคือเมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน โดยสองครั้งหลังนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ดังนั้น การเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๘ และพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามแบบอย่างของประเทศตะวันตกสมัยใหม่ ที่ปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ


ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีองค์รัชทายาท คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงไม่เป็นปัญหาเหมือนกับในอดีต และพระองค์ท่านก็ทรงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี


ผู้เขียนขอจบบทความ ด้วยการอ้างถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฉบับล่าสุด ที่ได้มีข้อบัญญัติซึ่งทำให้การตั้งคำถามของบทความนี้ยุติลงไปด้วย ดังนี้


มาตรา 22 ภายใต้บังคับมาตรา 23 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467


การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง


มาตรา 23 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง




ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน มีนาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น