วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

2020 อนาคตที่เกิดขึ้นแล้ว


ใครๆ ก็อยากรู้อนาคต เพราะการดำเนินชีวิตทุกวันนี้มีความเสี่ยงแยะ

การหยั่งรู้อนาคต มิใช่จะเป็นไปไม่ได้ซะเลยทีเดียว เพราะปัจจัยที่จะ Shape อนาคต ย่อมเผยโฉมให้เราเห็นและรู้สึก หรือบางทีก็สัมผัสได้อยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ต้องใส่ใจ และใช้จินตนาการเข้าปรุงแต่ง ประกอบเข้ากับความรู้และประสบการณ์ของผู้คนและเรื่องราวในอดีต ก็จะพอมองเห็นเค้าลางของอนาคตได้

พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือ “เราจะสามารถ Form Vision หรือสร้างวิสัยทัศน์ได้์” นั่นเอง

“วิสัยทัศน์” เป็นเสมือนการฉายภาพอนาคตขึ้นในใจคน

ผู้นำที่สามารถ ย่อมต้องสื่อสารวิสัยทัศน์ หรือฉายภาพอนาคตให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตามไปด้วยได้

องค์กรขนาดใหญ่ที่การตัดสินใจของผู้นำมักส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง ตลอดจนมูลค่าของทรัพย์สินจำนวนมาก ย่อมต้องอาศัยความเห็นของผู้มีวิสัยทัศน์จำนวนมาก เพื่อประกอบการตัดสินใจแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน

จึงไม่แปลกที่ Board of Director ขององค์กรยักษ์ใหญ่ของโลกมักประกอบไปด้วยผู้หยั่งรู้หลากหลายแขนงนั่งอยู่ด้วย หรือแม้แต่ผู้นำทางการเมืองก็จะต้องมีคณะที่ปรึกษาหลายคณะ คอยให้คำปรึกษาในเรื่องสำคัญ ก่อนลงมือตัดสินใจ

ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วเพียงใด การสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องย่อมจำเป็นยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

และยิ่ง Social Tension ในโลกและในสังคมของเรา เพิ่มมากขึ้นในระดับที่เห็นและสัมผัสได้อย่างในปัจจุบัน “วิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง” ก็ย่อมจำเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องเพราะ Social Tension มันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจจะกระทบกับชีวิตและมูลค่าทรัพย์สินของเรา ตลอดจนลูกหลานของเราได้

ดังนั้น การสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง ย่อมจะช่วยให้เราผ่อนหนักเป็นเบาได้ในอนาคต

“2020 TODAY” เป็นเรื่องราวของ “อนาคตที่เกิดขึ้นแล้ว” ซึ่งเราตั้งใจมอบให้ท่านผู้อ่าน ตั้งใจฉายภาพอนาคตให้เกิดมโนภาพขึ้นในใจท่านผู้อ่าน เพื่อท่านจะได้นำไปประกอบกับความรู้ ประสบการณ์ส่วนตัว และจินตนาการของท่านเอง แล้วสร้าง “วิสัยทัศน์เฉพาะตัว” ของแต่ละท่านขึ้นให้เหมาะสมกับอัตตะวิสัยของตัวเอง

2020 TODAY ประกอบด้วยวิสัยทัศน์สามด้านใหญ่ คือวิทยาศาสตร์ชีวิต ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถูกนำมาประยุกต์กับปฏิบัติการยืดอายุมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น โดยเราได้ประมวลเอาความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน มาจินตนาการและกุมขึ้นเป็นมโนภาพแห่งอนาคต

ส่วนที่สองเป็นเรื่องราวของเมืองและการอยู่อาศัย ซึ่งจะถูกออกแบบสำหรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเราในอนาคต ที่จะต้องเคล้ากับเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ส่วนสุดท้าย เราได้ให้พื้นที่กับสงครามก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ที่นับวันจะกลายเป็น Mode หลักของวิธีการแก้ปัญหา Social Tension ระหว่างผู้่ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกบีฑา กับฝ่ายกุมอำนาจในสังคม หรือฝ่าย Establishment ทั้งโดยการมุดลงใต้ดิน การสร้างเครือข่าย และการเอาประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และกลยุทธ์การทหารแบบใหม่ ที่พวกเขาใช้ต่อกรกับกองทัพอันเกรียงไกร และแสนยานุภาพทางอาวุธอันทันสมัยของฝ่ายอำนาจรัฐอย่างได้ผล และสิ่งเหล่านี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายส่วนของโลกและในประเทศของเราเอง


คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต


แม้ว่า “การหยั่งรู้อนาคต” จากข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน (ประกอบกับองค์ความรู้ในอดีต) จะเป็นเรื่องที่ทำได้ ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่นอกเหนือกว่าจินตนาการของเรา มักเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันเสมอ

โมเดลการพยากรณ์อนาคตทั้งหลาย ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเมือง วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่อุตุนิยมวิทยา และ ฯลฯ มักจะต้องห้อยปัจจัยที่เรียกว่า Chance หรือ “โชคชะตา” ไว้ด้วยเสมอ

กระทั่ง องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงหยั่งรู้จิตใจมนุษย์อย่างทะลุปรุโปร่ง และรู้แจ้งแทงตลอดถึงวิถีแห่งธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลกธาตุทั้งมวล ยังเคยตรัสไว้ในทำนองว่า “คนเรานั้น เกิดรู้ แต่ตายไม่รู้ จึงต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท”

เพื่อนผมคนหนึ่ง แม้เป็นคนขับรถที่เก่งมาก รู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกอย่างละเอียดและเชี่ยวชาญ และรู้เส้นทางคมนาคม ตื้นลึกหนาบางของย่านต่างๆ อย่างดี แต่อยู่มาวันหนึ่ง ขณะขับรถไปต่างจังหวัด กลับถูกรถอีกคันหนึ่งที่พุ่งทะลุข้ามเกาะกลางมาชนเข้าใส่อย่างจัง จนเสียชีวิต..อย่างนี้เป็นต้น

หรืออย่าง Steve Erwin นักจัดรายการโทรทัศน์ชาวออสเตรเลียน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ร้ายและมีพิษแทบทุกชนิดอย่างหาตัวจับยาก อินทรีย์แก่กล้าขนาดสามารถจับจระเข้ งู แมงป่อง แมงมุมพิษ ฯลฯ ได้ด้วยมือเปล่า แต่วันดีคืนดี ขณะถ่ายทำรายการอยู่นอกชายฝั่งออสเตรเลีย เขากลับถูกปลากระเบนสะบัดหาง เจาะทะลุเข้าสู่ัขั้วหัวใจ ต้องเสียชีวิตลงก่อนเวลาอันควรอย่างง่ายดาย และเหนือความคาดหมายของแฟนๆ รายการทั่วโลก

แม้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ครอบครัวของเพื่อนลูกสาวผม ที่พากันไปท่องเที่ยวในทวีปยุโรป หวังว่าจะให้เพลิดเพลินเจริญใจ แต่กลับต้องระเหเร่ร่อนไปทั่วยุโรปอย่างทุลักทุเล เพื่อหาทางกลับบ้าน หลังจากประสบปัญหาท้องฟ้าปิดอันเนื่องมาแต่เถ้าภูเขาไฟที่ปะทุขึ้นอย่างกะทันหันในไอซ์แลนด์

เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอๆ

หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง ก้าวหน้า ก็ยังสามารถ Meltdown ลงได้ในชั่วพริบตา

ใครจะไปคิดว่า บริัษัทประกันยักษ์ใหญ่อย่าง AIA และวาณิชธนกิจชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง Lehman Brother จะล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการอัดฉีดอย่างไม่จำกัดจากธนาคารชาติสหรัฐฯ แล้ว สถาบันการเงินขนาดยักษ์เกือบทั้งหมดของอเมริกาอาจจะม้วยมลายหายไปด้วย

ก่อนปี 2540 ก็เป็นเรื่องนอกเหนือจินตนาการของนักการเงิน ผู้นำธุรกิจ นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินทั้งหลาย ว่าบริษัทไฟแนนซ์ของไทย 56 แห่ง ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญในตลาดเงินและตลาดทุนไทย และก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ยังสนุกสนานกับการทำกำไรจากตลาดหุ้น แถมจ่ายโบนัสกันเป็นว่าเล่น ขนาด 50 เท่าของเงินเดือนก็เคยมี จนเป็นที่หมายปองของบรรดามหาบัณฑิต MBA และคนรุ่นใหม่ที่ถือตัวว่าเป็นคน Bright ทั้งหลาย จะต้องปิดตัวลงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ครั้งนั้น ค่าเงินบาทถูกโจมตีแบบกะทันหัน คล้ายกับเครื่องบินที่พุ่งเข้าชนอาคาร World Trade Center ในนิวยอร์ก ไม่มีผิด

ธุรกิจของหลายตระกูลที่สั่งสมมาหลายชั่วคน ถ้าไม่ล่มสลายลง ก็ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของต่างชาติ ผู้คนจำนวนมากตกงานกะทันหัน และสิ้นหวัง ต้องอาศัยระยะเวลาเยียวยาอีกนานกว่าจะปรับตัวกันได้

เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับ “ซึนามิ” ที่ถล่มชายฝั่งอันดามันของเราในอีกหลายปีต่อมา

และก็คงมีน้อยคนที่จะคาดคิดว่า สังคมไทยที่ผู้คนได้ชื่อว่าเป็นมิตรและรักสันติ กลับต้องมาสู้รบกันกลางเมืองหลวง จนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ห้าปีหลังมานี้ สังคมไทยดำดิ่งลงสู่ความวุ่นวาย ความขัดแย้ง ความรุนแรง และความทุกข์ใจ อย่างรวดเร็ว อะไรที่ไม่เคยเกิดก็เกิด ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น หลายจังหวัดทางภาคใต้เป็นดินแดนที่ไปไม่ได้อีกต่อไป ทำเนียบรัฐบาล สนามบิน และย่านกลางกรุงถูกม็อบเข้ายึดครอง ผู้คนบริสุทธิ์ถูก M79 ยิงโดยจับมือใครดมไม่ได้หลายครั้งด้วยกัน คู่ขัดแย้งทางการเมืองและผู้คนจำนวนมากถูกยิงโดยพลซุ่มยิงกลางกรุง กลางวันแสกๆ ต่อหน้ากองทัพนักข่าวต่างประเทศ แถมบรรดาเศรษฐีกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ก็ถูกธนาคารอายัติบัญชี ต้องสิ้นสูญเสรีภาพในการถอนเงิน โอนเงิน และแลกเงิน เว็บไซต์กว่า 43,000 เว็บถูกปิด แม้แต่หน้า Facebook ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ถูกบล็อก วิทยุ ทีวี ของฝ่ายต่อต้านก็ถูกบล็อกด้วย และดาวเทียมก็กำลังจะถูก Hack กลับ ฯลฯ


CYBER ATTACK


ที่ผมกล่าวเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมสังเกตว่าการสัประยุทธ์รอบนี้ เทคโนโลยีและ Cyber Space ได้กลายเป็นสนามรบสำคัญไปด้วย
เจ้าหน้าที่ของกระทรวง ICT ตลอดจนนักรบจิ้มแ้ป้น และนักรบไซเบอร์ของทั้งสองฝ่าย ล้วนมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดผลแพ้ชนะของสงครามกลางเมือง

แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการควบคุมสนาม Cyber แต่ฝ่ายต่อต้านก็มีผู้เล่นที่ชำนาญ สานต่อกันเป็นเครือข่ายหรือแนวร่วมแบบ Informal อย่างกว้างขวาง ทำให้เกม “แมวจับหนู” เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องอาศัย “พรบ.ฉุกเฉิน” กฎหมายที่ให้อำนาจแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ กว่าจะสามารถควบคุม Cyber Space ได้ ถือเป็นละครฉากสำคัญที่ “น่าชม” สำหรับผู้ดูและผู้สังเกตการณ์แบบเราๆ ท่านๆ

แต่การควบคุมนี้จะดำรงไปได้นานสักเท่าใดกัน?

หากมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนั้นแล้ว หรือแม้จะไม่ยกเลิก สมรภูมิ Cyber Space เองก็เป็นพื้นที่พิเศษที่ยากจะควบคุม เพราะมีผู้เล่นจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังมี Technology Platform ที่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงอยู่เกือบตลอดเวลา Gadget และ Software หลากหลายชนิดก็สามารถทำงานทดแทนกันได้ บรรดาเจ้าของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของรัฐบาลไทย ทำให้ Players มีทางเลือกมากมายในการสร้างเครือข่ายต่อต้านอำนาจรัฐและกลับมาผนึกกำลังกันอีกครั้งในเวลาอันสั้น

ก็อย่าว่าแต่รัฐบาลไทยเลย แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ อันยิ่งใหญ่ยังเคยถูกโจมตีจากพวก Hacker มาก่อน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวว่าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด ก็เคยถูก Hack มาแล้ว

นั่นมันเมื่อเร็วๆ นี้เอง

และการโจมตีลักษณะนี้ก็มิได้จำกัดอยู่ที่เครือข่ายข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น แม้กิจการเอกชนขนาดใหญ่ก็เคยประสบปัญหาทำนองนี้มาแล้วอย่างเงียบๆ

John Avalon แห่ง Manhattan Institute at the National Center for Policy Analysis (NCPA) อันโด่งดัง เคยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “Cyber Attack” ไว้ว่ามันมิได้มีแต่เพียงในหนังเท่านั้น แต่มันได้เกิดขึ้นแล้วในโลกแห่งความเป็นจริง

เขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า “In March, 49-year-old Vitek Boden, fired from his job at an Australian sewage-treatment plant, remotely gained control of its systems and flooded Queensland rivers, coastland and parks with 1 million liters of raw sewage, causing million of dollars of damage. In the United States, a researcher at IBM Security Services named Scott Lunsford successfully test-hacked into a nuclear power plant in 2007, despite assurances from the Nuclear Regulatory Commission that it would be nearly impossible. Everyday, the U.S. Department of Defence detects 3 million unauthorized computer probes of its networks, while the State Department fends off 2 million. In 2007, spies believed to be associated with China’s military successfully hacked into Secretary of Defense Robert Gates’ office computer system, forcing 1,500 computers to be taken offline.” (John P. Avalon “The Cyber-Threat Grows”, City Journal, November 2009)

เขายังกล่าวทิ้งท้ายอีกในทำนองว่า Cyber Threat นับเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแบบใหม่ที่น่ากลัว เพราะความสามารถและจำนวนของ Hacker ก้าวหน้าและเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ว่าแน่ๆ และก็ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามแบบใหม่นี้มาระยะใหญ่แล้ว ยังไม่แน่ว่าจะรับมืออยู่

เขาให้ความเห็นว่า แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ตกอยู่ข้างฝ่าย “ตั้งรับ” และทำได้อย่างมากก็แค่ “ไล่กวด” หรือ Catching พวกนักรบไซเบอร์เหล่านี้ เท่านั้นแหละ

ผมกล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่า Cyber Attack จะเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างแน่นอน ภายในระยะเวลาอันใกล้
และถ้าการโจมตีรูปแบบใหม่นี้เกิดสำเร็จขึ้นมา มันมิเพียงจะทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องเสียหายเท่านั้น แต่ผมว่ามันจะต้องกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราด้วยอย่างแน่นอน

ความเสียหายอาจแสดงตัวออกมาในเชิงของความขาดแคลนสาธารนูปโภคพื้นฐานแบบกะทันหัน อย่างเช่น ไฟดับในวงกว้าง น้ำประปาไม่ไหลหรือปนเปื้อน อินเทอร์เน็ตรวน ฯลฯ หรืออาจแสดงตัวในเชิงของความโกลาหล เช่น หอควบคุมการจารจรทางอากาศไม่ทำงาน หรือทำงานผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับไฟสัญญาณจราจรทั่วกรุง ทำให้รถติดใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือระบบรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน ส่งสัญญาณผิดหรือรถออกวิ่งไปเองจนเกิดอุบัติเหตุ หรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเกิดรั่วไหลและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ หรือไม่ก็ระบบเอทีเอ็มและระบบโอนเงินระหว่างธนาคารเป็นอัมพาต ระบบซื้อขายหุ้นถูกไวรัสแทรกแซงจนการลงทุนเกิดปัญหา เป็นต้น

ถ้าเป็นเมืองนอก และจะให้มองโลกในแง่ร้ายสุดๆ ก็บอกว่าแม้แต่ขีปนาวุธก็อาจถูกยิงขึ้นไปเอง หรือ Atomic Bombs ถูกจุดชนวนเองโดยรีโมทคอนโทรลซึ่งถูก Hack โดยผู้ก่อการร้าย ก็เป็นได้

เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นแบบกะทันหัน ไม่ทันตั้งตัว คือมีลักษณะ Disruptive ซึ่งจำเป็นต้องตระหนัก หาทางป้องกัน รับมือ และเยียวยาผลกระทบให้ผ่อนหนักเป็นเบาไว้ก่อนอย่างเป็นระบบ

ท่านผู้อ่านอาจตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่า อินเทอร์เน็ตไม่ทำงานเป็นเวลาแรมเดือน ไม่สามารถคลิกเข้าไปอ่าน www.mbamagazine.net ได้อย่างที่เคยปฏิบัติมา อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าไปเขียนเม้นต์ในหน้า Facebook ของ Mbamagazine Wiki และหน้า Fan Page ที่ MBA_Magazine หรือ www.twitter/mbamagazine.com ได้ด้วย หรือท่านผู้อ่านที่อยู่ต่างจังหวัด อาจพบว่าระบบไปรษณีย์เกิดสับสนจนนิตยสาร MBA ที่เคยมาส่งถึงหน้าบ้านทุกต้นเดือน ไม่มาดังเดิม จนรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าในชีวิต ขาดหายไป

และเมื่อจะเิดินทางออกจากบ้าน ก็อาจพบว่าปั๊มน้ำมันว่างเปล่า เอทีเอ็มกดเงินไม่ออก และบัตรเครดิตก็ใช้งานไม่ได้ กลายเป็นบัตรพลาสติกถูกๆ ธรรมดาๆ ไป บัญชีธนาคารของท่านอาจถูกบล็อก หุ้นและตราสารทางการเงินที่ฝากไว้ในบัญชีโบรกเกอร์ก็ถูกบล็อกไปด้วย แม้จะโทรหาเพื่อนและญาติพี่น้อง ก็รู้สึกว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถือถูกรบกวน หรือใช้ไม่ได้ และท่านที่กำลังอยู่ระหว่างเดินทางก็อาจตกค้าง ไม่สามารถกลับบ้านไปพบคนที่เรารักได้...ฯลฯ

ผมแนะนำให้ท่านผู้อ่านจินตนาการสิ่งเหล่านี้ไว้บ้าง (แต่ไม่ต้องถึงขั้นหมกมุ่น) ว่าถ้าท่านต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เป็นวัน หลายวัน สัปดาห์ หลายสัปดาห์ เป็นเดือน หรือแม้กระทั่งหลายเดือน...แล้วท่านจะทำยังไง

นับแต่นี้ไป ท่านอาจจะต้องทำประกันไว้บ้าง ยิ่งท่านเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นส่วนเพิ่มเติม และถ้าท่านเป็นผู้บริหารองค์กร ท่านก็ต้องมีแผนฉุกเฉินที่ปฏิบัติได้และ Revise ไปทุกปี ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและทักษะของพวก Hacker

ในทางส่วนตัว ท่านควรต้องเติมน้ำมันไว้เต็มถังเสมอ แม้ท่านมีรถหลายคันก็ต้องเติมเต็มไว้ทุกคัน ท่านอาจต้องมีอาวุธไว้ป้องกันตัวประจำบ้าน และต้องเบิกเงินสดเก็บไว้เป็น Reserve กับตัวเสมอ นับจำนวนไว้ให้พอใช้สำหรับทุกคนในครอบครัวเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน หรือท่านที่อินทรีย์แก่กล้า ก็อาจแลกเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลสำคัญๆ ไว้หลายๆ สกุล เหมือนกับนักการเมืองและผู้นำทหารยุคก่อนที่มักมีกระเป๋าเดินทางบรรจุเงินดอลล่าร์ไว้ในห้องนอนเสมอ พร้อมที่จะคว้าหนีไปกับตัวได้ทุกวินาที เมื่อถูกรัฐประหาร

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอาจต้องมีล่วมยาเล็กๆ แบบว่าเป็นพวกปฐมพยาบาลขั้นต้นไว้ในที่หยิบฉวยได้ง่าย โดยถ้าจะให้ดีก็มีติดรถไว้เป็นประจำ นอกนั้น ท่านยังอาจต้องตุนข้าวสารอาหารแห้งและน้ำสะอาด Reserve ไว้ให้เพียงพอกับจำนวนปากท้องของสมาชิกครอบครัว อย่างน้อยสองถึงสามสัปดาห์...เป็นต้น

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าผมกลายเป็นคนเพ้อเจ้อไปแล้วหรือไร แต่ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำของ MBA คงทราบว่า หลายสิ่งที่ผมได้ส่งสัญญาณเตือนมาในอดีต ที่ในตอนนั้นดูเหมือนจะนอกเหนือจินตนาการของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว

โบราณว่า “จิ้งจกทักยังต้องฟัง” อย่าว่าแต่พวกเรา ปัญญาชนเลย

และผมเองก็ยอมรับว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ ประกอบกับความคิดความอ่านและวิจารณญาณของผู้คน (ในระดับที่สามารถเรียกตัวเองว่าปัญญาชนและเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคม) ตลอดจนความสามารถในการใช้เหตุผล สติ และการ Form Opinion ของพวกเขา พวกที่ผมพบเจออยู่เสมอๆ และที่แสดงออกโดยสื่อกระแสหลักของสังคม (ซึ่งบางคนเป็นคนที่ผมรู้จักพื้นเพมาเป็นอย่างดี) ได้ทำให้ผมต้องกลายเป็น “คนที่มีอารมณ์ขันอย่างยิ่ง” ไปซะแล้ว

อย่างที่นักเขียนหญิง Ellen Glasgrow เคยว่าไว้ว่า “First I was an idealist; next I was a realist; now I am a pessimist, and, by Jove! if things get much worse I’ll become a humorist.”


เพราะการเป็น “คนที่มีอารมณ์ขันอย่างยิ่ง” เท่านั้น ที่จะสามารถอยู่รอดได้ดีในสังคมที่แตกสลาย และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดกำลังจะเกิดขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น” นั้น มันยังแก้ไขได้ ระงับได้ หรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบาได้

สิ่งที่ผมกลัวมีอยู่เรื่องเดียว คือโอกาสที่จะระงับ “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น” นี้ กลับไปตกอยู่ในมือของผู้นำ หรือคณะผู้นำที่ “ห่วยแตก” จนจะผ่านเลยโอกาส และ Squander the Chance ไปอย่างน่าเสียดาย ไม่น่าให้อภัย และสมควรจะถูกสาปแช่งแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด เป็นที่สุด

และที่น่าห่วงมากที่สุด ก็คือระดับความคิดอ่านและวิจารณญาณของผู้คนในสังคมไทยเอง ในยุคแห่งความขัดแย้ง ที่สื่อสารมวลชนทั้งกระแสหลักและกระแสรอง มีบทบาทหล่อหลอมความคิดมนุษย์สูงมากอย่างคาดไม่ถึง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความวิจารณญาณว่า “ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้อง”)

ในหนังสือคลาสสิก The Mass Psychology of Fascism ของเขา Wilhelm Reich ได้เคยกล่าวไว้ว่า “The responsibility for wars falls solely upon shoulders of those same masses of people, for they have all the necessary means to avert wars in their own hands. In part by their apathy, in part by their passivity, and in part actively, these same masses of people make possible the catastrophes under which they themselves suffer more than anyone else. To stress this guilt on part of the masses of people, to hold them solely responsible, means to take them seriously. On the other hand, to commiserate masses of people as victims, means to treat them as small, helpless children. The former is the attitude held by genuine freedom fighters; the latter that attitude held by power-thirsty politicians.”


ขอให้ “วิจารณญาณ” จงบังเกิดแ่ก่ทุกท่านโดยเร็ว และขอให้โชคดี


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 มิถุนายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น