After assiduous years, surveying results, preparing for departure,
Devises houses and lands to his children--bequeaths stocks, goods--funds for a school or hospital,
Leaves money to certain companions to buy tokens, souvenirs of gems and gold;
Parceling out with care--And then, to prevent all cavil,
His name to his testament formally signs.
But I, my life surveying,
With nothing to show, to devise, from its idle years,
Nor houses, nor lands--nor tokens of gems or gold for my friends,
Only these Souvenirs of Democracy--In them--in all my songs--behind me leaving, 10
To You, who ever you are, (bathing, leavening this leaf especially with my breath--pressing on it a moment with my own hands;
--Here! feel how the pulse beats in my wrists!--how my heart's-blood is swelling, contracting!)
I will You, in all, Myself, with promise to never desert you,
To which I sign my name.
Walt Whitman
ละครฉากสุดท้ายของเดอโกล
เวลาต้องไปปารีสคนเดียว วันแรกๆ ผมมักนอนไม่ค่อยหลับ เพราะกลัวผี
ที่เป็นแบบนั้น เพราะผมชอบจินตนาการไปเรื่อยเปื่อย โดยผมรู้ว่าปารีสเป็นเมืองเก่าเมืองแก่ และเป็นเมืองที่มีความขัดแย้งหนักถึงขั้นที่ต้องยกพวกฆ่ากันในสงครามกลางเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งฆ่าพวกเดียวกันเองอย่างรุนแรงเป็นว่าเล่นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) หรือในช่วงหลังต่อมาอีกหลายครั้ง เช่นยค July Revolution (1830) February Revolution (1848) Commune de Paris (1871) เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ Mai 1968 และที่ถูกสังหารหมู่โดยกองทัพต่างชาติช่วงปลายยุคนโปเลียน หรือช่วงที่ถูกกองทัพปรัสเซียล้อมปราบเมื่อ 1870 จนล่าสุดที่กองทัพนาซีเข้ายึดครองระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น
เรียกได้ว่า ปารีสเป็นเมืองที่มี "ผีตายโหง" (อันเนื่องมาแต่ความขัดแย้งทางการเมืองจนต้องสังหารกันบนท้องถนน) มากที่สุด
ถ้านับเฉพาะแถว Place de la Concord หรือแถว Quarter Latin เมื่อเทียบกับราชดำเนิน หรือราชดำริ ของเราแล้ว ของเขาย่อมมากกว่าหลายร้อยเท่า
แม้แถบ Eastern Seaboard ของสหรัฐอเมริกา จะมี "ผีตายโหง" อันเนื่องมาแต่สงครามกลางเมืองใหญ่เมื่อสมัย Civil War ก็ตาม (ตรงกับปลายรัชสมัย ร.4) แต่นั่นมันก็กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ Gettysburg ลงไปทางใต้ หาได้ตายกระจุกอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งเหมือนกรณีของปารีสไม่
Andre Malraux ปัญญาชนฝรั่งเศสที่ผมชื่นชอบคนหนึ่ง และเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของนายพลเดอโกล (Charles de Gaulle) อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนแรกตลอดสมัยที่ท่านนายพลดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เขาเคยเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งเกิดม็อบนักศึกษาประชาชนคนใช้แรงงานที่เรียกว่าเหตุการณ์ Mai 1968 นั้น (พฤษภาคมเลือดเวอร์ชั่นฝรั่งเศสปี 2511 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาของเรา 5 ปี) ชนชั้นสูงและพวกผู้ดีมีเงินตลอดจนนักธุรกิจไม่ชอบใจ เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นการป่วนบ้านป่วนเมือง (ว่ากันว่าผู้นำนักศึกษา Danny Cohn-Banndit เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เวอร์ชั่นปารีส ได้ฉี่ราดเปลวเพลิงแห่งสุสานทหารนิรนาม ที่กลางประตูชัย Arc de Triomphe de I'Etoile แห่งกรุงปารีสด้วย) และท่านนายพลก็รู้เรื่องนี้ดี ทว่าก็ยังไม่กล้าปราบ (ขนาดตอนนั้นท่านนายพลดำรงตำแหน่งมาแล้วเกือบ 10 ปี มีอำนาจเต็ม และได้กลายสภาพเป็นรัฐบุรุษที่คนฝรั่งเศสเคารพและเกรงกลัว ทั้งอดีตก็เคยกู้ชาติมาในสมัยสงครามโลกอีกด้วย)
บรรดาม็อบได้เข้ายึดมหาวิทยาลัยปารีส (Sorbonne) และโรงละคร Odeon ตลอดจนท้องถนนแถบนั้น ผลิตระเบิดเพลิงโมโลตอฟ กระเทาะเอาก้อนอิฐที่ปูถนนและกำแพงมาแต่สมัยโบราณ (Cobble Stone) ตัดต้นไม้ ตลอดจนนำรถยนต์ (Deux-Chevaux) มาทำเป็นป้อมค่ายและแนวป้องกันรอบๆ มหาวิทยาลัยปารีส (Sorbonne) คล้ายๆ กับแนวรับที่สี่แยกศาลาแดงของม็อบคนเสื้อแดงเมื่อเดือนที่แล้ว เพียงแต่ที่ปารีสนั้นแข็งแรงกว่าหลายเท่า
Rue Saint-Jacques, Boulevard Saint-Michel, Rue Monsieur le Prince ได้กลายเป็นแนวรับสำคัญ
ท่านประธานาธิบดีเก็บตัวเงียบ ไม่มีใครรู้ว่าท่านคิดยังไง (นิสัยคล้ายกับท่านรัฐบุรุษของเราที่ก่อนลงมือมักเงียบผิดปกติ)
แต่แล้วจู่ๆ ท่านก็หายตัวไป ไม่มีใครรู้ว่าท่านไปไหน ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวาย และปะทะกันอย่างประปราย
เพิ่งมารู้ทีหลังว่า ที่แท้แล้วท่านแอบบินไปเยอรมนี ไปที่แคว้น Baden-Baden ซึ่งกองทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่นับแต่หลังสงครามโลกมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ (apres guerre)
ท่านแอบไปพบกับนายพล Massu เพื่อขอคำยืนยันว่ากองทัพยังจะยังคงยืนอยู่ข้างท่านหรือไม่ "I cannot fight against apathy, against the desire of the whole people to let itself break apart." ท่านกล่าวกับนายพล Massau
เช่นเดียวกับบรรดาทหารเก่าของนโปเลียน ตอนที่หนีกลับมาจาก Saint Helena นายพล Massau ตอบตกลง เพียงแต่ขอให้ท่านประธานาธิบดีช่วยนิรโทษกรรมบรรดานายทหารคนสำคัญที่ถูกคุมขังอยู่เนื่องเพราะความผิดครั้งสงครามอัลจีเรีย เป็นการแลกเปลี่ยน
ท่านกลับปารีสอย่างมั่นใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ท่านรู้สึกผิดหวังและคิดจะลาออก
และแล้วท่านนายพลเดอโกลก็วางแผนตอบโต้ม็อบ เริ่มด้วยสุนทรพจน์ทางวิทยุอันเผ็ดร้อน ด่าว่าม็อบเป็นคอมมิวนิสต์และ "พวกกุ๊ยสวะ" (chie-en-lits, คล้ายๆ "ชิงหมาเกิด" ทำนองนั้น คือต่ำยิ่งกว่า "ผ้าเช็ดเท้า" ไปอีก) ต้องการป่วนบ้านป่วนเมืองแล้วก็จะสถาปนารัฐฝรั่งเศสใหม่ที่มีความโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ (An International Autocracy)
ท่านได้เน้นย้ำถึง "ความมีส่วนร่วม" ท่านเรียกร้องให้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ("We need more participation") และทิ้งท้ายว่าชาวฝรั่งเศสต้องเลือกระหว่างท่านกับความโกลาหล (Chaos)
เย็นวันเดียวกันนั้นเอง "ม็อบหลากสี" ก็อุบัติขึ้น ท่ามกลางผู้คนเรือนแสน พากันเดินขบวนสนับสนุนท่านนายพลไปตามท้องถนนสาย Avenue des Champs-Elysees พร้อมๆ กับธงสามสีผืนยักษ์
มันได้ผล!
ตามคาด..ตำรวจหน่วยปราบจราจล CRS (อันที่จริงเป็นสารวัตรทหารมากกว่า) ก็กรูกันออกมาจากที่ตั้ง พร้อมรถตำรวจคันใหญ่ลูกกรงแน่นหนา อาวุธครบมือ เข้าปราบฐานที่มั่นของม็อบ จนเกิดปะทะกันรุนแรง เผารถ เผาบ้าน ปล้นสดมภ์ กันทั่วกรุง..ฯลฯ
ผมเคยมีโอกาสได้ฟังเล็กเชอร์ของ Dr.John Merriman แห่ง Yale ว่าด้วย May 1968 ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสหลัง พ.ศ.2414 (France Since 1871) ท่านว่าการปราบปรามครั้งนั้นมีคนตายจำนวนมาก (กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผย) โดยมีผู้บาดเจ็บ 367 ราย ถูกจับกุมอีก 1,888 ราย และการนัดหยุดงานก็กระจายไปทั่วประเทศ ร้านค้าถูกปล้นไม่ต่ำกว่า 50 ร้าน และชุมชนชาวยิวและมุสลิมในปารีสก็ถือโอกาสนี้ปะทะกัน (เป็น sideshow)
กว่าจะกลับมาสงบจริงๆ ก็เมื่อย่างเข้ามิถุนายนแล้วนั่นเอง
และแล้วทุกอย่างก็กลับสู่ความเงียบสงบ
ชาวปารีสดูเหมือนจะลืมเลือนเหตุการณ์นั้นไปแล้ว ความสนใจของพวกเขามุ่งไปสู่เรื่องอื่น เช่น การประท้วงของนักศึกษาในเชคโกสโลวาเกีย ที่มีการนอนขวางรถถังโซเวียต และการเจรจาสันติภาพระหว่างเวียดนามเหนือกับใต้ที่ปารีส และข่าวการถูกยิงของ Andy Worhol และของ Robert Kennedy ที่โด่งดังไปทั่วโลก...ฯลฯ
แต่ในที่สุด เมื่อมีการ "เช็กบิล" ก็พบว่าฝรั่งเศสต้องจ่ายหนัก ทั้งค่าซ่อมแซมและ ฯลฯ เป็นเงินก้อนแรกถึง 150 ล้านฟรังก์และยังจะตามมาอีกจำนวนมาก (นายกรัฐมนตรี Pompidou ซึ่งเป็นอดีตนายธนาคารใช้คำว่า "Slow Haemorrhage") จนสุดท้ายต้องลดค่าเงินลง อีกทั้งยังต้องปรับค่าแรงขึ้นอีก 10-14% เพื่อเอาใจคนงาน ตลอดจนปรับปรุงงานบริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นเชื้อแห่งความไม่พอใจของนักศึกษา..แต่ที่กระทบมากที่สุดก็คือ บรรดาผู้ค้าและนายหน้าขายและประมูลงานศิลปะทั้งหลาย เริ่มหมดความไว้วางใจต่อปารีส และได้พากันโยกย้ายตัวเองไปตั้งทำกินที่นิวยอร์ค ทำให้ศูนย์กลางธุรกิจศิลปะซึ่งคิดมูลค่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล โยกย้ายออกไปจากฝรั่งเศส ข้ามฟากไปอยู่อเมริกานับแต่บัดนั้น
ท่านผู้อ่านทุกคนคงจะทราบดีแล้วว่า จุดจบของท่านนายพลเดอโกล หลังเหตุการณ์นั้น เป็นเช่นไร
ท่านต้องจากไปอย่างเงียบๆ หลังจากพ่ายแพ้มติมหาชนที่ท่านได้อำนวยการให้จัดทำ Peblicite ขึ้นทั่วประเทศ (ต่อประเด็นการกระจายอำนาจของรัฐบาลกลาง) ในปีต่อมา...ไม่มีพิธีรีตองที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีคนห้อมล้อมไปคอยส่ง มีแต่เพียงคนใกล้ชิดไม่กี่คน...แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีบทบัญญัติให้ท่านต้องลาออก แต่ท่านก็เลือกที่จะไป เพราะท่านรู้ว่าคนฝรั่งเศสไม่ต้องการท่านแล้ว "What the point of all that I'm doing?...nothing has any importance." ท่านกล่าวกับคนใกล้ชิดก่อนหน้านั้นอย่างผู้เล็งเห็นสัจธรรม ราวกับท่านเริ่มยอมรับกับตัวเองได้แล้วว่าคนฝรั่งเศสไม่ต้องการท่านแล้วจริงๆ ไม่เหมือนก่อนหน้านั้นที่ท่านมักคิดว่าคนฝรั่งเศสจะทอดทิ้งท่าน หรือหักหลังท่าน ทั้งที่ท่านได้ทำให้กับฝรั่งเศสมาแล้วมากมาย
และเมื่อท่านวางมือ สาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ดำเนินต่อไปเป็นปกติ ไม่มีความโกลาหล ไม่มีความล่มสลาย อย่างที่ท่านเคยทำนายไว้ก่อนหน้านั้น ว่าถ้าไม่เอาท่านแล้วบ้านเมืองจะต้องลำบากและปั่นป่วนโกลาหลอย่างโง้นอย่างงี้...ปีต่อมาท่านก็ตายลงอย่างเงียบๆ ในไอร์แลนด์
"France is a widow." ประธานาธิบดีปอมปิดูประกาศทันทีหลังทราบว่าท่านนายพลเสียชีวิตลง.....
ลงจากหลังเสือ
นั่นเป็นเรื่องราวตอนจบของฉากชีวิตของนายพล Charles de Gaulle รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ประธานาธิบดีคนสำคัญที่สุดของฝรั่งเศสยุคหลังสงครามโลก (และ ฯลฯ) ในความรับรู้ของตัวผมเอง ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์คนหนึ่ง..ก็เท่านั้นเอง
ในฐานะที่เป็นผู้เขียนคอลัมน์ Guru ผมกลับมองเห็นแง่มุมเชิงการจัดการ เชิงอำนาจ และเชิงการเมือง ที่สำคัญยิ่งอยู่ในฉากสุดท้ายนี้ และผมว่ามันเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำและคนที่อยากจะเป็นผู้นำทุกคน
นั่นคือ "การลงจากอำนาจ"
เพราะแม้ว่า "การแสวงหาให้ได้มาซึ่งอำนาจ" และ "การรักษาอำนาจ" จะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำและคนที่อยากเป็นผู้นำทุกคนมุ่งศึกษาเรียนรู้และแสวงหาให้ได้มาซึ่งหลักการและเพทุบายต่างๆ บรรดามี ทว่า "การลงจากอำนาจ" นับเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความเหนือชั้นกว่า แนบเนียนกว่า แยบคายกว่า และกล้าหาญกว่า จึงจะทำได้สำเร็จ โดยไม่เกิดความเสียหายต่อตนเองและหมู่คณะ ตลอดจนองค์กรหรือส่วนรวมที่ตนกุมบังเหียนอยู่นั้น
"การลงจากอำนาจ" เป็นเรื่องยากยิ่ง จนมีคนเปรียบว่าการมีอำนาจนั้นอุปมาเหมือนกำลังขี่หลังเสือ หากจะทะเล่อทะล่าลงจากหลังเสือโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็ย่อมต้องโดนเสือกัดเอาได้
เหมาเจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้นำที่ทะลุปรุโปร่งเรื่องความยอกย้อนของ "อำนาจ" อย่างลึกซึ้ง ชนิดในรอบหลายร้อยปีมานี้ย่อมหาตัวจับยาก และเป็นผู้นำเผด็จอำนาจที่ตายคาอำนาจ มักจะกล่าวเตือนใจนักปฏิวัติเสมอถึงเรื่องราวชีวิตของบรรดา "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน" ที่พากันวางอาวุธเสียแต่ก่อนการณ์ แล้วหันไปเข้ากับฝ่ายบ้านเมือง จนสุดท้ายก็ล้วนแต่มีอันเป็นไป และพบกับจุดจบที่ไม่พึงปรารถนา
นี่กระมังที่ทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ต้องยึดติดและกุมอำนาจไว้ในมืออย่างเฉียบขาด ราวกับลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ กระนั้นก็ปาน
"การลงจากอำนาจ" ที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องพอดีๆ ไม่เร็วไปหรือช้าไป อย่างกรณีของนายพลเดอโกลนั้น ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่จนบัดนี้ว่า ถ้าท่าน "ถอดใจ" ไปตั้งแต่ May 1968 ฝรั่งเศสจะพินาศย่อยยับหรือไม่...แต่การที่ท่านยอมยุติบทบาทเมื่อแพ้มติมหาชน ย่อมถูกต้อง และได้รับการแซ่ซร้องสรรเสริญสืบมาว่าสมกับที่เป็นรัฐบุรุษ ซึ่งเรื่องนี้ ผมก็ว่าจริง
ในเชิงการจัดการแล้ว ปัญหา "การลงจากอำนาจ" ย่อมเกี่ยวพันกันอย่างเกือบจะแยกไม่ออกจากปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งคือ "การสืบทอดอำนาจ" คือถ้าเป็นองค์กรธุรกิจก็เรียกว่า "สืบทอดกิจการ" หรือถ้าเป็นการเมืองแบบ Kingdom ก็เรียก "สืบราชสมบัติ" (ผมอยากให้สังเกตคำที่ใช้ ซึ่งแสดงถึงความมีค่าของสิ่งที่จะส่งมอบให้ผู้นำหรือกษัตริย์องค์ต่อไป ว่ามันมีค่าเป็น Asset แบบหนึ่ง) ถ้าเป็นการเมืองแบบสาธารณรัฐก็อาจจะเรียกว่า "คัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี" ฯลฯ เป็นต้น
"การลงจากอำนาจ" และ "การสืบทอดอำนาจ" นับเป็น หัว-ก้อย ของเหรียญเดียวกันนั่นเอง
องค์กรใดที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำที่เก่งกาจสามารถ หรือ Charismatic Leader มาอย่างยาวนาน ย่อมต้องพิถีพิถันกับการลงจากอำนาจ ต้องวางแผน และทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อไม่ให้ "การเปลี่ยนแผ่นดิน" เกิดปัญหา
ในสังคมตะวันออกแต่โบราณ ชนชั้นปกครองมักหลีกเลี่ยงที่จะพูดกันเรื่องพวกนี้อย่างเปิดเผย และกว่าจะมาพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ก็ต้องรอให้ผู้นำเก่าแก่เฒ่าเสียก่อน เพราะการเลือกผู้นำใหม่หรือผู้สืบทอดนั้นมักเกิดจริงตอนที่ผู้นำเก่าเสียชีวิตแล้ว...คือต้องรอให้ตายเสียก่อน ถึงจะเปิดอกพูดกันจริงจังได้
อย่างประเทศจีนในสมัยโบราณนั้น บ้านเมืองมักมีปัญหาเสมอเมื่อฮ่องเต้ผู้ทรงปัญญาและทรงอิทธิพลเริ่มชราภาพ...แม้แต่ เหมาเจ๋อตง ในบั้นปลายก็มิได้คัดเลือกหรือเจาะจงผู้ใดเป็นรัชทายาท
แบบนี้ ฝรั่งเรียกเป็นภาษา Management ว่า "Succession Void" ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งในแวดวงการจัดการ
สมัยที่กิจการค้าของคนจีนยังไม่สมาทานวิธีการบริหารงานแบบฝรั่งกัน กิจการเหล่านั้นจำนวนมากก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน จนมีคำกล่าวว่ากิจการของคนจีนนั้น ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ปานใด มักมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 3 ชั่วคนเท่านั้น คือรุ่นปู่สร้าง รุ่นพ่อขยาย แล้วรุ่นลูกก็มาทำพัง...นั่นย่อมสะท้อนถึงปัญหาดังว่า
ในสังคมตะวันตก ชนชั้นผู้นำของพวกเขาได้คิดเรื่องเหล่านี้มาช้านาน เพราะพวกเขารู้ซึ้งถึงความวุ่นวายหรือกระทั่งหายนะที่มักเกิดขึ้นกับสังคมตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของตัวเสมอๆ เมื่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำเกิดปัญหา ไม่สามารถเปลี่ยนกันแบบสันติได้ จนต้องใช้กำลังบังคับ ซึ่งเมื่อนั้น ผู้คนทั่วไปย่อมต้องเดือดร้อนไปด้วยทุกหย่อมหญ้า
พวกเขาย่อมมีหลักเกณฑ์ในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจนและเป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจต้องใส่ใจและยึดถือ อย่างรัฐธรรมนูญอเมริกันนั้น แม้แต่นายทหารที่กำลังจะรับกระบี่ก็ยังต้องทำพิธีสาบานว่าจะปกป้องคุ้มครอง อย่าว่าแต่ประธานาธิบดีก่อนเข้ารับตำแหน่งซึ่งต้องสาบานทุกคน
อย่างกรณีสหรัฐฯ นั้น จะเห็นว่าบรรดา Founding Fathers ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก โดยเขียนไว้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อปี 1787 โน่นแล้ว (Article II, Section I) และก็เพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 1967 (25th Amendment) เป็นต้น
องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสถาบันทางสังคมแบบหนึ่งที่เพิ่งจะเกิดและพัฒนาขึ้นมาได้เพียงร้อยกว่าปีมานี้ ก็ย่อมต้องให้ความสำคัญต่อ "การลงจากอำนาจ" และ "การสืบทอดอำนาจ" เช่นกัน
ถ้าได้อ่าน My years with General Motor ก็จะทราบว่า Alfred Sloan นักบริหารที่สามารถคนหนึ่งของอเมริกา ผู้สร้าง General Motor ขึ้นมาจากบริษัทขนาดเล็กๆ ที่มารวมตัวกันและกำลังจะล้มละลาย ให้กลายเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ของโลกได้ เขาผู้นั้นคิดเรื่องทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา เขาสัมภาษณ์ผู้จัดการทุกระดับด้วยตัวเอง เขารู้จักคนของเขาเป็นอย่างดี และเขาก็ Groom ผู้นำรุ่นใหม่เพื่อจะให้มาแทนตัวเขาเองอย่างพิถีพิถัน
แม้ตอนแรก เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน โดยทีมแรกที่เขาอุตส่าห์ฟูมฟักขึ้นมาต้องไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อกลับมา Sloan ก็มองว่าคนเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับการรับช่วงแล้ว เขาก็สู้อุตส่าห์อยู่ต่อ (ทั้งๆ ที่ตอนแรกเขากะจะเกษียณ) เพื่อ Groom อีกทีมหนึ่งขึ้นมาแทน
Peter Drucker เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะกับปัญหาการสืบทอดกิจการของ Family Business โดยได้ยกตัวอย่างกิจการแบบ Du Pont ซึ่งมีอายุกว่า 150 ปี และสามารถดำรงอยู่ อีกทั้งยังสร้างความยิ่งใหญ่มาได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารของผู้นำที่มาจากสมาชิกของครอบครัว Du Pont มาโดยตลอด
ดรักเกอร์ว่าครอบครัวนี้มีกติกาที่น่าสนใจ คือพวกเขาจะมีคณะกรรมการบริหารที่ประกอบไปด้วยสมาชิกอาวุโสและสมาชิกรุ่นรองลงมาคอยประเมินสมาชิกรุ่นเล็กที่ทำงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยใครที่มีแวว ก็จะ Groom ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร โดยไม่ยึดว่าต้องเป็นลูกชายคนโตหรือสายตรงเท่านั้น...นั่นคือการเลือกเอาสมาชิกของครอบครัวคนที่เก่งที่สุดขึ้นมา
ดรักเกอร์แสดงให้เห็นต่อไปว่า กิจการครอบครัวที่อยู่ได้นานและเติบโตต่อเนื่องก็เพราะความใจกว้าง คือถ้าคนในครอบครัวไม่ Qualify พวกเขาก็สามารถเลือกเอาคนนอกที่เก่งที่สุดขึ้นมาบริหารได้ เป็นต้น
เราได้เห็นกิจการยักษ์ใหญ่ของโลกปัจจุบันแบบ Wal-mart ก็ทำแบบนั้น ลูกๆ ของ Sam Walton ล้วนไม่ได้สืบทอดกิจการจากพ่อ (ลูกสาวคนหนึ่งยังเป็นเพียงผู้อำนวยการฝ่ายๆ หนึ่งเท่านั้นในขณะนี้) หรืออย่าง Warren Buffet คนที่รวยที่สุดในโลก ก็เลือกทายาททางธุรกิจเรียบร้อยแล้ว และแบ่งมรดกให้ลูกเสร็จสรรพ โดยลูกทั้งสองของเขาจะไม่ได้สืบทอดกิจการ Berkshire Hataway อย่างแน่นอน
ในเมืองไทยเรา เราได้เห็นทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของ "การสืบทอดกิจการ" มาแล้วอย่างน้อยรุ่นหนึ่ง
ยกตัวอย่าง กลุ่มซีพีของตระกูลเจรียวนนท์ กลุ่มสหพัฒน์ฯ ของตระกูลโชควัฒนา กลุ่มธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช หรือ ช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ เหล่านี้ล้วนสามารถเปลี่ยนผ่านมาถึงรุ่น 2 และ 3 ได้อย่างราบรื่น แต่ก็มีที่ล้มเหลวเช่น กลุ่มศรีนครของตระกูลเตชะไพบูลย์ กลุ่มโรงเหล็กของตระกูลหอรุ่งเรือง กลุ่มยูคอมของตระกูลเบญจรงคกุล หรือ กลุ่มหวั่งหลี ซึ่งเคยเป็นคหบดีจีนผู้มั่งคั่งมาก่อนตระกูลที่กล่าวมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด นี่ยังไม่นับกลุ่มตระกูลชินวัตร ซึ่งผู้นำสูงสุดตัดสินใจลงจากอำนาจช้าเกินไป เป็นต้น
สังคมไทยขณะนี้ เป็นเวลาที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นเก่าจะต้องจากไปในเร็ววัน และคนรุ่นใหม่ก็กำลังทะยอยขึ้นมารับไม้ต่อ
มองไปทางไหน ก็จะเห็นได้ไม่ยาก ว่าองค์กรสำคัญๆ ที่มีบทบาทต่อสังคมไทยขณะนี้ กำลังเผชิญปัญหาดังว่านี้อยู่ ตั้งแต่ระดับสูงสุดบนยอดปิรามิดของสังคมไทยและบริวารแวดล้อม หรือองค์กรระดับพรรคการเมือง หรือองค์กรระดับรองลงมาเช่นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่กิจการของบรรดาไทคูนที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากยุคตลาดหุ้นบูมเมื่อยี่สิบปีก่อนแล้วอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล สุทธิชัย หยุ่น/ธนาชัย ธีรพัฒน์วงศ์ ขรรค์ชัย บุนปาน อนันต์ อัศวโภคิน หรือแม้แต่ เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มั่งคั่งกว่าใครเพื่อน ก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านอันนี้อยู่อย่างเงียบๆ
เราคงปฏิเสธได้ยาก ว่าผู้นำเฒ่าขององค์กรเหล่านี้ ล้วนเป็นคนที่นอกจากจะถืออำนาจที่แท้จริงในองค์กรของตนๆ แล้ว ยังถืออำนาจซึ่งสามารถ Shape สังคมไทย ทั้งในระดับของกลไกการปกครองประเทศ และในระดับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นจักรกลในการสร้างความมั่งคั่งของสังคม ให้หันเหไปทางไหนก็ได้ในระดับที่มีนัยะสำคัญยิ่ง
หากกระบวนการเปลี่ยนผ่านรอบนี้ไม่ราบรื่น-ไม่ว่าจะอันเนื่องมาแต่ "การลงจากอำนาจ" หรือ "การสืบทอดอำนาจ" หรือ "การละวางอำนาจ" หรือ "การลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ" ก็ตามแต่-มันย่อมไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผู้คนในองค์กรที่พวกเขานำอยู่เท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินของพวกเราไปด้วย ไม่มากก็น้อย
พบกันฉบับหน้ากับ “ภารกิจแรกของผู้สืบทอด” ครับ
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น