วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไฮโซ กับ "การเปลี่ยนแปลง"




ในห้วงวิกฤติที่ผ่านมา เพื่อนชาวอังกฤษของผมคู่หนึ่ง ได้แสดงความห่วงใยผมและครอบครัวผ่านอีเมลอยู่เสมอ คอยถามสารทุกข์สุกดิบอยู่เกือบตลอดเวลา เพราะเขาเห็นข่าวทีวีอังกฤษแล้วตกใจมาก โดยที่เขารู้ว่าบ้านของผมอยู่ไม่ไกลจากบ้านของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และจะต้องผ่านตรงนั้นทุกวันเพื่อไปทำงานหรือส่งลูกไปโรงเรียน เขาก็ยิ่งเป็นห่วงไปใหญ่

แต่ด้วยความที่คนอังกฤษมักมีนิสัยที่เราเรียกรวมๆ ว่า British Eccentric เมลของวันที่ 16 พ.ค. จึงลงท้ายว่า “I feel particularly sorry for you, as we have just had a general election and now have a friendly and cooperative government, so all is calm and peaceful.”

อ่านด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ การลงท้ายจดหมายในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้มันแปลก หรือออกจะพิเรนท์ เพราะถ้าไม่ซี้กันจริงก็คงคิดว่า “ไอนี่มันจะเอาไงแน่ จะห่วงใย เห็นใจ หรือจะเยาะเย้ยถากถาง...กวนจังเว้ย” แต่นี่ผมรู้จักที่มาที่ไปของสองผัวเมียนี้มาพอสมควร ผมก็เลยตอบไปและลงท้ายจดหมายของตัวเองว่า “Congratulation to your new cooperative government and hope the coalition could implement an agreed agenda containing much of the best in each party's manifesto. I think, both of you welcome it.”

นั่นหมายความว่า ผมยินดีกับเขาที่บ้านเขามีกระบวนการเปลี่ยนผู้นำที่สันติ แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดของคนอังกฤษอย่างมากและก้ำกึ่ง จะเรียกว่าก้ำกึ่งที่สุดในรอบ 60 กว่าปีก็ว่าได้ และตอนแรกก็ทำท่าว่าจะต้องมี Hung Government แล้วก็เลือกตั้งใหม่อีกรอบ แต่สุดท้าย David Cameron ก็ตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ เป็นอันยุติอำนาจของพรรคแรงงานที่กุมอำนาจรัฐมากว่า 13 ปี ให้พ้นจากอำนาจไปได้ด้วยสันติวิธี ไม่ต้องฆ่าแกงกันเพราะคิดต่างกัน

“การเปลี่ยนผู้นำโดยสันติวิธี” นับเป็นปัญหาสำคัญมากในเชิงการบริหารราชการแผ่นดิน ชนชั้นปกครองแต่โบราณมา ไม่ว่าชาติภาษาใด ย่อมคิดอ่านเรื่องนี้กันมามาก และมีธรรมนูญของตัวเอง เพื่อสร้างความแน่นอนระดับหนึ่ง ลดความเสี่ยง และป้องกันมิให้เกิดความโกลาหลในช่วงเปลี่ยนผ่าน


ในระบบทุนนิยมนั้น การเปลี่ยนแปลงผู้นำโดยสันติเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพื่อไม่ให้กระบวนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ต้องสะดุดหยุดลงและขาดความต่อเนื่อง แม้แต่อาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นกิจการครอบครัวที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน ก็มักจะมี “ธรรมนูญ” หรือ Family Constitution ของตัวเอง เพราะประสบการณ์สอนให้รู้ว่า เมื่อกระบวนการแบ่งสรรความมั่งคั่งหรือทรัพย์สมบัติมีปัญหา เกิดการแย่งชิงด้วยการสู้รบปรบมือ ก็มักจะทำให้องค์กรโดยรวมแย่ไปด้วย หรือไม่ อาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นก็อาจแตกออกเป็นเสี่ยงๆ นับประสาอะไรกับ “ราชสมบัติ” ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “ทรัพย์” หรือ Wealth หรือไม่ก็ Asset ประเภทหนึ่งเช่นกัน (อยากให้อ่านประกอบหน้า 148)


ที่เล่ามายืดยาวเพราะจะบอกว่าสองผัวเมียคู่นั้นเคยอยู่ Private Equity Firm มาก่อน (หน้า 85) แต่เดี๋ยวนี้เกษียณแล้ว เลยมาเป็น Dealer ค้าหนังสือเก่า เน้นหมวดเศรษฐกิจการเงิน เพราะอาศัยความชำนาญเดิมและเพื่อนฝูงในวงการที่เป็น Merchant Banker, Commercial Banker, Fund Manager, และ Stock Broker ซึ่งคนพวกนี้ (นิสัยเหมือนกันทั่วโลก) นอกจากจะเล่นหุ้น หมุนเงิน ค้าเงิน และหาโอกาสในการลงทุนอยู่ตลอดเวลาแล้ว มักเป็นนักสะสมตัวยงอีกด้วย

ในเครือข่ายของเขามี Fund Manager อยู่คนหนึ่งที่เคยมาลงทุนในเมืองไทยเมื่อยี่สิบปีก่อนและทำกำไรไปจากเมืองไทยได้มากในช่วงนั้น แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ลงทุนในไทยแล้ว (ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของกองทุนเอง) แต่ตระเวนไปลงทุนตามประเทศที่เขาเรียกว่า Frontier Markets หรือ Orphan Markets โดยเขาว่าตลาดเหล่านี้มีความน่าสนใจของมันอยู่ แต่ก็มีความเสี่ยงเฉพาะตัวบางประการ ถ้าเราศึกษาให้ถ่องแท้และลงทุนสำเร็จ ก็จะได้ผลตอบแทนสูง ในความเห็นของเขา ประเทศเหล่านี้เป็น “พรมแดน” ของ Emerging Markets ที่เป็นเสมือนลูกกำพร้า ไม่มีใครสนใจ แต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Emerging Markets ได้ในอนาคต


เขาจะรู้ดีมากในเรื่องที่เกี่ยวกับอัฟริกา ยุโรปตะวันออก เอเชียกลาง และพวกที่แยกออกจากโซเวียตเดิม...นั่นเป็นสไตล์การลงทุนของเขา และเขาว่าประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ในสายตาของนักลงทุน ก็เป็นแบบนั้น

เขาว่าในช่วงนั้นบรรดา Fund Manager ที่สนใจ Emerging Market มักมองมาที่ไทย อาเจนตินา เม็กซิโก เป็น Priority ต้น รองลงมาก็จะเป็นบราซิล อินเดีย และจีนด้วยในช่วงหลัง โดยเขาบอกอีกว่า ไทย อาเจนตินา และเม็กซิโก ในช่วงนั้น (หมายถึงทศวรรษที่ 80s) ดูดีและมีความหวังมากกว่าเพื่อน ความข้อนี้ ผมได้ลองเช็กกับเพื่อนฝูงในแวดวงการเงินที่ต้องติดต่อค้าขายกับฝรั่งและผ่านช่วงเหล่านั้นมา ก็พบว่ามีมูลไม่น้อย

ปัจจุบัน สถานะของไทยในสายตานักลงทุนที่สนใจ Emerging Markets มิได้สูงส่งดังเดิม ทว่าได้กลายเป็น Case Study ที่มีไว้ให้พวกเขาได้ศึกษาเอาจากความผิดพลาดของเรา แล้วนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของบราซิล อินเดียและจีน เพื่อที่จะนำไปประเมินความเสี่ยงว่าในบรรดาประเทศระดับ Frontier Market ขณะนี้ มีโอกาสจะเดินมาสู่หลุมดำแบบเรา หรือว่าจะหลีกเลี่ยงและเดินไปบนหนทางแบบบราซิล อินเดีย และจีน (ซึ่งพวกเขามองว่าได้รับความสำเร็จ) หรือไม่อย่างไร ในอนาคต


เขาไม่ได้อธิบายต่อว่า “หลุมดำ” ที่ว่านั้นคืออะไร แต่มันก็เป็นคำถามที่น่าคิดว่าทำไม ประเทศไทยซึ่งดูเหมือนจะเริ่ม Take-Off ก่อนใครเพื่อน กลับต้องมา “ติดหล่ม” อยู่แบบนี้


สำหรับผม ผมคิดว่าียี่สิบกว่าปีมานี้ เราพลาดในสองเรื่องใหญ่ๆ ในสายตานักลงทุนพวกนี้ คือการก่อหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนอย่างมหาศาลในช่วงก่อนปี 2540 โดยเงินจำนวนนั้นถูกใช้ไปแบบอิลุ่ยฉุยแฉก ส่วนใหญ่มิได้นำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด จนต้องประสบเคราะห์กรรมใหญ่ และใช้เวลาเยียวยานาน

ส่วนเรื่องที่สองคือความเหลื่อมล้ำในรายได้และทรัพย์สินของผู้คนในสังคม เพราะถึงแม้ประเทศไทยเราจะสามารถสร้างความมั่งคั่งได้มากในรอบหลายสิบปีมานี้ จนบางช่วงฝรั่งถึงกับยกยอว่าเป็น “Economic Miracle” แต่กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จาก Miracle นี้มีเพียงจำนวนน้อย คนส่วนใหญ่ของประเทศถูกทิ้งห่างไปทุกที ในขณะที่ทรัพยากรท้องถิ่นร่อยหรอลง และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ปัจจุบัน 75% ของ GDP (ซึ่งเป็นดัชนีวัดความมั่งคั่งของสังคม) มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และชายฝั่งตะวันออกที่เรียกว่าอิสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีประชากรเพียง 20% เท่านั้น และในจำนวนนั้นย่อมมีส่วนของต่างชาติเป็นก้อนใหญ่อยู่ด้วย


ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์และคณะ ทำงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 20% ของคนรวยสุดของไทยมีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศถึง 54% ในขณะที่อีกข้างหนึ่งคือ 20% ของคนจนสุดมีส่วนแบ่งเพียง 4% เท่านั้น โดยตัวเลขนี้ถ่างห่างขึ้นกว่าในอดีตที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 49% กับ 6% ตามลำดับ และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความเหลื่อมล้ำในเชิงรายได้ของเรามากกว่ายุโรป อเมริกา และเพื่อนบ้านในเอเชียอีกด้วย


นี่ยังไม่นับปัญหาคอรัปชั่นซึ่งมีอยู่ในทุกวงการ และปัญหาการศึกษาที่เป็นปัญหาคลาสสิกมากว่าร้อยปี เพราะถึงแม้ว่าชนชั้นปกครองที่ผ่านมาจะยกเอาปัญหาการศึกษาขึ้นมาให้ความสำคัญทุกครั้งเมื่อต้องคิดเรื่องนโยบายพัฒนาประเทศและบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทว่าเมื่อดูจาก Performance ที่ผ่านมา ย่อมฟ้องเลยว่า ชนชั้นปกครองไทยพยายามน้อยมากที่จะยกระดับหรือกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง หรืออาจจะไม่พยายามเลยก็เป็นได้


ปัจจุบัน คน 60% ของเราจบการศึกษาเพียงชั้นประถมปีที่ 6 และ 70% ของเราจบเพียงมัธยมต้น...นั่นคือ Performance แบบหนึ่งที่จับต้องได้ในปัจจุบัน หลังจากพยายามกันมาแล้วกว่าร้อยปี (ในเชิง Management นั้น เรามักจะวัดผลสำเร็จด้วย Performance มิใช่กระบวนการ หรือ Process หรือ “ความตั้งใจอันดี” ก็หาไม่)

เมื่อคนส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา ก็ยากที่จะเข้าถึงโอกาสในการสร้างฐานะและความมั่งคั่ง จึงยากที่ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับการศึกษาที่ดี และ..ฯลฯ วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด (คนชั้นกลางและชั้นสูงจำนวนมากมักโทษว่าการซื้อเสียงก็มีสาเหตุมาจากประชาชนด้อยการศึกษาอีกด้วย)


เห็น Performance แบบนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่าชนชั้นปกครองของเราที่ผ่านมา ตั้งใจผูกขาดหรือปิดบังการศึกษาไว้เพื่อผลเชิงการปกครองหรือเปล่า Aristotle ซึ่งศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมาก่อนใคร เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า “It is also in the interests of a tyrant to keep his people poor, so that they may not be able to afford the cost of protecting themselves by arms and be so occupied with their daily tasks that they have no time for rebellion."


และด้วย Performance แบบนี้ ถ้าผมและลูกหลานของผมเป็นคนที่ตกอยู่ใน 70% นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 30% ที่เหลือ (และผมดันมารู้เรื่องนี้ว่ามันมิไ้ด้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาแต่สามารถ “จัด” กันได้) ผมย่อมรู้สึกอึดอัด ขัดข้อง และไม่พอใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้แหละที่มันจะ Ferment จนเป็นที่มาของข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งถ้าสังคมไม่อนุญาตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสันติได้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเพื่อ Force ให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปได้ก็ยังมี โดยดีกรีความรุนแรงจะมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ “ตอ” หรือ Barriers to Change และอัตราการขัดขืนและโต้กลับของผู้เสียประโยชน์ เป็นสำคัญ (นิตยสาร MBA ของเรากำลังเตรียมนำเสนอเรื่อง “Change” ในลำดับต่อไป...ท่านผู้อ่านโปรดติดตาม) ทักษิณ ชินวัตรและสหาย ก็ทราบเรื่องนี้ดี และกำลังใช้ข้อมูลทำนองนี้ปลุกระดมกลุ่มคน 70-80% นั้น ให้เป็นฐานสำหรับการกลับมาสู่อำนาจของกลุ่มตน


ที่ผมว่ามานั้น มิได้เป็นเรื่อง “ถูก-ผิด-ดี-เลว” หรือเป็นเรื่องของ "สีแดง" "สีเหลือง" แต่มันเป็น “เช่นนั้นเอง”


ผมอยากจะจบบทบรรณาธิการนี้ด้วยความเห็นของ George Orwell ผู้ได้รับการศึกษามาแบบ Aristocrat แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่คลุกคลีกับชนชั้นกลางและชั้นล่าง จึงเข้าใจ “ความรู้สึก-นึก-คิด” ของคนทั้งสามกลุ่มดีมาก

เขาเขียนไว้ในหนังสือ 1984 หรือ Nineteen Eighty-Four เมื่อ พ.ศ. 2492 ว่า “...throughout recorded time...there have been three kinds of people in the world, the High, the Middle, and the Low.... The aims of these three groups are entirely irreconcilable. The aim of the High is to remain where they are. The aim of the Middle is to change places with the High. The aim of the Low, when they have an aim--for it is an abiding characteristic of the Low that they are too much crushed by drudgery to be more than intermittently conscious of anything outside their daily lives--is to abolish all distinctions and create a society in which all men shall be equal.

Thus throughout history a struggle which is the same in its main outlines recurs over and over again. For long periods the High seem to be securely in power, but sooner or later there always comes a moment when they lose either their belief in themselves or their capacity to govern efficiently, or both. They are then overthrown by the Middle, who enlist the Low on their side by pretending to them that they are fighting for liberty and justice. As soon as they have reached their objective, the Middle thrust the Low back into their old position of servitude, and themselves become the High. Presently a new Middle group splits off from one of the other groups, or from both of them, and the struggle begins over again. Of the three groups, only the Low are never even temporarily successful in achieving their aims.

But the problems of perpetuating a hierarchical society go deeper than this. There are only four ways in which a ruling group can fall from power. Either it is conquered from without, or it governs so inefficiently that the masses are stirred to revolt, or it allows a strong and discontented Middle group to come into being, or it loses its own self-confidence and willingness to govern.”

น่าคิดนะครับ Observation ของเออร์เวล

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรให้ทั้ง the High, the Middle, และ the Low จงประสบโชคชัย ประกอบกิจของตัวเองสำเร็จสมดังหมาย และตกลงต่อรองหาโครงสร้างที่อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
23 มิถุนายน 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนาคม 2533 ในชื่อ "ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่าง กับการเปลี่ยนแปลง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น