ถ้าลองได้ถามผู้คนทั้งสองฝั่งโขงดู
ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นนักธุรกิจ
นักการเมือง นักการทูต
ข้าราชการระดับสูง
หรือแม้กระทั่งชาวบ้านชาวช่องทั่วไป
ถึงความเห็นของพวกเขาที่มีต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวหรือลาวกับไทย
เรามักจะได้คำตอบเกือบร้อยทั้งร้อยว่า
"เป็นความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง"
ฟังดูแล้ว
เหมือนจะเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนม
เข้าอกเข้าใจ และรักใคร่กลมเกลียวกันดี
ความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างเราสอง
น่าจะลึกซึ้งกว่าคนอื่น
เพราะภาษาและวัฒนธรรมใกล้ชิดกันมากที่สุดแล้ว
ไม่มีคนชาติไหนในโลกที่ฟังภาษาไทยรู้เรื่องมาตั้งแต่เกิดและสามารถพูดกับพวกเราได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามหรือไม่ต้องผ่านภาษาที่สาม
นอกจากคนลาว
แต่พูดไปเหมือนพระเจ้าเล่นตลก
เพราะไอ้เจ้า
"ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง"
อันเดียวกันนี้แหละ
ที่เป็นสาเหตุให้ไทยกับลาวต้องหมองหมางกันมาหลายครั้งหลายคราในอดีต
และยังไม่สามารถวางใจกันได้เต็มร้อยในปัจจุบัน
และอาจจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ไทย-ลาว
นับจากนี้ต่อไปในอนาคต
มันเป็น
IRONY
เหมือนดังเช่นโปรตุเกสกับสเปน
อังกฤษกับอเมริกา ฝรั่งเศสกับเบลเยี่ยม
หรือออสเตรียกับเยอรมนี
ซึ่งดูเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกันมา
(บ้างก็คล้ายกับพ่อลูก)
พูดภาษาเดียวกัน
กินอาหารอย่างเดียวกัน
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันมาก
และนับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน
แต่ก็เคยหมองหมางกันมาหลายครั้ง
จนถึงขั้นฆ่าแกงกันอย่างรุนแรงก็ใช่ว่าจะไม่เคย
และปัจจุบันก็ใช่ว่าจะมีความสัมพันธ์พิเศษ
จ๊ะจ๋าและเอื้ออาทรกันในดีกรีที่ใกล้ชิดกว่าชาติอื่นซึ่งไม่ถือเป็นพี่น้องเสียซ้ำ
อย่าลืมว่า
"ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง"
นั้น
มันย่อมต้องมี "พี่"
ฝ่ายหนึ่ง
และ "น้อง"
อีกฝ่ายหนึ่ง
อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
แล้วแต่ว่าในขณะหนึ่งๆ
นั้นใครจะเล่นบท "พี่"
และใครจะเล่นบทเป็น
"น้อง"
อย่างอเมริกานั้น
ก็เคยเป็น "น้อง"
ของอังกฤษมาก่อน
(อาจพูดได้ว่าเป็น
"ลูก"
ด้วยซ้ำไป)
แต่ปัจจุบันได้กลับบทบาทมาเป็น
"พี่เอื้อย"
เสียแล้ว
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรียกับเยอรมนี
ซึ่งรัฐต่างๆ ในเยอรมนีปัจจุบันนี้
เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสโตร-ฮังการี
มาก่อนนั่นเอง
ทว่า
สำหรับไทย-ลาว
นั้น ไทยเราดูเหมือนจะเล่นบทเป็นพี่มาโดยตลอด
22
ปีมาแล้ว
ที่ผมเดินทางมาเวียงจันครั้งแรก
โดยตอนนั้นรัฐบาลลาวได้เชื้อเชิญให้สื่อมวลชนทั่วโลกเข้ามาสังเกตุการณ์การเปิดสภาประชาชนในปีนั้นที่มีการรับรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(สปป.ลาว)
ซึ่งมีลักษณะเปิดกว้างเป็นครั้งแรก
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับปัญญาชนคนหนึ่งที่เรียนจบมาจากยุโรปตะวันออกและรัสเซียซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยด่ง
ดก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
หรือ "ม.ซ.”)
และกินตำแหน่งคล้ายๆ
กับนายกราชบัณฑิตยสภาของลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง
ท่านบอกกับผมว่าความร่วมมือทางวิชาการระหว่างลาวกับไทยในขณะนั้น
มีมาได้สักพักหนึ่งแล้ว
(เข้าใจว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี
1985)
และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวนั้นเป็น
"ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง"
"ไทยกับลาวเปรียบเสมือนพี่น้อง
เวลาไปประชุมที่เมืองไทย
ไทยก็ออก และเมื่อมาประชุมกันที่เมืองลาว
ไทยก็ออก"
ท่านกล่าวถึงการที่ไทยต้องออกค่าใช้จ่ายให้ลาวเสมอ
แสดงนัยว่าไทยนั้นเป็นพี่ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องเอื้ออาทรต่อน้องอยู่ตลอดเวลา
ผมว่าเจ้าลาวสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีความคิดเช่นเดียวกันนี้ต่อเจ้าไทย
ความรู้สึกแบบนี้
บางทีมันก็ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะเมื่อน้องรู้สึกว่าพี่ไม่มีความเอื้ออาทร
หรือทำตัวไม่สมกับความเป็นพี่ หรือน้องอาจจะไม่ได้อะไรดังใจ
จนบางทีก็อาจจะกลายเป็นความเคียดแค้นหรือจ้องเอาคืนเมื่อรู้สึกว่า
"พี่ชอบแกล้งน้อง"
หรือ
"พี่ชอบเอาเปรียบน้อง"
หรือที่รับไม่ได้เลยคือ
"พี่ชอบดูถูกดูแคลนน้อง"
หรือ
"ดูหมิ่นเหยียดหยามน้อง"
ทั้งต่อหน้า
หรือลับหลังแบบลึกๆ
กรณี
“กบฎเจ้าอนุวงศ์” ใน พ.ศ.
2370-2371
ก็เริ่มต้นจากหน่อความรู้สึกที่เจ้าลาวเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับรัชกาลที่
2
และมาก่อการในสมัยรัชกาลที่
3
ด้วยความรู้สึกที่อยากจะล้างอายผสมกับอยากปลดแอกจากการเอารัดเอาเปรียบจากการปกครองของราชวงศ์จักรี
ทำให้กองทัพไทยต้องบุกยึดกรุงเวียงจันและรื้อถอนเผาทำลายจนเกือบจะไม่เหลือซาก
อีกทั้งยังจับเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวมาขังใส่กรงเหล็กประจานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท
(ตรงกำแพงพระบรมหาราชวังด้านทิศตะวันออกตรงข้ามกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน)
จนตรอมใจตาย
แล้วยังเอาศพเสียบประจาน
ณ ที่สำเหร่อีกซ้ำ
เป็นผลให้เกิดความหมองหมางระหว่างสยาม-ลาว
อย่างเป็นบาดแผลลึกมาจนถึงปัจจุบัน
(การที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
ชอบดูถูกคนอีสานว่าเป็น
"บักหนาน"
“บักเซี่ยว"
"เหลาเกี๊ย"
หรือ
"ควายแดง"
ก็ทำให้กลายเป็นปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างของไทยในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน)
ยิ่งช่วง
ร.ศ.
112 และหลังจากนั้น
ที่อิทธิพลของราชวงศ์จักรีต้องเขยิบจากฝั่งขวาแม่น้ำโขงมายังฝั่งซ้ายและยังเสียฝั่งซ้ายบางส่วนไปอีกในครั้งหลัง
ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ลาวยิ่งตกต่ำกว่าเดิม
เพราะฝรั่งเศสเข้ามาเล่นบทให้เจ้าลาวเห็นว่าเป็นผู้ปกป้องลาวจากไทย
และยังใช้นโยบายกลืนชาติโดยนำคนเวียดนามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ยึดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และรับตำแหน่งราชการสำคัญๆ
ไว้เกือบหมด
ความสัมพันธ์สยาม-ลาว
มากระเตื้องขึ้นช่วงสั้นๆ
ระหว่างที่ปรีดี พนมยงค์
มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของไทย
และได้ช่วยให้ขบวนการชาตินิยมของลาวตั้งรัฐบาลและกองกำลังพลัดถิ่นเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสทั้งบนดินและใต้ดินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังจากนั้น
ความสัมพันธ์ของไทย-ลาวก็เริ่มเลวร้ายลง
เพราะผู้นำของทั้งคู่นับถือพระเจ้าคนละองค์กันในยุคสงครามเย็น
ความสัมพันธ์ช่วงนั้น
เป็นความสัมพันธ์ที่ชนชั้นผู้นำของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบัน
ต่างฝ่ายต่างอยากจะลืม
ไม่อยากจดจำ
เดชะบุญที่เดี๋ยวนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างเราสองพัฒนากลับกลายมาเป็นพี่น้องกันดังเดิม
โดยต่างฝ่ายต่างพึ่งพิงเกื้อกูลกัน
ไทยได้ไฟฟ้าและแร่ธาติตลอดจนไม้จากลาว
และลาวก็ได้สินค้าอุปโภคบริโภคตลอดจนรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินลงทุนจากไทย
(นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวนสี่ในห้าของทั้งหมดและไทยเป็นนักลงทุนอันดับสามรองจากจีนและเวียดนาม
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพียง
5
ปี
ไทยเป็นอันดับหนึ่ง)
แต่โจทย์ของลาวยากกว่าโจทย์ของไทย
การเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิ-ยุทธศาสตร์ของเอเชีย
ทำให้ลาวต้องเล่นกับจีน
เวียดนาม และไทย
ซึ่งต่างเป็นอำนาจเหนือไปพร้อมๆ
กัน
การที่ลาวมีประชากรน้อยมากและยังปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีความคิดอนุรักษ์แบบที่ต้องเผด็จอำนาจและสืบทอดกันเองในหมู่ลูกหลานและเครือข่ายอุปถัมภ์
อีกทั้งยังขาดการตรวจสอบจากฝ่ายค้านหรือสื่อมวลชนและองค์กรอิสระ
จึงมีโอกาสให้เกิดคอรัปชั่นได้โดยง่าย
(ทองสิน
ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว
ออกมาให้ข้อมูลเมื่อเร็วๆ
นี้ว่า รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติกว่า
470
โครงการ
คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 4,9000
ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
เหล่านี้ล้วนเป็นผลให้ราษฎรลาวส่วนใหญ่ยังคงยากจน
ขาดเสรีภาพทางการเมือง
และประเทศลาวยังล้าหลังเมื่อเทียบกับไทย
แต่การที่ลาวรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งใต้ดินบนดินและมีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์
อีกทั้งยังตั้งอยู่ในย่านที่มีศักยภาพ
(เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย)
และผู้คนที่อยู่ทางเหนือ
ใต้ ตะวันออก และตะวันตก
จำต้องใช้เป็นทางผ่าน
ทำให้ลาวกลายเป็นเวทีที่ต้องชิงดำกันระหว่างอำนาจรอบข้าง
(เช่นไทย
ลาว พม่า เขมร เวียดนาม จีน)
และอำนาจเชิงเศรษฐกิจ
(และบางทีก็การเมือง)
ที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังอำนาจรอบข้างเหล่านั้นอีกทอดหนึ่ง
(เช่นญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐฯ
จีน รัสเซีย และอินเดีย)
ทำให้ผู้นำลาวยิ่งต้องรับแรงกดดันและเรียกร้องให้ต้องเก่งในเชิงนโยบาย
“Balance
of Power” เพราะหาก
"เล่นไม่เป็น"
หรือ
"เล่นพลาด"
ก็จะเกิดผลเสียหายได้ง่ายๆ
ในอนาคต
เพราะลาวมี
"พี่"
หลายคน
ไม่ได้มีไทยเป็นพี่แต่เพียงคนเดียว
(และเวียดนามเป็นเสมือน
"พ่อ"
และรัสเซียเป็น
"พ่อเลี้ยง"
ดังแต่ก่อน
สมัยที่เริ่มตั้งสาธารณรัฐใหม่ๆ)
เมื่อไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์
The
Economist
อ้างข้อมูลจากข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลลาวซึ่งบอกอย่างค่อนข้างเศร้าใจว่าปัจจุบันที่ดินประมาณ
30%
อยู่ในครอบครองของต่างชาติ
(จีนและเวียดนามเป็นส่วนใหญ่
แต่ก็มีไทยบางส่วน
ซึ่งลาวเวนคืนมาจากคอมมูนหรือราษฎรเพื่อให้เช่าเป็นเวลา
99
ปี)
นั่นเป็นเรื่องส่วนตัวของลาว
ซึ่งหากจะกล่าวในรายละเอียดย่อมต้องเสียเวลาอีกมาก
ว่าแต่ว่า
ในด้านความสัมพันธ์กับไทยนั้น
ลาวและไทยต่างทำได้ดี
“ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง"
ไม่มีใครเถียงได้
และความบาดหมางในอดีตนั้น
ก็ไม่มีใครอยากพูดถึง
เมื่อสองเดือนมานี้
ผมมีโอกาสได้กลับไปเยือนเวียงจันอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ไม่ได้กลับไปอีกเลยในรอบ
22
ปีที่ผ่านมา
เวียงจันผิดหูผิดตาไปมาก
ผมมีโอกาสได้ไปไหว้พระที่หอพระแก้วและวัดสีสะเกด
วัดคู่บ้านคู่เมืองของกรุงเวียงจัน
เมื่ออ่านป้ายภาษาอังกฤษที่ติดไว้เพื่อบอกกล่าวที่มาที่ไปของวัดให้กับนักท่องเที่ยว
ผมก็ทราบถึงกุศโลบายทางการทูตอันชาญฉลาดของรัฐบาลลาวปัจจุบันได้ทันที
ป้ายอันนั้นบอกข้อความไว้ว่า
"Sisaket
Museum was build in 1818 during the reign of the King Anuvong...After
construction completed it is about 10 years the foreigner
has aggression and destroyed the Lao Lanexang (Vientiane). After the
war has over the Lao people has construction and restoration the same
architectural style....”
ทั้งๆ
ที่วัดแห่งนั้น
ถูกกองทัพไทยทำลายราบคาบไปพร้อมกับกรุงเวียงจันในสมัยรัชกาลที่
3
ทว่ารัฐบาลของ
สปป.ลาว
ปัจจุบัน
ยังอุตส่าห์ใช้คำเรียกกองทัพไทยในภาษาอังกฤษว่า
"Foreigner”
แทนที่จะเป็น
"Siam”
หรือ
"Thais”
หรือ
"Enemy”
ทั้งๆ
ที่พวกเขารู้สึกขมขื่นกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น
(แม้แต่ไกสอน พมวิหาร ยังตั้งชื่อกองกำลังปฏิวัติกองแรกที่ตัวเองได้เป็นผู้บัญชาการในปี 2492 ว่า "กองราชวงศ์" เพื่อลำรึกถึงเจ้าราชวงศ์ (โย้) วีรบุรุษคนหนึ่งผู้ต่อสู้กับสยามเมื่อปี 2370-2371 และยกย่องกันในเวลาต่อมาว่ากองพันดังกล่าวนั้นแหละที่เป็นต้นธารของกองทัพประชาชนลาวอันโด่งดังในเวลาต่อมา)
(แม้แต่ไกสอน พมวิหาร ยังตั้งชื่อกองกำลังปฏิวัติกองแรกที่ตัวเองได้เป็นผู้บัญชาการในปี 2492 ว่า "กองราชวงศ์" เพื่อลำรึกถึงเจ้าราชวงศ์ (โย้) วีรบุรุษคนหนึ่งผู้ต่อสู้กับสยามเมื่อปี 2370-2371 และยกย่องกันในเวลาต่อมาว่ากองพันดังกล่าวนั้นแหละที่เป็นต้นธารของกองทัพประชาชนลาวอันโด่งดังในเวลาต่อมา)
แน่ละ
ในเชิงการต่างประเทศหรือการทูต
อดีตควรเป็นเรื่องที่สงวนไว้
Let
Bygones Be Bygones.
ไม่จดจำ
แต่ก็ไม่ลืม!
“ในโลกนี้
ถ้าเอาความบาดหมางในอดีตมาพูดกันแล้ว
คงจะไม่มีชาติใดที่สามารถเป็นมิตรกันได้เลย"
ร.ศ.
สมจิต
สุกสะหวัด ว่าการคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
(National
University of Laos) กล่าวกับผม
แต่จะอย่างไรก็ตาม
สุดท้ายแล้ว ไทยกับลาว
ย่อมตัดกันไม่ขาด และไม่มีทางตัดกันขาด
เพราะความเป็นพี่น้องกันมันเป็นจริงๆ
เราสองต่างมีสายเลือดเดียวกัน
ร่วมบรรพบุรุษเดียวกัน
และพูดภาษาเดียวกัน
กินอาหารคล้ายกัน
นุ่งห่มและอยู่อาศัยไม่ต่างกัน
อีกทั้งยังหัวเราะ ร้องไห้
ด้วยเรื่องราวกระทบใจคล้ายๆ
กัน และยังคงนับถือศาสนา
(และผี)
เดียวกัน
ฯลฯ
ที่สำคัญเราอยู่บ้านใกล้กัน
รั้วติดกัน ไม่สามารถย้ายไปไหนได้
แม้อีกร้อยปี
พันปี หมึ่นปี เราก็จะอยู่เคียงกันแบบนี้ตลอดไป
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มกราคม 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มกราคม 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น