วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรื่องกินเรื่องใหญ่ (ว่าด้วย Slow Food)



คนรุ่นใหม่สมัยนี้ ถือเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่

ไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรจะกิน แต่เพราะจะกินอะไรเข้าไปแต่ละคำ ต้องมีเรื่องให้ครุ่นคิดกันมาก

นอกจากต้องระวังเรื่องสุขภาพ ถึงกับบางคนต้องพกตารางคำนวนแคลรอรี่ด้วยแล้ว หลายคนยังเกรงว่าการกินการดื่มของตนแต่ละมื้อนั้น จะไปเบียดเบียนธรรมชาติ เป็นการไปซ้ำเติมภาวะโลกร้อนให้หนักหนาขึ้นไปอีก

จะกินเนื้อวัว หรือผลิตภัณฑ์จากวัว เช่น ชีส เนย นม ก็กลัวจะไปซ้ำเติมภาวะเรือนกระจกเข้าให้อีก เพราะวัวมันต้องปล่อยก๊าซมีเทนออกมาจากกระเพาะเรื่อยๆ เมื่อมันเคี้ยวเอื้อง (ปล่อยออกทั้งข้างหน้าและข้างหลัง)

ไหนจะต้องถางป่าเพื่อเอาที่ดินไปปลูกหญ้าให้มันกินอีกละ

ดังนั้น ถ้าทุกคนหันมากินก๊วยเตี๋ยวเนื้อหรือสเต๊กกันมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น ชั้นบรรยากาศของโลกจะมิแย่ลงไปกว่านี้เหรอ เพราะปัจจุบันจำนวนประชากรโลกก็ปาเข้าไปกว่า 7,000 ล้านคนแล้ว แถมยังเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 70-80 ล้านคนทุกปี

โอ้ว! แต่ละปี มนุษย์เราเพิ่มจำนวนขึ้นยิ่งกว่าคนทั้งหมดในประเทศไทยเลยหรือนี่?

แล้วจะเอาหญ้าที่ไหนมาให้วัวกิน ถ้าไม่ถางป่าแล้วเอาที่ดินมาปลูกหญ้ากันหน่ะ

ครั้นจะหันไปกินปลาแทน ก็เหมือนหนีเสือปะจะเข้

ปลาจำนวนมากสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะการทำประมงแบบอวนลากแถมตาข่ายรูเล็ก ที่กวาดเอาลูกเล็กเด็กแดงมาจากก้นมหาสมุทรจนเกลี้ยง และเมื่อไม่มีปลาเล็กปลาน้อยบางชนิด มันย่อมส่งผลต่อปลาใหญ่ที่กินปลาน้อยเป็นอาหาร เดือดร้อนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และกลายเป็นปัญหาต่อเจ้าถิ่นเดิม ไม่จบไม่สิ้น

เดี๋ยวนี้เราจึงมีปัญหาปลาเอเลี่ยนเยอะแยะไปหมด

มันเป็นต้นเหตุของปัญหา Biodiversity แบบหนึ่ง นอกเหนือไปจากปัญหาภาวะมหาสมุทรเป็นกรด ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน

แม้จะหันไปกินปลาเลี้ยง ก็ยังหนีไม่พ้นวงจร เพราะยังไงอาหารปลาก็ยังต้องใช้ปลาป่นเป็นพื้นฐานอยู่ดี และปลาชนิดที่นิยมนำมาทำปลาป่นก็ต้องจับโดยวิธีลากอวนอยู่ดี

ยังไงก็ต้องมีการจับปลามากขึ้น

หมู ไก่ กุ้ง ก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะกระบวนการเลี้ยงให้โตต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นยาบำรุง ยาฆ่าเชื้อ และฮอร์โมนเร่งการเติบโตต่างๆ ที่นอกจากจะเป็นภัยต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว มันยังก่อให้เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติ เพราะสุดท้ายมันจะถูกชะลงแหล่งน้ำและทะเลและมหาสมุทรในที่สุด

และถ้าเป็นการเลี้ยงโดยบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจทำให้สัตว์เกิดความเครียด โดยคนกินก็คิดมากเพราะมันอาจผิดจรรยาบรรณ ที่ฝรั่งเรียกว่า Animal Welfare

แต่ถ้าหันไปกินไก่ที่เลี้ยงโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็จะเกิดปัญหาน่ากลัวอีกแบบหนึ่ง คือพันธุ์ไก่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพีนำไปให้เกษตรกรเลี้ยงตามสัญญา Contract Farming นั้น ได้ฝัง DNA บางประเภทไว้ในยีนของไก่เหล่านั้นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรนำไปเพราะพันธุ์เอง เพราะไก่ในเจนเนอเรชั่นต่อไปจะกลายเป็นไก่ไม่สมประกอบทันที

นับเป็นการใช้ Genetic Engineering เพื่อผูกขาดตัดตอนและผูกพันแรงงานไว้ โดยไม่ให้พวกเขาพัฒนาตัวเองได้ คล้ายๆ กับโมเดลเศรษฐกิจในยุคศักดินาของยุโรปสมัยกลางนั่นเอง

แต่สำหรับผู้บริโภค เมื่อเราได้รับ DNA ประเภทนั้นเข้าไปในร่างกาย ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดๆ ว่ามันจะไม่ทำให้เกิดพิษภัยในระยะยาว

มันเหมือนกับฝังระเบิดเวลาเอาไว้" ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าว

ดังนั้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงหันไปกินไก่บ้าน หมูบ้าน เพราะเขาเหล่านั้นไม่เชื่อว่า ลูกหลานของเจ้าสัวจะกล้ากินผลิตภัณฑ์ไก่และหมูของตัวเอง ในชีวิตประจำวัน

ที่พูดมานี้ มิใช่เฉพาะโปรตีนเท่านั้นที่ทำให้เกิดปัญหา คาร์โบไฮเดรตก็น่าปวดหัวเช่นกัน

การปลูกธัญพืชให้ได้ผลผลิตดี พอเลี้ยงพลเมืองโลกได้นั้น ต้องอาศัยปุ๋ย ซึ่งเป็นการนำไนโตรเจนเข้าไปสู่ดิน แต่เมื่อมันถูกชะล้างออก ไนโตรอ๊อกไซด์ย่อมปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่ยังไม่นับว่าต้องใช้ยาฆ่าแมลงด้วย

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ทั้งในแง่การปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดิน และภาวะมหาสมุทรเป็นกรด ที่เรียกว่า Ocean Acidity

ยังมีสถิติที่น่ากลัวอีกมาก

Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพิ่งจะเปิดคอร์สออนไลน์ผ่าน Coursera เรื่อง The Age of Sustainable Development ไปเมื่อไม่นานมานี้ ในเนื้อหาล้วนว่าด้วยเรื่องที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่ว่าพฤติกรรมการกินของเราจะทำให้โลกร้อนเท่านั้น แต่ภาวะโลกร้อนก็ย้อนกลับมาทำลายวงจรการเกษตรของเราอีกทอดหนึ่งอีกด้วยเช่นกัน มันเป็นปัญหาแบบสองทาง

และที่น่าตกใจคือ แม้สมัยปัจจุบันที่เราคิดว่าวิทยาการทุกอย่างก้าวหน้าแล้ว ยังปรากฏว่ามีคนในโลกที่เป็นโรคขาดอาหารอยู่ถึง 800-1,000 ล้านคน

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และการไม่ได้รับสารอาหารหรือวิตามินเพียงพอหรือไม่ครบถ้วน ย่อมทำให้พัฒนาการไม่สมบูรณ์ หรือไม่ก็เกิดโรคตามมา แกรนบ้าง ตาลขโมยบ้าง หัวโตพุงโลก้นปอดบ้าง ถ้ารุนแรงหน่อยก็อาจกลายเป็นคนปัญญาอ่อน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนอยู่อีกประมาณ 1,000 ล้านคน ที่แม้จะไม่เป็นโรคขาดอาหารโดยตรงแต่ก็เป็นประเภท "แอบแฝง" คือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วนเช่นกัน แต่เป็นครั้งคราว ดังนั้น ถ้านับว่าพลเมืองโลกกว่า 1,800 ล้านคนยังอยู่ในภาวะหิวโหย (Undernourished) ก็น่าตกใจมากทีเดียว

ที่น่าเจ็บใจคือมีคนเกือบ 1,000 ล้านอีกเช่นกันที่เป็นพวกมีอันจะกินและอยู่ในภาวะ "กินเกิน" โดยวัดจากการมีน้ำหนักเกิน (Overweight-วัดจากดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index)

และในจำนวนนี้ มีสูงถึง 800 ล้านคน เป็น "โรคอ้วน" (Obesity) ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะก่อปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนแต่เป็นปัญหาอันเนื่องมาแต่ "การกิน"

พูดได้ว่า เดี๋ยวนี้ ทั้งคนรวยและคนจน ล้วนต้องถือว่า "เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่" ด้วยกันทั้งคู่

สมัยนี้ มีรายการอาหารทางทีวีจำนวนมาก นิตยสารทางด้านอาหารและรสนิยมการกินดื่มสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะก็มีอยู่ไม่น้อย ยิ่ง Cookbook ด้วยแล้ว นับเป็นเซ็กชั่นสำคัญของร้านหนังสือทุกร้าน

สังเกตุว่าอาชีพกุ๊กสมัยนี้ เป็นที่นับหน้าถือตาและทำรายได้ทีละมากๆ ไม่น้อยหน้า นายธนาคาร วิศวกร หรือหมอ ทั้งๆ ที่แต่ก่อนโน้น อาชีพกุ๊กเป็นอาชีพหนึ่งที่พ่อแม่มักไม่อยากให้ลูกไปทำกัน

สมัยนี้มีลูกหลานเศรษฐีมาเรียนทำอาหารและออกไปเป็นเชฟกันไม่น้อย บางทีพวกเขาก็เรียกตัวเองให้ดูเก๋ว่า Food Designer”

ฝรั่งชั้นนำ ถึงกับเรียกร้องให้ผู้คนของเขาเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและเปลี่ยนไลฟสไตล์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

ปรัชญาการบริโภคสมัยใหม่ที่ฝรั่งรุ่นใหม่หันมานิยมและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นเรื่อยๆ ล้วนแต่เรียกร้องให้ปฏิวัติวิถีบริโภคเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Macrobiotic, Food Pyramid, หรือแม้แต่ Slow Food

ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก จะพบว่าปรัชญาแนวใหม่นี้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐานของระบบจริยธรรมเลยด้วยซ้ำ

คือที่เคยมองว่าธรรมชาติมีไว้เพื่อถูกพิชิต มนุษย์ต้องพิชิตธรรมชาติและเอาธรรมชาติมารับใช้ตน ความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ต้องเป็นไปเพื่อการณ์นั้น กลับตารปัตรมาสู่การมองโลกและธรรมชาติอย่างเป็นมิตร อย่างเป็นองค์รวม อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ที่ไม่ได้แยกจากชีวิตมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่เคารพธรรมชาติ มนุษย์นั่นแหละที่จะพินาศ

ทว่า ปัญหามักเกิดในเชิงปฏิบัติ

การจะเปลี่ยน Life Style มาบริโภคตามหนทางสายใหม่ ท่ามกลางความสะดวกสบายที่กระบวนการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมรอบตัวเรามอบให้ภายใต้วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ย่อมต้องอาศัยความเพียร ความอดทน และต้นทุนที่แพงขึ้น

ไม่เชื่อท่านผู้อ่านลองหันมากินพืชผักผลไม้แบบปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้าน หรือผักที่ปลูกโดยชาวบ้าน ธัญพืชแบบ Whole Grain และขนมปังแบบ Whole Wheat เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยชาวบ้าน ปรุงอาหารโดยน้ำมันพืชแบบหีบเย็นหรือ Olive Oil และหาความเมาจาก Craft Beer ดูสักเดือนหนึ่ง

ท่านก็คงจะเห็นด้วยกับผม

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
24 กรกฎาคม 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น