วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

“คลื่นแห่งทศวรรษ" เทรนใหม่ที่ต้องเผชิญ




นานๆ ที สังคมของเราก็เกิด "คลื่นลูกใหญ่" ที่จะวางแนวทางและกำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นไปของสังคมตลอดจนกรอบพฤติกรรมของผู้คนในสังคมว่าจะทำอะไรได้ไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนด "คลื่นลูกกลาง" และ "ระรอกคลื่นลูกเล็กๆ" หรือแม้แต่​ "รอยกระเพื่อมวิบๆ วับๆ" นับแต่นั้นไปอีกสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง

บางช่วงก็นาน บางช่วงก็ไม่นานนัก

แล้วก็จะเกิดมี "คลื่นลูกใหม่" มาหักล้างเปลี่ยนแปลงหันเหและวางพื้นหรือชักนำกำหนดให้เกิดแนวโน้มใหม่ ที่อาจจะแปรเปลี่ยนหันเหเฉไฉไปจากเดิมบ้าง หรือกระทั่งหักกลบลบของเก่าและหันหลังกลับแบบ 180 องศาเลยก็เป็นได้

นักปราชญ์ นักปกครอง นักกฎหมาย นักการทหาร นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักการตลาด นักการเงิน นักการเมือง และนักอะไรต่อมิอะไร ที่ฉลาด รอบคอบ มองการณ์ไกล และลึกซึ้ง มักเข้าใจประเด็นนี้

ผมขอเรียกมันว่า "คลื่นแห่งทศวรรษ" ในกรณีที่มันจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มระยะสั้นและระยะกลาง และเรียกว่า "คลื่นแห่งศตวรรษ" ในกรณีที่มันจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มระยะยาว

ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราจะพบคลื่นเหล่านี้เต็มไปหมด

การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดหรือมุมมองที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติและต่อมนุษย์ด้วยกัน พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และการทหาร การเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ หรือฉับพลันของภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ หรือการเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจจากจนเป็นรวยและจากรวยเป็นจนอันเนื่องมาแต่วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ สงครามครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคหรือความนิยมที่มีต่อสินค้าและบริการ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด (และยังคงจะทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต) "คลื่นแห่งศตวรรษ" และ "คลื่นแห่งทศวรรษ"

ตัวอย่างของคลื่นลูกใหญ่ที่เรากำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ก็มีเช่น การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และการก่อเกิดของระบบโลกานุวัตร พัฒนาการอย่างต่อเนื่องแบบยิ่งมายิ่งเข้มข้นรุนแรงของดิจิตัลเทคโนโลยีและการสื่อสารทั้งมวล การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของประชากรโลกและช่องว่างการเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ การรื้อฟื้นความเชื่อแบบสุดกู่ของศาสนาบางศาสนาอันเป็นที่มาของลัทธิและพฤติกรรมการก่อการร้าย และการเสื่อมสลายของระบบนิเวศในอัตราเร่ง...เป็นต้น

คลื่นเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มย่อยๆ อีกทอดหนึ่งเช่น ราคาโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและต่ำลงอันเนื่องมาแต่ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจจีน การเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้หันเหไปสู่จีนทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ โดยรวมถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อไปรอเชื่อมต่อกับจีนด้วยเงินภาษีของพลเมืองของตนเอง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยไปสู่ออนไลน์และการเติบโตของ E-commerce การเติบโตของสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการเติบโตของพรรคการเมืองและกฎหมายที่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม...เป็นต้น

แน่นอน ผู้ที่มีญานทัศนะและวิสัยทัศน์ สามารถมองเทรนขาด หรือแม้แต่สามารถ sense ได้บ้าง ย่อมจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าพวกเขาจะประกอบการสิ่งไร

ที่พูดมานี้ เพราะจะชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองของเรากำลังจะเปลี่ยนเทรนและอาจจะเป็นเทรนขนาดกลางที่ผมเรียกว่า "คลื่นแห่งทศวรรษ" ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเกมส์ใหม่ให้กับสังคมการเมือง และอาจจะรวมถึงเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น แนวทางการลงทุน กลยุทธ์ธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด ของภาคธุรกิจเอกชน ย่อมต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับ "คลื่นแห่งทศวรรษ" ใหม่นี้ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์และปฏิบัติการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและธุรกิจในเครือข่าย น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากกว่าเพื่อน

อย่าลืมว่าคณะปกครองชั่วคราวของเรากำลังดำเนินการออกแบบระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมใหม่อย่างขมักเขม้น

ขณะนี้เรายังไม่รู้แน่ว่าหน้าตาโครงสร้างของกฎกติกาใหม่จะเป็นอย่างไร ทว่าเราก็เริ่มได้ยินคำว่า "สังคมนิยมเสรี" ซึ่งนัยว่าเป็นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำลายอำนาจผูกขาด เน้นการเข้าถึงทรัพยากรโดยเท่าเทียมกัน และหันเหจากทุนนิยมสามานย์...ทว่า บทบาทของรัฐต่อเศรษฐกิจก็น่าจะมากขึ้นและแรงขึ้น

นัยว่าจะหันเหมาให้ความสำคัญกับแนวทาง Corporatism และ Social Engineering มากขึ้น เพราะนอกจากรัฐจะเพิ่มบทบาทในเชิงการจัดระเบียบเศรษฐกิจแล้ว เราก็ยังจะมีหน้าที่พลเมืองและคุณธรรม 12 ประการเป็นธงนำทางด้านการจัดระเบียบสังคม และออกแบบเป้าหมายเชิงจริยธรรมซึ่งพลเมืองในอนาคตพึงมีต่อผู้อื่นและต่อประเทศชาติ

ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นการออกแบบเทรนใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในแวดวงการเมือง ทั้งในเชิงของการเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าสู่อำนาจ หน้าตาของพรรคการเมืองและนักการเมือง บทบาทของสถาบันทางการเมือง ขอบเขตอำนาจที่ทำได้ทำไม่ได้ และระบบการถ่วงดุลอำนาจตลอดจนองค์กรผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้ามาเป็นมือไม้ของการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยพลังของกลุ่มต่างๆ ตามแนวคิดพหุสังคม ฯลฯ

ฟังดูแล้วเหมือนจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาไปแยะ แต่ก็ยังไม่แน่ว่า ในทางปฏิบัติมันจะลงเอยยังไง อาจจะ "ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่...” หรืออาจจะสำเร็จก็ได้ ใครจะไปรู้

แต่ที่รู้แน่ๆ คือว่าในยุคของ "คลื่นแห่งทศวรรษ" ลูกใหม่นี้ พรรคการเมืองจะมีอำนาจน้อยลง ข้าราชการจะมีอำนาจมากขึ้น โดยในบรรดานี้ข้าราชการทหารจะมีอำนาจมากที่สุด สูสีกับข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งต่อไปอำนาจจากภายนอกจะเข้าไปแตะต้องลำบากมาก ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคณะปกครองชั่วคราวนี้ ถ้าไม่ปรับตัวเข้ามาเป็นพวก ก็อาจจะปลาสนาการไป และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น อบจ. อบต. จะลดบทบาทลงมาก ดังนั้นตำรวจจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนชุมชนจะถูกเพิ่มบทบาททางการเมือง และจะมีบทบาทต่อ (หรืออาจจะเป็นตัวตัดสินหลักต่อ) การลงทุนของโครงการสำคัญๆ ทั้งโครงการของรัฐและของบริษัทเอกชนมากยิ่งขึ้น ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

การตลาดการเมืองแบบเดิม ที่อาศัยเงินหว่านเพื่อซื้อเสียงจะใช้ได้ผลน้อยลง

การตลาดการเมืองแบบใหม่ อาจต้องอาศัยเงินบริจากหรือต้องอาศัยกลยุทธ์การร่วมเป็นพันธมิตรกับทหาร เป็นตัวชูโรง

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
13 พ.ย. 57
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557

ภาพประกอบ: งานมงคลสมรสของลูกสาวธนินท์ เจียรวนนท์ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งแสดงการปรับตัวของหัวขบวนผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับเทรนใหม่ทางอำนาจที่กำลังก่อตัวขึ้นได้เป็นอย่างดี...ภาพจาก Jakawin Photography

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น