วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความมั่งคั่งเกิดจากการออม ไม่ใช่การใช้จ่าย



ท่านผู้อ่านที่รู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์มาบ้างย่อมทราบดีว่า ในสมัยโบราณนั้น คนที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีปัญญาจ่ายคืน สุดท้ายมักต้องยอมตัวลงเป็นทาส

ในทางการเงินเราเรียกหนี้สินว่า Leverage”

อุปมาเหมือน "คานงัด" ที่ช่วยผ่อนแรง แบบที่อาร์คีมิดีสเคยเปล่งวาจาไว้อย่างอหังการ์ว่า "Give me a lever long enough and a fulcrum on which to place it, and I shall move the world.” ("หาคานงัดที่ยาวพอแล้ววางบนจุดหมุนที่เหมาะเจาะ (นอกโลก) แล้วข้าฯ จะงัดโลกนี้ให้ดู”)

แม้มันจะไม่ใช่ "ยูเรก้าโมเม้นต์" แต่มันก็เป็นคานงัดที่ช่วยผ่อนแรงมนุษย์ เสมือนมันกำลังช่วยผ่อนภาระการเงินของเราให้เบาลง เพราะ "หนี้สิน" นั้น ถือเป็นเงินของ "คนอื่น" หรือที่เรียกเป็นภาษากฎหมายว่า "เจ้าหนี้" นั่นเอง

เป็นการเอาเงินของคนอื่นมาช่วยผ่อนแรง ช่วยถัวมิให้ต้องใช้เงินส่วนตัวแยะเกินไปในการลงทุน

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

ดังนั้น ตราบใดที่ผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ท่านให้ถือว่าการก่อหนี้ยังทำได้ และคุ้มค่าที่จะก่อหนี้ต่อไป

เช่น นาย ก. กู้เงินนาย ข. ด้วยอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี เพื่อนำมาลงทุนทำการค้าที่ได้รับอัตราผลตอบแทน 15% ต่อปี แบบนี้ก็ถือว่าการกู้หนี้ครั้งนี้สมเหตุสมผล เพราะนาย ก. ยังได้ผลตอบแทนสุทธิ 5% ในขณะที่นาย ข. ก็ได้ด้วย ดีกว่านำเงินไปฝังดินไว้เฉยๆ

ที่สำคัญ ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ค้นพบว่า "ต้นทุนของหนี้" หรือ Cost of Debt ต่ำกว่า "ต้นทุนของทุน" หรือ Cost of Equity

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักการเงินนิยมใช้เงินกู้ในสัดส่วนที่มากกว่าทุนจดทะเบียนตอนที่ต้องลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ เพราะถือว่าต้นทุนของหนี้ต่ำกว่าการระดมทุนโดยการเพิ่มทุนหรือการนำหุ้นสามัญออกขายนั่นเอง (เพราะดอกเบี้ยนำไปหักภาษีได้ แต่การเพิ่มทุนจะทำให้สูญเสียความเป็นเจ้าของไปบางส่วนและยังต้องจ่ายเงินปันผลอีกเรื่อยๆ ในอนาคต)

ทว่า ความจริงอันนี้ย่อมใช้ไม่ได้กับหนี้สินที่กู้มาเพื่อการบริโภค

เพราะการบริโภคย่อมมิได้สร้างผลตอบแทน ดังนั้น ผู้กู้หรือลูกหนี้ย่อมต้องกันเงินจากรายได้ประจำส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินต้น

ชีวิตของลูกหนี้ย่อมต้องผูกพันและพัวพันอยู่กับการชำระหนี้ก้อนนี้ (และดอกเบี้ยที่จะงอกเงยขึ้นทุกวันๆ) อยู่อีกระยะเวลาหนึ่ง

ยิ่งถ้าคนๆ นั้น ก่อหนี้หลายก้อนและมีมูลค่าหนี้สูง ชีวิตของเขาย่อมต้องพัวพันไม่มีที่สิ้นสุด รายได้ที่เขาหามาได้ ทั้งที่เป็นรายได้ประจำเดือนและรายได้พิเศษ ย่อมถูกกันส่วนไว้มากขึ้น เพื่อไปชำระหนี้ แทนที่เขาจะนำรายได้ก้อนนั้นไปออม เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและครอบครัว

คนบางคนที่ไม่มีวินัยในการใช้จ่าย ก็นิยมก่อหนี้ก้อนใหม่เพื่อมาจ่ายหนี้ก้อนเดิม ตัดโน่นโปะนี่ Roll Over ไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยทับถมไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นอิรุงตุงนัง เมื่อเผชิญกับวิกฤติหรือเจอปัญหารายได้ลดลง ก็เลยแก้ปัญหาหนี้สินไม่ตก จนถึงกับล้มละลาย หรือฆ่าตัวตายไปก็มี

จะเห็นว่าหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ครัวเรือนที่กู้มาเพื่อการบริโภคนั้น นับเป็นการ "บั่นทอนกำลัง" หรือทอนพลังการออมและการบริโภคลงไปอย่างชัดเจน

จึงไม่แปลกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักวิจัยสำคัญๆ เริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของสังคมไทยในขณะนี้

ผลงานวิจัยของศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ล่าสุด เปิดเผยให้เห็นว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2556 สูงถึง 19.3% สูงกว่าทุกชาติในอาเซียน ส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราไต่ระดับขึ้นไปถึง 83% เท่ากับสหรัฐอเมริกาและมากกว่าญี่ปุ่นที่มีอัตราส่วนเพียง 75%

แสดงว่าคนไทยใช้ชีวิตในเชิงบริโภคเหมือนคนอเมริกันเลยทีเดียว

สิ่งที่รัฐบาลกังวลอยู่ในขณะนี้คืออัตราหนี้ครัวเรือนระดับนี้มันบั่นทอนการบริโภค เพราะเมื่อคนได้รับเงินเดือนหรือรายได้เข้ามา ก็ต้องนำมาจ่ายหนี้ และเหลือไปบริโภคสิ่งจำเป็นก็หมดแล้ว ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมซบเซา เพราะแม้คนอยากใช้จ่าย แต่ก็หมดปัญญา เพราะต้องใช้หนี้ก่อน

งานวิจัยของไทยพาณิชย์แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารายได้ 10 บาทของประชาชนผู้มีหนี้สินนั้น ต้องถูกกันไว้ถึง 4.6 บาทเพื่อการใช้หนี้สำหรับผู้มีหนี้สินมาก และ 3.3 บาทสำหรับผู้มีหนี้สินปานกลาง และ 2.2 บาทสำหรับผู้มีหนี้สินน้อย

ยิ่งออมเร็วยิ่งมั่งคั่ง

ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่ง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าการออมของประชาชนย่อมลดลงจากการมีภาระหนี้ครัวเรือน

และคงไม่มีใครเถียงว่า "การออมเป็นหนทางไปสู่ความมั่งคั่ง” ดังนั้น ความมั่งคั่งย่อมต้องลดลงไปด้วยในระยะยาว

แน่นอนว่าในโลกทุนนิยมสมัยใหม่นั้น หนทางไปสู่ความมั่งคั่ง หรือ Wealth Building Style ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันและหลากหลาย

กองทุนระดับโลก ถึงกับต้องจ้างกองทัพผู้สำเร็จปริญญาเอกทางด้านฟิสิกซ์หรือคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์มาเพื่อเขียนโมเดลการลงทุนในสินทรัพย์อันหลากหลายบนโลกใบนี้ ซึ่งสามารถซอยย่อยออกเป็น Asset Classes ที่ซับซ้อน 

ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้มีประกัน ไม่มีประกัน หุ้นกู้ขยะ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารอนุพันธ์ อนุพันธ์บนอนุพันธ์ุ ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ออฟชั่น อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งของสะสมอย่างงานศิลปะหรือแสตมป์หรือวิสกี้หรือไวน์ ก็ยังมีคนเสนอขายกองทุนรวมเพื่อลงทุนในมันโดยเฉพาะ

แต่ถึงแม้สไตล์และเทคนิคการสร้างความมั่งคั่งของโลกสมัยใหม่จะซับซ้อนเพียงใด ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า "การออมคือพื้นฐานของความมั่งคั่ง"

ยิ่งออมเร็วเท่าไหร่ ถี่เท่าไหร่ ความมั่งคั่งย่อมทับถมขึ้นเป็นเงาตามตัวในระยะยาว และจะทับถมขึ้นเป็นอัตราเร่งเมื่อจำนวนเงินออมเพิ่มขึ้นในระดับที่มากพอ

เรียกว่า "ยิ่งมายิ่งพอกพูน ยิ่งมายิ่งมั่งคั่ง"

ดังนั้นคนที่ออมเงินมาตั้งแต่เด็กและทำมาเรื่อยๆ จนแก่เฒ่า พวกเขาย่อมมีเงินกองกลางที่พอกพูนขึ้นหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันหลายหมึ่นเท่าเลยก็เป็นได้

ความลับของมันคือ "การทบต้นทบดอก" หรือที่รู้จักกันดีในหมู่นักลงทุนมืออาชีพว่า Compound Interest” ซึ่งหมายความว่าคุณจะได้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) บนผลตอบแทน (เพราะดอกเบี้ยงวดแรกจะกลายเป็นเงินต้นในงวดที่สอง...) ทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

คนที่ตระหนักถึงพลังของมันล้วนเป็นเศรษฐีไปแล้ว

Warren Buffet อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอเมริกา เคยกล่าวถึงปัจจัยแห่งความมั่งคั่งของตัวเองไว้ว่า "My wealth has come from a combination of living in America, some lucky genes, and a compound interest.”

มีนิทานเรื่องหนึ่งที่มักเล่ากันในหมู่นักลงทุนเพื่อชี้ให้เห็นพลังของ "การทบต้นทบดอก"

ฮ่องเต้กับชายผู้ประดิษฐ์หมากรุก ซึ่งฮ่องเต้ตกลงจะปูนบำเหน็ดตามที่ชายผู้นี้ขอโดยมิทันคิดให้ละเอียดและมิได้เฉลียวใจถึงพลังแห่ง Compound ว่าชายผู้นั้นขอเพียงเมล็ดข้าว 1 เมล็ด ประเดิมเป็นเมล็ดแรกวางไปบนตารางแรกของกระดานหมากรุก แล้วขอให้เพิ่มเมล็ดข้าวอีกเท่าตัวในตารางต่อๆ ไป

หมายความว่าเขาจะมีเมล็ดข้าว 2 เมล็ดในตารางที่สอง และมี 4 เมล็ดในตารางที่สาม และมี 16 เมล็ดในตารางที่สี่ และมี 32 เมล็ดในตารางที่ห้า และมี 64 เมล็ดในตารางที่หก และมี 128 เมล็ดในตารางที่เจ็ด และมี 256 ในตารางที่แปด และมี 512 ในตารางที่เก้า และมี 1,024 เมล็ดในตารางที่สิบ....ทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไปจบที่ 18 ล้านล้านเมล็ด เมื่อครบทั้งกระดาน

สุดท้ายฮ่องเต้ก็เบี้ยวและขอเปลี่ยนข้อตกลงใหม่ ซึ่งเขาได้รับที่ดินและที่นาจำนวนมากไปแทน

หรือถ้าคิดอีกแบบง่ายๆ ว่าถ้าเราลองวางเงินลงทุนก้อนแรก 1 บาท แล้วสมมติว่าได้ผลตอบแทนเท่าตัวทุกๆ ปีที่เรา Re-invest ดังนั้นเงินต้นของเราก็จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้ 1, 2, 4, 6, 8, 16, 32, 64.....จนกระทั่งถึงการลงทุนในปีที่ 31 จำนวนเงินต้นก็จะเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000,000,000 บาท

ไม่เลวเลยใช่ไหม?

การทบต้นทบดอก" เป็นแนวคิดในการลงทุนแบบใช้ "เงินต่อเงิน" ให้ได้ผลตอบแทนบนผลตอบแทน (หรือในทางตรงกันข้ามหากโชคไม่ดีก็จะ "ขาดทุนบนผลขาดทุน") ดีกว่าการได้รับผลตอบแทนจากเงินต้นโดยตรง โดยไม่มีการทบดอก

ความพิเศษของแนวคิดนี้อยู่ที่ว่า แม้อัตราผลตอบแทนจะเท่ากันทุกปี แต่ถึงอย่างไรผลตอบแทนที่ได้เป็นเงินสดกลับมาก็จะมากกว่าเดิมอยู่ดี (เพราะมันเอาดอกเบี้ยของปีก่อนหน้าทบไปเป็นเงินต้นของปีนี้แล้วคำนวณดอกเบี้ยของปีนี้จากฐานเงินต้นที่เพิ่มขึ้นนั้น)

ทว่า คุณจะต้องรู้จักอดทน อดทนรอคอยให้มันออกดอกออกผล เพราะพลังของมันจะยิ่งเพ่ิมขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะหลังเท่านั้น

ดังนั้น ยิ่งคุณออมเร็วเท่าไหร่ และบ่อยครั้งเท่าไหร่ พลังแห่งการทบต้นทบดอก ก็จะออกผลให้เห็นเร็วขึ้นเท่านั้น

นั่นแหละคือ "ความลับ" ของการออม

การสอนลูกหลานให้รู้จักออม (ออมให้สม่ำเสมอ ยิ่งถี่ยิ่งดี ถ้ามีกำลังพอ) จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

หากพิจารณาในเชิงส่วนตัวหรือในเชิงของการสร้างความมั่งคั่งส่วนบุคคลแล้ว "การออมย่อมดีกว่าการใช้จ่าย"

แต่ถ้าทุกคนพากันออมพร้อมกันหมดโดยไม่มีใครยอมใช้จ่ายเลย รัฐบาลก็คงไม่ชอบใจเป็นแน่

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
21 พ.ย. 57
ขอบคุณภาพประกอบจาก:
www.linkedin.com/pulse/article/20140707144749-8353952-the-one-word-answer-to-why-bill-gates-and-warren-buffett-have-been-so-successful

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น