ผมเชื่อว่านักเขียนทุกคนย่อมอยากเขียนให้ผู้อ่านงานของตน ได้รู้และเข้าใจในเรื่องหรือประเด็นที่ตัวนักเขียนผู้นั้นได้ไปรู้ไปเห็นไปรู้สึกและไปเข้าใจมา...นั่นแหล่ะเป็นหลัก
ดังนั้น ถ้าผมจะเขียนถึงหัวใจของ Globalization สักบทความนึง...แล้วผมรู้และเข้าใจอะไรบ้างหล่ะ
เอาเป็นว่า ผมจะเล่าให้ฟัง
ผมเพิ่งซื้อหนังสือ Designed by Apple in California มาเล่มนึง มันเป็นของสะสมชิ้นล่าสุดที่ Apple พิมพ์ออกมาขายให้กับสาวกได้ซื้อเก็บกัน จัดทำอย่างปราณีต ตั้งแต่รูปถ่าย ดีไซน์และจัดหน้าเลย์เอ้าท์ กระดาษที่ใช้พิมพ์ หน้าปกที่ผสมผสานด้วยวัสดุพิเศษ (ผ้าลินิน) ตลอดจนการจัดพิมพ์ และการเข้าเล่ม สมกับราคาที่ตั้งไว้ 199 เหรียญฯ สำหรับเล่มเล็ก และ 299 เหรียญฯ สำหรับเล่มใหญ่
ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือหนังสือเล่มนี้ สำเร็จมาได้ด้วยเครือข่ายการสร้างงานและสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation Process) ในระดับโลก คือโครงสร้างของ Global Value Chain และ Global Supply Chain และ Manufacturing Networking ดังต่อไปนี้ :
1. Jonathan Ive นักออกแบบใหญ่ของ Apple และทีมงานฝ่ายออกแบบ ช่วยกันออกแบบรูปแบบของหนังสือแต่ละหน้า ตลอดจนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด รวมถึงการเลือกใช้กระดาษ วัสดุ และพัฒนากระดาษและหมึกพิมพ์พิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้รูปภาพในหนังสือสะท้อนความเป็นจริงของตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ทั้งในแง่ของสีสันและความเงางามของพื้นผิว
2. Andrew Zuckerman ช่างภาพฝีมือดีที่ร่วมงานกับ Steve Jobs และเป็นผู้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ Apple มาช้านาน รับผิดชอบด้านรูปถ่ายทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้3. หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ในประเทศจีน โดยกระบวนการพิมพ์ที่พวกเขาเรียกว่า "280 Line Screen Printing” และใช้หมึกพิมพ์ชนิดพิเศษซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่พวกเขาเรียกว่า "Custom Low Ghost Epple Inks”
4. กระดาษพิเศษที่ใช้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ ทีม Apple เป็นผู้พัฒนา Spec แต่ผลิตโดยผู้ผลิตกระดาษในประเทศเยอรมนี โดยพวกเขาเรียกชื่อกระดาษพิเศษล็อตนี้ว่า "Apple-Specific” Heaven 42 Paper
5. บริษัท James Cropper ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร (UK) เป็นผู้ร่วมวางแผนและพัฒนา (Contributor) สีพิเศษที่ใช้ในการพิมพ์ ("Color Plan, bespoke color.")
6. และสุดท้ายคือ ผ้าลินินที่ใช้สำหรับหุ้มปกหนังสือนั้น ผลิตโดย Bamberger Kaliko แห่งเยอรมนี โดยใช้กระบวนการย้อมพิเศษโดยเฉพาะ หรือ "bespoke dye”
(ข้อมูลเชิงการผลิตที่ผมเรียบเรียงมานี้ ผมอ้างอิงจากภาคผนวกหรือ Appendix ของหนังสือเล่มดังกล่าว)
(ข้อมูลเชิงการผลิตที่ผมเรียบเรียงมานี้ ผมอ้างอิงจากภาคผนวกหรือ Appendix ของหนังสือเล่มดังกล่าว)
โดยผมเองได้สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ (ตั้งแต่วันที่เปิดให้จอง) ผ่านเว็บไซต์ของ Apple Store ในเมือง Los Angeles แล้วจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตของ VISA (ซึ่งเป็นกิจการของสหรัฐฯ) โดยสั่งให้เขาส่งไปยังที่อยู่ของเพื่อนผมซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น (เพราะไม่มีบริการส่งนอกอเมริกา) เสร็จแล้วเพื่อนผมค่อยส่งผ่าน UPS (ซึ่งก็เป็นกิจการ Courier Service ของสหรัฐฯ เช่นกัน) มาให้ผมที่เมืองไทยอีกทอดหนึ่ง
สำหรับคนไทยทั่วไปซึ่งไม่มีที่อยู่ในสหรัฐฯ ให้จัดส่ง แต่อยากได้หนังสือเล่มนี้มาครอบครอง โดยไม่ต้องรอฟังว่า Apple Store เมืองไทยจะได้โควต้ามาจำหน่ายสักกี่เล่มนั้น ก็สามารถเข้าไปซื้อบนเว็บไซต์ eBay ได้ทันที (eBay เป็นกิจการของสหรัฐฯ) เพราะว่ามีคนหัวใสไปกว้านซื้อมาขายโก่งราคาอีกทอดหนึ่ง โดยท่านต้องจ่ายเงินผ่าน PayPal (ซึ่งก็เป็นกิจการในเครือของ eBay) และเลือกใช้สายส่งเป็น USPS (ไปรษณีย์สหรัฐฯ) หรือไม่ก็ UPS, FedEx (เป็นกิจการของสหรัฐฯ) หรือ DHL (เป็นกิจการในเครือของไปรษณีย์เยอรมันหรือ Deutsch Post)
เห็นรึยังว่า เรื่องราวของหนังสือเพียงเล่มเดียวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหน้าตาของระบบ Globalization ที่กำลังเป็นอยู่ในโลกนี้ ได้อย่างไรบ้าง
ผมยังรู้อีกว่า หัวใจของระบบการผลิต การค้า และการเงิน แบบ Globalization ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นผลพวกมาจากการออกแบบของฝรั่ง ทว่าจีนได้ประโยชน์ไปเต็มๆ นับแต่อเมริกาถอนตัวออกจากระบบ Bretten Wood และเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมากุมอำนาจในจีนหลังจากนั้นไม่นาน
ระบบนี้ เป็นระบบที่ฝรั่งถือครองความรู้ในการผลิต (เทคโนโลยี) ตราสินค้า เครือข่ายการค้า การขนส่ง และการชำระเงิน โดย Outsource งานการผลิตสินค้า (งานในโรงงานทั้งหลาย) ไปให้กับจีน (เพราะจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงได้หันเหนโยบายเศรษฐกิจมารับจ้างผลิตโดยทำตัวเป็น Low Cost Producer ให้กับกิจการระดับโลก แทนที่อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และลาตินอเมริกา ซึ่งเคยรับบทบาทนี้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามลำดับ)
โดยฝรั่งจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แล้วมากระจายสินค้าผ่าน Discount Store (หรือ Dollar Stores) ของตัวเองที่ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก ด้วยราคาต่ำ (ซึ่งบางแห่งอย่าง Walmart ถึงกับตั้งเป็นสโลแกนว่า "Everyday Low Price”) และกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายการเงินแบบดอกเบี้ยต่ำ และนโยบายเครดิตส่วนบุคคล อย่างไม่จำกัด
นั่นทำให้เงินเฟ้อของโลกต่ำ และผู้บริโภคในประเทศตะวันตกได้ประโยชน์ด้วย เพราะได้บริโภคสินค้าในราคาต่ำ เนื่องจากค่าแรงในเมืองจีนต่ำมากและมีแรงงานที่พร้อมจะรับค่าแรงต่ำ เป็นจำนวนเหลือเฟือแบบไม่จำกัด
ระบบนี้ ทำให้กิจการของฝรั่งทำกำไรได้มาก เพราะต้นทุนต่ำ ส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการเหล่านี้ในสหรัฐฯ (และในประเทศที่ถือครองความรู้หรือเทคโนโลยีในการผลิตและตราสินค้า) เพิ่มขึ้นมาตลอดในรอบสามสิบปีมานี้ อีกทั้งยังส่งผลให้จีนสามารถสะสมเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ได้อย่างมหาศาล ร่ำรวยขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็น "อภิมหายักษ์แห่งการส่งออก" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ระบบนี้ยังได้ทำลายธุรกิจส่งออกและโรงงานในบรรดาประเทศ Low Cost Producer เดิม หรือประเทศที่เคยรับช่วงต่อจาก Low Cost Producer เดิม อย่างเช่นไทย ซึ่งรับช่วงจากญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งรับช่วงต่อจากเยอรมนี และประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งรับช่วงต่อจากสหรัฐฯ (อันนี้ไม่นับประเทศที่ขายวัตถุดิบ อย่างสินค้าโภคภัณฑ์และอาหาร ซึ่งได้รับผลพลอยได้จากการเติบโตของจีนในระยะดังกล่าว)
ที่สำคัญ ระบบนี้ได้ทำลายฐานการผลิตหรือโรงงานในประเทศตะวันตกด้วย ทำให้ชนชั้นคนงานเดิมและลูกหลาน ตลอดจนคนชั้นกลางในเครือข่ายการผลิตเดิม ได้รับความลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐฯ นั้น เขตอุตสาหกรรมเดิมในแถบที่เรียกว่า Rust Belt ตกต่ำลงอย่างหนัก และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นโยบายหาเสียงของโดนัล ทรัมป์ ได้รับการขานรับ จนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง
หัวใจของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ คือการเข้าไปหันเหระบบ Globalization ที่กล่าวมา ทั้งโดยการตั้งกำแพงภาษี (หรือมาตรการกีดกันการค้าอื่นๆ) การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อจูงใจให้กิจการต่างๆ โยกฐานการผลิตกลับเข้าไปในบ้านดังเดิม การต่อรองทางการค้ากับคู่ค้าแบบเป็นรายๆ ไป ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าทำได้จริง มันย่อมจะต้องกระทบต่อการผลิต การค้า และการเงินโลก โดยไม่แต่ผู้ผลิตของสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง Business Model ของตัวเอง แต่จีนและคนอื่นๆ ในโลก ก็จำต้องเปลี่ยน Economic Strategy และ Business Model ของตนด้วยอย่างแน่นอน (ณ ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ งบประมาณและมาตรการต่างๆ ที่เสนอโดยทีมทรัมป์ ยังอยู่ในขั้นแปรญัตติของสภาครองเกรส)
ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าจีนเขาเลือกจะปรับตัวอย่างไรนับแต่นี้ และไทยควรปรับตัวอย่างไร ซึ่งจะไม่ขอกล่าวซ้ำอีกในบทความนี้ แต่จะมุ่งไปที่ประเด็น De-Globalization เป็นหลัก
ตามความเข้าใจของผม Globalization เป็นระบบที่ทุกคนได้ประโยชน์ (มากน้อยต่างกันไป) แต่มันเป็น win-win deal มันจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือกัน (หากไม่มีการร่วมมือ การค้า การชำระเงิน และการกระจายฐานการผลิตระดับโลกย่อมเป็นไปไม่ได้)
และความร่วมมือดังกล่าวมันเกิดเป็นจริงขึ้นได้ตามฐานความเชี่ยวชาญของแต่ละคนและการแบ่งงานกันทำ
ระบบเศรษฐกิจโลกมันวางอยู่บนฐานคิดง่ายๆ แบบนี้ แล้วค่อยพัฒนาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ Adam Smith วิเคราะห์ให้เห็น และ David Ricardo มาขยายผลด้วยการศึกษาวิจัยลงลึกถึงระบบเศรษฐกิจของอังกฤษเทียบกับโปรตุเกส เมื่อปี 1817 แล้วพบว่า อังกฤษผลิตเสื้อผ้าได้เหนือกว่าเพราะใช้ทรัพยากรและแรงงานน้อยกว่า ในขณะที่โปรตุเกสผลิตไวน์ได้ทรงประสิทธิภาพกว่า (ซึ่งเขาเรียกความเหนือกว่านั้นว่า "Comparative Advantage”) ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า ทั้งอังกฤษและโปรตุเกสจะได้ประโยชน์เต็มที่กันทั้งคู่ หากอังกฤษจะผลิตเสื้อผ้าอย่างเดียว และโปรตุเกสจะผลิตไวน์อย่างเดียว (เพราะแต่ละคนเชี่ยวชาญกันคนละอย่าง) แล้วนำมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน (แล้วมันยังจะให้โอกาสกับทั้งสองประเทศพัฒนาความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองผลิตถนัดให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งในที่สุดมันยิ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำลง เพราะยิ่งเชี่ยวชาญก็ยิ่งสร้างของง่ายขึ้นและถูกลง ทำให้ราคาสินค้าในทั้งสองประเทศถูกควบคุมไปโดยปริยาย)
ระบบ Globalization ของโลกทุกวันนี้ ก็พัฒนามาจากฐานคิดเชิงทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศของ Ricardo นั่นแหล่ะ (ปัจจุบันมูลค่าการค้าโลกคิดเป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งโลก)
แต่อะไรก็ตาม เมื่อมันพัฒนามาจนสูงสุดแล้ว ย่อมเสื่อมลงเป็นธรรมดา...Globalization ก็หนีกฎอนิจจังไปไม่พ้น เช่นกัน
ทีนี้ลองคิดดูสิ ว่าฝรั่งชาติสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังจะหันมาใช้นโยบาย Economic Nationalism โดยออกมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ เพื่อปกป้องคนงานของตน และตอบโต้กับคู่ค้าอย่าง จีน รัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา ซึ่งฝรั่งคิดว่าดำเนินนโยบายกีดกันการค้ามาโดยตลอด และมันไม่แฟร์ (Unfair Trade)
อังกฤษนำไปแล้วด้วย Brexit ตามมาด้วย America First ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ (และหากพรรค National Front ชนะการเลือกตั้งในฝรั่งเศษ และพรรค Party for Freedom ชนะในเนเธอร์แลนด์ และ พรรค Five Star Movement ชนะในอิตาลี ก็อาจหมายถึงการล่มสลายของ EU ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับสหรัฐฯ)
แน่นอนว่า หากการหันหลังกลับจาก Globalization แบบ Full-swing เกิดขึ้นจริงๆ มูลค่าการค้าโลก (รวมทั้งการชำระเงินและการลงทุนจากกิจกรรม Outsource ทางการผลิต) ย่อมต้องลดลง กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และสินค้าย่อมแพงขึ้น เพราะแต่ละประเทศย่อมต้องผลิตสินค้าซ้ำกัน หรือถูกบังคับให้ผลิตในสิ่งซึ่งตัวเองไม่เชี่ยวชาญ (ตามฐานคิดของ Ricardo)
และยิ่งสินค้าแพงขึ้น การซื้อขายก็จะยิ่งน้อยลง และคนก็จะผลิตสินค้าน้อยลง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง จนอาจถึงขั้นซบเซาได้
นั่นคืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากทุกคนหันมาดำเนินนโยบายชาตินิยมเชิงเศรษฐกิจกันหมด
นักเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะแบบนี้ว่า "Stagflation” คือในขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมหดตัวลง ราคาสินค้าก็แพงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาว
บทสรุปของผมในประเด็นนี้คือ ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมมีผู้ได้ผู้เสีย และผู้อ่านของผมย่อมมาจากหลากหลายสถานะ หลากหลายอุตสาหกรรม หลากหลายจุดยืนเชิงผลประโยชน์ของตน
ผมเชื่อว่าหลังจากฟังข้อวิเคราห์จากผมแล้วว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในโลก ท่านคงรู้แล้วว่าข้อสรุปของตัวเองแต่ละคนเป็นอย่างไร และท่านจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ท่าไหน
แน่นอนว่า ผู้ส่งออกหรือกิจการที่มีรายได้จากการส่งสินค้าไปขายในตลาดโลก (โดยเฉพาะจากจีนและสหรัฐฯ) ย่อมได้รับผลกระทบแรงขึ้น (จากที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว) แต่กิจการที่ผูกพันกับภาคบริการของจีน ย่อมมีอนาคตที่สดใส (เนื่องจากจีนเองกำลังมุ่งเข็มไปเน้นการเติบโตจากภายในแทนการส่งออก) ทั้งธุรกิจการศึกษา การรักษาพยาบาล สุขภาพ การค้าปลีก E-Commerce หรือ SME เป็นต้น
ผู้ผลิตในทุกอุตสาหกรรมของเราที่สามารถดำรงต้นทุนต่ำ ก็น่าจะกลับมาได้ประโยชน์มากขึ้นในยุค “Stagflation” แน่นอนว่าดอกเบี้ยก็คงจะขึ้นไปอีก ดังนั้นนักลงทุน อาจต้องถือเงินดอลล่าร์มากขึ้น หรือถ้าเป็นผู้ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศอยู่แล้ว ก็อาจหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีฐานรายได้และกำไรจากตลาดโลก แต่กลับไปเน้นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จาก America First เป็นหลัก (นักลงทุนทั่วไปสามารถถือกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นประเภทนั้นๆ ได้อยู่แล้ว เช่น US. Small Cap. Value ETF หรือ ETF ซึ่งลงทุนใน SME ของสหรัฐฯ เป็นต้น)
ส่วนคนทั่วไปที่คิดจะอาศัยเงินเก็บเพื่อดำรงชีพในระยะยาว ก็อาจต้องหาทางกระจากทรัพย์สินไปสู่สินทรัพย์ที่คิดว่าจะธำรงค่าได้ในระยะยาว เช่น ทองคำ หรือ Bitcoin (หรือ Cryptocurrency อื่น) ในสัดส่วนที่มากยิ่งขึ้นในพอร์ตของตน แทนจะจะเก็บเป็นบัญชีออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำแต่เพียงอย่างเดียว
ทัดษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มีนาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2560
ทัดษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มีนาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2560
I found some useful information in your blog, it was awesome to read, thanks for sharing this great content to my vision, keep sharing.
ตอบลบStrategic Management Assignment Help