วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Competing for the Future




"Whoever fights monsters should see to it that in the process he does not become a monster. And when you look into an abyss, the abyss also looks into you."
Friedrich Nietzsche


ผมรู้จักโปรไฟล์ของท่านผู้อ่านนิตยสารฉบับนี้ดี ผมจึงไม่คิดว่า แฟนๆ MBA จะอินโนเซนส์พอจะเชื่อว่าการสัประยุทธ์โดยมี "อำนาจรัฐ" เป็นเดิมพัน ระหว่าง "Thaksin and Co." กับ "Non-Thaksin Network" จะบรรเทาเบาบางลงหลังจากจบวิกฤติรอบนี้ไปแล้ว

เพราะถ้าเปรียบเป็นมวยสากล ก็อาจอนุมานเอาได้ว่าเพิ่งจะเข้ายกที่ 5 หรือ 6 โดยยกที่ผ่านมา นักมวยทำการแลกหมัดกันอย่างดุเดือด งัดเอากลเม็ดเด็ดพลายสารพัด ทั้งเปิดหน้าและชกใต้เข็มขัด จนถึงเลือดตกยางออก อีกทั้ง กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายก็ฮึ่มๆ กันจนถึงขั้นตะลุมบอนและทำลายข้าวของ เป็นเหตุให้ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ชมที่เป็นกลางๆ (ซึ่งมีอยู่แยะ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล และถูกปฏิบัติต่อเหมือนไม่มีตัวตน) ตลอดจนเพื่อนฝูงในต่างประเทศหวั่นใจ

ทั้งสองฝ่ายต่างก็สูญเสีย บาดเจ็บล้มตาย ขมขื่น แต่ก็ยังคิดหวังเอาเองอยู่ลึกๆ ว่านักมวยฝ่ายตัวยังคงมีคะแนนนำ และจะยืนระยะได้จนถึงยกสุดท้าย หรืออย่างน้อยก็ถึงยกที่เป็นหมุดหมาย...ก็คือ "วันนั้น"

แน่นนอน แม้นักมวยและโปรโมเตอร์จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ว่า "เราต่างก็ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่มาร" และ "ต่างก็มาจากสำนักเดียวกัน" ทว่า กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้) และ "อิน" ไปกับการต่อสู้ ต่างก็เกลียดชังกันแบบร้าวลึก และต่างก็อวดอ้างว่าฝ่ายตนเป็น "ฝ่ายเทพ" โดยเหยียดฝ่ายตรงข้ามว่าต่ำและไม่ใช่มนุษย์

ฝ่ายหนึ่งว่า "เชื่อทักษิณ โง่เป็นควาย" ส่วนอีกฝ่ายก็โต้ว่า "เชื่ออภิสิทธิ์" ก็โง่เป็นควายเช่นกัน ฝ่ายหนึ่งว่า "ทักษิณเป็นผู้ก่อการร้าย" อีกฝ่ายก็ว่า "อภิสิทธิ์เป็นทรราช" อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อระฆังยกใหม่ดังขึ้น ฝ่าย Non-Thaksin ซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่ จำเป็นต้องเป็นฝ่ายเดินหน้า รุก และเป็นฝ่ายกระทำ โดยหวังว่าจะ "น็อคเอ้าท์" อีกฝ่ายให้ได้ในยกนี้...ฯลฯ

สถานการณ์จะเป็นยังไงต่อ จะน็อคหรือจะชนะคะแนน หรือจะล้มมวย หรือจะเจราจาให้พี่เลี้ยง "โยนผ้า" เราก็ต้องคอยดูกันต่อไป...

นั่นเป็นเรื่องของมวย !

แต่ความเป็นจริงย่อมมิใช่มวย เพราะการสัประยุทธ์ระดับนี้ มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต ทรัพย์สิน และอนาคตของพวกเรา ตลอดจนลูกหลานของพวกเราทุกคน

ผมย่อมเศร้าใจที่นับแต่นี้ไป ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความเสี่ยงยิ่งกว่าเดิม (ทั้งที่ธรรมดาอยู่กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงมากอยู่แล้ว) และผมก็เชื่อว่าประชาชนคนธรรมดาจำนวนมากคิดแบบนั้น เพราะพวกเรามิได้มีกองกำลังอารักขาหรือจะสามารถโยกย้ายครอบครัวไปต่างประเทศ หรือเข้าไปขออาศัยในค่ายทหารในเวลาฉุกเฉินได้ง่ายๆ แบบผู้มีอำนาจและมีทรัพย์ทั้งหลาย

ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง แต่ผมย่อมไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือเผชิญกับวิกฤติแบบที่ผ่านมาอีก

ประสบการณ์สอนผมว่า การช่วงชิงอำนาจในสังคมมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติ แม้สิ้นทักษิณและสหายไป ที่เหลือก็ยังจะแย่งชิงอำนาจกันอยู่ดี โดยดีกรีของการแย่งชิง จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องเพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า เมืองไทยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงอำนาจที่มีความสำคัญมากๆ ในอนาคตอันใกล้

ทุกฝ่ายต่างก็ซุ่มออกแบบโครงสร้างอำนาจ จัดทัพ และดำเนิน Preemptive Strategy เพื่อช่วงชิงพื้นที่อำนาจ หรือ Shape สภาพแวดล้อมเชิงอำนาจให้เป็นคุณต่อฝ่ายตน และ Positioning ตัวเองไว้ในจุดที่คิดว่าจะได้เปรียบที่สุดเมื่อ "เวลานั้น" มาถึง

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทักษิณและสหายก็ได้ส่งสัญญาณไปสู่ชนชั้นนำในสังคมไทย ทั้งที่อยู่ในหน่วยงานที่เป็น State Apparatus และในภาคเอกชนทั้งมวล ว่ากลุ่มของเขาเองยังคงมีฤทธิ์ ยังมีทรัพยากร และมีความเชี่ยวชาญในการจัดการ สามารถ Financing และ Organized ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ที่คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้รวมตัวสนับสนุนเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหนือความคาดหมายของผู้คนจำนวนมาก

ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ "เกียร์ว่าง" ที่เกิดขึ้นในระบบราชการ ย่อมมาจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความลังเล อันเนื่องมาแต่คลื่นความถี่ (และความแรง) ของสัญญาณดังกล่าวที่ถูกส่งมาด้วยอีกโสตหนึ่ง จึงกลัวว่าหากดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปในขณะที่ยังไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในอนาคต อาจจะส่งผลต่อเส้นทางอาชีพในระบบราชการของพวกเขาได้เช่นกัน

การเผากิจการของเอกชนบางแห่ง ก็เป็นการส่งสัญญาณถึงกลุ่มทุนในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งมวล ว่าควรวางตัวอย่างไรนับแต่นี้

นี่คือสงครามเพื่อแย่งชิงอนาคต !

เป็นสงครามที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในจิตใจคน เพื่อจะนำไปสู่ส่วนแบ่งของอำนาจรัฐในอนาคตนั่นเอง

ผมเองมีความหวั่นวิตกมาก ว่าสงครามแห่งอนาคตครั้งนี้จะเลยเถิด กลายเป็นสงครามกลางเมืองใหญ่ที่ไม่เฉพาะชนชั้นนำห้ำหั่นกันเองเหมือนที่เป็นมาในอดีต แต่จะลามปามถึงผู้คนทุกชนชั้นในสังคมที่จะถูกเสี้ยมให้จับอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกันเองด้วย

เพราะนอกจากหัวขบวนหลักของทั้งสองฝ่ายที่เผชิญหน้ากันอยู่ขณะนี้ ดูเหมือนจะมีทรัพยากรและกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงก้ำกึ่งกันแล้ว ความขัดแย้งอันเป็นข้ออ้างหรือ "อาหาร" ของสงครามครั้งนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจไทยและจะแก้ไขได้ยากยิ่ง

ผมเชื่อว่า ผู้อ่านนิตยสารฉบับนี้ แม้จำนวนมากจะมีจุดยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายทักษิณและสหายก็ตาม ย่อมไม่อินโนเซนส์พอจะโต้แย้งว่า ประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงนั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงโครงสร้าง

พวกเราต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเกือบ 75% ของ GDP (ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่ง) มาจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และแถบอีสเทินร์ซีบอร์ดเท่านั้น ภาคเกษตรกรรมมีส่วนเพียง 20% และภาคการท่องเที่ยวประมาณ 5-6% โดยที่กว่าสามในสี่มาจากธุรกิจกลางคืน

ลองคิดง่ายๆ ว่าประเทศไทยมีประชากร 63 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีสเทินร์ซีบอร์ดประมาณ 15 ล้านคน นั่นก็หมายความว่าประชาชนเพียง 20% เท่านั้นที่สร้างความมั่งคั่งได้ถึง 75% (ให้กับ GDP) และหากเอาสัดส่วนนี้มาคิดเทียบแบบ Rule of Thumb ก็อาจอนุโลมได้ว่า ประชาชนประมาณ 80% ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอิสเทรินซีบอร์ด เป็นคนจน (และก็อาจจะอนุโลมเทียบกับตัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศได้เช่นเดียวกัน)

ก็จะมีกันสักกี่คนเล่า ที่สามารถมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในย่านสุขุมวิท สีลม สาทร ราชดำริ หลังสวน หรือตามหมู่บ้านเศรษฐีที่มี Facilities ครบครัน ฯลฯ หรือในเขตเมืองชั้นในได้ ถ้าไม่มีมรดกตกทอด...คน 80% เหล่านั้นย่อมอยู่กันตามมีตามเกิด คือถ้าไม่ออกนอกเมืองอันไกลสุดกู่ ก็อยู่ตามห้องเช่าเล็กๆ หรือตามชุมชนแออัดซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพฯ

ฉะนั้น ผมจึงไม่แปลกใจที่รู้ว่า พวกที่เป็นผู้จุดไฟเผาบ้านเผาเมืองรอบที่ผ่านมาเป็นคนกรุงเทพฯ มิใช่คนอิสานที่มาร่วมชุมนุม

นั่นเป็นจุดอ่อนของสังคมที่ช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่ง ถ่างกว้างเกินไป

สิ่งนี้ย่อมเป็นอันตรายยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว เมื่อมันถูกบรรจุอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งดูแคลนการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่สร้างสรรค์กว่ามาทดแทนได้

มันยิ่งทำให้ระบบการ Share อำนาจ ยิ่งมีปัญหา แล้วก็ย้อนกลับไปซ้ำเติมปัญหาช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่ง ซึ่งในที่สุดก็จะเป็น "อาหาร" อันโอชะของความเกลียดชัง และเป็นข้ออ้างของ "สงครามแห่งอนาคต" อีกทอดหนึ่ง

ถึงเวลาแล้วหล่ะ ที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพื่อขจัดเงื่อนไขของความเหลื่อมล้ำกันนี้ให้สิ้นซากไปด้วยสันติวิธี

ก่อนที่ผู้คนจะสิ้นหวังและถูกครอบงำด้วยความกลัวยิ่งไปกว่านี้ แล้วเลือกเอาความรุนแรงเป็นสรณะ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

27 พฤษภาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น