วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Primum Non Nocere จรรยาบรรณผู้นำ



ในสมัยโบราณ คนทั่วไปมักคิดกันไปเองว่า "ผู้ปกครอง" ย่อมเป็นผู้มีบุญญาธิการ อาวตารลงมาเพื่อ "ปกครอง" โดยเฉพาะ แม้แต่ผู้นำหรือคณะผู้นำสูงสุดของกิจการธุรกิจหรือองค์กรสมัยเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังถูกมองกันว่าต้องเป็นคนพิเศษที่เกิดมาเพื่อการนั้น หรือสืบทอดมาจากครอบครัวซึ่งสมาชิกต่างก็มีความสามารถพิเศษในเชิงการปกครอง

แต่เมื่อการศึกษาในเชิง "การจัดการสมัยใหม่" หรือ Modern Management แพร่หลายมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้ปกครอง หรือที่เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า "ผู้บริหาร" หรือ "ผู้จัดการ" หรือที่เรียกตามตำแหน่งว่า "CEO" หรือ "นายกรัฐมนตรี" หรือ "ประธานาธิบดี" หรือที่เรียกตามหมู่คณะว่า "ชนชั้นปกครอง" หรือ "บอร์ด" หรือ "โปริสบูโร" ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพอจะอนุโลมเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Management"


Modern Management เริ่มเปลี่ยน Approach การมองกลุ่มคนเหล่านี้ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับตำแหน่งเหล่านี้ (office) ว่าเป็นเพียง "อาชีพ" อาชีพหนึ่ง (a specific organ doing a specific kind of work and having specific responsibilities)

นั่นหมายความว่า "ผู้ปกครอง" หรือ "ผู้บริหาร" หรือ Management ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่คล้ายกับ แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ตำรวจ ทหาร วิศวกร ทนายความ ครู นักข่าว หมอดู หรือช่างฝีมือ ฯลฯ

ท่านผู้อ่านย่อมเคยได้ยินคำว่า Professional Management หรือ Professional Manager มาบ้าง ไม่มากก็น้อย

เพราะถ้ามันเป็นเพียงอาชีพหนึ่ง ก็ย่อมสามารถมีใครก็ได้ที่ได้รับการฝึกฝนมา จนมีความเชี่ยวชาญและช่ำชองพอจะมารับหน้าที่ "ปกครอง" หรือ "บริหาร" กิจการ หรือ องค์กร หรือแม้กระทั่งประเทศชาติให้เกิดความร่มเย็นและมั่งคั่งได้ เช่นเดียวกับคนที่สามารถฝึกเป็นหมอ (มาเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์) ครู (เพื่ออบรมสั่งสอนกุลบุตรธิดา) ทนาย (เพื่อใช้กฎหมายให้เกิดยุติธรรม) ทหาร (เพื่อใชอาวุธยุทโธปกรในการรบ) หรือวิศวกร ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อมันถูกมองว่าเป็นอาชีพเฉพาะทางเช่นนี้ ก็แน่นอนว่ามันย่อมต้องมี "จรรยาบรรณ" ของอาชีพหรือประจำอาชีพผู้ปกครองด้วย เช่นเดียวกับ จรรยาบรรณแพทย์ จรรยาบรรณครู จรรยาบรรณสื่อ จรรยาบรรณผู้พิพากษาหรือนักกฎหมาย เป็นต้น

มีหนังสือและบทความจำนวนมากที่เขียนเรื่อง "จรรยาบรรณของผู้บริหาร" แม้แต่ Business School ชั้นนำของโลกหลายแห่ง ก็ได้บรรจุวิชาเหล่านี้ลงไปในหลักสูตร MBA ด้วยแล้ว

Peter Drucker เคยเขียนว่าในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษามักจะตัดสินให้พวกเมาแล้วขับที่เป็นบัณฑิตจาก Oxford หรือ Cambridge หรือที่มาจากโรงเรียน Public School มีชื่อทั้งหลาย ให้ได้รับโทษหนักกว่าคนทั่วไป และกรณีเหล่านี้ก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเป็นพิเศษ

เขาได้ยกตัวอย่างพาดหัวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ว่า "Eton graduate convicted of drunken driving." เป็นต้น

นั่นเป็นเพราะคนทั่วไปย่อมคาดหวังว่าชนชั้นปกครองหรือคนที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อเป็นผู้ปกครอง (หรือผู้บริหารในภาษาสมัยใหม่) ย่อมต้องมีมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดา

"No one expects an Eton education to produce temperance leaders. But it is still a badge of distinction, if not of priviledge." ดรักเกอร์ว่างั้น (อ้างจาก Peter Drucker, Management: Tasks, Responsibilities, Practices, Harper&Row 1974 หน้า 366)

สำหรับดรักเกอร์แล้ว จรรยาบรรณและความรับผิดชอบข้อสำคัญของผู้ปกครอง สรุปได้ด้วยคำละตินที่รู้จักกันในนาม Hipprocratic Oat ว่า "Primum Non Nocere" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Above all, not knowingly to do harm." หรือ "First, do no harm."

Drucker ใช้คำว่า "เป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม" (the basic rule of an ethics of public responsibility) เพราะวาจา การกระทำ และพฤติกรรม ตลอดจนการตัดสินใจของผู้ปกครองนั้น มันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ตาม (ผู้ถูกปกครองในองค์กรนั้นๆ) และสังคมโดยรวม (มากน้อยขึ้นอยู่กับว่าองค์กรที่เขาปกครองอยู่นั้นเป็นบริษัท รัฐวิสาหกิจ กรม กระทรวง หรือประเทศ)

ผู้ตามจึงจะสามารถไว้วางใจผู้นำของเขาได้อย่างสนิทใจ

"There are important areas where managers, and especially business managers, still do not realize that in order to be permitted to remain autonomous and private they have to impose on themselves the responsibility of the professional ethic. They still have to learn that it is their job to scrutinize their deeds, words, and behavior to make sure that they do not knowingly do harm." ดรักเกอร์ว่างั้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น