วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ายุค นปช.ยึดเมือง



ในการปาฐกถาครั้งหนึ่ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เคยพูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 2475 เสียก่อน ก็ไม่แน่ว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งนั่งฟังอยู่ในห้องนั้นด้วย อาจจะได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท

คำหยอกล้อนี้ มิใช่ไม่มีมูลเอาเสียเลย เพราะสมเด็จปู่ของท่านผู้นั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 และทรงกำกับราชการสำคัญรองจากองค์พระมหากษัตริย์ จนเกือบตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา

แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงเจาะจงผู้ที่จะสืบราชสมบัติ คณะราษฎรจึงข้ามพระองค์ท่านกลับไปยังสายของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จทิวงคตไปก่อนหน้าแล้ว จึงได้อัญเชิญพระโอรส คือพระองค์เจ้าอานันทมิหดล ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 8 ดังที่พวกเราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ทรงมีพระชายา 1 พระองค์คือ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร และมีหม่อมอีก 1 ท่านคือ หม่อมสัมพันธ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นโอรสของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ประสูติแต่หม่อมสัมพันธ์ จึงมีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน ซึ่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ประสูติแต่หม่อมเจ้าประสงค์สม

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล นั้นเป็นสาย "เมียหลวง" แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นสาย "เมียน้อย"

ในวัยเด็ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้รับการศึกษาชั้นเลิศแบบผู้ดีอังกฤษ โดยผ่านทั้งโรงเรียน Cheam และโรงเรียน Rugby ซึ่งเป็น Public School ที่มีชื่อเสียง และยังได้เข้าศึกษาต่อที่ Pembrook College มหาวิทยาลัย Oxford จนสำเร็จในสาชา PPE ซึ่งเป็นยอดของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น อีกทั้งยังได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Georgetown ในสหรัฐฯ จนได้รับปริญญาโททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เคยเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมัยนั้นเขาก็เป็นดาวสัมมนาและยังเป็นคอลัมนิสต์ปากกาคม ที่มีข้อเขียนในเชิงการเมืองและการระหว่างประเทศลงตีพิมพ์ใน ผู้จัดการรายสัปดาห์, Bangkok Post, Far Eastern Economic Review, The International Herald Tribune, และ The Asian Wall Street Journal เป็นประจำอีกด้วย

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เขาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกัมพูชาและอินโดจีนอย่างรุนแรง เขาไม่เห็นด้วยที่ไทยเดินตามก้นจีน โดยสนับสนุนเขมรแดงให้ทำสงครามยืดเยื้อกับรัฐบาลกัมพูชาที่มีเวียดนามหนุนหลัง

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วประกาศนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะที่ปรึกษาหนุ่มที่เรียกกันว่า "บ้านพิษณุโลก" อันโด่งดัง

ตัวเขา และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ตลอดจน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีบทบาทอย่างมากในการเจรจาสงบศึกเขมรในยุคนั้น เป็นอันสิ้นสุดยุคสงครามอินโดจีนที่รบกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนานลงโดยเด็ดขาด ส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น ไหลเข้ามาลงทุนในไทยอย่างมโหฬาร เป็นสาเหตุหนึ่งของ "ภาวะฟองสบู่" ในเวลาต่อมา

แต่เขาก็ต้องลาออกจากคณะที่ปรึกษา เพราะถูกกดดันจากกองทัพ ในกรณีที่พลเอกชวลิต ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น วิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่นของรัฐบาล โดยเขาได้ย้อนให้ "ทหารกลับไปปัดกวาดบ้านตัวเองเสียก่อน"

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาโดดเข้าสู่วงการเมืองด้วยการร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย กับ ดร.อำนวย วีรวรรณ โดยได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ตอนนั้น ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ติงว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่าถ้ายังอยู่ในแวดวงวิชาการ และเขาก็ยังมิได้แสดงฝีไม้ลายมือในเชิงงานวิจัยอันลึกซึ้ง ฝากไว้ให้กับวงวิชาการไทยเลย

แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นในถนนการเมือง เพราะเมื่อพรรคนำไทยฝ่อไป เขาก็เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลชวน ซึ่งเขาก็ได้ฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้ในช่วงที่กองกำลัง God Army บุกเข้ายึดสถานฑูตพม่าที่ถนนสาธร

เขาได้แสดงความกล้าหาญ ยอมแลกเป็นตัวประกันไปส่งกองกำลังดังกล่าวจนถึงชายแดนไทย-พม่า

วันที่เขาชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เขากล่าวว่าจะตั้งใจบริหารนครแห่งนี้อย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นเมืองที่บรรพบุรุษของเขาได้ทรงก่อตั้งและสร้างความเจริญสืบมา

ผลงานของเขาในฐานะผู้ว่าฯ กทม. มิได้โดดเด่นอันใด จนกระทั่งเมื่อช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้แสดงภาวะผู้นำอย่างน่ายกย่อง ด้วยการอยู่โยงบัญชาการผ่อนหนักเป็นเบาอย่างเอาจริงเอาจัง และอย่างระมัดระวังที่จะไม่ไปเข้าข้างฝ่ายใด โดยยึดเอาปัญหาของชาวบ้านเป็นหลักใหญ่ ด้วยมาตรการอันถือเอาความปลอดภัยของลูกน้องเป็นสำคัญด้วยความรอบคอบ จนได้ใจผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก

อีกทั้งยังพอเป็นที่อุ่นใจได้บ้างของชาวกรุงเทพฯ ว่ายังมีผู้นำที่ให้จับต้องได้ ในระหว่างที่บรรดาผู้นำระดับสูงแทบทั้งหมดต้องเข้าไปหลบในค่ายทหารและไม่ค่อยปรากฎตัวให้เห็นนอกจากเวลาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น

แม้ว่า การได้เป็นผู้บริหาร กทม. ในช่วง นปช.ยึดเมือง ดูเหมือนจะเป็นทุกขลาภ แต่ทว่า ผลงานระหว่างนั้นของคุณชายที่ออกมาในเชิงบวก ย่อมจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของเขาในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น