วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลูกเราเรียนดนตรีเพราะอริสโตเติล


ดนตรี



ผมเห็น “กรณีสองคอนดักเตอร์” ที่คุณทฤษฎี ณ พัทลุง เปิดโปงและถอดหน้ากากคุณบัณฑิต อึ้งรังษี แล้วก็อยากจะเขียนเรื่องดนตรีสักครั้ง


ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า การที่คนสมัยนี้นิยมส่งลูกหลานไปเรียนดนตรีกันตั้งแต่ยังเล็ก จนทำให้เกิดโรงเรียนดนตรีกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นอุตสาหกรรมในบัดนี้ เป็นเพราะ “อริสโตเติล”


ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงอริสโตเติลนักคิดนักเขียนชาวกรีกโบราณ เมื่อสมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว คนนั้นแหละ


ยิ่งเดี๋ยวนี้เราเอาอย่างวิถีชีวิตแบบตะวันตก การมีลูกหลานที่สามารถเล่นเปียโน ไวโอลิน กีตาร์ หรือร้องเพลงได้ดี ย่อมเป็นค่านิยมที่พึงปรารถนาแบบหนึ่ง ต่างกับค่านิยมแบบพุทธที่ (เมื่อพูดให้ถึงที่สุดแล้ว) ถือว่าดนตรีส่งเสริมกิเลส

ความนิยมส่งลูกเรียนดนตรี มิได้จำกัดอยู่แต่ในแวดวงของลูกหลานคนชั้นสูงเหมือนเมื่อก่อน เพราะคนชั้นกลางและชนชั้นล่างก็นิยมส่งลูกไปเรียนดนตรีด้วย โดยเฉพาะคนชั้นกลางนั่นแหละ ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ คอยอุดหนุนโรงเรียนดนตรีที่เปิดขึ้นเป็นดอกเห็ด


ลองสังเกตผู้เข้าประกวด “เอเอฟ” ดู ก็จะเห็นความคละเคล้าเชิงชนชั้นได้ไม่ยาก


สมัยผมยังเล็ก การสอนดนตรีอย่างเป็นระบบ (ผมพูดถึงดนตรีตะวันตก) จะจำกัดอยู่เฉพาะกับโรงเรียนฝรั่งบางโรงเรียน หรือโบสถ์คริสต์บางแห่ง โดยมีบรรดาภารดาหรือนักบวชต่างชาติเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการด้านนี้ให้ ตั้งแต่การอ่านโน้ต จังหวะ คอร์ด โหมด เคาเตอร์พ้อทย์ และพัฒนาการของดนตรีตะวันตกเบื้องต้น ฯลฯ พร้อมทั้งให้ปฏิบัติเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ที่เด็กสนใจ

และถ้าเด็กคนนั้นทำได้ดี ก็อาจสมัครเข้าร่วมในวงคอนเสิร์ต ฝึกซ้อมเพลงคลาสสิกง่ายๆ หรือวงดุริยางค์ (Band) ที่เน้นบรรเลงเพลงมาร์ช เช่นของ John Philip Sousa ซึ่งคนสมัยนั้นรู้จักดี เพราะเป็นเพลงไตเติ้ลข่าวสองทุ่มของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในเมืองไทยขณะนั้น

หากต้องการจะศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ก็จะต้องไปเรียนในต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องสมัครไปเป็นทหาร เพื่อเข้าร่วมกับวงดุริยางค์เหล่าทัพ เช่น วงดุริยาค์ทหารเรือ ทหารบก หรือทหารอากาศ เป็นต้น

ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีโรงเรียนดนตรีอิสระจำนวนมาก ทั้งแบบโดดๆ และที่เป็นเครือข่ายใหญ่โต มีสาขาตามศูนย์การค้าทั่วประเทศ แยกย่อยลงลึกไปเป็นดนตรีแต่ละประเภทอย่างหลากหลาย ทั้งแจ๊ส ร็อก คลาสสิก พ็อพ เร้กเก้ ฮิพฮอพ ฯลฯ และแยกตามประเภทของเครื่องดนตรีอีกด้วย เช่น กีต้าร์แจ๊ส กีต้าร์ร็อก กีตาร์คลาสสิก เปียโนแจ๊ส เปียโนคลาสสิก เบสไฟฟ้า ดับเบิ้ลเบส ขับร้องแจ๊ส ขับร้องพ็อพ ขับร้องโอเปร่า ขับร้องประสานเสียง (วง Choir) เป็นต้น

อีกทั้ง มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ยังเปิดสอนดนตรีชั้นสูงในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย

สรุปแล้ว การเรียนดนตรีแบบตะวันตกในบ้านเราเติบโตมากในรอบหลายปีมานี้ เติบโตยิ่งกว่าการเรียนดนตรีไทยหลายร้อยเท่า อุตสาหกรรมดนตรีที่ผลิตงานเกือบทั้งหมดออกมาภายใต้โครงสร้างดนตรีตะวันตกแต่ใส่เนื้อร้องภาษาไทย ก็เป็นผลพวงของพัฒนาการของโรงเรียนดนตรีในรอบหลายสิบปีมานี้ด้วยเช่นกัน

ทีนี้กลับมาเรื่องอริสโตเติล ว่าเขามาเกี่ยวอะไรกับกรณีสองคอนดักเตอร์ และการส่งลูกหลานไปเรียนดนตรี แล้วทำไมผมถึงต้องมาเขียนถึงเขาในคอลัมน์ “Management Guru” ด้วย

ผมจะลองแสดงเหตุผลโยงใยให้ดูครับ



อริสโตเติล


ท่านผู้อ่านคงรู้อยู่แล้วว่าอริสโตเติลมีอิทธิพลต่อความคิดของฝรั่งมากขนาดไหน แม้คนไทยเรา ถ้าเคยเรียนหนังสือกันมาบ้าง ก็ต้องรู้จักอริสโตเติล เพราะถ้าไม่เจอในวิชาวิทยาศาสตร์สมัยเด็ก โตขึ้นก็ต้องเจอเขาในวิชาอื่นอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จริยศาสตร์ ดาราศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เป็นต้น



อริสโตเติลมีความสำคัญต่อองค์ความรู้ และพัฒนาการเชิงองค์ความรู้ในสาขาใหญ่ๆ ของฝรั่งมากทีเดียว เพราะฝรั่งนั้น ถือตัวว่าชาวกรีกโบราณเป็นต้นแบบของตน ทั้งในเชิงวิธีคิดและวิธีดำเนินชีวิต ตลอดจนวิถีเชิงสังคม หรือที่เรียกโดยรวมว่าอารยธรรมตะวันตก



แม้เดี๋ยวนี้ฝรั่งจะก้าวหน้าไปสักเพียงใด แต่ในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับสูงสุด ก็ยังต้องเรียนความคิดของชาวกรีกโบราณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรขาคณิตของยูคลิก วรรณคดีของโฮเมอร์ ซึมซับเรื่องราวของม้าไม้กรุงทรอยในเอเลียด และการผจญภัยของโอดิสสิส อ่านประวัติศาสตร์แบบเฮโลโดตัส จมไปกับไดอาล็อกของเปลโต้ เพื่อสะท้อนความเห็นเชิงวิวาทะของโสกราตีส ตลอดจนตรึกตรองความคิดและวิจารณญาณของอริสโตเติลอยู่



ในบรรดานักคิดชาวกรีกโบราณ ฝรั่งนับถือโสกราตีส เปลโต้ และอริสโตเติล มากกว่าใครเพื่อน โดยที่สามคนนั้นเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทั้งในเชิงความคิด วิธีคิด ประเด็นที่คิด และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันด้วย

คนเหล่านี้เสนอความคิดในเชิง “Management” ไว้แยะ ซึ่งล้วนเป็นแก่นความคิดที่สำคัญ ตกทอดมาให้ฝรั่งได้ยึดถือกันมาเป็นสรณะจนกระทั่งบัดนี้ ทั้งในแง่ของรูปแบบการปกครอง โครงสร้างการปกครอง เครื่องมือของการปกครอง (เช่นกฎหมายและ State Apparatus ต่างๆ) การจัดองค์กรการบริหาร การสร้างผู้นำและภาวะผู้นำ การออกแบบและวิธีจัดการศึกษาสำหรับผู้นำและผู้ตาม ตลอดจนถึงกลยุทธ์การบริหารคน การจัดการเมืองหรือนคร การทหาร การฑูต และการระหว่างประเทศ ฯลฯ




ความคิดของท่านเหล่านั้นล้วนมีประโยชน์กับผู้นำองค์กรหรือผู้ที่อยากจะเป็นผู้นำทุกประเภท



ผมใคร่แนะนำให้ท่านผู้อ่าน MBA อ่านความคิดของชาวกรีกเหล่านั้นดูบ้าง จะได้เปิดกว้าง ไม่ติดยึดอยู่กับบรรดากูรูรุ่นใหม่อย่าง ดรักเกอร์ พอร์เตอร์ พาหะรัต ฮาเมล ทอม ปีเตอร์ มอสแคนเตอร์ ค็อตเลอร์ เลวิต ฯลฯ หรือใครต่อใครที่พูดเป็นแต่เรื่องฮาวทู โดยละเลยที่จะกล่าวอ้างถึงรากเหง้าของฝรั่งอย่างลึกซึ้ง



แต่แม้ความคิดของอริสโตเติลจะลึกซึ้ง ทว่ารูปร่างของเขาอาจไม่หล่อเหลา



เก้าปีก่อน ผมเคยพาลูกๆ ไปดูรูปปั้นครึ่งตัวที่เรียกว่า Bust ของอริสโตเติลที่กรุงเวียนนา เพราะว่ากันว่ารูปปั้นอันนั้น ชาวโรมันก็อปมาจากของกรีกที่ปั้นเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ จึงเชื่อว่าเหมือนตัวจริง


ผมสังเกตดูก็เห็นว่าหัวล้าน และปากเล็ก หนวดเคราเฟื้อม แต่เมื่อมาค้นคว้าเพิ่มเติมภายหลังก็ทราบว่าอริสโตเติลขาลีบ และพูดไม่ค่อยชัด (เกือบยี่สิบปีก่อน ผมเคยถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นเต็มตัวของเขาที่นั่งถือม้วนหนังสือแล้วมองออกไปในท้องทะเล กลางจัตุรัสเมือง Thessaloniki ก็เห็นว่าขาไม่ลีบ)


อริสโตเติลเป็นลูกหมอหลวงแห่งราชสำนักมาเซโดเนีย เกิดเมื่อประมาณปี 385-384 ปีก่อนคริสตกาล ตระกูลเขาเป็นหมอมาหลายชั่วคน พออายุได้สิบแปดปี เขาเดินทางเข้าเมืองหลวง Athens เพื่อไปศึกษาวิชาการขั้นสูงที่ Academia ของเปลโต้ เมื่อจบแล้วก็อยู่สอนและวิจัยที่นั่นต่อมาอีก 20 ปี


เมื่อเปลโต้ตาย และเขามิได้รับเลือกให้ขึ้นบริหารสถาบันแห่งนั้น เขาจึงลาออกและเดินทางไปเอเชียน้อย อยู่ที่นั่นประมาณ 3 ปี ช่วงนั้นเขาแต่งงานและทำงานวิจัยทางด้านชีววิทยาไปด้วย แต่เมื่อเพื่อนเขาซึ่งเป็นเจ้าเมืองถูกลอบสังหาร เขาก็กลับบ้านเกิด



ช่วงนี้เองที่เขาได้งานเป็นติวเตอร์ให้กับเจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งมาเซโดเนีย ซึ่งตอนนั้นยังอายุเพียงสิบสามขวบ แต่ต่อมากลายเป็น Alexander the Great ผู้ยิ่งใหญ่ อริสโตเติลติวให้เจ้าชายอยู่สามปี จนเจ้าชายขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดาที่ถูกสังหาร อริสโตเติลก็ตกงาน และเดินทางเข้าเอเธนอีกครั้ง



คราวนี้เขากะว่าจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ที่ Academia เพราะตำแหน่งอธิการบดีว่างลง แต่คนก็ไม่เลือกเขา เขาจึงหันไปเปิดสถาบันชั้นสูงแข่งกันชื่อว่า Lyceum (หรือ Gymnasium) โดยชักชวนเพื่อนเก่าที่ Academia ให้สมองไหลไปอยู่กับเขาจำนวนหนึ่ง


เขาบริหารและบรรยายที่นั่นอยู่ 12 ปี จึงลี้ภัยไป Chalcis กับลูกศิษย์ลูกหาหลายคน แล้วก็ไปตายที่นั่น สิริอายุได้ประมาณ 62-63 ปี ต่อมา ลูกศิษย์ลูกหา ก็ได้รวบรวมคำบรรยาย ตลอดจนเอกสารการบรรยายทั้งหลาย ปะติดปะต่อออกมาเป็นผลงานของเขาที่สืบทอดมาให้เราได้อ่านกันจนถึงปัจจุบัน (ข้อนี้ต่างกับเปลโต้ที่งานเขียนของเขาไม่สูญหายไปก่อน และตกทอดมาถึงพวกเราโดยตรง)


อริสโตเติล + ดนตรี



หนังสือเล่มสำคัญที่สุดของอริสโตเติลชื่อ Politics จะว่ามันเป็นหนังสือ Management ก็ได้ เพราะว่าด้วยเรื่องการจัดรูปแบบสังคมมนุษย์และการปกครองที่เหมาะสม

อริสโตเติลว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (Zoon Politikon) และต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมถึงจะพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ได้ (Telos) รูปแบบสังคมที่พัฒนามาในขั้นสูงสุดคือ Polis หรือ “นคร” ซึ่งพัฒนามาจากครอบครัว เผ่า หมู่บ้าน จนเป็นเมือง อริสโตเติลกล่าวอีกว่าพวก Apolis หรือพวกที่มิได้อยู่ร่วมกับคนอื่นย่อมมิใช่มนุษย์ คือถ้าไม่ใช่สัตว์ป่าก็เป็นเทวดาหรือพระเจ้า



อริสโตเติลพูดถึงวิธีการจัดการเมืองในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ปกครองโดยคนๆ เดียว โดยหมู่คณะ และโดยคนหมู่มาก ตลอดจนอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของธรรมนูญการปกครองแบบต่างๆ อย่างละเอียด ที่สำคัญเขายังพูดถึงพลเมือง (Citizen) ที่พึงปรารถนา และหน้าที่พลเมือง ตลอดจนการจัดการศึกษาสำหรับพลเมืองด้วย



ตรงนี้แหละที่อริสโตเติลพูดถึงความสำคัญของการเรียนดนตรี



หนังสือ Politics ฺBook VIII : The Trainin of the Youth บทที่ 5-7 ภายใต้หัวข้อ C จั่วหัวว่า “The Aims and Methods of Education in Music”


อริสโตเติลแสดงเหตุผลไว้อย่างละเอียดโดยผมจะสรุปมาให้อ่านแบบง่ายๆ เป็นภาษาสมัยนี้ ว่า การเรียนดนตรีนั้นมีประโยชน์อยู่สามประการคือ มันทำให้มนุษย์ผ่อนคลายและแฮปปี้ (amusement and relaxation) และมันยังช่วยขัดเกลาและพัฒนาศีลธรรมประจำใจ (means of moral training) อีกทั้งยังสามารถยกระดับจิตใจมนุษย์ให้ละเมียดและสูงขึ้นได้ด้วย (cultivation of the mind)

เขาว่าดนตรีทำให้มนุษย์แฮปปี้และผ่อนคลายจากการทำงานหนักและใช้ความคิด คล้ายๆ กับการนอนและการดื่ม ช่วยปลดเปลื้องจากความปวดล้าเขม็งเกลียวทั้งมวล จึงทำให้เกิดความสำราญ (pleasure) และด้วยเหตุที่ความสำราญแห่งชีวิตนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดี (cultivate way of life) นอกไปจากความกล้าหาญและศักดา (Nobility) ดังนั้นเขาจึงสรุปว่าการเรียนดนตรีนั้นมีประโยชน์ เพราะจะช่วยให้บรรลุถึงความดีด้วยประการทั้งปวง


เขาอ้างคำของกวีกรีก Musaeus ว่า “Song is to mortals the sweetest;”



นั่นแหละสไตล์ของอริสโตเติลที่ต้องแสดงเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอนโดยละเอียด ประเภทถามเองตอบเองแทบทั้งเล่ม

ด้วยเหตุนี้เขาจึงสนับสนุนให้เด็กเรียนดนตรี เพราะดนตรีมีพลังส่งให้จิตใจเด็กเกิดความปิติ (gladdening their heart) และดนตรียังช่วยเสริมสร้างนิสัยหรือบุคลิกลักษณะของมนุษย์ที่ดี เมื่อฟังดนตรีแล้วก็สามารถสัมผัส Image ของอารมณ์และวิญญาณแบบต่างๆ เช่น โกรธ สงบนิ่ง กล้าหาญ ใจเย็น ราบเรียบ หรือแม้แต่เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากการเสพศิลปะบางแขนง เช่น การมองภาพวาดหรือรูปปั้น เพราะมันไม่มีจังหวะ (Rythm) และเมโลดี้ ที่มากระทบโสตและก่อเกิดความสะเทือนอารมณ์ (ซึ่งอริสโตเติลเขียนอธิบายโดยละเอียดว่ามาจากโหมดต่างๆ ซึ่งเป็นโหมดดนตรีแบบกรีกโบราณ ว่าโหมดไหนให้อารมณ์หรือ Character แบบใด)

เขากล่าวสรุปว่า “What we have said makes it clear that music possesses the power of producing an effect on the character of the soul. If it can produce this effect, it must clearly be made a subject of study and taught to the young.” (1340b10)

นอกจากนั้น อริสโตเติลยังให้เหตุผลอีกว่า การที่เด็กเรียนดนตรีแต่เล็ก จะช่วยให้บอกได้ทันทีว่าดนตรีแบบไหนดีแบบไหนเลว โตขึ้นจะสามารถตัดสินได้ว่าใครเล่นดีไม่ดีอย่างไร

แนวคิดแบบนี้เองที่ปัจจุบันนี้เรายังให้เด็กเรียน Appreciation of Music กันอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

แต่กระนั้นก็ตาม อริสโตเติลก็มิได้ส่งเสริมให้เด็กเรียนในขั้นลึกซึ้งเกินไปเพราะจะทำให้การศึกษาด้านอื่นเสียหาย กลายเป็นคนด้านเดียว และมุ่งเป็นนักดนตรีอาชีพไป ซึ่งอริสโตเติลไม่ถือว่าเป็นอาชีพที่มนุษย์ผู้พีงปรารถนาจะต้องเดินไปในหนทางสายนั้น

เขายังห้ามไม่ให้สอนเด็กเพื่อไปประกวดประขัน เพราะจะทำให้เด็กต้องไปเล่นเอาใจคนดูคนฟัง ซึ่งในจำนวนนั้นมีชนชั้นต่ำและทาสอยู่ด้วย เลยจะทำให้เด็กต้องไปเล่นโหมด จังหวะ หรือร้อง หรือเครื่องดนตรีบางชนิดที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งในสายตาของอริสโตเติลไม่ถือว่าเพื่อเป้าหมายของการเสริมสร้างศีลธรรมจรรยา และ “ชีวิตที่ดี”

แม้เครื่องดนตรีบางชนิดเช่น ขลุ่ย (Flute) เขาก็สั่งห้ามว่าไม่ควรให้เด็กเล่น

เห็นหรือยังครับว่าการส่งลูกไปเรียนดนตรีนั้นเกี่ยวพันกับอริสโตเติลยังไง

อันที่จริง เปลโต้อาจารย์ของอริสโตเติลก็เคยเขียนเรื่องให้เด็กเรียนดนตรีมาแล้วตั้งแต่แต่งหนังสือ Republic แต่นั่นเปลโต้ให้ถือมั่นจริงจังว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างผู้นำหรือ “กษัตริย์ปราชญ์” โดยเลียนแบบมาจากวิธีฝึกเด็กของรัฐสปาต้า ที่ก็นิยมให้เด็กเรียนดนตรีเช่นกัน* แต่อริสโตเติลเป็นคนแรกที่มาแสดงเหตุผลสามข้อ (ที่ผมแปลมาข้างต้น) โดยละเอียด ว่าทำไมราษฎรของนครรัฐถึงต้องเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก และมันจะมีประโยชน์อะไรต่อตัวเขาและสังคมที่เขาสังกัดอยู่

เราจะเห็นว่าดนตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมตะวันตกตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้กระทั่งองค์กรศาสนาก็ยังใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการหนุนใจให้คนเข้าถึงความดี ความงาม ความจริง ซึ่งเป็นนามธรรม อย่าว่าแต่ โรงโอเปร่า โรงคอนเสิร์ตประจำเมือง หรือแม้กระทั่ง ผับ บาร์ ตลอดไปจนอุตสาหกรรมเพลง ซีดี ดีวีดี เอ็มพีสามและสี่ หรือ ไอพ็อตไอแพท และนักร้องนักดนตรี ตั้งแต่สมัยก่อนยุคบาร็อก มาจนถึง เย้ เย เย และฮิพฮอพ ว็อซเซพเพนนิ่ง ล้วนเป็นหนี้บุญคุณอริสโตเติลกันบ้างไม่มากก็น้อย


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

20 ตุลาคม 2553
เมย์แฟร์, ลอนดอน

*หมายเหตุเพิ่มเติม: ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของ Paul Johnson เรื่อง SOCRATES: A Man for Our Times เขาเล่าว่าโสกราตีสเป็นคนแนะให้เปลโตมาสนใจดนตรี โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยแง่มุมเชิงจริยศาสตร์ของดนตรี โดยที่โสกราตีสอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดในแนวนี้มาจาก Damon และ Prodicus อีกทอดหนึ่ง ซึ่ง Paul Johnson ได้กล่าวต่อไปอีกว่า "Socrates, I suspect, had a poor musical ear. Although he knew that a man seeking wisdom and virtue ought to attend to music, he found it hard to do so.  He exculpated himself by arguing that philosophy was the finest kind of music. In old age he aspired to learn the lyre, the instrument most accessible to amateurs, as the guitar is for us today. He never doubted the importance of music and listened to Damon earnestly." (หน้า 54, SOCRATES: A Man for Our Times, Viking Press 2011)

และในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตเขา ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกก่อนถูกให้ดื่มยาพิษ เขาได้บอก Crito ว่าเขาฝันออกบ่อยว่าได้เล่นดนตรี ซึ่งเขาเทียบว่านั่นเป็นการ "Practice Philosophy" เลยทีเดียว โดย Paul Johnson กล่าวว่า "He said he had a regular dream in which he appeared to be commanded to "pratice music".  He had always interpreted this to mean "do philosophy," for the search for wisdom is the finest music." (หน้า 169-170)

ผู้อ่านที่สนใจ ลองหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านเพิ่มเติมดูก็ได้ครับ อ่านสนุกดีมาก
(**ผมเขียน "หมายเหตุเพิ่มเติม" นี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554)

***โปรดคลิกอ่านบทความเกี่ยวเนื่องที่ผมเรียบเรียงขึ้นได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

1. วาระสุดท้ายของโสกราตีส


และ
2. ศรีปราชญ์ ยักษ์ใหญ่ที่ไร้ตัวตน


และ 
3. วาระสุดท้ายของนโปเลียน


และ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น