วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความเว่อร์ของผู้นำ


ผมเริ่มร่างเค้าโครงบทบรรณาธิการฉบับนี้ไว้ในใจคร่าวๆ ขณะกำลังเดินทางเที่ยวเล่นอยู่ในภาคเหนือของประเทศอียิปต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


พูดให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ก็ต้อง “Zoom-in” เข้าไปใกล้ๆ อีกนิด คือขณะที่อยู่ในเมือง Alexandria ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนด้านทวีปอาฟริกา

และเมื่อ “ซูมอิน” จากตรงนั้นเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ก็จะเห็นผมยืนอยู่บนฝั่ง กำลังมองออกไปยังท้องทะเลสีครามเข้ม ท่ามกลางแสงแดดเปรี้ยง ณ Montazah ซึ่งเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์ฟารุคแห่งอียิปต์ก่อนที่จะโดนประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ออกนอกประเทศและสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2495


เดี๋ยวนี้จึงกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดจนหนุ่มสาวชาวอียิปต์ที่นิยมมาปิกนิก นำเสื่อมาปู เอาแซนวิชมานั่งกิน คุยและหยอกเอิน กระจุ๋มกระจิ๋ม พอหอมปากหอมคอ สุดแท้แต่กรอบเกณฑ์ของสัมคมมุสลิมจะมีขันติธรรมให้ได้โดยไม่เวอร์จนเกินไปนัก

ชาวอียิปต์ที่พาผมมาที่นี่ เป็นคนมีความรู้แยะเพราะผ่านโลกมามาก (ก่อนหน้านี้เขาได้พาผมไปยังห้องสมุดอเล็กซานเดรียเพื่อดูต้นฉบับของเอกสารสมัย Ptolemy) เขาเกิดทันยุคที่กษัตริย์ยังปกครอง และบอกว่าทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งเคยอยู่ในปราสาทราชวังได้ถูกหยิบฉวยไปจนเกลี้ยงในช่วงที่ถูกบุกระหว่างการลุกฮือ เขายังบอกความรู้สึกลึกๆ ให้ฟังว่าสมัย Kingdom นั้นดีกว่ายุค Republic โดยเฉพาะในเชิงคอรัปชั่น


ที่สำคัญ เขาได้ชี้ให้ผมดูแหลมเล็กๆ ที่งอกออกไปในทะเล และว่าตอนนี้มีนักวิชาการเชื่อกันมากแล้วว่า Lord Nelson เคยบัญชาการรบอยู่ ณ ที่นั่น ผมจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ


ผมเคยได้ยินวีรกรรมของ Horatio Nelson มามาก และก็เคยอ่านชีวประวัติของเขานานมาแล้ว แต่ไม่คิดว่าเขาจะเคยมายืนบัญชาการอยู่ ณ ที่นั้น นึกว่าลอยเรืออยู่กลางทะเลแถวอ่าว Abu Qir (ใกล้ๆ ตรงนั้น) หรือไม่ก็อยู่บนเกาะเล็กๆ Nelson Island ที่ตอนนี้ค้นพบหลุมศพทหารนิรนามจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทหารอังกฤษที่เสียชีวิตระหว่างการรบครั้งนั้น ที่เรียกว่า “ศึกลำน้ำไนล์” (“Battle of the Nile” แต่คนอียิปต์ออกเสียงเรียกแม่น้ำไนล์ว่า “นิล”)


การพ่ายแพ้ของกองทัพเรือฝรั่งเศสครั้งกระโน้น เป็นผลให้นโปเลียนถูกตัดขาดจากกองหนุน และทำให้เขาพ่ายแพ้ในอียิปต์ จนต้องแอบหนีกลับฝรั่งเศสก่อน Egyptian Campaign ของเขาที่คิดจะตัดทอนกำลังของจักรวรรดิอังกฤษด้วยการเข้าครอบครองเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นทางผ่านของความมั่งคั่งทั้งมวล ซึ่งไหลเวียนไปมาระหว่างอังกฤษและอินเดียและอาณานิคมในเอเชียตะวันออก ก่อนจะเข้าตีเกาะอังกฤษตามความฝันของเขาต้องล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง


ผมจินตนาการเห็นเนลสันบัญชาการโดยให้โบกธงสีต่างๆ เป็นระหัสสั่งการโดยตรงถึงผู้บัญชาการเรือรบอังกฤษแต่ละลำ ให้ปล่อยมุกเชิงกลยุทธ์และ Tactics ของแต่ละคนอย่างสอดรับกัน เพราะการรบดำเนินอยู่นอกชายฝั่งและสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือดาวเทียมสื่อสาร แม้แต่วิทยุสนามก็ยังไม่มี คือแบบว่า ยุครัชกาลที่ 1 โน่นแล้ว


คนอังกฤษเขานับถือเนลสันมาก เพราะควบคุมน่านน้ำให้กับ British Empire ตั้งแต่เมดิเตอร์เรเนียนตลอดไปจนชายฝั่งแอตแลนติกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเส้นทางสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งให้กับจักรวรรดิ เขาสร้างชื่อด้วยการเอาชนะกองทัพเรือฝรั่งเศสศัตรูหมายเลขหนึ่งของอังกฤษหลายครั้งหลายหนด้วยกลยุทธ์การรบที่ชาญฉลาด แยบคาย และบางครั้งก็เหลือเชื่อ เขาจึงเป็นฮีโร่ของคนอังกฤษตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ตอนตาย ก็ได้ทำพิธีศพอย่างอลังการและสร้างอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่กลางกรุงลอนดอนและขนานนามให้ว่า Trafalgar Square เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ความกล้าหาญ เสียสละ และการรบครั้งสุดท้ายที่ปลิดชีพเขา


ตามประวัติแล้วเนลสันเป็น Military Genius ที่กล้าหาญมาก เขาผ่านการรบมาเป็นร้อยครั้ง ตั้งแต่เด็กจนโต อยู่ท่ามกลางห่ากระสุนและคมหอกดาบอย่างใกล้ชิด แต่ก็แปลกที่ไม่เคยได้รับบาดเจ็บเลย ยกเว้นตอนหลังที่เขาต้องสูญเสียการมองเห็นไปข้างหนึ่ง อันเนื่องมาแต่ลูกหลงขณะพัวพันการรบในศึกที่เรียกว่า “The Siege of Calvi” และบาดเจ็บที่แขนขวาจนต้องตัดทิ้งระหว่าง “ศึกซางตาครูซ” (“The Battle of Santa Cruz”)


ทว่า คนเรานั้น แม้ว่าจะฉลาดแค่ไหน ยิ่งใหญ่ เก่งกาจ รอบคอบ หรือ Perfect เพียงใด ก็ย่อมต้องมี “จุดอ่อน”


นิสัยอันเป็นจุดอ่อนฉกรรจ์ของเนลสัน คือความเป็นคน “ขี้โอ่”


เนลสันภูมิใจอย่างยิ่งกับความเป็นฮีโร่ของเขา และต้องแสดงออกด้วยการแต่งตัวเต็มยศ ประเภทเหรียญตราเต็มหน้าอก เครื่องราชฯ สายสะพาย หรือแม้แต่ประดับมาลา ต้องแบบเต็มยศเสมอ เมื่อเขาปรากฏกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่สาธารณะ


หากใช้ภาษาสมัยนี้ ก็ต้องว่า “ชอบโชว์”


ท่านผู้อ่านลองสังเกตรูปวาดของเขาที่หลงเหลือตกทอดมาจนบัดนี้ก็ได้ว่าผมพูดจริงหรือไม่ (ลองคลิกดูรูปวาดที่ประดับอยู่ใน National Maritime Museum ณ หมู่บ้านกรีนวิช ชานกรุงลอนดอน ก็จะเห็นความแวววาวของเครื่องราชฯ แห่งจักรวรรดิและราชวงศ์อังกฤษ หรือแม้แต่ภู่ปีกนกยูงเงินประดับมาลาซึ่งสุลต่านแห่งตุรกีมอบให้เขาเพื่อเป็นเกียรติต่อชัยชนะในศึกแม่น้ำไนล์....(ท่านผู้อ่านลองคลิกดูได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/File:HoratioNelson1.jpg หรือ http://www.nmm.ac.uk/upload/package/49/index.htm )


และจุดอ่อนอันนี้เองที่นำภัยร้ายแรงถึงแก่ชีวิตมาสู่เนลสัน


วันที่เขาถึงฆาต เขากำลังบัญชาการรบอยู่ท่ามกลางกองเรือผสมฝรั่งเศส-สเปนในน่านน้ำสเปน ที่เรียกกันภายหลังว่า “ศึกแห่งทราฟัลก้า” (Battle of Trafalgar) และเขาก็แต่งตัวเต็มยศในเครื่องแบบนายพลเรือและบรรดาศักดิ์อย่างท่านลอร์ดแห่งจักรวรรดิอังกฤษ มัดผม Pigtail สมฐานะ ราวกับเป็นเวลาปกติ โดยระหว่างนั้นเอง ที่หน่วยสไนเปอร์แม่นปืนของศัตรูสังเกตเห็นความแวววาวของเหรียญตราที่วอบแวบมาแต่ไกลแต่อยู่ในระยะยิง จึงได้ลั่นกระสุนสังหารเนลสันลงโดยง่ายดาย เป็นอันจบสิ้นตำนานของ Military Genius ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรืออังกฤษเคยมีมา

ผมหยิบสมุดโน๊ตที่ตัวเองเคยบันทึกไว้ตอนไปดูชุดฟอร์มที่เนลสันสวมใส่ในวันสุดท้าย ซึ่งแสดงอยู่ ณ National Maritime Museum ก็พบรายละเอียดเครื่องประดับโลหะดังนี้คือ กระดุมทองตราสมอลงยาประดับยศ Vice-admiral ข้างหน้าซ้าย 9 เม็ดเรียงแถวลงมาตามแนวเสื้อคลุมยาว และข้างขวาอีก 9 เม็ด ข้างหลังซ้าย 3 เม็ด เรียงหน้ากระดานราวเอว และขวาอีก 3 เม็ด กลาง 2 เม็ด ติดแบบสมดุล และรอบแขนเสื้ออีกข้างละ 6 เม็ด อินทนูบนบ่าทั้งสองข้างเลี่ยมทองทั้งแผ่นบนและภู่ที่ย้อยลงปกไหล่ เหรียญเครื่องราชฯ ใหญ่ๆ บนแผ่นอกซ้ายอีก 4 เหรียญฯ กลัดติดตั้งแต่ช่วงราวอกเหนือหัวใจลงมาถึงข้างเอว โดยพบรอยกระสุนสังหาร 4 นัด เจาะเข้าไหล่ซ้ายวกผ่านกระดูกสันหลัง เจาะเข้าแถวท้องน้อยหรือสะดือผ่านเข้าอวัยวะสำคัญภายใน และเจาะเข้าระหว่างเป้า โดยเม็ดสุดท้ายเจาะเข้าที่ขาท่อนล่างราวหน้าแข้ง.....


Irony of Life ของกรณีเนลสันนี้ เป็นบทเรียนสำคัญที่คนอังกฤษรุ่นหลังจดจำไว้สืบมาจนกระทั่งบัดนี้


อันที่จริง “ความขี้โอ่” หรือ “ชอบอวดอ้าง” “อวดวิเศษวิโส” "อวดใหญ่อวดโต" "อวดศักดา" หรือ “ชอบโชว์” หรือ “ขี้เห่อ” หรือ “ขี้คุย” หรือนิสัยอะไรก็ตามในทำนองนี้ เป็นธรรมดาของมนุษย์ (ในที่นี้ผมขอใช้คำว่า “ความขี้โอ่” แทนนิสัยทำนองนี้ไปพลางๆ ก่อน)


และมันก็มีดีกรีการแสดงออกของแต่ละคนต่างกัน เริ่มแต่แบบหยาบไปจนถึงแบบละเมียดหรือแยบคาย สุดแท้แต่ความรู้ รสนิยม ระดับการศึกษา ตลอดจนการถูกเลี้ยงดู ระดับความมั่นใจในตัวเอง ความยับยั้งขั่งใจ ตลอดจนปัจจัยเชิงจิตวิทยาทั้งมวล ของเจ้าของนิสัยนั้นเอง ณ ขณะหนึ่งๆ


บางคนแสดงออกด้วยการซื้อ Bentley รุ่นใหม่คันละหลายสิบล้าน แต่บางคนก็แสดงออกด้วยการสะสม Bentley รุ่นเก่าหายากประเภทในโลกนี้มีหลงเหลืออยู่ไม่กี่คันและคันที่อยู่กับข้านี้คือคันที่พระองค์เจ้าพีระเคยขับชนะมาก่อนในครั้งกระโน้น บางคนซื้อกระเป๋าหลุยส์ทุกรุ่นที่ออกมาใหม่ สะสมไว้เป็นร้อยเป็นพัน และเมื่อซื้อแต่ละครั้งก็ต้องเป็นข่าว แบบว่าตั้งใจซื้อโชว์ แต่บางคนกลับมีแค่ใบเดียว ทว่าเป็นใบที่ช่างฝีมือของหลุยส์ตัดเย็บให้เป็นพิเศษโดยใช้วัสดุพิเศษสุดๆ ด้วย โดยเธอผู้นั้นกลับไม่เลือกเป็นข่าว แต่ให้พวกไฮโซรับรู้กันเองเป็นการภายในเพียงไม่กี่คนและลือกันปากต่อปากจนกลายเป็นตำนาน บางคนแสดงออกด้วยการสร้างบ้านหลังละหลายร้อยล้านบาท เรียงไปด้วยเสาโรมันอลังการและวางตี่จู๋เอี้ยไว้เสาหว่างเสา (ผมขอยืมคำของอาจารย์แดง ไบเล่) แต่บางคนกลับใช้เวลาเป็นสิบปีเสาะหาเรือนไทยโบราณหลายๆ หลังแล้วมายุบรวมกันเป็นบ้านตัวเอง หรือบางคนก็แสดงออกด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์โก้หร่านและแสดงตัวเป็นถุงเงินถุงทองให้กับนักการเมือง และอ้างตัวเป็นผู้จัดการเงาของพรรคการเมืองโน้นนี้ ทว่าบางคนกลับสามารถเข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้แบบเดินเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ หรือวังโน้นวังนี้ได้เกือบตลอดเวลา และก็เป็นข่าวแบบซุบซิบๆ ในหมู่ชนชั้นผู้นำและบรรดาไฮโซเสมอ เมื่อทำแบบนั้น ฯลฯ


“ความขี้โอ่” ย่อมมีข้อดีและเป็นคุณถ้าถูกใช้ไปในเชิงสร้างสรรค์ ในโลกนี้มีการให้รางวัลสำคัญๆ มากมายเพื่อตอบแทนความคิดอันลึกล้ำหรืองานอันบรรเจิด หรือแม้กระทั่งความเพียรพยายามอันน่ายกย่อง...รางวัลโนเบล รางวัลออสการ์ รางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลศรีพบูรพา รางวัลเมฆขลา ทุนอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ตำแหน่งรัฐบุรุษและรัฐบุรุษอาวุโส ฯลฯ


นี้ยังไม่นับเหรียญตราต่างๆ ที่ให้กับพวก “ของจริง” ตลอดจนเหรียญเงิน ทอง ทองแดง ที่ให้กับผู้ชนะการแข่งขันกีฬา เช่น ถ้วยจูลิเม่ เหรียญทองโอลิมปิก หรือ วิลเบอร์ดัล เป็นต้น


เหล่านี้นับว่าเป็นการใช้กลไกของความขี้โอ่หรือความอยากอวดอยากโชว์ในใจคนนั่นแหละ เป็นตัวกระตุ้นผลักดันให้คนทำความดี ความสร้างสรรค์ และความเพียร โดยผลลัพธ์ที่ออกมานอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม สมาคม สังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติโดยรวมแล้ว ยังบังเกิดความจรรโลงใจและความยินดีให้กับคนที่ได้รับรางวัลหรือเกียรติยศนั้น จนเพื่อนฝูงพี่น้อง ตลอดจนคนทั่วไปที่พบเห็นและรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นในวงกว้างอีกด้วย (ผมเคยเห็นเพื่อนที่ดูถ่ายทอดสดการแจกรางวัลออสการ์แล้วน้ำตาไหลเมื่อดาราในดวงใจได้รับรางวัล หรืออย่างแม่ยายผมนั้นจะไม่ออกจากบ้านไปไหนเลยเมื่อมีโปรแกรมถ่ายทอด “เอเอฟ” เป็นต้น)

การแข่งกันทำความดี แข่งกัน “ให้” แข่งกันตั้งกองทุน ตั้งมูลนิธิ และโชว์ออฟแบบพวก Philanthropist หรือมหาเศรษฐีระดับโลก ตลอดจนบรรดากิจการขนาดยักษ์ใหญ่ที่หันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมผ่านโครงการ CSR หรือ Sustainability ทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นความขี้โอ่ในเชิงสร้างสรรค์ทั้งสิ้น



และถ้าจะว่ากันในเชิงเศรษฐกิจแล้ว “ความขี้โอ่” ย่อมมี Economic Value ถึงแม้จะไม่ชัดเท่า “ความขยัน” เพราะหากเปรียบเทียบราษฎรของสองประเทศ ประเทศกอไก่ขยันขันแข็ง ประเทศขอไข่เกียจคร้านสันหลังยาว แน่นอนว่าประเทศกอไก่ย่อมมั่งคั่งกว่า แต่ถ้าราษฎรของประเทศกอไก่ มีแต่คนขี้โอ่ ชอบอวดชอบโชว์ ก็อาจจะมีแต่การบริโภคสินค้าและบริการแบบออกนอกหน้า ทว่า ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต สื่อ และอุตสาหกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์

“ความขี้โอ่” ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Conspicuous Consumption นักการตลาดและผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายย่อมเข้าใจเรื่องแบบนี้ดี กลยุทธ์การตลาดและ Branding นั้น เกี่ยวข้องพัวพันกับนิสัยขี้โอ่ของคนอย่างแยกไม่ออก


ผม Observe มานานแล้วว่าผู้ผลิตสินค้า Brand Name ในยุโรปนั้นเข้าใจกิเลสมนุษย์และ “ความขี้โอ่” อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขี้โอ่ของบรรดา “เศรษฐีใหม่” ทั้งหลาย


ผมยกตัวอย่างจีนที่คนเพิ่งจะรวยขึ้นมาได้สักยี่สิบปีมานี้ ตอนแรกๆ ก็ใช้ของญี่ปุ่นหรือไต้หวันกันมาก แต่พอรวยขึ้นมาอีกนิด ก็ต้องนั่งรถเยอรมัน ใส่นาฬิกาสวิส ใช้ปากกาสวิส ใส่รองเท้าอิตาลี เข็มขัดอิตาลี ถือกระเป๋าฝรั่งเศส เสื้อเชิ้ตจากฝรั่งเศส เน็กไทฝรั่งเศส ดื่มไวน์ฝรั่งเศส วิสกี้สก๊อช และตัดสูทจากลอนดอน เป็นต้น


แม้แต่ผ้าพันคอของฝรั่งเศสบางยี่ห้อ ขายกันผืนละสองแสนบาท ก็มีคนซื้อและขายดีด้วย! ผมจึงยกย่องผู้ผลิตยุโรปมากว่าพวกเขาเข้าใจกิเลสเศรษฐีใหม่ได้อย่างลึกซึ้งถึงกึ๋นจริงๆ และอยากให้ผู้ประกอบการ SME ไทยศึกษา Secret Code อันนี้กันให้มาก


ปรากฎการณ์แบบจีนนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับเศรษฐีรุ่นใหม่ของไทยมาก่อน และก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และก่อนหน้าของก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดกับญี่ปุ่น


แน่นอน “ความขี้โอ่” นั้นย่อมมีโทษ โดยเฉพาะการอวดร่ำอวดรวย


ผมเพิ่งอ่านนวนิยายเรื่อง “คนนอก” ของอัลแบร์ กามูส์ จบไปหมาดๆ ผมติดใจกับเรื่องเล่าตลกร้ายของเมอโซ พระเอกหนุ่มตามท้องเรื่อง ที่ก่อนเขาจะถูกประหาร เขาได้เล่าข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชคโกสโลวะเกีย โดยผมจะขอคัดลอกสำนวนแปลของอาจารย์อำภา โอตระกูล มาให้อ่านกันดังนี้ “...ชายผู้หนึ่งจากหมู่บ้านของตนไปเพื่อแสวงหาโชคลาภ 25 ปีให้หลังร่ำรวยขึ้น เขาได้เดินทางกลับมาพร้อมภรรยาและบุตรคนหนึ่ง แต่เนื่องจากมารดาของเขาทำกิจการโรงแรมอยู่กับพี่สาวของเขาที่หมู่บ้านเดิม เพื่อจะทำความแปลกใจให้แก่ทั้งสอง เขาจึงทิ้งภรรยาและบุตรไว้ที่ที่พักอีกแหล่ง ขณะที่ตนเองแยกไปยังบ้านมารดาซึ่งจำบุตรของนางเองไม่ได้ เมื่อเขาเข้ามาเพื่อความสนุก จึงทำเป็นขอเช่าห้องพักห้องหนึ่งพร้อมกับอวดเงินของเขา ตกกลางคืน มารดาและพี่สาวของเขาได้ร่วมมือกันฆ่าเขาตายโดยใช้ค้อนทุบเพื่อขโมยเงิน ก่อนจะนำศพไปทิ้งลงแม่น้ำ ตอนเช้าภรรยาของเขามาถึง เรื่องทั้งหลายแหล่จึงเปิดเผยขึ้น หลังจากนั้นตัวมารดาได้ผูกคอตาย ส่วนคนเป็นพี่สาวไปกระโดดน้ำจบชีวิตลงเช่นกัน.....”


เห็นไหมครับว่าการอวดร่ำอวดรวยส่งผลร้ายอันไม่คาดฝันเช่นไร!


ยิ่งในทางการเมืองด้วยแล้ว ความอวดร่ำอวดรวยยิ่งเป็นภัยมหันต์ ผมคิดว่าการล่มสลายทางการเมืองของทักษิณและครอบครัว ส่วนหนึ่งเกิดจากความอิจฉาริษยา เนื่องเพราะเขาและครอบครัวชอบแสดงความอวดร่ำอวดรวยให้เห็นอยู่ตลอดเวลา หรืออย่างผู้มีอำนาจยุคหลังทักษิณที่ทำท่าว่ากำลังจะตกจากอำนาจอยู่รอมร่อ ก็เป็นกลุ่มที่แม้จะขึ้นครองอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองได้ไม่นาน ก็เข้าซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษอย่างเอิกเกริกเสียแล้ว


ไม่มีราษฎรที่ไหนชมชอบผู้นำที่อวดร่ำอวดรวย อวดอัครฐาน ดำเนินชีวิตแบบ Luxury และ Extravagant Life ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ยังยากจน แม้รัชกาลที่ 6 เอง ก็ทรงพังเพราะเหตุนี้


ผู้นำทางการเมืองของไทยที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นผู้มีภาพออกไปในเชิงพอเพียง เป็นอยู่แบบง่ายๆ Low Profile และไม่ชอบอวดวิเศษณ์ บางคนก็อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีลูกเมีย ไม่มีและไม่สะสมทรัพย์สมบัติส่วนตัว บางคนเป็นนายกรัฐมนตรีมาสองรอบ แต่ก็อยู่บ้านไม้เล็กๆ ในซอยเล็กๆ แถวประตูน้ำ บางคนมีเพียงรถปอร์เช่และรีสอร์ตบนเขายายเที่ยง ไม่ได้มีอพาร์ตเม้นต์หรูที่ Mayfair หรือ Park Avenue แต่อย่างใด หรืออย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ยังอาศัยบ้านพ่อแม่อยู่ แม้จะมีครอบครัวและลูกๆ ก็โตกันหมดแล้วก็ตาม

คนไทยนั้นแม้จะนิยมและภูมิใจในอัครฐานของสถาบันหลักของชาติ เช่นความยิ่งใหญ่อลังการของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ แต่ก็ไม่ชอบให้ผู้นำในฐานะตัวบุคคลเป็นคนขี้โอ่


Bad Habit ของชนชั้นปกครองและรัฐบาลทุกรัฐบาลตลอดจนราชวงศ์ทุกราชวงศ์ที่จะนำมาซึ่งความล่มสลายของตัวเอง ก็คือ “ความเว่อร์” ของผู้นำนั่นแหละ (ผมอยากจะใช้ภาษาอังกฤษว่า “Hubris”)

แต่ก็แน่นอน เราคงไม่คาดหวังให้ผู้นำมาเดินดินกินข้าวแกง ผู้นำต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลังบ้าง ไปไหนก็ต้องมีคนเปิดประตูให้ ขับรถให้ และคงไม่สามารถมาเดินเล่นในสวนสวยๆ หน้าตึกไทยคู่ฟ้าได้ แม้พรรณไม้จะงามเพียงใด หรือคงไม่สามารถมาเดินจับมือเด็ก คนแก่ คนจนในสลัม ในชนบท ตลอดจนคนเร่ร่อนผู้อาภัพทั้งหลายได้ทั้งหมด แม้พวกเขาจะต้องการกำลังใจและการเหลียวแลจากผู้นำของเขา แม้แต่จะอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานก็คงจะทำไม่ได้และไม่ปลอดภัย

ประธานาธิบดีลิงคอนที่ถูกยิงตายในโรงละครก็เพราะนั่งในที่แจ้ง ไฟสว่าง และโดดเด่น เป็นเป้าหมายชัดเจนเกินไป หรืออย่าง JFK ก็ประมาทไปนิด ยอมเปิดหน้าเปิดตาบนรถเปิดประทุนในที่โล่ง ท่ามกลางฝูงชนและหมู่ตึกในรัศมียิง

ผมอยากจะจบบทบรรณาธิการนี้ด้วยข้อความที่ผมคัดลอกมาด้วยมือ (เพราะเขาห้ามถ่ายรูป) จากคำบรรยายใต้ภาพเนลสัน ที่ใช้สีน้ำมันวาดลงบนผืนผ้าใบ (Oil on canvas) โดย Sir William Beechey ซึ่งแขวนอยู่บนผนังของห้องหมายเลข 17 ณ National Portrait Gallery หลังจตุรัสทราฟัลก้ากลางกรุงลอนดอนว่า

“Nelson’s last engagement was his greatest victory, Beechey’s sketch capture the proud resolve of the admiral who, refusing to cover his glittering medals, was killed by a sniper while destroying the combined French and Spain fleets at the Battle of Trafalgar in 1805.” (ผมขีดเส้นใต้ของผมเอง..และผู้อ่านที่สนใจอาจหาดูภาพนั้นได้ทางอินเทอร์เน็ต)


พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ตุลาคม 2553
เมย์แฟร์, ลอนดอน


ไหนๆ ก็เขียนถึงเรื่อง "ขี้โอ่" ผมก็ขอโชว์รูปตัวเองกับลูกสาวซะเลย
ส่วนรูปแรกนั้นกำลังเดินอยู่ในสวน Scholar Garden ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และรูปที่สองอยู่บนยอดไม้ (Treetop Walkway) ณ Kew Garden...นานๆ ก็ควรจะเห็นหน้าค่าตากันมั่ง ระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น