วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขุมทรัพย์สุดปลายฟ้า ของผู้ประกอบการไทย



To discover the planet, mankind would have to be liberated from ancient hopes and fears, and open the gateways of experience. The largest dimensions of space, the continents and the oceans, were only slowly revealed. The West proved a vantage point, and for most of history the West would be the discoverer, the East the discovered. The first reaches from the West to another half of the planet came from laborious and lonely overland travelers. But the full extent of the planet could be glimpsed only by organized communities of adventures on the sea, which became a highway to grand surprises.


Daniel J. Boorstin
The Discoverers (1983, page 79)



ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองนานมาแล้วว่า ทำไมคนจีนถึงไม่ใช่พวกแรกที่เดินเรือไปพบอเมริกา ทั้งๆ ที่พวกเขาเดินเรือไปค้าขายที่โน่นที่นี่มาช้านาน แถมยังค้าขายกับฝรั่งผ่านตะวันออกกลางมาก่อนหน้านั้นเสียอีก อีกทั้งพวกมองโกลก็เคยบุกยึดไปไกลจนถึงยุโรปตะวันออกมาแล้ว


ทำนองเดียวกัน ทำไมพวกอาหรับและอินเดียถึงไม่มีใครคิดจะเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปยุโรปและต่อไปจนรอบโลก ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รู้อยู่ว่ายุโรปเป็นยังไงเพราะตัวเองควบคุมคาราวานสินค้าในฐานะพ่อค้าคนกลางระหว่างเอเซียกับยุโรปอยู่แท้ๆ ทำไมรอให้ฝรั่งโปรตุเกสและสเปนมาสำเร็จภาระกิจนี้


องค์ความรู้ก็มี เทคโนโลยีก็มี แต่เพราะอะไรหรือ พวกเขาถึงไม่ “สร้าง” ภาระกิจอันนี้


แม้ผมจะยังหาคำตอบที่พอใจไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคำถามย่อมสำคัญกว่าคำตอบ !

ผมมีเพื่อนหลายคน ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมรู้จัก จำนวนมากเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกิจการแสนล้าน ท่านเหล่านั้น เมื่อสนทนากันเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และความเป็นไปของโลก ตลอดจนความยิ่งใหญ่ของฝรั่ง และการขึ้นมาของจีน ท่านก็มักจะพูดว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่า...(สิ่งประดิษฐ์) อันนั้น อันนี้ คนจีนคิดได้ก่อนฝรั่งตั้งนานแล้วน๊ะ” ฯลฯ หรืออะไรทำนองนี้แหละ ทำให้การสนทนาเปลี่ยนทิศทางไป

จะว่าคนจีน อินเดีย หรืออาหรับ ไม่มีคุณสมบัติของ Entrepreneur หรือที่เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า Entrepreneurial Spirit ก็ไม่เชิง พวกเขาเหล่านั้นพิสูจน์ให้เราเห็นตลอดมาว่า เปี่ยมไปด้วยจิตใจผจญภัย กล้าได้กล้าเสีย อยากครอบครองทรัพย์ แสวงหาทรัพย์สมบัติและโอกาสอยู่เป็นนิตย์ อยากชนะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ขยันหมั่นเพียร อดทน อดออม ใจกว้าง มีลักษณะผู้นำ ฯลฯ

พวกเขาเหล่านั้นเคยครอบครองอาณาเขตทั่วท้องน้ำเอเชียตะวันออกแต่โบราณ ก่อนสมัยที่ฝรั่งจะมาเพ่นพ่านเสียซ้ำ พวกเหล่านี้แหละที่ช่วยเผยแพร่อารยธรรมต่างๆ รวมถึงศาสนาพุทธ อิสลาม และขงจื้อด้วย

เจ้าพระยาพระคลัง ตลอดจนกรมท่าซ้าย กรมท่าขวา ซึ่งเป็นผู้ควบคุม International Trade ทั้งมวลของไทย ทั้ง Import และ Export นับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนแต่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอาหรับ อินเดีย และจีน แทบทั้งสิ้น (กระทั่งปัจจุบัน ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมศุลกากร และปลัดกระทรวงการคลัง ก็สืบเชื้อสายมาจากชาวจีน)

หากกวาดสายตาไปทั่วดินแดนอุษาคเนย์ในปัจจุบัน เราก็จะพบว่านักธุรกิจเชื้อสายจีนนั่นแหละ ที่ยึดกุมธุรกิจส่วนใหญ่เอาไว้ ไม่เชื่อก็ดูไปตั้งแต่ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เขมร ลาว ญวน นี่ยังไม่นับฮ่องกงกับไต้หวัน ที่เป็น Derivative ของจีนโดยตรง และไม่ได้สังกัดอยู่ใน South-East Asia


ในฐานะบรรณาธิการ ผมได้มีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์คนในแนวลึกเป็นจำนวนมาก เมื่อสบโอกาส ผมมักจะตั้งคำถามกับนักธุรกิจใหญ่ นักคิดคนสำคัญ นักวิชาการตามมหาวิทยาลัย หรือนักการเมืองหัวใหม่ ว่าทำไมผู้ประกอบการไทยถึงไม่สามารถ “สร้าง” สินค้าหรือบริการไปสู้ฝรั่งได้ ทำไมผู้ประกอบการไทยจึงชอบหากินในลักษณะ “นายหน้า” หรือ “ตัวแทน” ยอมรับรายได้เป็นค่าหัวคิว หรือส่วนต่างเล็กน้อยจากการซื้อมาขายไป แทนที่จะ “เป็นเจ้าของ” อะไรสักอย่างที่เก็บกินได้ถึงลูกถึงหลาน เหมือนกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น ที่มี “โตโยต้า” มี “โซนี่” มี “แคนนอน” มี “ฮอนด้า” และ ฯลฯ ไปฟาดฟันกับฝรั่งในตลาดโลกได้



ผมอยากจะยกตัวอย่างคำตอบของคนสำคัญบางคน เช่นคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ก็บอกชัดเลยว่าเทคโนโลยี (ผมแปลว่า “ความรู้”) มีอยู่ทั่วไป เหมือนอากาศที่ลอยอยู่รอบตัวเรา ผู้ประกอบการที่เก่งต้องรู้จักยื่นมือไปเลือกคว้าเอาอันที่ดีและเหมาะสมมาบวกกับเงิน และทำ (หรือจัดการ) ให้เป็น ก็จะสำเร็จ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องสร้างเองตั้งแต่ต้น



ดังนั้น ถ้าท่านลองสังเกตุธุรกิจหลักของเครือซีพีทั้งเครือดู ก็จะเห็นว่าเขาต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งสิ้น แม้กระทั่ง 7-11 ก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมตอบแทนในส่วนนี้เป็นจำนวนกว่าครึ่งของกำไร เพราะลองคิดดูว่า ยอดขายของซีพีออลล์ประมาณแสนล้าน และมี Net Profit Margin ประมาณ 2-3% โดยเฉลี่ย แต่ก็ต้องมาจ่ายให้กับญี่ปุ่นเป็นเงินตั้งพันกว่าล้านต่อปี (เจ้าของตัวจริงเขาคิดค่าวิชาเป็นจำนวน 1% ของยอดขาย) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิ เพียงเพราะว่าต้องพึ่งพา Software จากเจ้าของตัวจริง ที่คอยมา Upgrade เวอร์ชั่นใหม่ให้เป็นระยะๆ เหมือนกับที่ Microsoft ทำกับพวกเราชาวออฟฟิสนั่นแหละ



เห็นไหมครับว่าธุรกิจของซีพีจึงต้องใหญ่ ต้องมีฐานกว้าง ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องผูกขาด และต้อง Invest ใน Politic นั่นแหละครับเนื้อแท้ของ "ซีอีโอตะวันออก"


หรืออย่างคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำสูงสุดของกลุ่มสหพัฒน์ฯ ผู้ซึ่งเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นในช่วง Formative Years และรู้เรื่องญี่ปุ่นลึกซึ้งมาก นอกจากเรื่องค้าขายซึ่งก็ลึกซึ้งอยู่แล้ว เพราะร่ำเรียนมากับเจ้าสัวเทียมผู้พ่อโดยตรง ก็เคยให้ความเห็นว่าญี่ปุ่นเขามีคนมากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เขาจึงพัฒนาสินค้าและบริการของเขาเองได้ ต่างกับไทยซึ่งมีคนจำนวนน้อย



ผมจึงไม่แปลกที่ Key Success Factor สำคัญของสหพัฒน์ฯ ก็คือเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนั่นเอง และมันก็ยังคงเป็นอยู่ในขณะนี้



หรืออย่างนักธุรกิจชั้นแนวหน้าอีกหลายคนที่ผมจะไม่ขอเอ่ยนาม บางคนก็ขายรถเมอซิดีส บางคนก็ขายเหล้าขายเบียร์ บางคนก็ขายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ บางคนก็ขายแอร์คอนดิชั่น บางคนขายน้ำชาเขียว บางคนขายบะหมี่สำเร็จรูป บางคนขายยา บางคนขายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง บางคนขายโทรศัพท์มือถือและเป็นเจ้าของสัมปทานเครือข่าย ฯลฯ พวกท่านเหล่านั้น ล้วนเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านหมึ่นล้าน แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นเจ้าของสินค้าที่ตัวเองขายอยู่ พวกท่านล้วนเป็นแต่เพียงนายหน้าของฝรั่งหรือญี่ปุ่น ทว่า ก็ร่ำรวยมหาศาล



เมื่อผมยิงคำถามว่า ไม่คิดจะสร้างอะไรเป็นของตัวเองบ้างเหรอ ท่านเหล่านั้นต่างให้คำตอบที่คล้ายคลึงกันซึ่งทำให้ผมแปลกใจ เพราะเป็นการถามต่างกรรมต่างวาระ ท่านว่าคนไทยเราถ้าจะสร้างจริงก็สร้างได้ แต่มันไม่คุ้ม เพราะมันจะแพง



ผมได้แต่คิดในใจว่า ถ้าคุณธงชัย แม็คอินไตย์ ผู้เป็นแต่เพียงนักร้องในสังกัดแกรมมี่ สามารถทำเงินจนร่ำรวยหลักหลายร้อยล้าน แล้วคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องขึ้นหลักหลายหมึ่นล้าน และถ้า ไทยน้ำทิพย์ ของตระกูลสารสินร่ำรวยหลักหลายหมึ่นล้านแล้ว โคคาโคล่า จะได้กี่แสนล้าน และถ้าคุณทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยจากกิจการโทรศัพท์มือถือขนาดนี้ แล้วพวก Nokia หรือเจ้าของเทคโนโลยีตัวจริงจะได้ Top Up ไปเท่าไหร่ (แถมยังไม่ถูกยึดทรัพย์อีก)...และ ฯลฯ


ทำไมเราพอใจแค่เพียงเศษเนื้อ?


คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ผู้ให้กำเนิดนโยบาย SME ซึ่งเป็นที่มาของความตื่นตัวของรัฐบาลและภาคธุรกิจไทยต่อความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการ จนก่อให้เกิดหน่วยงานสนับสนุนมากมาย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณและต่อมาถึงบัดนี้ เช่น ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. ฯลฯ ก็เคยบอกผมว่า ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ส่วนใหญ่ไม่คิดสู้ฝรั่ง จึงไปได้ไม่ถึงไหนในตลาดโลก



คุณพันศักดิ์บอกว่า เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้สร้างตัวเองด้วยการเป็นนายหน้าตัวแทนจนร่ำรวยในประเทศของตนแล้ว ก็ไม่คิดสร้างอะไรเป็นของตัวเองไปขายในตลาดโลก เพราะกลัวฝรั่ง นับถือฝรั่งว่าเก่งกว่า จะมีส่วนน้อยมากเท่านั้นที่คิดจะออกไปสู้ฝรั่งหรือญี่ปุ่น อย่างช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สมัยที่เงินท่วมประเทศ ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็หันไปเก็งกำไร อย่างเช่นซื้อขายหลักทรัพย์ หรือไม่ก็ทำอสังหาริมทรัพย์ตามๆ กันไป จนน่าผิดหวัง


คุณพันศักดิ์ว่าจะหาใครสมัยนี้เหมือนเจ้าสัวชิน โสภณพนิช สมัยก่อร่างสร้างแบงก์กรุงเทพฯ นั้นยาก ท่านว่าเจ้าสัวชินเป็น Banker ที่ตาแหลม ดูคนเก่ง (บางทีก็จ้างนักสืบให้สืบประวัติและพฤติกรรมของลูกค้า หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง) รู้ว่าใครจะเป็นผู้ประกอบการที่ไปได้ไกล และหัวก้าวหน้า กล้าใช้คนเก่ง คนมีความรู้ และคนหัวสมัยใหม่ ฯลฯ ว่าไปแล้ว คุณชินก็เหมือนกับ George Siemens (ผู้ก่อตั้ง Deutsche Bank) หรือ J.P. Morgan ที่มีลักษณะเป็น Entrepreneurial Banker ช่วยสร้างผู้ประกอบการให้กับประเทศของตนอย่างอเนกอนันต์ น่าเสียดายที่รุ่นหลานไม่มี Drive เช่นนั้นบ้าง เพราะถ้าสังเกตุธนาคารกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ยังหากินกับกลุ่มธุรกิจที่เป็นลูกค้าเดิมๆ ที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่เก่าก่อน หาได้ทำตัวเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่ (ความข้อหลังนี้ ผมว่าของผมเอง)


ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช นักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง ก็เคยให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ที่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าสัวได้แล้ว แต่ลึกๆ กลับรู้สึกไม่มั่นคง (ท่านใช้คำว่า Insecured) ยังคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน และจะกลับบ้าน แม้ตายแล้วได้กลับไปฝังที่โน่นก็ยังดี แม้เมืองไทยจะร่มเย็น แต่ก็ไม่คิดว่าเป็นบ้าน คงคิดว่าตัวเองเป็นแต่เพียง “ผู้อาศัย”



ดังนั้น พวกท่านจึงมักไม่เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจที่มันถาวร เอาแค่ซื้อมาขายไป หรือเป็นนายหน้าก็พอแล้ว


ผมสังเกตุว่ารุ่นลูกหลานส่วนใหญ่ก็มักคิดไม่ต่างกันในเชิงธุรกิจ แม้รุ่นนี้จะเปลี่ยนนามสกุล เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย (แล้วก็ไปต่อ MBA จากต่างประเทศ) พูดภาษาไทย และหมดความผูกพันกับเมืองจีน แต่ก็ยังคงไม่คิดสู้ฝรั่ง เพียงแต่เขยิบสถานะจากซื้อมาขายไป มาทำโรงงานผลิต แต่ก็จะผลิตกันแบบ “รับจ้างทำของ” เป็นพื้น (ภาษาสมัยใหม่เดี๋ยวนี้เรียกว่า OEM)


อันที่จริง ความสงสัยและคำถามในใจของผม มิได้จำกัดอยู่แต่ักับประเด็น “ขีดความสามารถของผู้ประกอบการ” หรือ “Mindset” ของผู้ประกอบการไทย เท่านั้น แต่ยังขยายขอบข่ายไปสู่ Economic Apparatus ทั้งปวงด้วย



เพราะบางทีผมก็สงสัยว่า ถ้านับตั้งแต่สมัยโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เราก็เปิดสอนวิศวกรรมศาสตร์กันมาแล้วเกือบร้อยปี เรามีด็อกเตอร์จำนวนมาก บางคนสามารถ ออกแบบเขียนแปลนแอร์โรไดนามิคได้เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก บางคนก็เก่งขนาดช่วยออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ให้องค์กรนาซ่าก็มี แต่ทำไมเราไม่สามารถสร้างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ได้ ทั้งๆ ที่ประเทศเราใช้ยานพาหนะสองประเภทนี้มากเหลือเกิน (อันนี้ยังไม่นับรถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน) หรืออย่างเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าก็ยังต้องสั่งมาจากต่างประเทศตลอดเวลา แม้กระทั่ง Mold หรืออะไหล่ง่ายๆ ของเครื่องเหล่านั้น ยังต้องสั่งมาจากต่างประเทศด้วยราคาแพง


และถ้านับตั้งแต่มีการตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว และมาแยกแผนกปรุงยามาเป็นคณะเภษัชกรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา จนมีด็อกเตอร์จำนวนมาก และหลายคนก็มีความรู้เก่งกาจทะลุปรุโปร่งเรื่องสมัยใหม่อย่างวิศวพันธุกรรมไม่แพ้ฝรั่ง แต่ผมก็สงสัยว่าทำไมเราถึงผลิตยาเองไม่ได้ แม้กระทั่งยาพื้นๆ เราก็ไม่เคยมีสารตั้งต้นของตัวเอง ทั้งๆ ที่คนของเราต้องใช้ยาปีหนึ่งๆ เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท


คำถามเช่นนี้ สามารถใช้ถามคณะอื่นๆ นอกเหนือไปจากสองคณะที่ยกตัวอย่างมานั้นได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งระบบการศึกษาทั้งระบบก็ได้ และเมื่อมองจาก Performance ที่ผ่านมาแล้ว พวกเราก็จะรู้สึกวังเวงเสมอ เพราะคำตอบมันลอยอยู่ในสายลม...แล้วตกลงว่า เราสอนอะไรกันเหรอในมหาวิทยาลัยและในสถาบันการศึกษาชั้นสูง


ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่าความรู้มันถ่ายทอดกันได้ หากเรายอมให้ฝรั่งหรือญี่ปุ่นเข้ามาเอาประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานราคาถูกของเรา พวกเขาก็จะสอนเรา หรือบอกความลับในการผลิตให้เรา (เราใช้ภาษาอย่างเป็นทางการว่า “มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี”)


แต่พอเอาเข้าจริง สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิด เพราะมันจะไม่ง่ายขนาดนั้น และถ้าเราดูประวัติของญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าญี่ปุ่นต้องลำบากกับเรื่องนี้มาก บางทีต้องส่งคนไปขโมยสูตรการผลิตที่เป็นความลับสุดยอดของฝรั่ง โดยการกลืนลงท้องแล้วฆ่าตัวตาย เพื่อให้ฝรั่งยอมส่งศพกลับบ้าน แล้วพรรคพวกที่บ้านก็ค่อยผ่าท้องออกมา


หากเรื่องเล่านี้เป็นจริง ก็หมายความว่า “การสู้ฝรั่ง” นั้นยากเย็นเพียงใด และฝรั่งจะไม่มีทางบอก “กึ๋น” ของตัวเองเด็ดขาด เพราะถ้าบอกไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างคู่แข่งให้กับตัวเอง

เรามี BOI มาตั้งแต่ปี 2509 มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาก่อนหน้านั้น ทว่า เรื่องเหล่านี้ก็หาได้เกิดขึ้นจริงจังไม่ (ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจ Mindset ของเทคโนแครตไทย อ่านหนังสือเรื่อง “ไอ้เสือคล้อย” ของสำนักพิมพ์ผู้จัดการดูครับ แล้วจะเข้าใจว่าทำไม?)


ผมยังมีคำถามอีกมาก ที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะบางเรื่องคำถามสำคัญกว่าคำตอบ


ผมไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่จะขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาสนใจ Creativity และรู้จัก Innovation ดี

พวกเขาเรียนเรื่อง Management และกรณีศึกษาของฝรั่งอย่างทะลุปรุโปร่ง พวกเขารู้เรื่องของสตีฟ จ๊อบส์ มาร์ค ซุกเคอเบิก บิล เกตต์ เจฟ บิซอส บิส สโตน เอแวน วิลเลี่ยม โฮเวิด ชู้ท และใครต่อใครที่สามารถต่อยอดเอา Management และ Design ใส่เข้าไปใน Creative Idea จนเกิดเป็นสินค้าและบริการที่ Amazing และเปลี่ยนแปลงโลก

พวกเขาไม่ขาดแคลนแรงบันดาลใจ

แต่พวกเขาก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกับรุ่นพ่อและรุ่นปู่ ที่ไม่คิดสู้ฝรั่ง ทั้งๆ ที่สามารถทำได้

ต่างกับผู้ประกอบการรุ่นปู่ย่าตายายของญี่ปุ่น ที่ลงมือ “สร้าง” มรดกไว้ให้ลูกหลานได้เก็บกินมาจนถึงบัดนี้

ในนวนิยายเรื่อง The Alchemist ของ Paulo Coelho (แปลเป็นไทยในชื่อ “ขุมทรัพย์สุดปลายฟ้า”) เด็กเลี้ยงแกะ Santiago นั่นแหละคือ Entrepreneur แบบไทยๆ



เขามีความฝัน เดินไปตามฝัน เพื่อหาขุมทรัพย์ แม้พบพานอุปสรรคมากมายก็ไม่ย่อท้อและไม่ละทิ้งฝัน ในระหว่างทางเขาพบรัก พยัญตราย โอกาส และิวิกฤติ ที่พรากทรัพย์เขาไปจนหมดตัวถึงสองครั้งสองครา ทว่าเขาก็ไม่ย่อท้อ



แต่เมื่อเขาเริ่มปล่อยวาง เขากลับพบขุมทรัพย์อย่างง่ายดาย



ทว่า สำหรับผู้ประกอบการฝรั่งแล้ว Story จบไปแบบนี้ มันยังไม่พอ!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
21 กันยายน 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น