วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ก้าวแรกของผู้นำ


คนไทยเชื่อผู้นำและออกจะ “ว่าง่าย”

การเชื่อหัวหน้าและเดินตามหัวหน้าของคนไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น มันเป็นแบบนี้มานานแสนนานแล้ว  

สมัยก่อนผู้นำและชนชั้นปกครองมักใช้วิธีบังคับให้เชื่อ หรือไม่ก็ผูกขาดการศึกษาเอาไว้ ไม่ให้ผู้ตามได้รับการศึกษาในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและบริหารองค์กร เช่น การเมืองการปกครอง การจัดการ จัดองค์กร การทหาร การต่างประเทศ และการบริหารทรัพยากร หรือบริหารเศรษฐกิจ

เดี๋ยวนี้เมื่อใช้วิธีบังคับไม่ถนัด ก็หันมาใช้วิธีชักจูง กล่อมเกลา และชวนเชื่อ
ลองย้อนดูตัวเราเอง ทำใจให้เป็นกลางๆ ก็จะพบว่าคนไทยรุ่นพวกเรานี้ ถูกทำให้เชื่อด้วยการจัดระเบียบความคิด ระเบียบการใช้เหตุผล ถูกจัดวางและโยงใยข้อมูล เกี่ยวกับการยกย่องเทิดทูนผู้นำสูงสุดมาเหมือนๆ กัน โดยการกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษา และเครือข่ายการโฆษณาชวนเชื่อ แบบทำซ้ำๆ ถี่ๆ เป็นเวลานาน
สิ่งเหล่านี้ มิใช่เรื่อง “ดี” หรือ “ไม่ดี” เพียงแต่มัน “เป็นเช่นนั้นเอง”

ถ้าเทียบแล้ว คนไทยโดยเฉลี่ยยังไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร แม้พวกที่ได้รับการศึกษามาเต็มที่จนถึงระดับสูง ก็เป็นการศึกษาที่ไร้คุณภาพ หรือไม่ก็ด้อยคุณภาพ
คนไทยจึงเชื่อคนง่าย หรือถูกชักจูงได้ง่าย

ประกอบกับ ความมีจิตใจดี ชอบน้อมรับไมตรี ไม่สงวนท่าที สงวนไมตรี หรือมี Resevation เหมือนคนญวน คนญี่ปุ่น คนจีน หรือฝรั่ง อีกทั้งยังเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก และเห็นอะไรเห็นคล้อยตามกัน คนไทยจึงถูก “ยึดครอง” ได้ง่าย

หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี และคอลัมนิสต์ปากกคม รู้จักใช้ข้อมูล รู้จักแพลมข้อมูล ตลอดจนผู้ประกาศที่พูดเก่ง เล่าเก่ง จึงมีอิทธิพลค่อนข้างมาก

นักการเมืองไทยจึงเข้าสู่อำนาจกันง่ายๆ ไม่เหมือนคนของชาติที่เจริญแล้ว ซึ่งได้รับการศึกษามาดี นักการเมืองที่อยากได้อำนาจ จึงต้องพยายามอย่างมากและอย่างหนัก ต้องใช้ทั้งผลงาน พิสูจน์ให้เห็นจริงเห็นจัง และใช้ทั้งการหว่านล้อม ตลอดจนชวนเชื่อสารพัด ผ่านแคมเปญ หรือโฆษณาและการตลาดอย่างต่อเนื่อง กว่าจะสำเร็จ

นั่นเพราะรู้ว่ายึดครองหัวสมองไม่ได้ ก็ต้องยึดครองที่จิตใจ และหากยึดครองจิตใจก็ยังไม่ได้ ก็ต้องยึดครองที่อารมณ์ความรู้สึก หรือต้องยึดครองให้ได้ทั้งสามสมรภูมิไปพร้อมกัน จึงจะมีโอกาสสำเร็จ

ถ้าเราลองมองออกนอกตัว มองไปที่อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เราก็จะเห็นว่าราษฎรในชาติเหล่านั้น ได้รับการศึกษาในระบบที่ดีที่สุดในโลก และเมื่อมองมาที่จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ พม่า หรือเขมร ซึ่งระดับการศึกษาของราษฎรยังด้อยคุณภาพ แล้วเปรียบเทียบกันดู ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า วิถีการเข้าสู่อำนาจหรือขึ้นสู่อำนาจของผู้นำในสังคนเหล่านั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

กลุ่มแรกย่อมต้องใช้วิธีแสดงผลงาน ชักจูง และหว่านล้อม เป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มหลังใช้วิธีบังคับ และยัดเยียดให้เชื่อ ให้รักผู้นำเพราะมีค่าเท่ากับรักชาติ หรือบางทีก็อาจใช้วิธีหลอกลวงเจือปนเข้าไปด้วย

แต่ยังไงก็ตาม ในที่สุดแล้ว ผู้นำจะถูกวัด ถูกตัดสิน ถูกประเมิน และให้คุณค่า ด้วย Moral หรือด้วยการเลือกข้างหรือจุดยืนในเชิงถูก/ผิด มิใช่ด้วยความเก่งกาจ ฉลาดเฉลียว หรือ Creativity

ถ้าเราพลิกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดู ก็จะพบความจริงข้อนี้อยู่ทั่วไปหมด

Adolf Hitler นั้น เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แถมยังมีความจำดี ฉลาดเฉลียว รู้จักธรรมชาติของคนดีมาก หยั่งใจคนได้ลึก และไม่โกงไม่กิน ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่รับสินบนเล็กๆ น้อยๆ แถมยังมีอารมณ์ศิลปิน และสนับสนุนศิลปะ แต่ก็ผิดพลาดอย่างจังและไม่น่าให้อภัยในเชิง Moral

อันที่จริง ผมไม่อยากใช้คำว่าจริยธรรมหรือคุณธรรม ในความหมายของดี/ชั่ว เชิงศาสนา แบบคริสตศาสนาที่ยกให้ความเลวร้ายทั้งปวงในฝั่งตรงข้ามกับ God ไปสมมติให้รวมอยู่ในคำๆ เดียวว่า “Satan”
แต่ Moral ที่ผมพูดถึงนั้น เป็น Common Sense แบบกว้างๆ ในเชิงพุทธ (อย่าลืมว่าในภาษาไทยเราสามารถมีคำว่า “ธรรมา ธรรมะ สงคราม”) และการเลือกยืนอยู่ในข้างที่ถูกต้อง ย่อมเป็นศิลปะชั้นสูงที่ผู้นำและผู้ที่ต้องการหรืออยากจะเป็นผู้นำทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องยึดถือ และต้องแสดง
ผมและทีมงานนิตยสาร MBA ทุกคน ยินดีที่ได้เป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำและผู้ที่กำลังจะขึ้นเป็นผู้นำทั้ง 54 คน สำหรับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับพวกเราและผู้อ่านทุกท่าน ที่กำลังจะก้าวไปสู่ปี 2554 ด้วยกัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น