วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

“ทุนสำรองส่วนตัว” ยุคดอลล่าร์ท่วมโลก


คนรวยย่อมมีทรัพย์เป็นห่วงผูกคอ!


การมีทรัพย์มาก ร่ำรวยเหลือล้นนั้น แม้จะเป็นของดี แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน


คุณหญิงมณี สิริวรสาร มหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทยในยุคก่อนการอุบัติขึ้นของอาเสี่ยและบรรดาไทคูนทั้งหลาย ผู้ซึ่งโชคชะตาได้นำพาให้เธอกลายเป็นผู้รับพระราชมรดกส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (อีกครึ่งหนึ่งตกเป็นของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีแห่งรัชกาลนั้น) และพระมรดกอีกหลายส่วนของสมเด็จพระราชปิตุลาพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศวรเดช เจ้าของวังบูรพาภิรมย์ เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” ของท่านว่า ข้อดีของการมีทรัพย์มากมีข้อเดียวเท่านั้นคือความคล่องตัวในการจับจ่ายใช้สอย อยากจะได้อะไรก็ได้ อยากจะช่วยเหลือใครก็ง่าย นึกจะทำก็ทำได้เลย

ทว่า ข้อเสียของการเป็นเศรษฐีกลับมีมาก เช่นต้องคอยระวังว่าคนโน้นคนนี้จะมาหยิบยืมเงินทอง และต้องคอยดูแลหรือพะวงว่าจะเสียทรัพย์ไป หรือต้องคอยจัดการให้ทรัพย์ที่มีอยู่งอกเงยเพิ่มพูน ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระแวดระวังไม่ให้มันลดมูลค่าลง ทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน



คนรวยย่อมมีอะไรให้ห่วง ให้รักษา ให้ปกป้อง มากกว่าคนจน คนรวยจึงกลัววิกฤติการณ์และความวุ่นวายต่างๆ ทางการเมือง สงครามกลางเมือง หรือความไม่มั่นคงสั่นคลอนเชิงสังคม มากกว่าคนจน



ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้กิจการ Wealth Management โตเอาๆ เพราะคนเรานั้น นอกจากจะต้องหาทรัพย์แล้ว ยังต้องรู้จักรักษาทรัพย์ให้งอกงามเพิ่มพูน รู้จักซ่อนทรัพย์ไว้ยามฉุกเฉิน กระจายความเสี่ยงของทรัพย์ และที่สำคัญต้องรู้จักใช้ทรัพย์อีกด้วย



กระบวนการลงทุนหรือ Investment ตลอดจน Financial Instruments ทั้งมวล ย่อมเกี่ยวข้องผูกพันกับกระบวนการรักษาทรัพย์และใช้ทรัพย์ของบรรดาผู้มีเงินเหลือใช้ (ทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กร) ตลอดจนเศรษฐีใหญ่น้อยในโลกนั่นเอง



ในระยะหลังมานี้ นอกไปจากภัยคุกคามของการก่อการร้ายแล้ว ระบบการเงินโลกยังเกิดวิกฤติอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง แต่ละครั้งถี่ขึ้นเรื่อยๆ


ความหวั่นใจลึกๆ ของผู้มีทรัพย์ทั่วโลก มุ่งประเด็นไปที่การเพิ่ม Money Supply ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่ง



ผู้คนที่มีการศึกษา เริ่มเชื่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า หากสหรัฐฯ ยังพิมพ์เงินเพิ่มอยู่ตลอดเวลาในอัตราที่เป็นอยู่ วันใดวันหนึ่งผู้คนจะหมดความเชื่อถือต่อเงินดอลล่าร์ และเมื่อนั้นเงินดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วจะเกิดความเลวร้ายตามมา เช่นระบบการเงินและสถาบันการเงินล้มครืน เงินออมและความมั่งคั่งหายวับไปกับตา และเกิดเงินเฟ้อในระดับอภิมหาเฟ้อ แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเยอรมนียุคไวมาร์



เลยพากันหันเหออกจากทรัพย์สินที่อยู่ในรูปดอลล่าร์ ทำการเปลี่ยนแปลง ถ่ายโอน ยักย้ายทรัพย์ของตัวไปเป็นการลงทุนรูปแบบอื่น สินทรัพย์ประเภทอื่น และในสกุลเงินอื่น อย่างหลากหลายมากขึ้น ทำให้ระดับราคาสินทรัพย์อันเป็นเป้าหมายของการลงทุน หรือที่ผู้คนคิดว่ามันจะสามารถเก็บรักษา Wealth ได้ดีกว่าเงินดอลล่าร์ (ที่เป็นแต่เพียงกระดาษ) เกือบทุกประเภทเขยิบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่สหรัฐฯ ประสบวิกฤติซับไพร์ม



จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะหันมาเก็บของมีค่าต่างๆ เช่น ทองคำ (รวมถึงเงิน เพชรพลอย และ Precious Metals อื่น) ทำให้ราคาทองคำถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดกันว่าจะขึ้นไปจนถึง 3,000 เหรียญฯ ต่อออนซ์ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่หยุดพิมพ์เงินเพิ่ม (แม้กระทั่งภาพวาดของปิกัสโซ่เพียงภาพเดียว ก็เพิ่งทำลายสถิติการขายงานศิลปะไปหยกๆ ที่ราคาสามพันกว่าล้านบาท หรือ 106.5 ล้านดอลล่าร์ฯ)



อีกทั้งสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะที่เป็นอาหารเลี้ยงผู้คนในโลก ก็ถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวด้วย เข้าทำนอง “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ตามคำเปรียบเปรยของหม่อมเจ้าสิทธิพล กฤดากร ที่ตรัสไว้นานมาแล้ว



นโยบายพิมพ์แบงก์และส่งออกดอลล่าร์ของสหรัฐฯ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก ทำให้หลายคนมองกันว่าสหรัฐฯ กำลังทำสงครามค่าเงิน เพื่อทำลายจีนและมหาอำนาจเศรษฐกิจอื่น ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาล



ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ประกาศจะพิมพ์เงินเพิ่มแล้วอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกหลายแสนล้านดอลล่าร์ โดยเรียกซะหรูว่า นโยบาย Quantitative Easing


นโยบายแบบนี้ เป็นการ “เล่นกับไฟ”


ผมเคยฟังบรรยายของ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โดยนายคนนี้มีความสำคัญต่อแนวนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มากโขอยู่ เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อแวดวงการเมืองมาก เพราะรู้เรื่องภายในแยะ และผูกพันอยู่ในแวดวงอำนาจระดับวงในของพรรคเดโมแครตอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยดูคาคิสและคลินตัน ผ่านการแก้วิกฤติโลกมาแล้วหลายครั้ง (และเป็นตัวแสบของไทย สมัยวิกฤติค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ด้วย สมัยนั้นเขายังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง และเป็นหัวหน้าทีมแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจเอเซีย) ซึ่งแม้เขาจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะ Think Tank เศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามาไปแล้วหมาดๆ ก็ตาม แต่ก็ว่ากันว่า รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คนปัจจุบันก็เคยเป็นเด็กของเขามาก่อน รวมถึงลูกทีมคนอื่นที่กินตำแหน่งสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ อยู่ ณ บัดนี้ด้วย



ในทางส่วนตัว นายคนนี้ก็เป็นหลานของนักเศรษฐศาสตร์นามอุโฆษ เจ้าของรางวัลโนเบลถึงสองคนคือ Paul A. Samuelson และ Kenneth Arrow และตัวเองก็มีผลงานสำคัญทางวิชาการ เป็นที่นับหน้าถือตาในแวดวงเศรษฐศาสตร์ จนว่ากันว่าสักวันหนึ่งเขาก็จะได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน



ลองฟังความเห็นเขาดูสักนิดว่าการควบคุมค่าเงินให้ขึ้นให้ลงตามใจนั้นยากเย็นเพียงใด แม้จะมีอำนาจและควบคุมกลไกในระดับนโยบาย ตลอดจน Apparatus ในระดับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และธนาคารกลางก็ตามที เขากล่าวว่า “....One of the things I learned painfully, being involved with managing the dollar as Secretary of the Treasury, was there is absolute no way, no matter how powerful you are and no matter how clever you are, the dollar can be lower without falling. It cannot happen no matter how much you want to have a falling dollar without -- a low dollar without the falling dollar.....” (Okun Lecture, April 29, 2008 at Yale University)



เห็นไหมครับ นั่นเป็นคำพูดของคนในระดับอดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และที่ปรึกษาใหญ่ของประธานาธิบดีคนปัจจุบันและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน



นโยบายแบบนี้ ถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็ต้องมีจุดหนึ่งที่จะเกิดการหักศอกลงเหว คือเป็นจุดที่คนหมดศรัทธาในเงินดอลล่าร์ แล้ววิกฤติใหญ่ก็จะเกิดขึ้น



ประวัติศาสตร์สอนเราว่าเมื่อเกิดวิกฤติศรัทธาในสกุลเงิน ก็มักจะเกิดเงินเฟ้ออย่างแรง ข้าวของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแพงอย่างเหลือเชื่อ รามถึงอัตราดอกเบี้ย และราคาสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น (ยกเว้นหุ้นกู้และพันธบัตร) ที่ดิน สินค้าโภคภัณฑ์ เงินตราสกุลหลักอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์ ทองคำ เครื่องประดับ เพชรนิลจินดา งานศิลปะ Object of Arts และของสะสมอันมีค่า ฯลฯ สังคมก็จะระส่ำระสาย แล้วสุดท้ายก็ต้องแก้ด้วยการยกเลิกระบบเงินตราเดิม เปิดทางให้กับเงินตราสกุลใหม่ เริ่มนับหนึ่งกันใหม่



ทว่า คราวนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มองโลกในแง่ร้ายจำนวนมาก มักทำนายว่า หากเกิดวิกฤติใหญ่กับเงินดอลล่าร์รอบนี้ เงินเฟ้อจะไม่สูงประเภท Hyper Inflation เหมือนครั้งกระโน้น เพราะอุปทานของสินค้ามีมาก เนื่องเพราะโรงงานในจีนและเอเชียสามารถผลิตของถูกได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคของโลกอยู่แล้ว และกำลังผลิตก็ออกจะล้นเกินด้วยซ้ำในบางกรณี



แต่ที่เชื่อขนมกินได้เลยคือระดับราคาของสินทรัพย์ที่กล่าวมานั้น ว่าจะต้องถีบตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ผมก็คิดว่า ทองคำ และอะไรๆ ที่กล่าวมา รวมถึงภาพเขียนของปิคาสโซ่ และสมเด็จวัดระฆัง ก็ยังจะขึ้นต่อไป ตราบที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงก่อหนี้เพิ่มและธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงนโยบายพิมพ์เงินเพิ่มไปเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้



สำหรับพวกเราคนไทยก็ต้องอย่าชะล่าใจไป เพราะนโยบายส่งออกเงินดอลล่าร์ย่อม Force ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์เงินเพิ่มตามไปด้วย เมื่อเงินดอลล่าร์ทะลักเข้ามาลงทุน หรือมา Park ไว้ในระบบการเงินไทย (ธนาคารกลางของประเทศอื่นก็ต้องเจอภาวะเดียวกัน)



ดังนั้น ระยะนี้ พวกเราในฐานะคนธรรมดา ควรระแวดระวังให้ดี อย่าเชื่อใจธนาคารกลางของพวกเรามากนัก ทางที่ดีควรต้องมี Reserve ของตัวเอง คือต้องสร้าง “ระบบทุนสำรองส่วนตัว” ของเราเองขึ้นมา แทนที่จะมองดูธนาคารแห่งประเทศไทยเอาแต่เพิ่มดอลล่าร์เข้าไปในบัญชีทุนสำรองของประเทศแบบตาปริบๆ



ในทุนสำรองส่วนตัวนั้น นอกจากจะต้องถือเงินตราต่างประเทศสกุลหลักๆ หลายๆ สกุลไว้บ้างแล้ว (รวมทั้งดอลล่าร์ด้วย) ก็ควรถือทรัพย์สินประเภท Hard Assets ให้เป็นหลักไว้ ถ้าเป็นที่ดินควรเป็นย่านสำคัญ และควรถือ Collectible Items ไว้บ้าง ส่วน Financial Assets นั้นควรถือเป็นทองและหุ้นสามัญ ไม่ควรถือเป็นหุ้นกู้ หรือพันธบัตร เพราะในยามที่รัฐบาลยึดแนวทาง Reflate เศรษฐกิจ (John Maynard Keynes เรียกนโยบายแบบนี้ว่า “Inflation as a method of Taxation” เช่นนโยบายประชานิยม หรือปล่อยให้เงินลดค่าลงเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการ หรือพิมพ์เงินเพิ่ม ฯลฯ) ยิ่งจะทำให้มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกิจการที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้ (หรือรัฐบาลผู้ออกพันธบัตร) ลดลงในอนาคต และ Yield ของพันธบัตรจะสูงขึ้น



ฉะนั้น ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้บริหารธุรกิจ เราต้องฉวยโอกาสนี้ใช้เงินกู้ให้มากหน่อย ยิ่งเป็นเงินกู้สกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ยิ่งดี



ยังไงๆ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักที่ผู้คนในโลกจะหันเข้าหาเมื่อโลกเกิดวิกฤติ โปรดสังเกตว่าดอลล่าร์จะแข็งค่าเสมอเมื่อยูโรทำ่ท่าจะแย่เพราะปัญหาวิกฤติหนี้สินในกรีซ และล่าสุดเมื่อเกาหลีเหนือเปิดฉากโจมตีเกาหลีใต้ เป็นต้น



แต่แน่นอนว่า ราคาของเงินหรือของสินทรัพย์หรือภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ย่อมมีขึ้นมีลง ไม่ขึ้นทางเดียวตลอดไปหรือลงทางเดียวตลอดไป คล้ายๆ กับโชคชะตาของมนุษย์



เมื่อเข้าใจโลกสันนิวาสแบบนี้ พวกเราย่อมทำใจได้ว่าทรัพย์ทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นของนอกกาย แม้จะถูก Economic Crisis พรากมันจากเราไปบ้างหรือทั้งหมดในคราวเดียว ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ และยังครอบครองกำลังกายและกำลังปัญญาอย่างครบถ้วนและแหลมคม เราย่อมสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้


ข้อสำคัญที่สุดคือเราต้องไม่ลืมลงทุนใน Human Capital ของตัวเราเอง หรือสร้าง “ทุนสำรองทางปัญญา” ของเราเองขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ต้องหมั่นให้การศึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา หัดสังเกตุสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง แม้กระทั่งจิตใจของตัวเอง เก็บบทเรียนของตัวเองและจากผู้อื่นเป็นเครื่องเตือนใจ ให้สติตั้งมั่น รู้จักใช้เหตุผล รู้จักเปลี่ยนแปลง และพัฒนา Intellectual Capital ของตัวเองให้สุงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น และแยบคายขึ้น ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็น มิใช่เพียงเพราะ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”



มีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่จะรับมือกับระบบทุนนิยมโลกที่นับวันจะโหดหินและเปราะบางต่อวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาโชคลางแต่เพียงถ่ายเดียว


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
24 พฤศจิกายน 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553


***โปรดคลิกอ่านบทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมโลกและเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์และ Keynes บางบทที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้ตามลิงก์ข้างล่าง


1.ลงทุนแบบเข้มแข็ง


2.เงินกำลังไร้ค่า

1 ความคิดเห็น:

  1. เมื่อ 1มิย. นี้ จีนกับญี่ปุ่นตกลงแลกเงินกันเองไม่ต้องเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ก่อน ถ้าเปลี่ยนมาผูกเงินกับหยวนหรือเยนบ้างก็น่าจะดี

    ตอบลบ