ชื่อของ อานันท์ ปันยารชุน ติดอันดับที่คนอยากให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นโดยโพลทุกสำนัก
อันที่จริง ก่อนวันที่ 2 มีนาคม 2534 เขาเป็นที่รู้จักในหมู่ราษฏรทั่วไปน้อยมาก ตลอดอาชีพสื่อมวลชนของผม ผมไม่เคยได้สัมภาษณ์เขาแบบสองต่อสองเลย เพราะให้คนขอไปทีไรก็ถูกบอกปัด
อาณาจักรของเขาคือ Bangkok Post เพราะพ่อเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นบรรณาธิการอยู่หลายปี โดยอิทธิพลของตระกูลเขาก็ยังอยู่มาจนกระทั่งบัดนี้
ผมเคยพบเขาครั้งหนึ่งก่อนเขาเป็นนายกฯ หลายปี ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ สมัยโน้นเขาเป็นประธานสหยูเนี่ยนและนายกสภานิด้า และมีคนเชิญเขามาปาฐกถาโดยเจ้าภาพได้ขอให้ผมไปเป็นผู้พูดแนะนำองค์ปาฐก
ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าเขาพูดเรื่องอะไร แต่จำได้แม่นว่าตัวเองยืนอยู่บนโพเดียมเป็นเวลานานระหว่างที่เขาพูด และครั้งหนึ่งเขานึกคำไทยให้แทนความหมาย Strategic Goods ไม่ออก แล้วหันมาถามผม โดยผมตอบผ่านไมโครโฟนไปว่า “สินค้ายุทธปัจจัย” เลยเป็นอันพอใจกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
ก่อนกลับ ระหว่างที่เขากำลังสนทนาอยู่กับ ดร.สมศักดิ์ ชูโต และบรรดาคณาจารย์ผู้ใหญ่ ผมก็แทรกตัวเข้าไปถามคำถามที่ผมคิดว่าหรูแล้วในขณะนั้น แต่มาคิดอีกทีตอนนี้ มันช่างหน่อมแน้มเสียนี่กระไร...ผม (ถาม) : ท่านครับ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของท่านคืออะไร...อานันท์ (ตอบ): Trust ไง สำหรับผม ความสำเร็จมันต้องมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจ จะทำไงให้เขาไว้ใจเรา อันนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จ...ผม (พูดต่อ) : ขอบคุณครับท่าน....แล้วต่างคนก็ต่างแยกย้าย
งานนั้นเป็นประโยชน์กับอาชีพของผมในเวลาต่อมา เพราะทำให้ผมต้องศึกษาประวัติของเขา สมัยโน้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและ Wikipedia ผมจึงต้องอาศัยหนังสืองานศพ และผมก็พบว่าเขามาจากตระกูลใหญ่ ที่เห็นความสำคัญของการศึกษามาก พ่อของเขาเป็นนักเรียนเก่า Shrewsbury และโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นนำของอังกฤษ แล้วกลับมาเป็นข้าราชการคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๖ เคยเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยและปลัดทูลฉลอง ส่วนแม่ของเขาก็มาจากตระกูลเจ๊สัวใหญ่ฝ่ายคหบดีจีน และพี่ๆ ของเขาก็ล้วนได้รับการศึกษาชั้นยอดและแต่งงานเกี่ยวดองกับสมาชิกของราชตระกูลและตระกูลสำคัญๆ แทบทั้งสิ้น ตัวเขาเองเป็นศิษย์เก่า Dulwich College และ Trinity College แห่ง Cambridge เป็นรุ่นพี่เจ้าฟ้าชายชาลส์ประมาณสิบปี
เขาเป็น Aristocrat by Brith โดยแท้ ทั้งวิธีคิด วิธีพูด วิธีจัดการ วิธีเจรจา ลูกเล่น และอารมณ์ขัน (ภาษาอังกฤษของเขา รวมทั้งโวหารและปฏิพานไหวพริบในการโต้ตอบในพากย์อังกฤษ อยู่ในระดับดีกว่าของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก ทั้งๆ ที่อภิสิทธิ์ก็เป็นนักเรียนเก่า Eton และไปเรียนอังกฤษเมื่อยังเล็กกว่าอานันท์) และตระกูลของเขาก็ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการรัฐประหารของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475
ผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาก่อนหน้านั้นคือการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยร่วมกับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่เขาก็ต้องมาขมขื่น และผิดหวังมากกับสังคมไทย อันเนื่องมาแต่กรณี 6 ตุลาฯ...นั่นเป็นข้อมูลที่ผมรับรู้ ณ ตอนนั้น
เมื่อผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จตุรัส (ยุคหลังสุด) ผมได้สัมภาษณ์ ดร.ถนัด คอมันตร์ หลายครั้ง ขณะนั้นความจำยังแจ่มใสแม้จะอายุเกินเก้าสิบแล้ว เมื่อจบการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และคุยนอกรอบ Off-Record ถนัดได้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับอานันท์ให้ฟังหลายเรื่องตั้งแต่เริ่มรับราชการ จนถนัดเอามาฝึกและสนับสนุนให้เป็นใหญ่ ทำให้ผมรู้จักอานันท์มากยิ่งขึ้น
ผมได้พบกับอานันท์อีกครั้งตอนที่เขาเสร็จสิ้นภาระกิจการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เพราะมีคนเชิญผมไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของเขาค่ำวันหนึ่ง ณ ร้านอาหารฝรั่งของ ปรีดา เตียสุวรรณ์ แถวซอยคอนแวนต์
ผมจำว่าได้ร่วมจิบไวน์กับ ส.ศิวรักษ์ และได้เห็นฝ่ายก้าวหน้าและเอ็นจีโอจำนวนมาก สุรชัย จันทิมาธร ได้บรรเลงกีต้าร์เพลง La Marseillaise โดย ดร. โคทม อารียา พิภบ ธงไชย และอีกหลายคน ร่วมกันร้องในเวอร์ชั่นฝรั่งเศส...
งานนั้นได้ตอกย้ำความคิดผมเกี่ยวกับภาวะผู้นำของอานันท์ ว่าเขาเป็นผู้นำที่สามารถสร้าง Trust ให้คนเชื่อใจเขาได้ จนเป็นที่นิยมยกย่องและเป็นที่รักของหมู่คณะ เข้าได้แม้กระทั่งกับฝ่ายก้าวหน้าและบรรดาเอ็นจีโอซึ่งภูมิหลังทางสังคมต่างกับเขาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน ฯลฯ และผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอานันท์ ว่าเขาน่าจะเข้าใจความอยุติธรรมในสังคมมากขึ้น และเข้าใจหัวอกคนเล็กคนน้อยอย่างประจักษ์กับตัว แม้จะยืนอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ก็เข้ากับฝ่ายก้าวหน้าได้ เพราะระหว่างที่เขาเป็นนายกฯ ทั้งสองสมัย เขาแทบไม่เห็นหัวคนเล็กคนน้อยเลย เขาเอาแต่เร่งแก้กฎหมายและออกกฎหมายจำนวนมากมายเพื่อเปิดทางให้กับเสรีนิยมและฝ่ายนายทุนอย่างเต็มที่ (ยกเว้นกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้นแหละ ที่เขาเป็นศัตรูด้วย)
เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่สามารถ “ต่อสาย” ได้ตั้งแต่บรรดาผู้นำสมัชชาคนจน ผู้นำแรงงาน และนักกิจกรรมในสลัม เอ็นจีโอ ปัญญาชน ข้าราชการ พ่อค้านักอุตสาหกรรม ไปจนถึงในรั้วในวัง
เขายังคงมีคุณค่าต่อสังคมการเมืองไทย และยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีของฝ่าย Elite
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น