วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลงทุนแบบเข้มแข็ง



“There is a time in the price of certain
Products and commodities,
Which, if taken by men at the advance,
Lead on to fortune;
And if taken at the decline leads to
Bankruptcy and ruin.”

Samuel Benner
“Benner’s Prophecies of Future Ups and Downs in Price”(3rd Edition, Robert Clarke & Co., 1884)

ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้หลังจากรัฐบาลปิดการขาย “พันธบัตรออมทรัพย์เพื่อไทยเข้มแข็ง” ล็อตแรก ให้กับผู้สูงอายุและราษฎรทั่วไป โดยประสบความสำเร็จเกินคาด เกิดภาวะ Oversubscribed หลายเท่าตัว ซึ่งแม้จะสั่งเพิ่มวงเงินจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาทแล้ว ก็ยังมีคนรอเก้ออยู่เป็นจำนวนมาก และแม้บางคนจะมาเข้าคิวรอตั้งแต่ตีสี่ ก็ใช่ว่าจะซื้อกลับไปได้ในจำนวนที่ตั้งใจมาแต่แรกไม่

“ขายดี ยังกะแจกฟรี !”

ผมตั้งใจว่า จะไม่ขอพลาด “ล็อตสอง” โดยเด็ดขาด คิดว่ากระทรวงการคลังน่าจะนำออกขายอีกในเร็ววัน เพราะยังไงๆ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ถึง 1.4 ล้านล้านบาทและผ่านรัฐสภามาแล้ว อีกทั้งยังหยั่งได้แล้วว่าราษฎรกำลังกระหาย Prime Instrument ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่ความเสี่ยง ดูแล้วเท่ากันหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำไป

ที่ตั้งใจจะไปชิงรอตั้งแต่ตีสี่เพื่อให้ได้มาถือครองกับเขาบ้างแบบนี้ ผมมิได้มองว่าการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลในช่วงนี้เป็น Good Investment….หามิได้

ผมวางแผนว่าจะไปซื้อมาครอบครองเพียงแค่ใบเดียวหรือหน่วยเดียว เพื่อเอามาใส่กรอบแล้วแขวนไว้ข้างฝา เคียงข้างกับธนาบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ที่ผมใส่กรอบแขวนไว้ก่อนแล้ว (ผมได้ไอเดียแบบนี้มาจากด็อกเตอร์ Marc Faber ที่แนะให้ทำกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่คุณมาร์คเพียงแนะให้เอาแค่พันธบัตรมาใส่กรอบ แต่ผมขอเพิ่มธนาบัตรเข้าไปด้วย)

ที่จะทำแบบนั้น ก็เพื่อจะเอาไว้ประกอบการสอนลูกๆ ให้รู้เรื่องหลักการลงทุน และหลักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “Inflation”

ลองคิดดูนะครับ ว่าเมื่อลูกๆ ผมโตขึ้น (ได้ยินรัฐมนตรีคลังพูดว่าพันธบัตรล็อตต่อไปจะมีอายุยาวกว่า 5 ปี) กระดาษสองใบนั้น จะมีค่าลดลงไปมากเพียงใดเมื่อเทียบกับระดับราคาสินค้า บริการ หรือแม้กระทั่งทรัพย์สินชนิดอื่นที่เป็นของหายาก (เช่นทองคำ ที่ดินย่านสำคัญ) และ Collectable Items (เช่นธนาบัตรใบละหนึ่งบาทที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ซึ่งคุณบุญชัย เบญจรงค์กุล เคยให้ผมมาพร้อมกรอบอย่างงามเมื่อหลายปีก่อน โดยผมตั้งใจจะแขวนไว้คู่กันด้วย) หากมองว่ารัฐบาลยังมีภาระผูกพันต่อการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี ในขณะที่รายได้ภาษียังคงจัดเก็บได้ห่างจากเป้าหมายมาก ดังที่เห็นกันแล้ว ในช่วงครึ่งปีมานี้

อันที่จริง ถ้าเราเทียบค่าของเงินกับระดับราคาสินค้าบริการในรอบสิบกว่าปีมานี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า เงินบาทมีค่าลดลงมาโดยตลอด

แม้นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเมืองไทย จะออกมาชี้ให้เห็นถึงอันตรายของ “ภาวะเงินฝืด” ในขณะนี้ก็ตาม (พวกเขาหมายถึง Deflation) แต่ถ้ามองย้อนกลับไปไกลหน่อย เช่น 5 ปี 10 ปี หรือกว่านั้น ตามสถิติส่วนตัวของภรรยาผม ประกอบกับความทรงจำของผมเอง ทำให้ผมสังเกตพบว่าความจริงที่ผมประจักษ์มันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ดัชนีต่อไปนี้ เป็นข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของผมและภรรยา ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของครอบครัวเรา ซึ่งเป็นครอบครัวชั้นกลางในย่านสุขุมวิทซอยกลาง เท่าที่พอจะจำได้ เทียบกันระหว่างปี 2542 กับปัจจุบัน

ค่ารถสองแถวจากปากซอยสุขุมวิท 39 มาที่บ้าน (แยกพร้อมศรี) จาก 20 บาท เป็น 30 บาท

ค่าตัดผมลูก ร้านปากซอยสุขุมวิท 51 จาก 100 เป็น 250

ไม้ขนไก่ ซื้อจากรถซาเล้งที่ขับผ่านเสมอ
-แบบก้านสั้น จาก 110 เป็น 170
-แบบก้านยาว จาก 150 เป็น 220
ไม้กวาด จากซาเล้งคันเดียวกัน จาก 35 เป็น 55

ข้าวหอมมะลิเกรด A ถุงละ 5 กก. ซื้อจากวิลล่า มาร์เก็ต ซอย 49 จาก 160 เป็น 260

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อทองหล่อ (ชามธรรมดาใส่ลูกชิ้นกับไส้ ไม่พิเศษ) จาก 25 เป็น 30

เบียร์ไฮเนเก้นขวดใหญ่ ที่ร้านภัตตาคารโคคา ปากซอย 39 จาก 80 เป็น 140

ขาห่านอบหม้อดิน ที่ร้าน อัน อัน เหลา ซอยทองหล่อ (ราคาต่อขา) จาก 80 เป็น 100

เป็ดปักกิ่ง ที่ภัตตาคารเกร็ทเซี่ยงไฮ้ ข้างห้างเอ็มโพเรียม
(เนื้อเป็ดทำเมี่ยง หรือทอดกระเทียมพริกไท แถมน้ำซุป) จาก 400 เป็น 1,000

ค่าเช่าสำนักงาน ที่ซอยอโศก (ราคาต่อตารางเมตร เริ่มอยู่ปี 2545) จาก 200 เป็น 250**

ราคาเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จำนวน 1 ดอลล่าร์ (เทียบก่อน ส.ค. 40) จาก 25 เป็น 34-35

แต้มสะสมคะแนนของบัตรเครดิตวีซ่า ธนาคารซิตี้แบงก์
ที่ใช้แลกตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพฯ – โตเกียว จาก 96,000 เป็น 190,000***

นิตยสาร Vanity Fair ซื้อจากวิลล่า มาร์เก็ต ซอย 49 จาก 225 เป็น 395-450****

*ยกเว้นค่าเช่าสำนักงานที่เป็นราคาของปี 2545, ราคาเงินดอลล่าร์ฯ ราคาเป็ดปักกิ่ง และราคานิตยสาร Vanity Fair ซึ่งเป็นราคาก่อนเดือน สิงหาคม 2540 เมื่อมีการลอยค่าเงินบาท
**ราคานี้เป็นราคาแบบเพื่อนฝูงที่เราได้เงื่อนไขดีกว่าผู้เช่าอื่น โดยสัญญาเช่ากำลังจะหมดลงสิ้นเดือนนี้ และเราก็เข้าใจว่าราคาใหม่จะถูกปรับขึ้น
***หน่วยเป็น Point
****ขึ้นอยู่กับความหนาบางของฉบับนั้นๆ ถ้าหนาก็แพงหน่อย


เห็นหรือยังครับว่าค่าเงินบาทมันลดลงไปแค่ไหนเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการ ท่านผู้อ่านลองคำนวณเป็นร้อยละกันเอาเองแล้วกัน

เหตุการณ์แบบนี้ ย่อมทำให้คนที่ถือเงินสดไว้เฉยๆ เสียเปรียบ ผมรู้จักอดีตผู้บริหารระดับสูงที่ซื่อตรงไม่โกงกิน ของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ที่ตอนเกษียณได้รับเงินบำเหน็จ 3 ล้านบาท ปัจจุบันท่านอายุเกือบ 70 แล้วและอยู่คนเดียว ท่านว่าสิ่งที่ท่านกลัวที่สุดคือกลัวเงินหมดในขณะที่ยังไม่ตาย ท่านว่าเงิน 3 ล้านนั้นเดี๋ยวนี้ “มีค่า” ไม่มากนัก

หรืออย่างรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งซึ่งได้รับมรดกมาเป็นเงินสดกว่า 10 ล้านบาทเมื่อ 20 ปีมาแล้ว (เธอไม่ได้รับเป็นที่ดินหรือบ้าน) เธอว่าแต่ก่อน เธอกินดอกเบี้ยอย่างเดียวก็สบาย แต่สิบปีหลังมานี้ แม้จะเปลี่ยนเงินฝากไปเป็นกองทุน หรือโปรแกรมต่างๆ ตามที่ธนาคารเสนอมา เปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออกยังไง ก็ยังแย่ เธอบอกกับภรรยาผมว่ามรดกก้อนนั้น เดี๋ยวนี้มัน “มีค่า” ไม่มากแล้ว แม้ตัวเงินต้นจะเป็นเท่าเดิมก็ตามที

อันที่จริงสิ่งที่เธอพูดนั้น พวกนักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่าภาวะ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ” นั่นเอง

ผมอยากให้พิจารณาคำอธิบายของ John Maynard Keynes ในเรื่องนี้หน่อยเถอะ เพราะอธิบายได้เห็นภาพดีมาก เขากล่าวว่า “Economists draw an instructive distinction between what are termed the “money” rate of interest, and the “real” rate of interest. If a sum of money worth 100 in terms of commodities at the time when the loan is made is lent for a year at 5 per cent interest, and is only worth 90 in terms of commodities at the end of the year, the lender receives back, including his interest, what is only worth 94½. This is expressed by saying that while the money rate of interest was 5 per cent, the real rate of interest had actually been negative and equal to minus 5½ per cent. In the same way, if at the end of the period the value of money had risen and the capital sum lent had come to be worth 110 in terms of commodities, while the money rate of interest would still be 5 per cent the real rate of interest would have been 15½ per cent.” (A Tract On Monetary Reform, 1st Edition, London 1923, หน้า 20-21)

Keynes ยังวิเคราะห์ไว้อย่างยืดยาวว่าในภาวะ Inflation นั้น บรรดาผู้ดีเก่าที่อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยและค่าเช่า จะเสียเปรียบเศรษฐีใหม่ที่เป็นนักธุรกิจและนักเก็งกำไร ตลอดจนพนักงานหรือคนงานที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเดือนหรือค่าจ้าง (Keynes ใช้คำว่า The Investing Class, The Business Class, และ The Earner, อ่านละเอียดได้ในบทที่ 1: The Consequences to Society of Changes in the Value of Money)

ขอให้สังเกต Analysis อันนี้ว่าสอดคล้องกับสถานการณ์และ Chemistry ของตัวละครในประเทศไทยมากน้อยเพียงใดในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มยุคฟองสบู่สมัยรัฐบาล “น้าชาติ” มาจนกระทั่งสิ้นสุดยุค “ทักษิณ”

ผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้หรือแนวโน้มอันนี้ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปีนับจากนี้ เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศ พวกเขาย่อมมีแนวโน้มจะใช้นโยบายประชานิยมต่อไป ซึ่งนโยบายแบบนี้ มันจำเป็นต้อง Financing โดยวิธีที่ Keynes เรียกว่า “Inflation as a Method of Taxation” ทั้งโดยการก่อหนี้ หรือไม่ก็ต้องพิมพ์เงินเพิ่มหรือลดค่าเงินลงเรื่อยๆ หากอยากจะหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีดังที่เป็นมา

อย่าลืมว่าการก่อหนี้ของรัฐบาลนั้น ย่อมทำได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น คือระดับที่รายได้มวลรวมของสังคมไทยจะสามารถรับภาระดอกเบี้ยได้ หรือสุดๆ ได้แค่ว่าคนครึ่งประเทศ ทำงานเพื่อจ่ายภาษี ซึ่งจะต้องนำไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับคนอีกครึ่งหนึ่งที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่

ทว่า การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมอันตราย และนำไปสู่กลียุคได้ ผมขออ้างบทวิเคราะห์ของ Keynes อีกสักครั้ง และหวังว่าผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันและในอนาคตจะได้ประโยชน์จากข้อสังเกตุนี้ด้วยว่า “The active and working elements in no community, ancient or modern, will consent to hand over to the rentier or bond-holding class more than a certain proportion of the fruits of their work. When the piled-up debt demands more than a tolerable proportion, relief has usually been sought in one or other of two out of the three possible methods. The first is Repudiation. But, except as the accompaniment of Revolution, this method is too crude, too deliberate, and too obvious in its incidence. The victims are immediately aware and cry out too loud;…………….” (หน้า 64 อยู่ในบทที่เรียกว่า Public Finance and the Value of Money)

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงคิดว่าผมเกลียดเงิน !

หามิได้ ผมไม่ได้รังเกียจเงิน เพียงแต่ไม่อยากให้ฝาก Wealth ทั้งหมดของตัวเองไว้ในรูปของเงิน เท่านั้นเอง (ผมหมายว่า Wealth คือความมั่งคั่งของเราแต่ละคนที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ และหาเพิ่มด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ตลอดจนแรงสมอง อุตสาห์เก็บสะสมมาจนกระทั่งปัจจุบัน)

ผมเพียงแนะนำให้เก็บเงินไว้เท่าที่จำเป็น เพราะถ้าขืนเก็บไว้ในรูปสินทรัพย์ชนิดอื่นหมด เวลาจะซื้อหาอะไรก็ลำบาก ต้องขนของมาบาร์เตอร์กันให้ยุ่งยากไปหมด

ผมทราบดีว่าผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจ และเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่มีกินมีใช้ หรือไม่ก็เป็นลูกหลานของคนเหล่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้ลำบาก แต่ต้องบริหารความมั่งคั่งและสนใจเรื่องการลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติ แต่ถ้าจะถามว่า “แล้วจะให้เปลี่ยนจากเงินเป็นสินทรัพย์อะไรดีที่มันจะรักษาหรือเพิ่มพูน Value ของ Wealth ได้ดีกว่า” ผมก็ตอบให้ไม่ได้ แต่รู้ว่าต้องเปลี่ยนมันเป็น Hard Asset บ้าง

ผมมั่นใจอยู่อย่างเดียวว่าถ้าผมเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการตลอดจนนักลงทุนซึ่งกำลังจะลงทุนในช่วงนี้ ผมจะใช้เงินกู้ให้มากๆ โดยจะให้ดีต้องกู้เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ

สำหรับหลักการลงทุนนั้น ผมชอบที่ Marc Faber พูดกับเราเมื่อไม่นานมานี้ว่า “You should buy things that if you wrong, you don’t loose everything.” (ดูบทสัมภาษณ์ใน MBA ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา)

แต่ในเมื่อเรารู้ว่าโลกนี้มีแต่ความไม่แน่นอน

ราคาของสินทรัพย์ทุกประเภทในโลก (รวมทั้งเงินด้วย) ย่อมขึ้นลงไปตามอารมณ์ เหตุผล การตรึกตรอง และการตัดสินใจของมนุษย์ ไม่มีราคาของอะไรที่ขึ้นอยู่ตลอดโดยไม่มีลง และก็ไม่มีอะไรดิ่งลงตลอดโดยไม่มีวันโงหัวขึ้น แม้ทองคำจะมีราคาถึงบาทละ 15,000 ในปัจจุบัน ทว่าก่อนหน้านี้ไม่ถึงสิบปี มันก็เคยมีราคาเพียง 4,000 เท่านั้น และเป็นอยู่อย่างนั้นมาแล้วสิบกว่าปี หรืออย่างเงินบาท ก็เคยมีค่าถึง 18-19 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ มาก่อน.....



โชคชะตาของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน สมัยก่อนน้อยคนนักจะคิดว่าคุณทักษิณจะมีวันนี้ และก็ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคตเขาจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิม หลายสิ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุมของตัวเรา



เมื่อเข้าใจโลกสันนิวาส ผมจึงคิดว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือ “ลงทุนในตัวเอง”
ทุกวันนี้ ผมพยายามเตือนตัวเองให้ต้องอ่าน เขียน ฟัง สังเกต คิด ตรึกตรอง และจินตนาการอยู่เสมอ กลัวว่าสติจะเลอะเลือน หนังสือหนังหาดีๆ ก็ซื้อมาอ่านโดยไม่เสียดายเงิน อีกทั้งยังพยายามท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และสุขภาพก็พยายามใส่ใจ หลังจากละเลยมานาน



การลงทุนในตัวเองย่อมมี Economic Value เพราะถึงอย่างไร กำลังกายกับกำลังสมองและกำลังใจนี้แหละ ที่เป็นตัว Generate Wealth ให้กับตัวเอง



ฉะนั้น แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด จะร้อนขึ้นหรือจะเย็นลง ปลาในอ่าวไทยจะน้อยลง อากาศจะวิปริต ฝนไม่ต้องตามฤดูกาล สงครามกลางเมืองจะเกิด เงินบาทจะหมดค่า ตลาดหุ้นจะวอดวาย ธนาคารจะล้มครืน หรือที่พวกเรากลัวกันอยู่ลึกๆ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันจะทรงพระประชวร ฯลฯ



แต่ถ้าหากเรายังสามารถครองสติได้ดี ใช้ร่างกายและปัญญาครองชีวิตและสร้างความมั่งคั่งไปได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้อง “กลัว” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว



แน่นอน การที่ผมคิดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝา เพื่อให้ลูกผมได้รู้จักความยอกย้อนของเศรษฐกิจและค่าของเงิน



ย่อมเป็นการลงทุนอีกแบบหนึ่ง ที่อีกหน่อยผมเชื่อว่าพวกเขาคงจะพอใจยิ่งกว่าได้รับจากผมไปเป็นเงินทอง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ก.ค. 2552

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น