วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

ธุระครอบครัว

(Creative Non-Fiction เชิงวรรณกรรมการตลาดแนวโมเดินร์ไลฟสไตล์ ลำดับที่ ๒ ว่าด้วย whipcar.com)



ผมไม่เคยเห็นฝรั่งจำนวนมากแบบนี้มาก่อนตั้งแต่เกิดมา

ผมเห็นเด็กชาย เด็กหญิง และผู้ใหญ่ จำนวนมาก คนแก่ก็มีแยะ ดูไปก็คล้ายๆ ปู่กับย่า พวกเขาเดินผ่านไปมาหน้าร้านที่เรากำลังนั่งกินไอสครีมกันอย่างขวักไขว่ตลอดเวลา

เพียงไม่กี่นาทีที่พวกเรามานั่งตรงนี้ ผมลองนับเล่นๆ ได้เก้าร้อยกว่า แต่พอจะขึ้นถึงพัน ผมก็เริ่มสับสน เพราะใจมันลอยเมื่อเห็นคนขายของเล่นเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้า รอบๆ ตัวเขามีจานบินเล็กๆ หมุนรอบตัวเขาอยู่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวเฉไปด้านบน ประเดี๋ยวลงล่าง ประเดี๋ยวออกห่างตีวงกว้าง ประเดี๋ยวประชิดแคบเข้าไป วนไปเวียนมา คล้ายๆ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์แบบที่ครูเคยสอน ต่างกันแต่เพียงเจ้าจานนี้มันตามชายคนนั้นไปตลอดเวลา ชายคนนั้นเดินไปไหนมันก็ไปด้วย โดยหมุนรอบตัวเขาอยู่อย่างนั้น คล้ายกับเหาฉลามที่ติดตามเจ้าฉลามไปเป็นเงาตามตัว ดูๆ ไปก็น่ารำคาญเหมือนกัน

ยังไม่ทันไร อีกสองคนก็มาเสนอขายโปสการ์ด เย็บติดกันเป็นพวง เวลาคลี่ออก แผ่นล่างๆ ก็จะร่วงลงแต่ไม่หลุดออกจากกัน กระดอนขึ้นลง เพยิบพะยาบ ดูไปก็คล้ายหีบเพลงแอ็กคอร์เดียน พ่อบอกว่าเป็นโปสการ์ดรูปถ่ายสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอนนี้ ผมไม่เห็นมีใครสนใจ แต่พอเขาเปิดให้ดูข้างใต้กระเป๋า ผมเห็นผู้ใหญ่มุงดูกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ผู้ชายดูแล้วหัวเราะคิกคัก แต่ผู้หญิงมักหน้าแดง เอามือตีแขน ตีไหล่ ตีอกผู้ชาย พ่อสงสัยเลยเดินไปดู พอกลับมาพ่อก็เงียบ ถามเท่าไหร่ก็ไม่บอกว่าเป็นอะไร เพียงแต่พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “มันเป็นของเล่นผู้ใหญ่”

ผมเห็นคนไทยเดินผ่านมาหยุดใกล้ๆ เราด้วย เพราะได้ยินเขาเถียงกันเรื่องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บางคนว่าต้องไปทางโน้น แต่บางคนก็ว่า “ทางนี้ๆ” แล้วก็ชี้ให้กันดูแผนที่ แต่คนจีนที่นี่แยะกว่า เพราะร้านบะหมี่เป็ดที่พวกเราชอบกินก็อยู่ในซอยเยื้องไปหน่อยนึง แถวนั้นมีแต่ร้านขายเป็ดและร้านอาหารจีน แม้แต่ร้านฝังเข็มยังมีเลย

ข้ามถนนไปฝั่งโน้น เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ข้างในมีเครื่องเล่นจำนวนมาก คล้ายๆ ดรีมเวิลด์ที่แม่เคยพาไป แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดไฟ ถ้าเปิดแล้วผมอยากจะขอพ่อไปเล่นขับรถชนกัน และยิงปืน และขึ้นเครื่องบิน และนั่งชิงช้าสวรรค์

ทางมุมสวนทางด้านขวามือ ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังพ่นไฟออกจากปาก แล้วก็ควงคบเพลิง โยนขึ้นไปบนฟ้า โค้งเป็นครึ่งวงกลม ตามกันไปเป็นสาย สลับมือซ้ายขวา ค่อนข้างชำนาญ คนมุงดูต่างตบมือเมื่อเขาโค้งคำนับ ก่อนจะก้มลงหยิบเหรียญที่หลายคนหยอดไว้ให้ในขันเหล็กเล็กๆ

ข้างๆ เขาก็ยังมีนักดนตรีผู้หนึ่ง นั่งเคาะจานเหล็กรูปร่างคล้ายฆ้อง แต่มีตะปุ่มตะปั่มคล้ายลูกมะนาว ปูดอยู่บนผิวฆ้องเต็มไปหมด ไม่เหมือนฆ้องบ้านเราที่มีเพียงปูดใหญ่อันเดียวอยู่ตรงกลางเดี้ยะ

ชายคนนั้นนั่งเคาะลูกมะนาวเป็นเพลงผ่านลำโพงที่หิ้วมาเปิดด้วย เสียงมันก้องใส กังวาลดี ผมถามพ่อว่าเครื่องดนตรีชิ้นนั้นเขาเรียกอะไร พ่อก็ไม่รู้ แต่พ่อว่าอยากรู้ก็ลองไปซื้อซีดีที่เขาปูผ้าขายอยู่ตรงหน้ามาฟังดูก็ได้ ผมไม่สน เพราะผมชอบเล่นกีต้าร์มากกว่า

สักประเดี๋ยว มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหน้าตาน่ารัก ผมสีบลอน ถักเปีย อายุน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับผม เดินจูงมือแม่มานั่งโต๊ะข้างๆ เธอจ้องหน้าผม

ในใจผมตอนนั้นคิดว่าถ้าจะทักเธอจะต้องพูดยังไง Hello! หรือ Good Evening ดี เพราะฟ้ากำลังจะมืดแล้ว

แต่ก็พอดี มีแขกคนหนึ่ง แขวนแผงของเล่นที่หน้าอก คล้ายๆ แขกขายถั่วแถวโรงเรียนผม เดินมาหยุดที่หน้าโต๊ะเธอ แล้วก็ยื่นสายอะไรให้เธอสักอย่าง พอเธอบีบ ก็มีนกพลาสติกบินขึ้นมา เธอหัวเราะร่า แล้วก็หันมามองผมอีก

“น่ารักใช่มะ” เฮ้ย! นี่พ่อรู้ใจผมได้ยังไงกัน

“เธอไม่กล้าคุยหรอก” พี่สาวผมสำทับ เธอชอบดูถูกผม ทับถมผม และแย่งผมดูทีวีมาตั้งแต่เด็ก ผมไม่ค่อยชอบเธอเท่าไหร่ ผมรักน้องชายมากว่า แต่น้องไม่ได้มาด้วย ผมคิดถึงน้อง อยากให้เขามาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน แต่น้องต้องอยู่เป็นเพื่อนแม่

“พ่อ พ่อครับ โรงอาหารวันนี้เป็นที่ที่เค้าถ่ายหนังแฮรี่ พอร์ตเตอร์ ภาคแรกใช่ไหมครับ” ผมเปลี่ยนเรื่องทันที

“วิทยาลัยไครส์เชิช” พ่อตอบก่อนจะทำท่าชะเง้อมองหาใครสักคนไปรอบๆ

“ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านเคยพำนักที่นั่น ตอนเรียนอ็อกฟอร์ดอยู่ 3 ปี”

“นายกรัฐมนตรีก็เคยเรียน ใช่ไหมพ่อ เห็นครูที่โรงเรียนบอก”

“เรียกว่าวิทยาลัยเซนต์จอนด์ อยู่เยื้องออกมาตรงถนนข้างหน้า วันนี้เราไม่ได้เข้าไป”

“งี้พวกที่เรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องไปอยู่ที่นั่นกันหมดเหรอพ่อ ก็ไม่ได้อยู่ลอนดอน ใช่มั้ยพ่อ”

“ว่างก็นั่งรถไฟเข้ามาเที่ยวได้ ลงที่แพดดิงตัน”

“แล้วเราทำไมไม่นั่งรถไฟไปหล่ะ”

“ก็เราหลายคน แถมเรายังแวะเที่ยวที่อื่นได้อีก อย่างวินเซอร์บ่ายนี้ไง”

“จ่ายค่ารถไฟก็พอๆ กับเช่ารถ” พี่สาวผมสอดขึ้น เธอจะรู้ได้ไง ในเมื่อเธอก็เพิ่งจะเคยมาลอนดอนครั้งแรกพร้อมกับผมนี่แหละ

“จริงเหรอพ่อ”

“ผู้ใหญ่หนึ่ง เด็กสอง รถด่วน ก็คงราวหกสิบ ค่ารถเมล์อีก ก็คงพอกันกับค่าจอดรถ”

“แล้วนี่พ่อจ่ายพี่เขาไปเท่าไหร่ครับ”

“35 แต่เราต้องเติมน้ำมันให้เขาด้วย ตกแล้วก็มากกว่ารถไฟนิดหน่อย แต่สะดวกกว่า เพราะเราแวะเที่ยวได้ตลอด”

“แล้วพ่อไปเจอพี่เขาที่ไหน”

“ในเว็บ เมื่อคืน Whipcar.com พี่เขาเอารถไปขึ้นเว็บไว้ พ่อก็เลยแอ็ดเข้ามา”

“แล้วพี่เขาไม่ใช้รถเหรอ เพราะพี่เขาก็ต้องไปโรงเรียนเหมือนกัน”

“เขาขึ้นเว็บไว้ว่ารถว่างช่วงเวลาไหน พอดีวันนี้รถเขาว่าง และมันตรงกับที่เราอยากได้พอดี เขาเลยปล่อยให้เราเช่า ดีกว่าจอดไว้เฉยๆ”

“แล้วพ่อรู้ได้ไงว่าพี่เขาอยู่แถวนี้เหมือนกัน”

“ก็ในนั้นมันมีทุกย่านเลย ใครมีรถว่างจอดทิ้งอยู่ย่านไหน แล้วอยากให้คนเช่า ก็เอาไปขึ้นเว็บไว้ ในนั้นมันก็มีแผนที่ ปักหมุดเต็มไปหมด พอเราคีย์คำว่า Mayfair มันก็เลือกแต่ย่านนี้ให้เราว่ามีของใครอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็ตัดสินใจว่าจะแอ็ดใครดี ก็เลือกราคา เลือกยี่ห้อรถ มีหมดหล่ะตั้งแต่โตโยต้า บีเอ็ม ออสติน รถเล็ก รถใหญ่ รถตู้ก็มี”

“พ่อจ่ายเงินให้พี่เขายังไงครับ”

“เขาตัดเครดิตการ์ดผ่านเว็บไปตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว”

“แล้วงี้ เจ้าของเว็บจะได้อะไร”

“เขาตัด 15% จากส่วนเจ้าของรถ และผู้เช่าต้องจ่ายเพิ่มให้อีก 2.5 ปอนด์ ประมาณร้อยบาท”

“แล้วไงต่อ”

“เว็บเขาก็แจ้งไปทางเมล์หรือ SMS เข้ามือถือเจ้าของรถว่าเราตกลงเช่าแล้ว และนัดว่าจะมาเอารถตอนกี่โมง เราก็เอาใบคอนเฟริมกับใบขับขี่มาให้เจ้าของรถดู เขาก็เอากุญแจ่ให้เรา”

“แค่นั้นเอง”

“ใช่”

“แล้วพ่อรู้ได้ไงว่าพี่เขาเป็นคนไทย”

“ตอนแรกก็ไม่รู้ แต่พอแอ็ดเข้ามา เห็นชื่อแล้วก็พอเดาได้”

“ถ้าเราขับไปชนล่ะพ่อ”

“เว็บทำประกันฯ ให้แล้ว เราก็ต้องแจ้งประกันตามเอกสารในรถนั่น รู้สึกจะของ Willis”

“เมืองไทยมีไหมครับ”

“มี แต่ไม่เหมือนกัน นั่นเราต้องไปที่บริษัทรถเช่าหรือตามสาขา ถ้าอยู่ไกลๆ ก็หายาก ไม่เหมือนแบบนี้ที่เจ้าของรถเขาปล่อยเช่าเองเลย ฝรั่งเรียก Peer to Peer หรือ P-2-P”

“เกิดอยู่บนเขาหรือตามหมู่บ้านเล็กๆ ถ้าอยากเช่า ก็มีด้วย ใช่ไหมพ่อ” พี่สาวแทรกอีกแระ

“ที่นี่มีบนเขาด้วยเหรอพ่อ”

“เมื่อคืนพ่อเห็นหมุดปักเต็มเลย แถวภูเขาในสก็อตแลนด์”

“แล้วถ้าเราไม่เอาทั้งวันได้ไหม”

“ต้องดูในเว็บ หาพวกที่เขาปล่อยเช่าชั่วโมงสองชั่วโมงก็มีแยะ”

“พ่อให้ผมไปเล่นยิงปืนได้ไหมพ่อ” ผมไม่รู้จะถามอะไรพ่อต่อ ก็พอดีพี่สมพงษ์ เจ้าของรถเดินมาพอดี และแล้ว....พ่อทักทาย พี่ทักทาย ผมหวัดดี พี่หวัดดี คืนกุญแจ เที่ยวไหนมาบ้าง หนุกไหม ขับดีไหม เครื่องแรงน๊ะ ไม่รวนเลย กินข้าวยัง อาหารอร่อยไหม อากาศหนาวแล้ว จะกลับเมื่อไหร่ พรุ่งนี้จะไปไหนกัน ไปโน่นสิ ไปนี่สิ ไซแอ้นมิวเซียม เด็กต้องชอบ กรีนวิชก็ดี ทอยมิวเซียมอย่าไป ช่วยฟีดแบ็คด้วย ช่วยด้วยน๊ะ อย่าลืมครับ เตือนพ่อด้วย ่พ่อขอตัว ผมหวัดดี พี่หวัดดี โชคดีน๊ะ ขอบคุณครับ เจอกันเมืองไทย....

“พ่อ ฟีดแบ็กคืออะไรเหรอพ่อ”

“เหมือนอีเบย์ ถ้าเราชอบพี่เขา ชอบรถพี่เขา ก็ให้ดาวไปตามนั้น กี่ดาวก็ให้ไป”

“ให้ดาวทำไมพ่อ”

“ความน่าเชื่อถือไง” พี่สาวชิงตอบอีกแล้ว “คนที่คิดจะมาเช่าต่อจากเรา จะได้เห็นว่ารถคันนี้น่าเช่า และเจ้าของไม่ค่อยเรื่องมาก อะไรแบบนี้ไง”

พ่อพยักหน้าเห็นด้วย พร้อมกับควักเงินให้คนละ 10 ปอนด์

“ไปแลกเหรียญ แล้วใครจะเล่นอะไรก็เล่น พ่อให้เท่านี้น๊ะ ถ้าเกินก็ออกเอง”

ผมเพิ่งรู้ว่าตรงนั้น คนเขาเรียกว่า “เลสเตอร์สแควร์”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับควบ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

หมายเหตุ: บทความนี้ เป็นเรื่องสั้นที่ผมทดลองเขียนขึ้น โดยใช้เทคนิคทางวรรณกรรม เพียงแต่มันจะบอกเล่าเรื่องราวขององค์กรจริง เทรนด์จริง ตลอดจนกิจกรรมธุรกิจที่มีจริง ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ผมเขียนมันขึ้นมาจากเรื่องที่รับรู้มาจริง หาข้อมูลมาจริง พูดคุยกับแหล่งข่าวมาจริงในฐานะนักข่าว และใช้หรือประสบกับตัวมาจริงในฐานะตัวละคร และจากสถานที่จริง ยกเว้นการดำเนินเรื่อง ที่บางทีผมได้อาศัยจินตนาการปะปนเพิ่มเติมเข้าไปกับเรื่องจริง ช่วงเวลาในจินตนาการปนกับช่วงเวลาจริง และบทบรรยาย Landscape ในบทความสุดท้าย ที่ผมเสริมแต่ง Landscape ในจินตนาการ ต่อเติมเข้าไปกับฉากสถานที่จริง (สถานที่ในสามบทความแรกเป็นฉากจริงไม่ได้แต่งเติม) เพื่อเร้าอารมณ์ โดยคิดว่ามันมิได้กระทบต่อแก่นสารสำคัญ หรือบิดเบือนความจริงของกิจกรรมที่ผมต้องการสื่อเลย
ตัวละครเกือบทุกตัวล้วนมีตัวตนจริง (ยกเว้นตัวละครประกอบบางตัวในบทความที่สามและบทความสุดท้าย) แต่ผมได้เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ ตามที่เห็นสมควร โดยบทสนทนาและบทรำพึงรำพันกับตัวเองในเชิงกระแสสำนึกนั้น ผมแต่งมันขึ้น เพื่อให้มีความงามตามสมควรในเชิงศิลปะ

หวังว่าท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำจะพอใจ และจะช่วยสร้างจินตนาการให้ท่านตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น