วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

ดาวินชีที่ปลายนิ้ว



สมัยโน้นตั้งใจมากว่าจะไป Uffizi แต่พอไปถึงปากทาง ก็พบว่าพิพิธภัณฑ์ถูกสั่งปิดเพราะไฟเพิ่งจะไหม้ไปหยกๆ น่าเสียดาย และฝังใจว่าสักวันต้องกลับไปดูผลงานเก่าแก่ด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้ง

อีกหลายปีต่อมา Blogger ได้ศึกษาเรื่องราวของ Judith ในพระคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม ก็อยากจะเห็นภาพเขียน Judith and Holofernes เวอร์ชั่นของ Artemicia Gentileschi เพราะว่ากันว่า มันชวนขนพองสยองเกล้าอย่างมาก แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีโอกาสกลับไป Uffizi อีกเลย แม้จะมีกิจให้ผ่านไปแถวทัสคานีหลายครั้งหลายครา

จนเมื่อสองปีกว่ามานี้เอง ที่ Blogger มีวันเวลาเว้นว่างจากการงาน เลยมีโอกาสเดินทางไปดูผลงานของ Tulouse-Lautrec ที่บรัสเซล ปารีส และอัลบิ ก็เผอิญได้ยลรูปปั้นของ Judith ซึ่งปั้นมาราวปลายยุคกลางที่มหาวิหารกลางเมืองนั้น แล้วเลยนึกขึ้นได้ จึงเดินทางต่อไปยังฟลอเรนซ์และได้ดูภาพสยองสมใจ

ที่ท้าวความมายาว เพราะอยากให้รู้สึกถึงความยากลำบาก ในแง่โอกาสของคนสมัยก่อนเทียบกับคนสมัยนี้ ในเชิงของการเสพงานศิลป์

ไม่ต้องย้อนไปไกลก็ได้ เอาแค่สมัย "ก่อนอินเทอร์เน็ต" กับสมัย "หลังอินเทอร์เน็ต" แค่นี้ก็ต่างกันลิบลับ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็หาดูภาพเขียนและชิ้นงานศิลปะที่สมัยก่อนหาดูยากมากได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เพียงคลิกไม่กี่ครั้ง แม้แต่งานที่อยู่ใน Private Collection ประเภทสมบัติส่วนตัวของใครหรือองค์กรใดที่มิได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ก็ยังหาดูได้บนอินเทอร์เน็ต เพราะเจ้าของใจกว้าง ยอมถ่ายรูปหรือสแกนรูปมาให้ชมกัน ยกตัวอย่างมหาเศรษฐี Bill Gates ที่ยอมเผยแพร่ Lesiester Codex ของ Da Vinci ให้พวกเราดูผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ซื้อมาตั้ง 31 ล้านเหรียญฯ เป็นต้น

ดังนั้น Blogger จึงรู้สึกสะใจมากกับโครงการ Art Project ของ Google (www.googleartproject.com) ที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงชักชวนพิพิธภัณฑ์สำคัญ 17 แห่งของโลกเข้าร่วมโครงการสแกนภาพถ่ายความละเอียดสูงให้ดูกันแบบ 360 องศา หมุนได้โดยรอบ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ซูมอิน ซูมเอ้าท์ สไตล์ Street View ที่ใช้มาก่อนหน้านี้ใน Google Map นัยว่างานนี้รวบรวมไว้กว่าพันภาพ

Blogger ขอชมเชยจากใจจริง และอยากให้กำลังใจด้วย แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับ “Blog การเงิน” ภายใต้หัวคอลัมน์ที่ Blogger รับผิดชอบเขียนอยู่ทุกเดือนก็ตาม แต่เรื่องนี้น่าจะได้รับความสนใจจากนักการเงิน นักลงทุน เจ้าของกิจการ และผู้ที่สนใจงานศิลปะในเชิงของการลงทุนหรือการออม (Store Wealth) ที่เป็นแฟนติดตามคอลัมน์นี้อยู่โดยมาก เพราะส่วนใหญ่พวกที่เสพงานศิลป์ในโลกนี้ ถ้าไม่ใช่ Public Museum หรือ Private Museum แล้ว ก็มักจะเป็นนักธุรกิจและนักการเงินเสียเป็นส่วนมาก

Blogger ลองคลิดดูแล้วก็เห็นว่าสมกับคำคุย ทำให้เรารู้สึกได้เหมือนเข้าไปเดินในห้องแสดงงานจริงๆ และการซูมอินก็สามารถขยายให้เห็นได้ใกล้ชิดมากๆ อย่างฝีแปรงของ Van Gogh ก็เห็นจริงๆ จะด้อยกว่าก็ตรงความนูนความเว้าและความดิบ ความธรรมดา ความ “พื้นๆ” ซึ่ง Blogger ว่าภาพสแกนเหล่านั้นยังให้ได้ไม่สมจริง อีกอย่าง ความงามและความเร้าอารมณ์หรือกระทบใจในเชิงภาพรวมที่จะสัมผัสได้เวลาเรายืนอยู่หน้าภาพบางภาพ จะขาดหายไปเมื่อคลิกดูมันในอินเทอร์เน็ต

Blogger ให้ 7 เต็ม 10

และแม้จะขาดพิพิธภัณฑ์สำคัญจำนวนมาก เช่น Lovre, d’Orsay, Prado, Picasso Museum, Vatican, ฯลฯ แต่หลายแห่งที่เข้าร่วมก็มีงานหัวกะทิอยู่เช่น New York Met, MoMa, Rijksmuseum, Van Gogh Museum, Tate, National Gallery, Uffizi เป็นต้น

Blogger ดีใจแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสเช่นนี้ นับเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ที่ให้คนเดินดินกินข้าวแกงได้เสพงานศิลป์ชั้นหัวกะทิของโลก ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ยล

พวกเราก็รู้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นมีความพิเศษ ต่างจากโลกอนาล็อกตรงที่มันสามารถ Copy และ Paste ได้ทันที สามารถต่อแขนต่อขา ต่อเติมเสริมแต่ง ได้ดังใจนึก ภาษาการตลาดสมัยใหม่เรียกว่า Customization แต่กูเกิ้ลเรียกว่า “การสร้างคอลเลกชั่นของคุณเอง” โดยเขาอนุญาตให้มีช่อง ‘Create an Artwork Collection’ เพื่อเก็บเป็น Private Collection ของเราเอง เป็น Cloud Collection ที่แขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตผ่าน Google App โดยจะใส่ข้อคิดเห็นต่อภาพแต่ละภาพยังไงก็ได้ และส่งต่อให้เพื่อนฝูงบน Social Network ได้อีกด้วย นับเป็นสูตรสำเร็จของ Digital Marketing ในยุคนี้

แม้ Blogger จะรู้อยู่แก่ใจว่า Google ย่อมได้ประโยชน์เมื่อคนแห่เข้าไปในนั้น และเขาก็จะไปแปลงจำนวนคลิกให้เป็นรายได้ผ่านการขายโฆษณา แล้วก็จะไปดันกำไรและราคาหุ้นเขาในที่สุด แต่จะมีกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตใดบ้างในยุคนี้ ที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือไม่ถูกแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ได้บ้างล่ะ

เพียงแต่คราวนี้มันเปลี่ยนจากที่เคยต้องเสียให้กับสายการบิน โรงแรม ภัตราคาร และพิพิธภัณฑ์ (เมื่อต้องบินไปดู) ก็มาเสียให้ Google กันแทน

นั่นแหละวิธี “กินรวบ” โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต

เขียนโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ภายใต้นามปากกา Blogger
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับควบ เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น