วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

“กระแสสำนึก” ของนายธนาคารแห่งอนาคต *


(*Creative Non-Fiction เชิงวรรณกรรมการเงิน ลำดับที่ ๑ ว่าด้วย KIVA)


เช้านี้อากาศเย็นเยือกแต่ไร้หมอก บุณฑริกไม่เคยหนาวเยี่ยงนี้มาหลายปีดีดัก ทอดสายตาจากเฉลียงของบ้านเชิงเขาหลังบ่อเลี้ยงปลาเทราต์ จะเห็นพาโนราม่าภาพใหม่ที่เพิ่งจะร่างเสร็จโดยน้ำมือมนุษย์ แซมลงบนผืนผ้าใบแห่งธรรมชาติอย่างลงตัว มันเป็นพาโนราม่าภาพใหม่บนรองพื้นเดิม ของเมื่อสิบสองปีก่อน แต่พาโนรามาภาพเก่าสมัยที่เปี๊ยกยังเด็ก มันเป็นอีกภาพหนึ่ง ไม่ใช่ภาพนี้


เปี๊ยกเพิ่งสังเกตว่าดงต้นหลิวเชิงเขาที่ห่อหุ้มตัวบ้านไว้ทั้งสามด้าน ซ้าย ขวา และตลอดแนวหลัง​บ้าน ซึ่งไต่เล่นระดับสูงขึ้นไปเป็นแถวทึบจนเกือบถึงที่โล่งกว้างบนยอดเนิน เติบโตสูงใหญ่มากแล้ว และแฝงความนัยไว้หลายแง่ จะว่าร่มรื่นก็ร่มรื่น จะว่ารื่นรมย์ก็รื่นรมย์ จะว่าน่าขยาด ก็น่าขยาด จะว่าน่าค้นหา ก็น่าค้นหา และจะว่าน่ากลัว ก็น่ากลัว


สมัยเด็กๆ เปีี๊ยกไม่เคยคิดมากกับดงต้นหลิวเหล่านี้มาก่อนเลย แต่เมื่อได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองนอก เปี๊ยกก็เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับต้นหลิวไปโดยสิ้นเชิง


มันเป็นเช้าที่สดใส เช้าที่น่าอภิรมย์ เปี๊ยกชอบตอนเช้า และชอบที่จะตื่นขึ้นมาจ้องมอง “ตอนเช้า” เขาชะโงกมองปลาเทราต์ที่ท้องสระ เห็นมันสบัดหางเปลี่ยนทิศทางทันทีที่เงาเขาทอดทาบลงบนตัวมัน พวกมันมาจากโครงการหลวงดอยคำ มาทดลองเลี้ยงที่นี่ตลอดหนาวนี้ แม้น้ำจะใส แต่เขากลับเห็นภาพพวกมันซ้อนๆ บิดๆ เบี้ยวๆ เนื่องเพราะแสงอาทิตย์ยามเช้าช่วยหักเหภาพเหล่านั้น ผ่านฟองกระเพื่อมของเครื่องพ่นอ็อกซิเจน ก่อนที่จะสะท้อนมาที่ตาเขานั่นเอง


พ้นจากขอบสระด้านโน้นไป เป็นสนามหญ้าหน้าบ้าน กว้างขวางจรดขอบรั้วทั้งสามด้าน น้ำค้างบนยอดหญ้ายังไม่เหือดดี เปี๊ยกชอบกลิ่นหญ้าเจือน้ำค้างเวลาถูกรองเท้าบู๊ตหรือยางรถยนต์บทขยี้ แต่มันกลับส่งกลิ่นต่างออกไป เมื่อเขาย่ำมันด้วย Adidas Stan Smith เบอร์ 8 ตอนแสงอาทิตย์เผาคราบน้ำค้างจนหมดจดแล้ว


รั้วลวดหนามทำหน้าที่กั้นระหว่างสนามหญ้ากับแนวพุ่มไม้ เตี้ยบ้างสูงบ้าง มีทั้งไม้ผลกินได้อย่างมะม่วง มะนาว ชมพู่ และไม้ยืนต้นอย่างสนและเค็ง ปลูกลาดลงไปสองข้างทาง จนไปหยุดอยู่ที่แนวแรกของป่ายาง เป็นป่ายางพาราน้ำมือมนุษย์ ปลูกเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่พ่อกำนันริ่เริ่มนำมาปลูกก่อนใครเพื่อน เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ก่อนญาติพี่น้องจะเอาอย่าง แล้วเพื่อนบ้านนอกวงศาคนาญาติ ตลอดจนสมาชิกของหมู่บ้านใกล้เคียง และหมู่บ้านถัดๆ ไป จะทะยอยแห่ตามจนพลิกท้องทุ่งนาให้กลายมาเป็นสวนป่า ทำให้ภาพพาโนรามา ณ จุดที่เปี๊ยกยืนมองอยู่นั้น เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง


บัดนี้ยางพาราเติบใหญ่เต็มตัว เห็นเป็นแถวแนวยาวลงไปสุดลูกหูลูกตา มีเพียงถนนลูกรังสายเก่าผ่ากลาง แบ่งแนวป่าออกเป็นสองซีก และมุ่งหน้าไปออกทางหลัก ที่มุ่งสู่ชายแดนลาว ณ ช่องเม็ก เป็นอันสิ้นเขตแดนไทย


ก่อนนี้ สมัยที่เปี๊ยกยังเด็ก ไม่มีใครคิดว่าคนอีสานจะกลายเป็นชาวสวนยาง ทว่าบัดนี้ อาชีพสวนยางเป็นอาชีพหลักอันหนึ่งของชาวอิีสาน คนอีสานจำนวนมากที่ผิดหวังพ่ายแพ้ให้กับแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับบรรดานายจ้างเจ้าของโรงงานที่พ่ายแพ้ให้แก่จีนอีกทอดหนึ่ง หรือระอากับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ และโอกาสอันตีบตันที่สังคมสมัยใหม่มอบให้ ต่างพากันมุ่งหน้ากลับบ้าน หันมาประกอบการเล็กๆ น้อยๆ และรับจ้างกรีดยางคู่ขนานไปกับการทำนาเพื่อยังชีพ การเติบโตของจีน แม้จะเร่งทำลายอดีตนายจ้างแถบปริมณฑลและอีสเทรินซีบอร์ดของพวกเขา แต่กลับช่วยหนุนส่งให้ราคายางพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เปี๊ยกกำลังครุ่นคิด รำพึงรำพันกับตัวเองอยู่นี้ ยางพารากิโลกรัมละ 150 บาทแล้ว โดยนายหน้าหอบเงินสดมารับซื้อทุกสิบห้าวัน จึงต้องเร่งกรีดยาง ผ่านระบบ Profit Sharing ที่แบ่ง 50:50 ระหว่างเจ้าของสวนยางกับคนกรีดยางในปีแรก และ 60:40 ในปีต่อๆ ไป


ชาวบุณฑริกมั่งคั่งขึ้นมาก ลูกหลานที่เคยจากไปก็ทะยอยกลับมาอยู่กับพ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องจากบ้านไปหากินแดนไกล ถ้าไม่พอใจสวนยาง ก็สามารถประกอบการอื่นได้ด้วยเงินออมของพ่อแม่และเงินทุนของเปี๊ยก


เปี๊ยกภูมิใจอยู่ลึกๆ ที่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการสร้างความมั่งคั่งของชาวบ้าน แม้จะเพียงส่วนเสริม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีศักยภาพ

แม้เปี๊ยกจะร่ำเรียนมาทาง Finance แต่เมื่อได้ฟังคำบรรยายของศาสตราจารย์ Mohamad Yunus เมื่อหลายปีก่อน เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตจากเดิมที่คิดจะเติบโตในวงการหุ้นและ Private Equity ตัดสินใจเข้าร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลังเรียนจบ เขาผ่านงานมวลชนมาแล้วหลายรูปแบบกับหลายองค์กร แต่ก็มาจบกับ Microfinance ตามที่ร่ำเรียนมาและเคยฝึกงานก่อนจบ


เขาเขียนโครงการนำเสนอกับมูลนิธิสำคัญๆ ในต่างประเทศ เพื่อระดมเงินทุนมาปล่อยกู้ให้กับพ่อกำนันและวงศาคนาญาติก่อนในเบื้องแรก ด้วยวงเงินไม่เกินรายละ 20,000 บาท และเงื่อนไขใกล้เคียงกับ ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร เพียงแต่ของเขาไม่ต้องใช้หลักประกัน และยังจัดบริการความรู้เชิงการจัดการ การผลิต และการตลาด เสริมให้กับผู้กู้อย่างเป็นกันเองและเป็นระบบ ถ้าผู้กู้รายใดมีประวัติการเบิกใช้เงินและชำระคืนเงินต้นดี ตรง เชื่อถือได้ เขาก็จะเพิ่มวงเงินและผ่อนคลายเงื่อนไขให้ในงวดต่อไป ของเขาจึงไม่เคยมีหนี้เสียเลย อย่างมากก็ชำระล่าช้าแต่ที่สุดก็ตามกลับมาได้เป็นปกติ โดยเขาขยายเครือข่ายกิจการด้วยอาศัยปากต่อปากและให้ผู้กู้เดิมค้ำประกันผู้กู้รายใหม่ จนสามารถแผ่ขยายธุรกิจออกนอกแวดวงญาติพี่น้อง จนออกนอกหมู่บ้าน นอกตำบาล นอกอำเภอในที่สุด


เขากำลังคิดจะขยายออกนอกจังหวัด แต่ยังติดที่แหล่งเงินทุนและทีมงาน ซึ่งตอนนี้ มีเขากับหญิงพัน แฟนสาว และรุ่นน้องร่วมอุดมการณ์อีกเพียงสองคน เขาทราบจากเพื่อนฝูงในแวดวงเอ็นจีโอที่ทำงานมวลชนในกัมพูชา ว่าขณะนี้มีเพื่อนนักเรียกเก่าสแตนฟอร์ดสองคนผัวเมียในซานฟรานซิสโก จัดทำเว็บไซต์ www.kiva.org เป็นตัวกลางให้บรรดา Microfinance สามารถออกตัวได้ในตลาดทุนโลก ผ่านสมาชิกเว็บไซต์ผู้ใจบุญหรือมีอุดมการณ์และต้องการปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการที่เป็นคนเล็กคนน้อย


เปี๊ยกติดต่อ Kiva ผ่าน Matt Flannery ผู้ก่อตั้งเว็บนั้นทันทีที่ทราบข่าว และเขาก็ได้รับคัดเลือกจาก Kiva หลังจากต้องผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างหนักหน่วงทั้งในเชิงความเข้มแข็งของการจัดการและความเข้มข้นเชิงมวลชนและสังคม ให้เป็นหนึ่งในโครงข่าย Field Partner หรือตัวแทนในพื้นที่ ซึ่ง Kiva อ้างว่ามีอยู่แล้วกว่า 200 ราย กระจายกันไปใน 54 ประเทศ และเป็นตัวกลางผ่านเงินกู้มาแล้วกว่า 130 ล้านเหรียญฯ นัยว่าองค์กรของเปี๊ยกเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย

นับแต่นี้ เปี๊ยกและสหายต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม Microfinance ของตนให้อยู่ในรูปดิจิตัลไฟล์ ต้องจัดทำ Profile องค์กรและของชาวบ้านผู้ขอกู้ ตลอดจนรายละเอียดโครงการ แผนการใช้เงิน และตารางการชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย เป็นภาษาอังกฤษ แล้วอัพโหลดขึ้นโฆษณาผ่านเว็บ Kiva เพื่อขอให้สมาชิกเว็บ Underwrite เงินกู้ โดยแต่ละรายมีสิทธิเลือกวงเงินปล่อยกู้ได้ตั้งแต่รายละ 25 จนถึง 150 เหรียญฯ แล้วแต่ศรัทธาและความเชื่อมั่น เมื่อมีผู้ Underwrite Loan ผ่าน PayPal หรือ Credit Card จนครบจำนวนแล้ว Kiva ก็จะส่งมอบเงินกู้ก้อนนั้นให้กับเปี๊ยก ทดแทนให้สำหรับเงินก้อนที่เปี๊ยกสำรองจ่ายออกไปก่อนแล้ว ซึ่งระยะแรกอาจจะอยู่ระหว่าง 300-375 เหรียญฯ ต่อโครงการ และวางแผนการใช้คืนในระยะ 12-13 เดือน นั่นทำให้เปี๊ยกมีเงินทุนมาหมุนเวียนปล่อยกู้ให้กับชาวบ้านรายอื่นต่อไปได้ไม่รู้จบ....

นั่นหมายความว่า นับแต่นี้ นอกจากเปี๊ยกจะต้องเป็น NGO ที่ดี เป็น Banker ในอุดมคติแล้ว เขายังจะต้องสวมบทบาท “Storyteller” ที่เก่งและน่าเชื่อถือ อีกโสตหนึ่งด้วย

เปี๊ยกพร้อมแล้วกับบทบาทใหม่ของตัวเอง และเขาก็ภูมิใจกับอาชีพนี้ ที่ได้ใช้วิชาความรู้เชิงทุนนิยมที่รำ่เรียนมา ควบคู่ไปกับการอุทิศตัวรับใช้มวลชนตามอุดมคติ เขารู้สึกดีมากเมื่อนึกคิดมาถึงตรงนี้....fell good

และขณะที่เขายังรู้สึกอิ่มเอมและแอบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่เพียงลำพัง ลมหนาวแรกของเช้านี้ก็พัดวูบเข้าปะทะใบหน้า จนเปี๊ยกยิ่งรู้สึกได้ถึงรูปธรรมของความอภิรมย์และอิ่มใจ เขาหันไปมองดงหลิวข้างๆ พลันนึกถึงบทพรรณาที่ช่างงดงาม ที่ผู้เขียนสามารถเลือกสรรคำสวยมาปั้นแต่งวลีและประโยคได้ราวกับกำลังร่ายบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ว่า

“ดงต้นหลิวเหล่านี้จะโยกกิ่งก้านเสียดส่ายใบบังของมันกับกระแสลมเป็นที่สำเริงสำราญ ใบอันมีสีสันเยีี่ยงเงินยวงของมันที่สะท้อนแสงวิบวับกับแสงตะวันจะพลิ้วไหวพะเยิบพะยาบเป็นพืดแน่นขนัด ก่อให้เกิดสุนทรียภาพอันชวนตื่นตะลึง ต้นหลิวประดานี้ไม่อาจเติบโตเป็นไม้ใหญ่สมบูรณ์งามสง่ากับเขาได้เลย กิ่งก้านสาขาของมันมิได้แข็งแกร่งขึงขัง มันเป็นได้แค่สุมทุมพุ่มไม้เตี้ยต่ำ มีเรือนยอดเป็นทรงกลมป้อม และมีรูปทรงโครงร่างอันอ่อนไหว กิ่งแขนงอันอ้อนแอ้นอรชรของมันจะโยกส่ายทันทีแม้ว่ากระแสลมที่พัดผ่านจะแผ่วจางบางเบาอย่างที่สุดก็ตาม ลู่เอนยวบยาบเยี่ยงพงหญ้า และเอาแต่โอนเอนสั่นพลิ้วอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเราอดรู้สึกไปไม่ได้ว่าดงหลิวทั้งดงนี้กำลังเคลื่อนไหว และตัวมันเองนั้นก็คือสิ่งมีชีวิตจิตใจ เพราะว่ากระแสลมจะทำให้พื้นผิวส่วนบนของดงหลิวทั้งดงเกิดเป็นระลอกคลื่นแห่งท้องทะเล และจะเขียวขจีอยู่เช่นนั้นจนกว่ากิ่งของมันจะถูกลมพัดจนบิดพลิกและยกสูงขึ้น ซึ่งทีนี้แหละด้านล่างของใบซึ่งเป็นสีเงินยวงของมัน ก็จะพลิกขึ้นต้องแสงตะวัน” **


เปี๊ยกหันกลับไปมองทิวป่ายาง ผ่านสระน้ำ ผ่านสนามหญ้า ผ่านแนวรั้ว ผ่านพุ่มไม้ ผ่านป่ายางของพ่อกำนัน ผ่านป่ายางของน้าแหวง ผ่านป่ายางของพ่อใหญ่ด้วง ผ่านป่ายางของใครต่อใครที่ไล่เรียงลงเนินไปจนสุดสายตา เขาสังเกตุเห็นฝุ่นคลุ้งขึ้นที่แนวถนนเป็นระยะ


กำลังมีรถกระบะมุ่งหน้ามาทางนี้สามคัน

**ท่อนนี้คัดจาก “แดนสนธยาดาถรรพ์” แปลจาก “The Willows” ของ Algernon Blackwood แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง, Pajonphai Publishing มีนาคม 2553, หน้า 19


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับพิเศษ ควบเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น