วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บันได 3 ขั้นกู้วิกฤติ: ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ซ่อมสร้าง




การจัดการกับภาวะวิกฤตอันเนื่องมาแต่ภัยธรรมชาติหรือการก่อการร้ายหรืออุบัติเหตุขั้นร้ายแรงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างย่อมเป็นภาระกิจสำคัญอันหนึ่งของรัฐบาล โดย Performance ของมันย่อมสะท้อนให้ประชาชนเห็นถึง "กึ๋น" ของรัฐบาลนั้นๆ ด้วย เพราะผลลัพธ์ของทุกนโยบายทุกปฏิบัติการย่อมเผยตัวแสดงตนให้เห็นอย่างทันตา วัดได้ สัมผัสได้ ผ่านดีกรีความรุนแรงที่คลี่คลายผ่ายผ่อนลดน้อยถอยลงหรือเขม็งเกลียวถั่งโถมโหมหลากขึ้นหลังปฏิบัติการนั้นๆ และยังรู้เห็นรับสัมผัสผ่านสื่อได้ตลอดวันตลอดคืน


ถ้าจะพูดให้ง่ายที่สุด กลยุทธ์เชิงจัดการกับอุทกภัยครั้งนี้ ควรแบ่งงานออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ


1. ขั้นช่วยเหลือ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองด้านคือ "ต้านน้ำ" และ "ช่วยคน"


การจัดการกับมวลน้ำและทางเดินของน้ำลงสู่ทะเลนั้นรัฐบาลทำได้ดีอยู่แล้วในขณะนี้ (และกำลังแสดงความ "เป็นมวย" ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากตั้งหลักและกระชับอำนาจสั่งการได้) ทว่า กระบวนการช่วยเหลือประชาชน โดยมุ่งรักษาชีวิต ทรัพย์สิน และจัดหาที่อยู่ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และจัดระบบขับถ่ายของเสีย ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เท่าที่ผ่านมาผมถือว่ารัฐบาลจัดการได้ในระดับพอใช้เท่านั้นถ้านับเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ยังถือว่าสอบตก (ผมต้องขอออกตัวตรงนี้เลยว่าผมและครอบครัวเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายจัดการน้ำครั้งนี้ เพราะบ้านผมอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน แถวๆ ซอยทองหล่อ)


หากเราลองจินตนาการไปข้างหน้าอีกสักนิด เมื่อผู้ประสบภัยมีที่อยู่ชั่วคราวและได้รับอาหารไม่อดอยากอย่างทั่วถึงแล้ว ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญต่อไปคือปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาแต่เชื้อโรคที่มากับน้ำและที่เกิดจากความเบียดเสียดยัดเยียดหรือดำเนินชีวิตผิดแผกไปจากครรลองเดิม และจากความเบื่อหน่ายหรืออึดอัดกลัดกลุ้ม เป็นต้น


ดังนั้นหมอ พยาบาล บริการสาธารณสุข ย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดเตรียมให้เพียงพอ ผมเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ เขาจะใช้โรงพยาบาลสนาม (อย่างเช่น EADS' TransHospital เป็นต้น) ซึ่งค่อนข้างครบครันและสะดวกเหมือนโรงพยาบาลทุกประการ โดยระยะนี้ หากจำนวนแพทย์และพยาบาลของเราไม่เพียงพอ หรืออุปกรณ์ไม่พร้อม เราก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติ เช่น กาชาดสากล และหน่วยงานบางหน่วยของสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน NGOs ที่เชี่ยวชาญพื้นที่ ให้เข้าช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง


รัฐบาลจะต้องคิดการณ์และวางแผนขั้นตอนต่อไปอย่างรัดกุมตั้งแต่บัดนี้


2. ขั้นฟื้นฟูเยียวยา


พร้อมกับมาตรการช่วยเหลือที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลจะต้องเริ่มปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาไปพร้อมกัน โดยกลยุทธ์ทั้งหมดในข้อนี้ต้องมุ่งไปที่ "มนุษย์" ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัต เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติโดยเร็ว 


ในขั้นตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องจัดหาแต่เนิ่นๆ และในขั้นตอนนี้เองที่รัฐบาลจะต้องแสวงความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งองค์กรธุรกิจ และจากกลุ่มคนในซีกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตโดยตรง ทว่ามีจิตสาธารณะ หรือจากหน่วยงานสากลและรัฐบาลต่างชาติ


หากรัฐบาลมีแผนการขั้นฟื้นฟูเยียวยาที่ดีแบบบูรณาการ ก็จะสามารถรวบรวมและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดการรวมศูนย์ และจัดแบ่งหน้าที่ของแต่ละองค์กรได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกัน ดีกว่าต่างคนต่างทำ รัฐทำอย่าง เอกชนมาทำซ้ำซ้อนเข้าไปอีก (หรือรัฐดันไปทำในส่วนที่เอกชนถนัดกว่า) ส่วนองค์กรสากลก็มีแบบแผนปฏิบัติของตนเอง ฯลฯ


ในโลกนี้ มีรัฐบาลของหลายประเทศอย่างเช่นอิสราเอล ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ล้วนเป็นยอดในเรื่องทำนองนี้ เพราะบ้านเมืองเขาประสบวิกฤติบ่อย และมีหน่วยงานตลอดจนผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางซึ่งมีประสบการณ์สูง ตลอดจนแผนปฏิบัติการณ์ฟื้นฟูเยียวยาระดับชาติที่ทดลองใช้อย่างได้ผลมาแล้วกับวิกฤติร้ายแรงสำคัญๆ ทั่วโลก


หากรัฐบาลไทยจะแสวงหาคำปรึกษาจากรัฐบาลที่ว่ามานั้นได้ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง และไม่เห็นจะเสียหายอันใด


3. ซ่อมสร้างและพัฒนา


ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวเนื่องด้วยเศรษฐกิจและการทำมาหากิน อย่าลืมว่า แม้จะเกิดวิกฤติร้ายแรงแค่ไหน ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังจะดำเนินชีวิตใกล้เคียงเดิมตอนก่อนวิกฤตินั่นแหละ จะมีปรับเปลี่ยนบ้างก็ไม่ห่างไกลไปจากแบบแผนเดิมเท่าใดนัก 


หน้าที่ของรัฐบาลคือการซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาทำงานได้ดังเดิม คือถ้าพูดภาษานักเศรษฐศาสตร์ก็ว่าต้องอำนวยการและยื่นมือเข้าไปส่งเสริมให้ "ตลาด" กลับมาทำงานอย่างปกติให้เร็วที่สุด หากมีสิ่งอันใดกีดขวาง รัฐบาลต้องเป็นผู้ถากถางหรือถอนทิ้งไป 


รัฐบาลจำต้องซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม ระบบสื่อสาร ระบบสินเชื่อ สภาพคล่องทางการเงินสำหรับธุรกิจ (เช่นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ) และสำหรับครอบครัวผู้เสียหาย (เพื่อซ่อมแซมบ้านช่องไร่นา) หรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรบางชนิดชั่วคราว หรือมาตราการส่งเสริมการลงทุนในเขตประสบภัยพิเศษบางเขตสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ควบคุมระดับราคาของสินค้าอันจำเป็นสำหรับการซ่อมสร้าง และอำนวยการให้ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นเหล่านั้น (เช่นปูน หิน ดิน ทราย เหล็ก สี เฟอร์นิเจอร์ ปุ๋ย คอมพิวเตอร์ อาหาร ฯลฯ) ดำเนินการผลิตให้เพียงพอแต่เนิ่นๆ อย่าให้เกิดขัดสนหรือขาดแคลน เป็นต้น 


หากรัฐบาลทำ 3 ข้อนี้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ (ตอนนี้ต้องเริ่มทำข้อ 2 กับข้อ 3 แล้วหล่ะ เพราะข้อแรกนั้นคงจะกลับไปแก้มือยากสักหน่อย) ย่อมจะยังพอชนะใจประชาชนได้


ขอเพียงแต่ต้องมีจินตนาการ มองเห็นการณ์ไกล แม้เราจะไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติกันได้ แต่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็ไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
วันน้ำหลาก
15 ตุลาคม 2554


***โปรดคลิกอ่านบทความเกี่ยวเนื่องได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ


ปัญหาจากน้ำท่วมใหญ่สมัยสร้างกรุงเทพฯ



และ
***วิกฤติทางใจของคนกรุงเทพ​ฯ ในวันน้ำหลาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น