วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

I Avoid, Therefore I Survive




เชิงจัดการของยิ่งลักษณ์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสะดุดขาตัวเองสไตล์ทักษิณ


ความล่มสลายของรัฐบาลทักษิณในครั้งนั้น ถึงขั้นหัวหน้ารัฐบาลผู้ซึ่งกุมอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปอย่างไม่รู้ว่าจะได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนอีกหรือไม่ ย่อมเป็นบทเรียนสอนใจให้นักการเมืองร่วมสมัย และผู้ที่คิดจะเดินสู่เส้นทางสายอำนาจ โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็น Derivative ของรัฐบาลทักษิณ ทั้งในเชิงนโยบาย สไตล์ และตัวบุคคล

ผมได้คุยกับคุณยิ่งลักษณ์ก่อนจะประกาศตัวเข้าต่อกรบนสังเวียนการเมืองไม่กี่วัน ผมเห็นว่าเธอเป็นคนมี Common Sense และติดดิน แม้จะเป็น "เพชรสร้าง" ที่รีบบ่มรีบเจียรนัย แต่ก็มีความรู้ทางด้านการจัดการเป็นอย่างดี และตอบคำถามเชิงการบริหารจัดการ หรือมองปัญหาและทางแก้ จากจุดยืนเชิงประสบการณ์ มิใช่จากจุดยืนทางความคิด

พูดแบบชาวบ้านคือตอบจากใจ มิใช่จากสมอง

ในเชิงวุฒิภาวะทางอารมณ์นั้น เธอแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิษภัย ผมถามเธอว่าเธอสรุปบทเรียนอะไรได้บ้างกับความทุกข์ที่เกิดกับพี่ชายและครอบครัวเธอในรอบหลายปีมานี้ และเธอเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด...เธอก็ตอบได้ดี ดังจะขอคัดมานิดหน่อยสำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านบทสัมภาษณ์นั้นมาก่อนว่า “ต้องบอกว่าอดทนและทำให้เข้าใจว่าแต่ละคน ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดได้ แต่เรามีหน้าที่พิสูจน์หรือเรารู้อยู่แก่ใจถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราก็สบาย ก็ทำให้ผ่านมาก็ไม่ได้คิดเกลียดหรือโกรธกับสิ่งที่ได้รับ แต่คิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด เรารู้ว่าเราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และก็เชื่อว่าวันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์”

ผมถามต่อ: ที่น้อยใจที่สุดคือเรื่องอะไร...เธอตอบ: ไม่ค่อย ไม่ค่อยมองอะไรให้เศร้า เพราะถ้าเศร้า ยิ่งเวลาผ่านมาเราต้องผ่านชั่วโมงบิน อายุมากขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่เศร้า พอเศร้าก็ต้องยืนให้ได้ หาแรงขับให้เจอ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข”

ผมถามต่อไปอีก: Hurt หรือไม่...เธอตอบ: “คนเรามนุษย์ปุถุชนธรรมดาก็ต้องมีบ้าง แต่อย่าจมปลักกับความรู้สึกนั้นนานไป ต้องพยายามเข้าใจบริบทรอบข้างว่าการที่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร แล้วค่อยหาทางออก ไม่งั้นเราจะวน แล้วก็เศร้า คิดไม่ออก ตันไปหมด เราเศร้าแวบเดียวพอแล้วยืนขึ้นมาใหม่ อดทน สุดท้ายก็บอกตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นไร เดินหน้าต่อไป”......



เห็นมั้ยละว่าคำตอบนั้นน่ารัก Innocent มองโลกในแง่ดี และค่อนข้าง Romantic แต่ก็ Practical และรู้จัก “หลีกเลี่ยง” แบบพองาม

อย่าลืมนะครับ ว่ารัฐบุรุษทั้งหลายในประวัติศาสตร์ของโลก หรือนักบริหารที่ยิ่งใหญ่ และกษัตริย์ผู้เกรียงไกร หรือแม้แต่องค์พระศาสดาผู้เหนืออัจฉริยะและเป็นทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย ก็ล้วนเคยเป็นเด็กและเป็นคนธรรมดากันมาก่อนทั้งสิ้น

ในทำนองเดียวกัน บรรดาทรราชผู้น่าเกรงขาม ทว่ามีความทะเยอทะยานและอุดมการณ์วาดฝันถึงโปรเจกอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติอย่าง นายพลซีซ่าร์ จักรพรรดินโปเลียน นายกรัฐมนตรีฮิตเลอร์ จอมพลสตาลิน หรือประธานเหมาเจ๋อตง ก็ล้วนแต่เคยมีวันเวลาที่ “ใสๆ” มาก่อนเช่นกัน

แม้แต่หลอดโวเดอมอร์ เจ้าแห่งศาสตร์มืดผู้เก่งกาจและน่าเกลียดน่ากลัวมัวเมาอำนาจ ก็ต้องเคยหน่อมแน้มมาบ้าง ไม่มากก็น้อย

ทว่าคนฉลาดและผู้คะเนการณ์และทำการสำเร็จลุล่วง ย่อมเรียนรู้และประยุกต์พลิกแพลงเอาจากข้อพลั้งพลาดและข้อสำเร็จในอดีตของตัวเองและของผู้อื่น ทั้งในแบบอุทาหรณ์ และในแบบ Case Studies นั่นเอง

ในความเห็นของผม ถ้าคุณยิ่งลักษณ์สามารถจัดการกับ 6 ประเด็นหลักต่อไปนี้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ โอกาสที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบในอตีตก็มีสูง คือเป็นการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดอันเนื่องมาแต่ภายในหรือจากการกระทำของตัวเอง และถ้าไม่สะดุดขาตัวเองล้มลงเสียแล้ว ความสำเร็จในระยะยาวย่อมรออยู่


1. ความสามารถในการตีความประวัติศาสตร์


ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ทุกคนเรียนรู้ได้เสมอหน้ากัน แม้ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกโดยคนแต่ละกลุ่มจะต่างมุมมองกันเป็นธรรมดา แต่ประวัติศาสตร์ฉบับหลักมักถูกบันทึกโดยผู้มีอำนาจ (ผมชอบอุปมาอุปมัยของ George Orwell ที่ว่า “Who controls the past controls the future. Who controls the present controls the past”) ทว่าความสามารถในการตีความและเข้าถึงความจริงของแต่ละคนจะต่างกัน ผู้นำที่ตีความประวัติศาสตร์ได้ถูกต้อง ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงข้ออ่อนและเอาข้อแข็งมาเตือนใจตน และมาประกอบนโยบายอันจะนำความมั่งคั่งผาสุขมาสู่ปวงชน และจะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตนได้ไม่ยาก

เช่นถ้าผู้นำเยอรมนีตีความประวัติศาสตร์ไปในแนวเดียวกับไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 และฮิตเล่อร์ ชนชาติอารยันก็คงจะ Agressive ขึ้นเรื่อยๆ เยอรมนีก็ต้องดันทุรังสร้างกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์และต่อรองโน่นต่อรองนี่จนสุดท้ายก็อาจถึงรุกรานเพื่อนบ้านแล้วลุกลามต่อไป...ผู้นำของเราและญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เคยตีความประวัติศาสตร์แนวนี้กันมา

หรือถ้าผู้นำเกิดตีความประวัติศาสตร์ไปแบบโรเบียสปิแอร์ หรือ Marx หรือเหมา หรือสตาลิน หรือพอลพต โอกาสที่จะเกิดปะทะกันระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคมย่อมมีสูง และอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติและระบอบปกครองที่เผด็จอำนาจและการยึดทรัพย์สินทั้งมวลให้ตกเป็นของรัฐและการกวาดล้างครั้งใหญ่ เป็นต้น

การวางท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนทรัพย์สินทั้งมวลที่สถาบันแห่งนั้นครอบครองอยู่ ย่อมขึ้นอยู่กับผลแห่งการตีความประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน

จุดนี้เคยเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายหรือ Achilles’ Heel ของรัฐบาลทักษิณ บรรพบุรุษของรัฐบาลปัจจุบันมาก่อน เราคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลนี้จะต้อง Preempted

ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่ควรอุดหนุนให้เกิด Dialogue อย่างเปิดเผยและกว้างขวาง (ทว่าด้วยความเคารพ หวังดี และเทิดทูล) เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต อุดหนุนการวิจัยเชิงลึก และวิทยานิพนธ์ ที่จะศึกษาทางเลือกบรรดามีในโลกนี้ อย่างไม่ต้องหวาดผวาหรือต้องเซ็นเซ่อร์ตัวเอง ตลอดจนข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกและกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางเลือกที่สร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งและครอบคลุม

นั่นจะเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และจะเป็นคุณมหันต์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมืองไทยในระยะยาว


2. ความเว่อร์ของตัวผู้นำและคณะและคนแวดล้อม


ไม่มีประชาชนที่ไหนชื่นชอบผู้นำที่ทำตัวอวดร่ำอวดรวย อวดอัครฐานต่างๆ อย่างฟุ้งเฟื้อเห่อเหอม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังจนกันอยู่โดยมาก

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าผู้นำหรือราชวงศ์ที่ถูกโค่นล้มหรือล่มสลายไปเองนั้นร้อยทั้งร้อย มาจากสาเหตุทำนองนี้

การล่มสลายของคุณทักษิณในกาลครั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความอิจฉาริษยาในความร่ำรวย Luxury และ Extrvagant ต่างๆ ของตัวคุณทักษิณและครอบครัว ที่แสดงออกผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารความสัมพันธ์ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะกับกลุ่มชนชั้นสูง ข้าราชการและอดีตตุลาการชั้นผู้ใหญ่ นายทหารระดับสูงที่เกษียณไปแล้วและยังไม่เกษียณและผูกพันอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด นักวิชาการหลายกลุ่ม ปัญญาชนหลายกลุ่ม และสื่อมวลชนที่เคยเป็นมิตรแต่กลับกลายไปเป็นศัตรู และคนชั้นกลางในเมืองจำนวนหลายล้านคน ที่ตอนหลังแสดงตัวโดยสวมเสื้อหรือโพกผ้าสีเหลือง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลประโยชน์ของคนเหล่านี้ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลทักษิณนำพามา แต่อีกส่วนหนึ่งย่อมเป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าทักษิณและสหายกำลังใช้อำนาจเกินขอบเขต อย่างแทบจะตามอำเภอใจเลยทีเดียว

ภาษาอังกฤษเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Hubris ซึ่งเป็นปัญหาเชิงการจัดการที่สำคัญ เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการล่มสลายจากภายในหรือ Self-inflicted Nemesis โดยอธิบายได้ทั้งกับคนหรือองค์กรหรือแม้แต่กับอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองและมีอำนาจมากๆ แล้วก็มักจะทำอะไรตามใจตน โดยขาดการไตร่ตรอง ไม่ฟังเสียงทัดทาน จะทำอะไรก็ทำเกินไปมาก เช่น โลภก็โลภมากเกินไป ตักตวงก็ตักตวงมากไป จนแทบจะไม่เหลือให้คนอื่น ฟุ้งเฟ้อก็ฟุ้งเฟ้อเกินมาตรฐานของคนส่วนใหญ่เกินไปมาก รุกรานคนอื่นก็รุกรานไม่เลือกหน้าและไม่ยอมหยุดยั้ง แล้วยังแสดงท่าหมิ่นแคลนคน เห็นเป็นเสียงนกเสียงกาไปหมด จนสุดท้ายก็เกิดผลย้อนกลับที่ทอนพลังตัวเองลง...แม้กระทั่งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อย่าง Roman Empire และ British Empire ก็ได้รับการอธิบายว่ามันค่อยๆ ล่มสลายลงเพราะ Hubris เช่นกัน

“Hubris” เป็นคำกรีก แปลเป็นภาษาชาวบ้านแบบง่ายๆว่า “การกระทำอันเว่อร์ๆ ที่ผู้กระทำหลงตัวเองไปว่ามีฤทธิ์มีเดชเหนือมนุษย์ทั่วไปเพราะอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในมือ และอาจจะเคยประสบความสำเร็จซ้ำๆ มาตลอด แบบว่าหลงมัวเมาอำนาจและความสำเร็จในอดีตจนนึกไปเองว่าตัวเป็นเทวดาไปแล้ว ต้องชี้ไม้เป็นไม้ ชี้นกเป็นนก แม้จะฝืนโชคชะตาก็ยังได้”...สุดท้ายก็เสียผู้เสียคนไปเพราะอำนาจนั่นแหละ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Corrupted by Power”

รัฐบาลทักษิณเคยพังครืนมาครั้งนึงแล้วด้วยโรค Hubris ซึ่งออกฤทธิ์คุกคามพวกเขาอย่างหนักหน่วงตอนที่มีอำนาจมากในช่วงหลัง  จึงค่อนข้างมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าพวกเขาฉีดวัคซีนป้องกันมาอย่างดีแล้วสำหรับการหวนคืนกลับมาในรอบนี้

แต่อย่างที่เห็นกันในประวัติศาสตร์ทั่วโลกแล้วว่าโรคนี้เป็นโรคแรงและดื้อยา!

ดังนั้นความสำเร็จของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการทัดทานและเหนี่ยวรั้งจิตใจตนมิให้ไปสมาทานโรคนี้เสียเอง




3. การบริหารประเทศกับการบริหารธุรกิจ



การค้าขาย ถ้าไม่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นเรื่องน่ายกย่องและต้องสนับสนุน เดี๋ยวนี้นักธุรกิจและนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จ ก็ได้รับคำสรรเสริญเยินยอไปทั่วทุกหนแห่ง ในทุกวัฒนธรรม ไม่เหมือนสมัยโบราณที่หลายวัฒนธรรมยังยึดค่านิยมดูถูกพ่อค้าและดูแคลนกิจกรรมที่แสวงหา “กำไร”

องค์กรธุรกิจที่มั่นคง อุปมาก็เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ต้นไทรที่ให้หลายครอบครัวได้อาศัยร่มเงา คือเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของชาติโดยรวมนั่นเอง

แต่การค้าขาย ที่ทำไปด้วยในขณะที่บริหารประเทศไปพร้อมกัน กลับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ!

ในวัฒนธรรมที่เจริญแล้วทั้งหลาย ไม่มีใครยอมให้ผู้นำและคณะผู้นำของตัวเอง บริหารประเทศไปด้วยและเซ็งลี้กิจการของตัวเองไปด้วยพร้อมกัน คือถ้าพ่อค้านักธุรกิจนักลงทุนจะมาดำรงตำแหน่งทางด้านบริหารหรือตุลาการหรือนิติบัญญัติ ก็อาจต้องมี Blind Trust เป็นต้น

การหลบเลี่ยงภาษี Capital Gain Tax โดยอาศัย Tax Haven และ Shell Company หรือ Holding Company หรือ SPV และจ้างทนายและ Investment Banker ระหว่างประเทศ ตลอดจนการเก็งกำไรจากค่าเงิน หรือการเจรจาสัมปทานข้ามชาติ นับเป็นเรื่องปกติ ในแวดวงธุรกิจ

แต่ถ้าผู้รับประโยชน์ดันเป็นผู้นำรัฐบาลและสหายหรือสมาชิกในครอบครัว มันอาจส่งผลให้รัฐบาลนั้นล่มลงได้เหมือนกัน


ทว่า ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลนั้นๆ ขยันค้าขาย ขยันไปเปิดตลาดการค้าที่นั่นที่นี่ ขยันไปเจรจรการค้าหรือช่วยให้การเจรจาการค้าเกิดผล และขยันไปเจรจาเปิดทางให้กับการลงทุน การร่วมทุน การให้และรับสัมปทาน การส่งออก การแสวงหาทรัพยากรและเทคโนโลยีอันมีค่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและเศรษฐกิจไทย แต่ผลประโยชน์แทนที่จะตกอยู่กับตัวเองและครอบครัวและสหาย กลับไปตกอยู่กับภาคเอกชน กับเอสเอ็มอี กับผู้ประกอบการไทย กับนักลงทุนไทย กับนักอุตสาหกรรมไทย กับพ่อค้าไทย กับธนาคารพาณิชย์ไทย กับเกษตรกรไทย และกับรัฐวิสาหกิจไทยแล้ว รัฐบาลนั้นย่อมมีเกียรติมีศรี และได้ชื่อว่าช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ช่วยสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน และจะเป็นขวัญใจของประชาชนและยากที่ใครจะมาโค่นล้มลงไปได้ง่ายๆ




4. คิดไกลแล้วต้องสื่อสารเข้าใจ


ผมสังเกตุว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมหรือเห็นด้วยกับคุณทักษิณและเครือข่าย มักเป็นผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เป็นพวกที่คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ยังไม่ดีพอ น่าจะดีได้ยิ่งกว่านี้ เป็นพวกที่ชอบเสี่ยง ชอบลงทุน ชอบพนันขันต่อ ชอบเล่นกับความคิดใหม่ๆ ชอบแสวงหาและให้คุณค่ากับความรู้และความสำเร็จจากผู้คนในบ้านเมืองอื่นที่เขาก้าวหน้า และชอบต่อสู้ดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวิถีทางเพื่อตัวเองจะได้ดีขึ้นสบายขึ้นและมีผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ตัวคุณทักษิณเองก็เป็นคนแบบนั้น


นั่นจึงทำให้นโยบายของพรรคการเมืองของคุณทักษิณและสหาย ตลอดจนวิถีปฏิบัติเมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว มีความผิดแผกแตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ โดยเฉพาะธรรมเนียมของระบบบริหารราชการแผ่นดินและระบบราชการไทย


จะว่ามีความคิดก้าวหน้าไปมาก และมองการณ์ไกลออกไปมาก ก็ว่าได้

แต่การคิดไกลออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องสำเร็จหรือดีเสมอไป เพราะมันต้องอาศัยการตัดสินใจที่จะต้องเดินไปบนหนทางใหม่และใช้ทรัพยากรของส่วนรวมไปกับหนทางใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องเห็นว่าเสี่ยงกว่าหนทางเดิมที่คุ้นเคยและทำกันมานานแล้ว


สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดความ “กังวล” “หวั่นใจ” “หวาดหวั่น” “หวาดกลัว” หรือแม้กระทั่ง “เกลียด” ขึ้นในใจคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เข้าใจ หรือรับไม่ได้ทันที ทั้งนี้ความในใจนั้นจะรุนแรงเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับดีกรีของความเปิดกว้างเชิงทัศนคติของคนผู้นั้น ว่าสามารถรับการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

คือดีกรีของการปฏิเสธจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก เริ่มจาก “กังวล” เฉยๆ ไปสู่ “หวั่นใจ” แล้วก็กลายเป็น “หวาดกลัว” และ “เกลียดกลัว” ไปในที่สุด


วิธีแก้หรือป้องกันไม่ให้ผู้คนเกิดความรู้สึกแบบนี้ หรือขจัดความรู้สึกแบบนี้ในใจคนออกไป มีวิธีเดียว คือต้อง “อธิบาย” และต้องมีกลยุทธ์ในการอธิบาย และต้องอธิบายอย่างมีกลยุทธ์


หัวหน้ารัฐบาลและคณะย่อมต้องขยันอธิบาย รู้จักอธิบาย และต้องอธิบายให้ทันเวลาและถูกเวลา


ดังนั้นทีมงานที่เกี่ยวกับการอธิบายความ การสื่อความ การบริหารความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน จึงต้องมีความสามารถสูงกว่าปกติ ควรเป็นทีมที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีเครือข่ายกว้างขวาง ในทุกภาษา


โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลคือคุณยิ่งลักษณ์ ต้องหมั่นฝึกฝนให้ตัวเองเกิดไหวพริบในการพูด การเขียน และใช้กริยาท่าทางเพื่อสื่อความหมาย และต้องรู้จักเลือกคำ เลือกใช้ถ้อยคำ วลี ประโยค ที่ให้ความหมายชัด กระจ่าง sharp กินใจ และมีความงามในเชิงภาษา และหาสไตล์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เหมาะกับตัวเองที่สุด ไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร ตลอดจนหมั่นฝึกหัด ตระเตรียม และซ้อมด้วยตัวเองเสมอ อย่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว


รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ล้วนมีความสามารถพิเศษในการสื่อความทั้งสิ้น




5. การบริหารฟีดแบ็ก


รัฐบาลที่นำการเปลี่ยนแปลงนั้น ตัวเองก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมตลอดเวลาด้วยเช่นกัน อุปมาเหมือนดังวงดนตรีแจ๊สที่ต้อง Improvise ไปตามความเหมาะสม ทว่ายังอยู่ในกรอบใหญ่ที่ตกลงกันไว้แล้วล่วงหน้า

การจะทำแบบนั้นได้อย่างทรงประสิทธิภาพ รัฐบาลจะต้องอาศัยการบริหารฟีดแบ็ก ต้องมีทีมงานที่ประเมินผลตลอดเวลา และต้องมีความรู้สึกไวต่อปัญหา

ครั้งที่รัฐบาลจีนตัดสินใจจับกุมปราบปรามเจ้าลัทธิและสาวกฝ่าหลุนกง ก็ได้อาศัยจังหวะนั้นจัดการกับลัทธิเล็กลัทธิน้อยไปด้วย แม้พวกที่มีสมาชิกเพียงหลักสิบก็ไม่มีเว้น

นั่นเป็นเพราะว่ารัฐบาลจีนมีหน่วยงานข่าวกรองที่ทรงประสิทธิภาพ และมีความรู้สึกไวต่อปัญหา


อย่าลืมว่ารัฐบาลจีนปัจจุบันเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และสืบทอดมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นขบวนการใต้ดินเล็กๆ มาก่อน ผู้นำจีนรุ่นนี้รู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นล้ม ลัทธิหรือขบวนการเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แบบที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยเก็บเล็กผสมน้อย จนขยายใหญ่และเข้มแข็งขึ้น แล้วก็สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ในที่สุดภายใต้การนำของประธานเหมาเจ๋อตง อย่างที่เราท่านทราบกันดีอยู่แล้ว


นั่นเป็นตัวอย่างของการบริหารฟีดแบ็กขององค์กรที่ระมัดระวังตัว Sensitive และไม่ละเลยแม้กระทั่งเรื่องเล็กเรื่องน้อย ตรงข้ามกับกรณีของโตโยต้าที่ต้องเรียกคืนรถยนต์เป็นแสนคันหรือ British Petroleum ซึ่งทำงามหน้าไว้ที่อ่าวเม็กซิโก เพราะการบริหารฟีดแบ็กล่าช้า จนปัญหาเพียงเล็กน้อยลุกลามใหญ่โตและแก้ไขยาก


(ตัวอย่างหนังสือเล่มที่เธออ่าน และทำคั่นหน้าที่เธออยากจะจดจำเอาไว้)


6. คอร์รัปชั่น


ข้อนี้ผมจะไม่ขออธิบายให้มากความ...ถือซะว่าท่านกำลังอ่านงาน Post-modernism ราวกับกำลังเสพศิลปะล้ำสมัยที่เมื่อได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ได้สัมผัสแล้ว หรือรู้สึกแล้ว ก็ต้องตีความเอาเอง...ของใครของมัน.....





บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA ฉบับควบเดือนสิงหาคม-กันยายน 2554 โดยภาพถ่ายทุกภาพที่ใช้ประกอบนี้ถ่ายโดยคุณฐิติวุฒิ บางขาม


***โปรดคลิกอ่านบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับคุณยิ่งลักษณ์ได้ตามลิงก์ข้างล่าง


***ยกขาจากหล่มโคลน


และ


***ผู้นำหญิงในทัศนะชาวบ้านชาววังและฝรั่งมังค่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น