วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาจากน้ำท่วมใหญ่สมัยสร้างกรุงฯ





ผมเพิ่งอ่านพบข้อความใน “ประถมวงษ์แลพระราชพงษาวดารย่อ” ที่คนโบราณบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไว้ดังนี้

“ศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศกเดือนสิบสอง นำ้มากฤกถึงแปดศอกคืบสิบนิ้ว เข้ากล้าในท้องนาเสียเปนอันมาก บังเกิดทุพภิกขไภย เข้าแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดานนัก จึงมีพระบรมราชโองการให้กรมนาจำหน่ายเข้าเปลือกในฉางหลวง ออกแจกจ่ายราษฎรทั้งปวงเปนอันมาก...” (ศักราช 1147 คือ พ.ศ. 2328 สร้างกรุงเสร็จใหม่ๆ)




และเหตุการณ์ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จากเรื่องเดียวกัน....ว่า


“จุลศักราช ๑๑๙๓ ปีเถาะตรีศก น้ำมากท่วมพระนคร เรือ ๑๑ ศอก เรือ ๓ วา เดินได้ในกำแพงพระนคร เข้าเปลือกเกวียนละ ๘” (ศักราช 1193 คือ พ.ศ. 2374)


(อ้างจาก "ประถมวงษ์แลพระราชพงษาวดารย่อ" (ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงรัตนโกสินทร) พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี พิมพ์แจกเป็นมิตรบรรณาการในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓)




ถ้ายึดเอาตามข้อความที่คนโบราณบันทึกไว้นั้น (สมัยก่อนยังไม่มี กทม. และยังไม่มีเครื่องสูบน้ำประจำการไว้รอบกรุงเหมือนบัดนี้) ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าน้ำรอบนี้คงจะยังไม่แห้งไปโดยเร็ว อย่างน้อยต้องพ้นเดือนพฤศจิกายนไปก่อน และเมื่อได้ลองค้นดูอีกว่าสมัยน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2485 นั้น น้ำก็เริ่มท่วมเมื่อประมาณวันที่ 22 ตุลาคม 2485 และเจิ่งนองไปจนเกือบ 2 เดือน กว่าจะแห้ง ซึ่งก็น่าจะปาเข้าไปกลางเดือนหรือปลายเดือนธันวาคมโน่นแหนะ (ลองดูสถิติปี 2536, 2538 ประกอบด้วยก็จะได้ความใกล้เคียงกันครับ)


ที่แน่ๆ ข้าวย่อมจะขาดแคลน ซึ่งรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด (รัฐบาลของ ร.๑ และ ร.๓ ก็ทำเหมือนกัน) เพื่อไม่ให้ "ขาดแคลน" พร้อมกับควบคุม "ราคา" ไม่ให้เดือดร้อนกันจนเกินไป 


ในแง่เราท่านคนกินคนบริโภคนั้น ข้าวนับเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักของคนไทย ทีนี้ถ้าเราหาคาร์โบไฮเดรตจากข้าวไม่ได้ หรือได้ไม่เพียงพอ ผมแนะนำให้ลองหาจากอาหารชนิดอื่นเสริมไว้ก็จะดีครับ (อันนี้ศึกษาจากคนกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้ ว่าพวกเขาหาคาร์โบไฮเดรตเสริมจากอาหารชนิดใด...ส่วนโปรตีนนั้นผมไม่ห่วง เพราะถ้าไก่ หมู เนื้อ ขาดตลาด เราก็คงหาโปรตีนจากปลาได้ไม่ยาก เพราะน้ำท่วมปลาจะแยะ ขนาดเมื่อคืนที่ผ่านมา เปิดทีวีดู ก็เห็นผู้คนตกปลาตัวใหญ่ๆ ได้ในคลองประปา เป็นต้น)


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
21 ตุลาคม 2554


โปรดคลิกอ่านข้อเสนอแนะของผมต่อรัฐบาล ว่าด้วยการจัดการน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ได้ตามลิงก์ข้างล่าง


***บันได 3 ขั้นกู้วิกฤติ: ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ซ่อมสร้าง






****วิกฤติทางใจของคนกรุงเทพฯ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น