วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

DOWNTON ABBEY




ผมเป็นแฟนคนหนึ่งของ Downton Abbey และผมก็ได้ความรู้แยะเลยจากหนังซีรี่ส์เรื่องนี้ นอกไปจากความบันเทิงแบบ Soap Opera ทั่วไปแล้ว ยังได้เห็นชีวิตของผู้ดีอังกฤษในช่วงขาลง เห็นบรรยากาศของสังคมอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและหลังสงคราม และสัมผัสได้ถึงสภาวะขาลงของ British Empire อีกทั้งยังได้ฟังบทสนทนาชั้นเลิศ การใช้ภาษาอังกฤษชั้นดี ทั้งสำเนียงเจ้า สำเนียงไพร่ ฝีมือเขียนบทของ Julian Fellowes ซึ่งในชีวิตจริงก็ได้แต่งงานอยู่กินกับทายาทตระกูลขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษ

แม้นักวิจารณ์บางฝ่ายจะตำหนิละครเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องฟื้นฝอยหาตะเข็บ ที่จู่ๆ ก็นำเอาชีวิตคนชั้นสูงมายกย่อง แสดงให้เห็นดีเห็นงามอย่างโง้นอย่างงี้ เป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในยุคก่อนซึ่งหมดสมัยไปแล้ว โดยการทำแบบนี้มันจะทำลายความสมานฉันท์ในสังคมเสียเปล่าๆ

คนอังกฤษมี Class Conscious สูง ดังนั้นนวนิยายหรือละครที่พล็อตหลักอิงกับ “ชนชั้น” จึงมักได้รับความนิยม ดูอย่าง Harry Potter นั้น ถ้าวิเคราะห์ดีๆ ก็เป็นเรื่อง "การต่อสู้ระหว่างชนชั้น" คำว่า "เลือดสีโคลน" และ "เลือดบริสุทธิ" มันบ่งบอกชัดเจน เพียงแต่ผู้แต่ง Harry Potter สมมติให้ฝ่ายเจ้า (เลือดบริสุทธิ) เป็นฝ่ายมาร และฝ่ายไพร่ (เลือดผสม) เป็นฝ่ายพระ แถมพี่เบิ้มของฝ่ายเจ้ายังมีลักษณะ Hypocrite เพราะเมื่อสืบสาวไปลึกๆ แล้ว แท้จริงตัวลอร์ดโวลเดอร์มอร์เองก็มีเลือดไพร่อยู่ด้วยและมาจากตระกูลที่อับจนเข็นใจ อีกทั้งตระกูลที่สมมติว่าเป็นตระกูลเจ้าเก่าแก่มาหลายชั่วคนอย่างตระกูลวิสลี่ย์ ก็ถูกผู้แต่งตั้งใจทำให้ดูตลกขบขัน มิได้มีความขลังในแบบ Stereotype อยู่เลย

ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ไพร่ชนะเจ้า ในนามของธรรมะชนะอธรรมหรือความดีชนะความชั่ว ในสังคมคนชั้นกลางที่หมั่นไส้วัฒนธรรมดัดจริตแบบปากว่าตาขหยิบหรือคิดอย่างทำอย่าง จึงได้รับความนิยมโดยรวดเร็ว (อย่าลืมว่า J.K. Rowling ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ เป็นหญิงหม้ายลูกติด มีอาชีพเป็นครูธรรมดา และใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางค่อนมาทางล่าง ในสังคมอังกฤษที่อุดมไปด้วย Class Consciousness)

Downton Abbey มิใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น แต่เป็นเรื่องของชันชั้นสูงตระกูลหนึ่งที่ดิ้นรนให้ชีวิตครอบครัวในคฤหาสน์ประจำตระกูล (รวมทั้งบริวาร) ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดชิ้นสำคัญยังคงสืบทอดต่อไปได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งส่งผลต่อสังคมการเมือง โดยหวังว่าสมาชิกของครอบครัวภายใต้การนำของหัวหน้าตระกูลรุ่นต่อไป จะยังคงรักษาวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนชั้นสูงไว้ได้ โดยไม่ต้องขายสมบัติทิ้ง และแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตเยี่ยงคนชั้นกลางหรือคนสามัญทั้วไป

Downton Abbey แสดงวิธีคิดและวิถีชีวิตคนชั้นสูงตลอดจนบริวารซึ่งเป็นคนชั้นล่างอย่างละเอียด โดยแต่ละคนล้วนมีลักษณะ Nice People ยึดถือเกียรติยศและศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย และ Aristocratic Scruples แสดงให้เห็นถึงการข่มใจอันเนื่องมาแต่การอบรมบ่มนิสัย แม้บริวารบางคนจะเล่ห์เหลี่ยมจัดไปบ้าง

มันคล้ายๆ กับ “สี่แผ่นดิน” ที่ตัวละครส่วนใหญ่เป็น Nice Guy

ผมดูละครเรื่องนี้แล้วก็ย้อนดูตัวเอง!

ผมรู้สึกว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวสูงในเรื่อง “ชนชั้น” หรือ Felling ที่ว่าตัวเองสังกัดชนชั้นนั้นชนชั้นนี้ โดยเฉพาะชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เอาใจช่วยทั้งชนชั้นล่างและชนชั้นสูงนั้น จะมีความรู้สึกนี้ค่อนข้างมาก สังเกตุได้ง่ายๆ จากข้อความใน Facebook และสัญลักษณ์ของสีเสื้อ และคำที่ใช้เรียกพวกตัวเองว่า “ไพร่” และ "อำมาตย์" หรือ "...รักในหลวง"

ดังนั้น ถ้านักสร้างละครไทยจะหันมาใช้ “ชนชั้น” หรือ “การต่อสู้เชิงชนชั้น” เป็นแกนหลักในการวางพลอต ละครก็น่าจะได้รับความนิยมได้ แม้จะเป็นละครรักๆ ใคร่ๆ ก็ตาม

น่าจะลองกันดูมั่ง เผื่อจะเกิด Innovation ในแวดวงละครไทยได้บ้าง ใครจะไปรู้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น