วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

เงินกำลังไร้ค่า

“Money is only important for what it will procure. Thus a change in monetary unit, which is uniform in its operation and affects all transactions equally, has no consequences.”

John Maynard Keynes
“A Tract on Monetary Reform”
(1st Edition, Macmillan & Co., London, 1923)


งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมที่ค่อยๆ ทำมาเป็นเวลาหลายปีคือการสะสมต้นฉบับหนังสือเก่า โดยเฉพาะหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ตลอดจนงานเขียนนวนิยายของ Ernest Hemingway ผมเสียเวลาไม่น้อยไปกับการนี้ บางทีถึงกับละทิ้งลูกเมียเพื่อธุระของหนังสือ มันเป็นกิเลสแบบหนึ่งที่มีพลังชักจูง ล่อลวง และโน้มน้าวแกมบังคับ อย่างรุนแรง โดยผมพยายามจะเลิกนิสัยนี้หลายครั้ง แต่ก็สลัดมันไม่หลุดเสียที

แน่นอนว่าผมจำเป็นต้องติดตามและรับรู้ระดับราคาในตลาดโลก ของงานเขียนแต่ละชิ้นอยู่เป็นระยะๆ ผมสังเกตว่า ระยะหลังมานี้ นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในสหรัฐฯ โดยเฉพาะระหว่างช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากยกให้เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระดับราคาหนังสือเก่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังคงไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน

ยกตัวอย่างงานต้นฉบับหนังสือเก่าทางด้านเศรษฐกิจการเงินที่นิยมสะสม เช่น The General Theory of Employment, Interest, and Money ของ John Maynard Keynes ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (London Macmillan, 1936) ปัจจุบันก็มีคน Quote ราคาขายสูงสุดถึง 23,184.39 เหรียญสหรัฐฯ กันแล้ว (ดูราคาอ้างอิงได้จาก www.abebooks.com) หรืออย่าง The Economic Consequence of Peace (London Macmillan, 1919) ก็อยู่ที่ 10,143.84 เหรียญฯ หรือ The Treatise on Money (London Macmillan, 1930) ก็ 1,600 เหรียญฯ หรือ A Tract on Monetary Reform (London Macmillan, 1923) 1,200 หรืองานของ Irving Fisher อย่าง Boom and Depressions (New York Adelphi, 1932) ก็ Quote กันถึง 2,450 และ Stock Market Crash and After (New York Macmillan, 1930) 3,000 หรือ Principles of Political Economy ของ John Stuart Mill (2nd Edition, John W. Walker London, 1849) อยู่ที่ 1,850.79 เหรียญฯ Geldtheorie Und Konjunkturtheorie ของ Frederick von Hayek (Holder-Pichler-Tempsky, Wien/Leipzig 1929) 8,500 เหรียญฯ Trait’e d’Economie Politique ของ Jean-Beptiste Say (L’imprimerie de Crapelet, Paris1803) 11,540.35 เหรียญฯ และ The Protestant Ethic and Spirit of Capitalism (New York, Charles Scribner’s Sons, 1930) 1,000 เหรียญฯ หรือแม้แต่งานรุ่นใหม่ ทว่าคลาสสิก อย่าง The Panic of 1819 ของ Murray Rothbard (Columbia University Press, 1962) และ The Long Wave Cycle ของ Nikolai Kondratieff (Richardson & Snyder, 1984) ก็สูงขึ้นถึง 420 และ 500 เหรียญฯ ตามลำดับ (อ้างอิงจาก http://www.amazon.com/)

หรืออย่างนวนิยายของ Hemingway ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สภาพดี ก็ไต่ขึ้นไปสูงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น Three Stories and Ten Poems (Contact Publishing Paris, 1923) 75,000 เหรียญฯ In Our Time (William Bird Paris, 1924) 65,000 The Torrents of Spring (Scribner’s, 1926) 20,000 The Sun Also Rises (Scribner’s, 1926) 125,000 Men Without Women (Scribner’s, 1927) 30,000 A Farewell to Arms (Scribner’s, 1929) 12,500 Death in the Afternoon (Scribner’s, 1932) 6,000 Winner Take Nothing (Scribner’s, 1933) 5,000 Green Hills of Africa (Scribner’s 1935) 5,000 To Have and Have Not (Scribner’s, 1937) 3,000 The Fifth Column (Scribner’s 1940) 5,000 For Whom the Bell Tolls (Scribner’s 1940) 2,000 Men at War (Crown Publishers, 1942) 1,000 Across the River and Into the Trees (Scribner’s, 1950) 600 The Old Man and the Sea (Scribner’s, 1952) 3,000 และ A Moveable Feast (Scribner’s, 1964) 200 เหรียญฯ เป็นต้น (อ้างอิงจาก Thomas Lee, 20the Century First Edition Fiction: A Price and Identification Guide, 2008 Edition ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาที่ Quoted ใน www.abebooks.com ณ ปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่าระดับราคาปรับสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา)

ที่เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกู้วิกฤติที่รัฐบาลของประเทศสำคัญๆ ปลงใจร่วมกันว่าต้องใช้มาตรการทางการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายสุดๆ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมโหฬารพร้อมกันทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อ “หิ้ว” ภาวะเศรษฐกิจ มิให้เข้าสู่การถดถอยแบบรุนแรง ตามแนวที่ Keynes เคยว่าไว้ใน The General Theory of Employment, Interest, and Money นั่นเอง

ถามว่า.....เมื่อมีการ “พิมพ์เงิน” เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง มิได้กระเตื้องขึ้นจริง (โปรดสังเกตดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อัตรากำไรของกิจการในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ อัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อของภาคธนาคารทั้งระบบ ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนยอดนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าประเภททุน ยอดเก็บภาษีจริงที่ห่างจากเป้าหมายของกระทรวงการคลังในแต่ละเดือน อัตราการจ้างงาน ยอดขอจดทะเบียนของกิจการเกิดใหม่ และยอดขอจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นต้น จะเห็นว่าดัชนีเหล่านี้ชี้ไปในทิศทางตรงข้าม หรือในทางแย่)... แล้วผลลัพธ์ระยะสั้นมันจะเป็นเช่นไร ?

คำถามนี้ แม้ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ก็ตอบได้ง่ายๆ เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในภาวะแบบนี้ มันย่อม “ดัน” ให้ระดับราคาสินทรัพย์ทั้งระบบ “สูงขึ้น” อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกันเกือบทั่วโลก รวมทั้งตลาดไทยด้วย ที่แม้ดัชนีทุกชนิดจะย่ำแย่ การค้าขายและความเป็นอยู่จะฝืดเคือง ก็ตามที เดือนสองเดือนมานี้ ผมเห็นพรรคพวกเพื่อนฝูงร่ำรวยจากหุ้นกันหนาตา

นอกจากหุ้นแล้ว ราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นก็เริ่มขยับกลับขึ้นมาเกือบเท่าระดับที่เคยเป็นก่อนฟองสบู่จะแตก ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน (ลองสังเกตเงินยูโร ปอนด์ เยน) สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน หรือแม้กระทั่งราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลสำคัญๆ ของโลก

ผมรู้จักนักสะสมเครื่องเสียงเก่า (Vintage Hi-Fi) ชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่อพยพไปอยู่แวนคูเวอร์เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว ประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เขาเปลี่ยนบ้านมาหลายหลัง แต่เพิ่งจะซื้อบ้านหลังใหญ่ในทำเลที่ดีพอสมควร (ตามคำที่เขาว่ามา) เป็นของตนเองได้เมื่อปลายปี ๒๕๕๐ (คือมารู้ทีหลังว่าซื้อตอนที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้นเกือบ Peak)

แต่พอฟองสบู่แตก เขาแทบล้มละลาย ทว่า เมื่อตั้งสติได้ ก็เริ่มขุดเอาของเก่าออกมาขายกิน ซึ่งเขาต้องแปลกใจมากที่พบว่า มันสามารถพยุงฐานะไปได้ เพราะเขาไม่เคยนึกเลยว่าของสะสมที่เขาครอบครองมาตั้งแต่อยู่ฮ่องกงและเก็บไว้เฉยๆ นั้น มันกลับช่วยอุดรายได้ที่หายไป ให้กับเขาและภรรยา เพียงพอที่จะ Support วิถีชีวิตที่ใกล้เคียงเดิมได้ (เดชะบุญที่ลูกๆ เขาเรียนจบและพึ่งตัวเองได้หมดแล้ว)

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เขาเพิ่งจะบอกกับผมว่า เขาเกือบ Recovered ราคาบ้านตอนซื้อเอาไว้ได้แล้ว!

เรื่องราวของนายคนนี้ ยืนยันข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเป็นไปในอนาคตอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว คือผมคิดว่านโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลสำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย กำลังส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ในแง่บวก และก็จะส่งผลต่อเนื่องไปอีกในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยก็จะสามารถพยุงระดับราคาสินทรัพย์สำคัญๆ ให้กลับมามากกว่าสามในสี่ส่วนของระดับราคาเดิมก่อนฟองสบู่แตก

และถ้าเรากวาดตามองไปในตลาดของสะสมสำคัญๆ (Collectable) ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนและงานศิลปะ หนังสือเก่า รถยนต์และมอเตอร์ไซด์คลาสสิก นาฬิกา เครื่องประดับและ Object of Arts เฟอร์นิเจอร์ เรือยอต์ช ไวน์ราคาแพง ธนาบัตร แสตมป์ พระเครื่อง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนราคาไม่ตกแม้ฟองสบู่จะแตกและราคา Financial Assets เช่นหุ้นและตราสารการเงินอื่น ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ ตกลงเกือบครึ่ง (ยกเว้นภาพเขียนและงานศิลปะในบาง Category ของศิลปินบางคนที่ระดับราคาเว่อร์ขึ้นไปมากก่อนฟองสบู่แตก)

หนำซ้ำ หลังฟองสบู่แตก ราคาของสะสมกลับเขยิบสูงขึ้น และกิจกรรมการสะสมก็กระจายตัวลงไปสู่ตลาดระดับกลางและล่างอย่างกว้างขวาง มิได้ผูกขาดอยู่กับตลาดบนอย่างที่ผ่านมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเว็ปไซต์ประมูลอย่าง eBay.com และเว็ปไซต์ซื้อขายของสะสมเฉพาะแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด รวมไปถึงการเติบโตของระบบชำระเงินออนไลน์ PayPal ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เว็ปไซต์เหล่านี้ ทำให้เกิดกระบวนการ Globalization of Collectable Market ช่วยให้นักสะสมทั่วโลก และนายหน้าค้าของสะสมในแต่ละประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูล และซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นตลาดโลกขึ้น แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ Christie’s และ Sotheby’s ก็ยังต้องหันมาศึกษาช่องทางใหม่นี้อย่างจริงจังกันแล้ว

ทีนี้ก็มาถึงข้อสังเกตที่สองของผม คือเมื่อพิจารณากรณีของสะสมข้างต้น ประกอบกับพฤติกรรมของราคาทองคำ เงิน (Silver) และ Precious Metals ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในรอบห้าปีหลังมานี้ เราก็จะพบความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่กำลังขับดันทิศทางของเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ ผู้คนในโลกเริ่มหมดความเชื่อมั่นต่อ “เงินตรา” (Money) เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว โดยเฉพาะในความหมายที่เคยฝาก “ความมั่งคั่ง” (Wealth) ของตัวไว้ในรูปเงินตรา ผู้คนจึงเริ่มหนีจากเงินตราไปสู่สินทรัพย์ชนิดอื่นที่จับต้องได้ หวังถ่ายเทความมั่งคั่งไปเก็บไว้ในรูปอื่นบ้าง เพราะเชื่อว่ามันจะรักษาระดับความมั่งคั่งไว้ได้ดีกว่าหน่วยของเงิน (ที่เป็นเพียงกระดาษ) เมื่อเกิดวิกฤติร้ายแรงกับระบบทุนนิยมโลก

ก่อนหน้านี้ การดำเนินนโยบายขาดดุลเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานของสหรัฐฯ ก็มีเหตุเพียงพอให้บรรดานักลงทุนหมดศรัทธาต่อเงินตรามาพอแล้ว แต่เมื่อทุกรัฐบาลหันมา “พิมพ์เงิน” เพิ่มเข้าไปในระบบพร้อมๆ กันอีกหลายรอบ มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เกิดวิกฤติศรัทธา “หนัก” ขึ้นไปอีก “กว้าง” ออกไปอีก และ “ลึก” ลงไปอีก

การที่ผู้คนเริ่มทยอยซื้อทองหยอง เพชรนิลจินดา และของมีค่าเก็บไว้ ย่อมมี Logic เบื้องหลังที่นำพวกเขามาสู่วิธีคิดดังกล่าว เพราะนอกจากพวกเขาจะหวังเก็งกำไรแล้ว พวกเขายังแสดงออกถึง (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) การหมดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อธนาคารกลางของตนเอง (เพราะพิมพ์เงินออกมามากเกินไป) พวกเขาเลยทำตัวเป็นธนาคารกลางเสียเอง คือสร้าง Personal Reserve หรือ “ทุนสำรองส่วนตัว” ขึ้นเองเสียเลย

ภาวะความตึงเครียดของโลก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้เกิดภาวการณ์ดังกล่าว ทั้งสงครามในตะวันออกกลาง กรณีนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ การก่อการร้ายสากลและการเติบโตของมุสลิมหัวรุนแรง ตลอดจนการก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของจีน เข้ามาแย่งใช้ทรัพยากรที่จำเป็นทุกอย่างในโลก ทั้งน้ำมัน เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง และข้าวปลาอาหาร อีกทั้งผลไม้ทุกชนิด

สิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารได้ง่าย

แน่นอน ผู้คนย่อมคิดเองได้ว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นจริง เงินตราย่อมสำคัญน้อยกว่าทองคำ ข้าวปลาอาหาร และทรัพย์สินที่จับต้องได้ ดังคำของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ว่าไว้อย่างจับใจ และ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่แม้ตัวเองจะเป็นคนสำคัญซึ่งกุมนโยบายการเงินของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ก็มักนำมาอ้างเสมอว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

และเมื่อผมได้ยกเอา “คำยั่วคิด” ของ Keynes มาอ้างไว้เป็นคำขึ้นต้นบทความนี้ ผมก็จะยก “คำยั่วคิด” ของคนอังกฤษอีกคนหนึ่งมากำกับลงท้าย

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จาก Thought Provoking Phrases เหล่านั้น ไม่มากก็น้อย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

“The surest way to ruin a man who doesn’t know how to handle money is to give him some.”
George Bernard Shaw

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับมิถุนายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น