"Disruptive Chage is in the air"
บรรดากูรูผู้หยั่งรู้และคนรุ่นใหม่ที่กำหนดไลฟสไตล์ตัวเองจาก Cyberspace ต่างเชื่อกันว่า Internet และเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
หนังสือพิมพ์และแม็กกาซีนกำลังจะตาย!
ยี่สิบปีก่อน สมัยเมื่อแรกเข้าวงการหนังสือ ผมยังจำได้ว่านักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ มักถกกันเสมอ ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ผู้คนจะพากันหันไปอ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์กันหมด...ใช่ไม่ใช่
ทุกคนล้วนสรุปตรงกันว่า "ยากส์" เพราะเราจะพกเอาคอมพิวเตอร์เข้าไปนั่งอ่านในห้องน้ำขณะกำลังทำธุระส่วนตัว ก็ไม่สะดวก (สมัยนั้นยังไม่มี Laptop) หรือจะม้วนๆ พับใส่กระเป๋าหลัง แบบที่พวกเรามักทำกับ The Economist หรือ Business Week ก็ไม่ได้อีก อย่าว่าแต่ตอนเช้า ขณะนั่งจิบกาแฟเคล้าข่าว ก็คงจะต้องแบกจอไปตั้งบนโต๊ะด้วย...คงพิลึก
ยี่สิบปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก
พวกเราที่ยังไม่ตายไปเสียก่อน ล้วนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น "ต่อหน้าต่อตา"
เราได้เห็นเครื่องคอมพิวเตอร์เล็กลง บางลง เห็นโทรศัพท์มือถือกลายเป็นคอมพิวเตอร์ พกใส่กระเป๋าเสื้อก็ได้ เห็นอินเทอร์เน็ตมาแทนหน้ากระดาษ เห็น E-Books และเครื่อง Kindle หรือ Tablet และเห็นกับตาว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารจำนวนมาก พากันเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากโลกอานาล็อกไปสู่ดิจิตัล
พูดแบบ Chris Anderson ก็คือเปลี่ยนจาก Atom มาเป็น Bit
อีกหน่อยเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็คงตกงาน และบรรดาสายส่ง ร้านขายหนังสือ ตลอดจนโรงงานกระดาษ โรงพิมพ์ ร้านเพลท คงเจ๊งกันเป็นแถว (หรือถ้าไม่เจ๊งก็คงจะหดเล็กลงเหลือไม่กี่ราย คอยพิมพ์หนังสือประเภท Limited Edition เพื่อการสะสม สำหรับพวก Hard Core และบรรดาเศรษฐีที่ชอบของแปลก) เพราะหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทั้งมวล หันมา Serve คนอ่านเป็น Files หรือ Hypertext ที่สามารถ "ดูด" (Download) ผ่านสายเคเบิ้ลใยแก้วหรือดาวเทียมได้ในพริบตา แม้จะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งแม็กกาซีนรายเดือน อัพเดตข่าวของตัวเองทุกๆ 15 นาที ราวกับคำว่า "รายวัน" "รายสัปดาห์" "รายเดือน" หมดความหมายไปเสียแล้ว อีกทั้งยังสามารถอัพเดตข่าวเป็นวิดีโอภาพเคลื่อนไหว แบบเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับทีวีทุกประการ เลยไม่รู้ว่านี่มันหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์กันแน่...อย่าว่าแต่วิทยุเลย ฟังกันบนมือถือมาได้ตั้งนานแล้ว
Stereo Hi-Fi ที่เคยฮิตติดบ้านสมัยพวกผมเป็นเด็ก บ้านใครมีฐานะก็ต้องหายี่ห้อดีๆ มาฟังกันเป็นชุดๆ อย่าง McIntosh, Marantz, JBL ฯลฯ เดี๋ยวนี้กลายเป็น "ของสะสม" ไปเสียแล้ว...อีกหน่อยหนังสือและแม็กกาซีน ก็คงจะซื้อขายกันด้วยราคา "ของสะสม" เช่นเดียวกัน
รุ่นพี่บางคนที่เสียชีวิตไปตอนนั้น ถ้าเกิดฟื้นคืนชีพมาตอนนี้ คงช็อกน่าดู!
สำหรับผม ผมไม่ค่อยแคร์ว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะอยู่หรือไป เพราะผมว่ามันเป็นแค่ Form เท่านั้นแหละ ถึงยังไง Substance มันก็ยังต้องอยู่
คนก็ยังต้องบริโภคข่าวสาร ตลอดจน ข้อคิด ความเห็น Analysis และจินตนาการ ต่างๆ ของคอลัมนิสต์หรือนักเขียนอย่างพวกผมอยู่ดี
คือ News Industry จะยังคงไม่หายไปไหน เพราะ Demand และกิเลสมนุษย์จะยังคงเดิม เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธี Serve เท่านั้นเอง
ตรงกันข้าม Internet และเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือจำนวนมาก (เช่น Social Network เป็นต้น) จะยิ่งช่วยให้นักเขียนและสื่อมวลชนทำงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น Productivity ก็จะสูงขึ้นด้วย
สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือเรื่อง "คุณภาพ"
เพราะยิ่งมีความพยายามจากฝรั่ง (ผู้กุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอะไรๆ ในนั้น) ที่จะเปลี่ยน Business Model ด้วยการเสนอความคิดเรื่อง "Free" ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้คนเล็กคนน้อยเสียเปรียบมาก รายใหญ่ที่มีเครือข่ายทุนหนาแน่นและสายป่านยาว อีกทั้งผูกขาดความรู้สำคัญบางอย่างไว้ จะ "กินรวบ" ง่ายขึ้น กลายเป็นตลาดแบบ "Winer takes all"
เราต้องไม่ลืม Basic ว่าบริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตนั้น ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง "จ่าย" หรือ "รับภาระ" อยู่ดี
สมมติ ผมพาลูกน้องไปกินเหล้า กินกันข้ามวันข้ามคืน บางคนมาแล้วก็ไป แต่สุดท้าย At the end of the day ก็ต้องมีใคร "เช็คบิล" อยู่ดี และติ๊ต่างว่าพวกเราพร้อมใจกันเบี้ยว ชักดาบไม่ยอมจ่าย คนที่รับภาระต้นทุนก็คือเจ้าของร้านเหล้านั่นแหละ ยกเว้นว่าเขาจะไปขโมยเหล้า น้ำแข็ง กับแกล้ม มาให้ผมกิน โดยคิดว่าตัวเองไม่เสียหาย (แม้จะเสียค่าน้ำค่าไฟ) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น คนที่เสียหายก็คือคนที่โดนบโมยนั่นแหละ ฯลฯ คือสุดท้าย Cost มันต้องถูก Transfer ไปที่ใดที่หนึ่งเสมอ
ด้วย Analogy แบบเดียวกัน ถ้า Facebook, Twitter, YouTube, Blog ฯลฯ มันให้บริการฟรี ก็แสดงว่ามันมีคนรับภาระอยู่ ซึ่งก็คือบรรดา VC และผู้ลงทุนในกองทุนเหล่านั้น หรือไม่ก็พวก Mezzanine Financiers หรือ Private Placement Investors และ Pre-IPO Investors โดยพวกเขายอมแลกกับข้อมูลจำนวนมากบนเครือข่ายนั้น ซึ่งสุดท้ายเขาจะต้องทำประโยชน์กับมัน (เช่น เขียน Application ขึ้นมากรองขยะออก เพื่อจับชีพจรความเคลื่อนไหวของความคิดเห็นของคนในโลกให้ได้ เป็นต้น ฯลฯ) แล้วพวกเขาก็จะทำกำไรกันตรงนั้น แต่ระหว่างทาง คู่แข่งขัน (ในที่นี้คือผู้ผลิต Content) ที่สายป่านสั้น ทนขาดทุนไม่ไหว ย่อมต้องตายตกไปตามกัน
เพราะอย่าลืมว่า Content ที่ดีนั้น จะต้องมี "ต้นทุน" ในการจัดหาเสมอ Content ที่ได้มาฟรี ย่อมเป็น "ขยะ" แต่คนบางพวกคิดว่า ถ้าตนเองสามารถผูกขาด "ขยะ" ได้ "ขยะ" ก็จะกลายมาเป็น "ทองคำ" เพราะตนเองกุมเทคโนโลยีที่สามารถ "เล่นแร่แปรธาตุ" ไว้ในมือแต่ผู้เดียว
และอันที่จริง Content ที่ได้มาฟรีเหล่านั้น ก็ไม่ได้ฟรีจริง เพราะพวกเราเป็นคนรับภาระไว้ (ไม่เชื่อก็ลองทำ Blog, ซื้อมือถือมาโพสต์ Facebook, ซื้อกล้องมาเล่น YouTube ดูก็ได้..มันกินพลังและทรัพย์แยะใช่เล่น) เปรียบไปก็เหมือนกับรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยงบประมาณของเราเอง...ลองคิดให้ดี ว่านั่นเป็นการ Support ผู้ผลิตของประเทศ Anglo-Saxon หรือ English-speaking World โดยต้นทุนของเราเอง...ใช่ไม่ใช่
นั่น ทำให้ผมวิตกมาก ว่าพวกเราจะได้บริโภคสื่อที่ด้อยคุณภาพลง แม้ข้อมูลที่ได้รับจะมีจำนวนมากขึ้นก็ตามที
สิ่งเหล่านี้ จะเป็นอันตรายต่อคนรุ่นใหม่ ที่ไม่แน่นในเชิงพื้นฐานวิธีคิด วิธีเลือก วิธีตัดสินคุณค่า...เพราะอย่างลืมว่า "สื่อสามารถหลอมความคิดคน" ได้จริงๆ
แต่ผมก็ยังคิดไม่ออก ว่าพวกเราจะออกจาก "กับดัก" อันนี้ยังไงกันดี
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 กุมภาพันธ์ 2553
วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น