วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สำลักสินบน



ผมเห็นโคตรสมบัติของแก๊งอดีตนายพลสอบสวนกลางแล้ว รู้ทันทีว่านายตำรวจพวกนี้ไม่รู้เรื่องการเงินเอาเสียเลย

พวกเขาเก่งในการหาทรัพย์ แต่ไม่รู้จักวิธีใช้ทรัพย์และรักษาทรัพย์แบบฉลาดๆ ได้แต่นำไปซื้อของหรูหรา เช่นรถยนต์และมอเตอร์ไซด์หรู บ้านและเพนท์เฮ้าส์จำนวนมาก ที่เหลือก็แปลงเป็นพระเครื่องและพระบูชา ภาพวาด ทองแท่ง เครื่องประดับ แสตมป์ทอง และของสะสมต่างๆ โดยหลายอย่างเก็บแบบตามมีตามเกิด (เท่าที่เห็นในรูป ผมว่าของเหล่านั้นมีค่าเป็นพิพิธภัณฑ์ได้สบายเลย) และดูเหมือนว่าทั้งหมดนั้นฝังไว้ในห้องนิรภัยใต้ดินเสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นก็คงมีเงินบาทและเงินดอลล่าร์เป็นฟ่อนๆ แอบใส่ตู้เซฟฝังไว้ตามพื้นบ้าง กำแพงบ้าง ห้องลับบ้าง

พวกเขาเหล่านี้แม้จะคอรัปชั่นมานานจนรวบรวมทรัพย์สินได้มากมายมหาศาล แต่ก็มีปัญหาในเรื่องการรักษาทรัพย์สิน การบริหารทรัพย์สิน และการจะนำทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาใช้สอย

ทั้งๆ ที่ตัวเองควบคุมงานอาชกรรมทางเศรษฐกิจไว้ในมือแท้ๆ น่าจะรู้เทคนิคต่างๆ ดีกว่าใคร

ข้าราชการระดับสูงของไทยที่รับเงินสินบนจำนวนมากๆ มักตายน้ำตื้น เพราะครั้งก่อนเราก็เห็นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเก็บเงินสดไว้ที่บ้านเป็นกองๆ แบบนี้มาเหมือนกัน

กลายเป็น "สำลักสินบน"

พวกเขาไม่รู้จักใช้กลไกของระบบทุนนิยมสมัยใหม่อย่างตลาดหุ้น และบริการของ Tax Haven อย่างสิงค์โปร์ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ หรือเกาะหลายเกาะในแคริเบียนและบาฮามา เป็นต้น

นับว่าล้าสมัยกว่าทหารพม่าเป็นไหนๆ เพราะอย่างน้อยพวกเหล่านั้นก็รู้จักใช้บริการของ Private Banking และ Wealth Management ในสิงค์โปร์ให้ช่วยฟอกเงินให้

การฝากเงินในสิงค์โปร์เดี๋ยวนี้ทำได้ง่ายๆ และสามารถฝากได้ 12 สกุลเงินรวมทั้งเงินบาทด้วย เพียงพวกเขาเลือกรับสินบนเป็นเงินโอนนอกประเทศ ก็คงตรวจสอบได้ยากกว่านี้มาก

นักการเมืองพวกที่ "เป็นมวย" มักรับสินบนเป็นเงินโอนนอกประเทศ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีการแอบเอาเงินออกจำนวนมาก ก็เลี่ยงไปรับเป็นใบหุ้นแทน เช่นหุ้นของบริษัท ปตท. ปูนซีเมนต์ หรือของแบงก์และบริษัทสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างประเทศ แล้วให้นอมินีนำออกไปที่ฮ่องกงหรือสิงค์โปร์ เพื่อฝากโบรกเกอร์สำคัญๆ ขายเข้ามาอีกทอดหนึ่ง โดยเงินสดที่ได้ก็จะฝากไว้ยังต่างประเทศเลย และพอลูกไปเรียนเมืองนอกหรือตอนแอบไปเมืองนอกหรือตอนเกษียณแล้วก็ค่อยไปใช้ชีวิตกันให้สบาย

อีกวิธีหนึ่งที่สมัยก่อนใช้กันแยะคือการเปิดบริษัทลม (บางทีก็เรียกเก๋ๆ ว่า SPV) ไว้ในต่างประเทศ ถ้าเปิดหลายบริษัทก็ให้ไขว้หุ้นกันไปกันมาเพื่อให้ตรวจสอบยาก แล้ววางบิลมาเป็นค่าที่ปรึกษาหรือค่า Software แล้วทางเมืองไทยค่อยโอนจ่ายไปตามนั้น แต่วิธีนี้น่าจะเลิกใช้กันแล้วเพราะเสี่ยงและมีหลักฐานตรวจสอบได้ไม่ยาก

แต่คิดอีกที ก็ดีเหมือนกันที่ตำรวจระดับสูงไม่รู้เรื่องการเงินมากนัก เพราะแค่นี้ประชาชนก็จะรับกันไม่ไหวอยู่แล้ว

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 พ.ย. 2557
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์มติชน www.matichon.co.th 
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น