วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

"อาณาจักรเงินหยวน" และการหยุด QE กับผลกระทบต่อพวกเรา




การผงาดขึ้นมาของจีนย่อมท้าทายสหรัฐอเมริกาในทุกๆ ด้าน


หลายปีมานี้ หลังจากที่จีนร่ำรวยขึ้น มีความช่ำชองมากขึ้น และเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น จีนได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดิ้นให้หลุดพ้นจากการครอบงำและเอาเปรียบของสหรัฐฯ ในเชิงการเงิน โดยสร้าง "อาณาจักรเงินหยวน" ขึ้นมาเป็นเขตอิทธิพลของตัวเอง


ผมขอแสดงให้เห็นจากข้อมูลที่เราได้รวบรวมมาดังนี้


ก้าวแรกของการสร้าง "อาณาจักรเงินหยวน" ของจีน น่าจะเริ่มจากข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับจีนที่จะค้าขายระหว่างกันโดยไม่ใช้เงินดอลล่าร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2553 ครั้งที่ประธานาธิบดีปูตินและนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ได้แถลงร่วมกันว่าจีนกับรัสเซียบรรลุข้อตกลงที่จะจ่ายชำระราคาค่าสินค้าบางชนิดด้วยเงินหยวนและเงินรูเบิ้ล


นั่นเป็นครั้งแรกที่จีนและรัสเซียประกาศท้าทายความเป็นใหญ่ของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการ


และในช่วงต้นปี 2555 จีนก็ได้บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นในทำนองเดียวกัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาว่าคู่ค้าของทั้งสองประเทศจะสามารถคิดคำนวณราคาสินค้าและบริการเป็นเงินสกุลเยนและหยวนและชำระหรือหักกลบลบกันได้โดยตรงระหว่างสองสกุลโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลล่าร์อย่างที่ผ่านมา ข้อตกลงนี้นับเป็นครั้งแรกที่จีนยอมให้มีการสว้อปเงินหยวนกับเงินสกุลอื่นนอกเหนือไปจากดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยสถาบันการเงินทั่วโลกสามารถทำสว้อปเงินหยวน/เยน หรือ เยน/หยวน ได้ทั้งที่ตลาดโตเกียวและเซี่ยงไฮ้



ข้อตกลงนี้ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มเงินหยวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีนเป็นเงิน 65,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ณ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) และถึงแม้ทุนสำรองก้อนนี้จะคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองทั้งก้อนของญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเกือบๆ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ ทว่า มันก็เป็นก้าวย่างที่สำคัญ เพราะมูลค่าทางการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในแต่ละปีมีไม่น้อยเลย และก็ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายอำนาจของเงินดอลล่าร์ เพราะอย่าลืมว่าจีนกับญี่ปุ่นต่างมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองและสามของโลก (แม้มิตรภาพระหว่างจีนกับญี่ปุ่นยังไม่ราบรื่นเพราะความขุ่นข้องหมองใจกันในเรื่องอดีตก็ตามที)




หลังจากนั้น จีนก็ได้ยึดแนวทางแบบที่ทำกับญี่ปุ่นเพื่อขยายไปสู่ข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทั่วโลก เช่นในการเดินทางเยือนชิลีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเหวินเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ท่านก็ได้เสนอให้ทั้งสองประเทศทำข้อตกลง Currency Swap ระหว่างเงินเปโซของชิลีกับเงินหยวน เป็นต้น

และในราวปลายปีกลาย จีนกับเกาหลีใต้ก็ได้บรรลุข้อตกลงทางการเงินร่วมกันในประเด็นที่ว่าต่อแต่นี้ไปธนาคารพาณิชย์ของทั้งสองประเทศจะสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระราคาสินค้านำเข้าส่งออกและบริการระหว่างสองสกุลเงินได้โดยตรงกับธนาคารชาติของตัวเอง ภายใต้ข้อตกลงที่ธนาคารชาติของทั้งสองประเทศได้ทำสัญญาสว้อประหว่างกันไว้ในวงเงิน 64 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 59,000 ล้านเหรียญฯ ณ อัตตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น)
ที่สำคัญ ก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ในเดือนกันยายน 2556 รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์สำคัญว่านับแต่นี้ไปจะอนุญาติให้ธนาคารในประเทศจีนสามารถทำธุรกรรมกับคู่ค้าทั่วโลกที่ต้องการซื้อขายน้ำมันดิบโดยใช้เงินหยวนแทนเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ

และเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มพลังและอิทธิพลของเงินหยวนในระดับโลกนี้ รัฐบาลจีนได้เปิดศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยน (ของทุกธุรกรรมที่ซื้อขายกันด้วยเงินหยวน) ขึ้นที่สองศูนย์กลางการเงินของโลกคือลอนดอนและแฟรงก์เฟริต

ปีนี้รัฐบาลจีนได้เริ่มขยายเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงการเงินให้กว้างไกลขึ้นไปอีก คือในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ได้ตกลงทำสัญญา Currency Swap กับธนาคารชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) เป็นเงิน 150,000 ล้านหยวนต่อ 21,000 สวิสฟรังค์ (คิดเป็นประมาณ 23,000 ล้านดอลล่าร์) โดยผลพวงอันดับแรกที่ได้คือการเปิดโอกาสให้ธนาคารชาติสวิสสามารถเข้าไปลงทุนโดยตรงในตลาดพันธบัตรของจีนได้ ทั้งในแง่ของการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนและในแง่ของการนำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรองรับการค้าขายระหว่างกันของภาคเอกชน

หลังจากนั้นในเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงแห่งสิงคโปร์ก็ได้ประกาศว่าหลังบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินกับรัฐบาลจีนในระหว่างการพบหารือทวิภาคีกับผู้นำจีนที่นครซูโจวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 แล้ว ก็ได้บรรลุข้อตกลงสองฝ่ายว่านับแต่นี้เป็นต้นไป การค้าขายรวมถึงการทำธุรกรรมการเงินโดยตรงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะใช้สื่อกลางเป็นเงินหยวนและเงินดอลล่าร์สิงคโปร์เพียงสองสกุลเท่านั้น จะไม่มีการนำเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาใช้เป็นสื่อกลางอีกต่อไป

ก้าวสำคัญยิ่งของปีนี้ที่ถือเป็นการท้าทายอำนาจของเงินดอลล่าร์อย่างมีนัยสำคัญคือการที่กลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเดือนกรกฎาคม 2557 ในคราวประชุมสุดยอดที่เมือง Fortaleza ประเทศบราซิล ด้วยข้อตกลงใหญ่ๆ สองเรื่องด้วยกันคือ

หนึ่ง พวกเขาตกลงที่จะก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ขึ้นมา (นัยว่าจะมาแข่งกับธนาคารโลกหรือ World Bank) โดยกำหนดให้ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ด้วยเงินทุนขั้นต้น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนกับประเทศในกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

สอง พวกเขาตกลงที่จะลงขันกันเป็นจำนวน 100,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า Contingent Reserve Arrangement (นัยว่าจะมาแข่งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF) เพื่อให้เป็นทุนสำรองกองกลางสำหรับไว้ใช้ยามฉุกเฉินให้กับบรรดาประเทศสมาชิก เช่นการขาดสภาพคล่องอย่างฉับพลัน หรือเกิดวิกฤติทางการเงิน (Shock) อันเนื่องมาแต่ผลกระทบของวิกฤติโลก เป็นต้น

ทั้งนี้พวกเขายังมิได้เปิดเผยถึงแผนการในเชิงปฏิบัติว่าจะใช้เงินสกุลอะไรบ้างเป็นเงินกองกลาง แต่ที่แน่ๆ คือทั้ง 5 ประเทศนั้น เริ่มเดินไปบนแนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง หันเหไปจากร่มเงาของ BIS (Bank for International Settlements) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งถือเอาเงินดอลล่าร์เป็นใหญ่อย่างชัดเจน

ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นก้าวย่างที่จะท้าทายความสำคัญและอิทธิพลของดอลล่าร์ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงแล้ว มันยังจะส่งผลต่อไทยเราซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในระบบโลกในระยะยาวอีกด้วย อย่างน้อยเราก็จะมีเงินสกุลแข็งสกุลใหม่ที่สามารถนำมาเป็นทุนสำรองได้อย่างสนิทใจนอกเหนือไปจากดอลล่าร์และยูโร และจะมีตลาดเงินใหม่เกิดขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่เกิดวิกฤติขึ้นกับ Dollar Zone

หยุดพิมพ์เงินเพิ่ม

แต่ถ้าไม่นับผลกระทบในเชิง Political Economy ในระดับโลกแล้ว ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันจะกระทบตามมาคือเรื่องของจำนวนสภาพคล่องในโลก ซึ่งถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่ามันอาจจะกระทบต่อราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน (ตลอดจนราคาอสังหาริมทรัพย์) ที่พวกเรากำลังแฮปปี้อยู่ในขณะนี้ หากแนวโน้มอันนี้ยังคงดำเนินต่อไป

ในสมัยที่จีนยังไม่มีกำลังพอและยังเพิ่งจะเรียนรู้ระบบทุนนิยม จีนต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มาก โดยเงินตราต่างประเทศที่จีนได้จากการส่งออกล้วนอยู่ในรูปดอลล่าร์สหรัฐฯ และในทางปฏิบัติ ธนาคารชาติของจีน (People's Bank of China) ย่อมต้องพิมพ์เงินหยวนขึ้นมาซื้อเงินตราเหล่านี้ไว้ แล้วเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อลดความกดดันมิให้ค่าเงินหยวนสูงเกินไปเมื่อเทียบกับดอลล่าร์
นั่นทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโต เพราะยิ่งส่งออกได้มากก็ได้เงินดอลล่าร์เข้ามามาก และต้องพิมพ์เงินหยวนมาก แล้วคนย่อมเอาไปใช้จ่ายกันมากและแพร่สพัดเป็นเงาตามตัว

หลังจากนั้นธนาคารชาติจีนย่อมต้องหาทางนำเงินตราต่างประเทศก้อนนั้นไปลงทุนหรือเอาไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย มิให้มันเสื่อมค่าลงไปตามกาลเวลา โดยธนาคารชาติจีนเลือกที่จะนำมันกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่ก็นำไปซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลล่าร์ หรือไม่ก็นำไปฝากไว้ ณ ศูนย์กลางการเงินของโลกตะวันตก เช่นนิวยอร์กหรือลอนดอน ในเงินตราสกุลดอลล่าร์ (เพื่อให้สหรัฐฯ นำไปหมุนหรือทำประโยชน์..หรือไม่ก็เอาไปเก็งกำไรอีกทอดหนึ่ง)

ธนาคารชาติจีนแทบไม่มีทางเลือกอื่น เพราะครั้นจะนำไปแลกเป็นเงินสกุลแข็งอื่นเช่นยูโรหรือเยนก็ลำบาก เพราะยูโรและเยนย่อมมีไม่มากพอตามที่ตัวเองต้องการ (เพียงแค่ลองหนีไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลยูโรบ้างก็เผชิญกับภาวะขาดทุนดังที่ผ่านมา) หรือจะนำไปซื้อทองคำและ Precious Metals ชนิดอื่น (เช่นเพชร ทองคำขาว) ก็ไม่สะดวกอีก เพราะมันมีจำนวนจำกัดและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง อีกทั้งสภาพคล่องก็ต่ำด้วย (สุดท้ายจีนจึงหาทางออกด้วยการนำเงินไปซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนจำเป็นต้องใช้ไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ อีกทั้งยังลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศและลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่นขุดเจาะน้ำมัน เหมืองแร่ และจัดซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอย่างรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น)

นโยบายแบบนี้ทำให้จีนต้องกินน้ำใต้ศอกอเมริกาทางด้านการเงิน และเท่ากับจีนช่วยฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยปริยาย ทำนอง "อัฐยายซื้อขนมยาย" (ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ดำรงไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลล่าร์น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว)

นั่นไม่ต่างอะไรกับนโยบาย QE ของธนาคากลางสหรัฐฯ ในระยะหลัง

มิเพียงจีนเท่านั้นที่ต้องตกอยู่ภายใต้แอกของเงินดอลล่าร์ คู่ค้ากับสหรัฐฯ เกือบทั่วโลกย่อมต้องเผชิญกับเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้เช่นกัน แม้กระทั่งคู่ค้าที่เข้มแข็งและร่ำรวยอย่างญี่ปุ่น รัสเซีย และบรรดาประเทศตะวันออกกลางที่ขายน้ำมันให้สหรัฐฯ อยู่

หากเราดูตัวเลขบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ เราจะเห็นว่ามันขาดดุลมาตลอด โดยตัวเลขสูงสุดเคยขึ้นไปถึง 800,000 ล้านดอลล่าร์ ต่อปี นั่นหมายความว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำออกจากสหรัฐฯ ไปซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก และหลายส่วนในจำนวนนั้นถูกนำกลับเข้ามาลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือให้สหรัฐฯ กู้ในราคาถูก (แล้วสหรัฐฯ ก็นำกลับไปให้บุคคลที่สามกู้หรือนำกลับไปลงทุนในตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง)

จึงไม่แปลกที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดฟองสบู่ถี่มากในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงก่อนและระหว่างปี 2532 ที่เรียกว่า DotCom Boom และช่วงก่อนปี 2008 ที่เรียกว่า Mortgage Bubble หรือ Subprime Bubble

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการค้นพบเทคนิก Fracking ทำให้อเมริกาสามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากชั้นหินใต้ดินที่เคยเข้าถึงยากได้มากขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ จนทำให้ยอดนำเข้าพลังงานลดลง และเศรษฐกิจที่ซบเซาก็กระทบต่อยอดนำเข้าสินค้าและบริการไปโดยปริยาย ส่งผลให้ยอดบัญชีเดินสะพัดลดลงเกือบครึ่ง

เมื่อพิจารณาประกอบกัน ระหว่างการผงาดขึ้นมาของจีนและคู่ค้าสำคัญที่ต้องการจะปลดแอกจากดอลล่าร์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของยอดบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ มันย่อมกระทบต่อสภาพคล่อง โดยจะทำให้สภาพคล่องที่เคยได้รับการอัดฉีดจากช่องทางนี้ลดน้อยถอยลง

อย่าลืมว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ประกาศหยุดโครงการ QE ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (จะเป็นการหยุดชั่วคราวหรือหยุดถาวรต้องรอดูต่อไป)

การเปลี่ยนแปลงสองข้อหลักที่ว่านี้ ย่อมจะทำให้สภาพคล่องที่เคยมีอย่างล้นเหลือในระบบเศรษฐกิจอเมริกาและล้นออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา (อย่างน้อยก็ล้นออกมาสู่ตลาดหุ้นของ Emerging Markets ทั่วโลก รวมทั้งตลาดไทยด้วย) เหือดแห้งลงไปด้วย


ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งที่เริ่มส่งสัญญาณไปในแนวทางนั้นคือการแข็งค่าของดอลล่าร์ในรอบหกเดือนที่ผ่านมา


ถึงแม้ว่านโยบาย QE ในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะยังไม่หยุด แต่มันกลับส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่ายิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร (และสิ่งนี้ก็ส่งผลให้ราคาทองคำ ซึ่งกำหนดราคาซื้อขายในสกุลเงินดอลล่าร์ ลดต่ำลง)


หนังสือพิมพ์ Financial Times ได้รายงานเมื่อต้นเดือน พ.. ว่า Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการให้ดำเนินโครงการอัดฉีดเงินจำนวน 1 ล้านล้านยูโร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูโรโซนจากภาวะชะงักงัน

ในทำนองเดียวกัน Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นหรือ Bank of Japan ก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์ให้ได้จนแตะถึงระดับ 80 ล้านล้านเยน (ประมาณ 700,000 ล้านเหรียญฯ) ต่อไป โดยบางส่วนจะนำไปซื้อหลักทรัพย์เอกชน ตรงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่เป็น ETFs และ REITs

นโยบายเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เงินดอลล่าร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก (แน่นอนว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลล่าร์จะถูกลง) ซึ่งเรื่องนี้ไม่อยู่ในประเด็นที่บทความนี้ต้องการโฟกัส (และการที่ธนาคากลางของญี่ปุ่นและยุโรปเข้าไปทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลราคาสูงขึ้นย่อมบ่งบอกชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
เราสนใจเพียงว่า เมื่อ QE หยุดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ดีขึ้น สภาพคล่องส่วนเกินย่อมจะเหือดแห้งลงด้วย ดังนั้นราคาสินทรัพย์ย่อมต้องมีแนวโน้มลดลง
คิดง่ายๆ ว่า "เมื่อพิมพ์เงินฉีดเข้าไปแล้วหุ้นขึ้น ดังนั้นเมื่อเลิกฉีดเงินเข้าไป หุ้นย่อมตกเป็นธรรมดา"

ตั้งแต่เริ่มใช้ QE มา ดัชนี้ S&P 500 เพิ่มขึ้นกว่า 200% จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และเมื่อหันมาดูหุ้นไทยบ้าง สภาพการณ์ก็มิได้ต่างกันมากนัก หลังจากวิกฤติซัพไพรม์เมื่อปี 2551 เป็นต้นมา และกองทุนต่างประเทศเริ่มหันเหเงินลงทุนจากตลาดสหรัฐฯ มุ่งสู่ตลาด Emerging Markets ดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์หรือ SET Index เพิ่มขึ้นจากที่เคยต่ำสุด ณ ระดับ 400 จุด มาอยู่ในระดับ 1,580 จุดในปัจจุบัน โดยถ้าดูจากปลายปี 2553 ที่สหรัฐฯ เริ่มมีการใช้นโยบาย QE เป็นต้นมา SET Index ก็มุ่งหน้าเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว (จากระดับประมาณ 800 จุดในปลายปีนั้นมาสู่ระดับปัจจุบัน)

แน่นอน ตลาดหุ้นไทย (รวมถึงตลาด Emerging Markets อื่นๆ ทั่วโลก) ราคาแพงขึ้นมาได้เพราะนโยบายอัดฉีดเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังที่กล่าวมาแล้ว

และการที่หุ้นมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้เกิด Wealth Effect ที่แพร่สะพัดเข้าไปสู่สินทรัพย์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ งานศิลปะ และของสะสมบางชนิด เช่นรถยนต์คลาสิก นาฬิกา ของเก่า พระเครื่อง ฯลฯ

ท่านผู้อ่านคงจะจินตนาการได้เองว่าอนาคตของเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร เมื่อการพิมพ์เงินหยุดลง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 .. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.. 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น