วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
อนาคตอันใกล้ของญี่ปุ่นที่น่าสนใจ
ชินโสะ อาเบะ ตัดสินใจยุบสภาฯ แล้ว เมื่อเช้าวันนี้เอง
สะท้อนว่า นโยบาย “พระรามแผลงศร” หรือที่ฝรั่งพากันเรียกว่า “Abenomics” ของเขาส่วนใหญ่ล้มเหลว ส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำลง
เดี๋ยวนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันพูดถึง “Triple Dip Recession” กันแล้ว เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นโตได้เพียง 1.6% ทั้งๆ ที่คาดการณ์ก่อนหน้านั้นกะว่าจะโตถึง 2.2% และรายได้ครัวเรือนก็ลดลงด้วย (ตั้งแต่อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2555 รายได้ครัวเรือนลดลงกว่า 6%) ในขณะที่การจ้างงานไม่ดีขึ้นเลย
ทว่า มีสิ่งหนึ่งที่เขาทำสำเร็จคือการทำให้เงินเยนอ่อนตัวลง
ยุทธวิธีนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นรัฐบาลและธนาคารชาติแทรกแซงค่าเงินเยนสุดฤทธิไม่ให้แข็งค่า เพื่อช่วยให้กิจการของเอกชนส่งออกได้ แถมยังใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อขยายตลาด เพิ่ม Market Share ในตลาดโลกอย่างช้าๆ
ทว่า คราวนี้ นโบายแบบเดียวกันนั้นกลับใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดูได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบหลายปีมานี้
นั่นอาจเป็นเพราะประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจโลกซบเซาด้วย นับเป็นโชคร้ายของนายกรัฐมนตรีอาเบะ
แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น คือเงินเยนที่ลดค่าลง กลับส่งผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนากับเศรษฐกิจเข้าให้อีก กล่าวคือ ญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงขายของ แต่ยังต้องซื้อวัตถุดิบนำเข้าจำนวนไม่น้อยด้วย เงินเยนที่อ่อนค่าลงเกือบ 24% (เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ) ตั้งแต่อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อธันวาคม 2555 กลับทำให้ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ต้องนำเข้า (เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) สูงขึ้นด้วย
ค่าเงินที่ถูกลงยังส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่เคยซื้อของต่างประเทศด้วยราคาที่ถูกกว่านี้ลดลงไปพร้อมกัน และแม้ว่าค่าเงินที่อ่อนลงนี้จะทำให้ค่าแรงของคนงานญี่ปุ่นถูกลงโดยเปรียบเทียบ ทว่าการจ้างงานก็ไม่ดีขึ้น เพราะอาจเป็นได้ว่ากิจการที่เป็นหัวหอกของญี่ปุ่นล้วนย้ายฐานไปตั้งอยู่นอกประเทศตั้งแต่สมัยที่เงินเยนแข็งค่าอันเนื่องมาแต่ข้อตกลง Plaza Accord โน่นแล้ว จึงสามารถเข้าถึงแรงงานราคาถูกนอกประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาใช้แรงงานที่เป็นคนญี่ปุ่นสักเท่าใดนัก
ดังนั้น ค่าเงินที่อ่อนลงเลยกลับพลิกให้ดุลการค้าที่เคยได้ดุลมาตลอดกลับกลายเป็นเสียดุล เพราะขายของส่งออกไม่ได้แต่ต้องซื้อของนำเข้าด้วยราคาแพง (เมื่อปี 2553 ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าถึง 5 ล้านล้านเยน แต่กลับขาดดุลการค้าถึง 11 ล้านล้านเยนในปีนี้) ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจเอกชนตกลง และกระทบต่ออัตราเงินออมของประเทศที่เคยสูงถึง 10% ในสมัยก่อนปี 2543 (ค.ศ.2000) มาเหลือแค่ 3% ในขณะนี้ และทำท่าว่าจะลดลงไปอีก
อย่าลืมว่าในอดีต เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยรุ่งเรืองโดยมีกำไรของภาคเอกชนและอัตราการออมที่สูงของประชาชนเป็นตัวกระตุ้นหลัก ดังนั้นเมื่อสองเสาหลักนี้ง่อนแง่น กลยุทธ์การเติบโตจึงต้องหันไปพึ่งพาการอัดฉีดของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย QE ที่เน้นการพิมพ์เงินฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจโดยผ่านโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารชาติ และล่าสุดธนาคารชาติญี่ปุ่นเริ่มขยายขอบข่ายการอัดฉีดเข้าไปในตลาดหุ้นโดยตรง ด้วยการเข้าซื้อกองทุน ETFs และ REITs แล้วด้วย
จนถึงขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงจนคิดเป็นเกือบ 250% ของ GDP แล้ว และถ้านับตั้งแต่ธนาคารชาติญี่ปุ่นเริ่มนโยบาย QE เมื่อปี 2544 เป็นต้นมา ว่ากันว่าปริมาณเงิน (Monetary Base) โดยคร่าวๆ เพิ่มขึ้นเกือบ 60% แล้ว
สถานการณ์แบบนี้ (ประกอบกับอัตราการเกิดที่่ต่ำลง) ยังส่งผลให้ฐานภาษีของรัฐบาลหดตัวลง จนต้องหาทางเพิ่มเอาจากภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรที่เรียกเก็บจากการขายสินค้า ซึ่งความคิดอันนี้แหละที่กลายเป็นจุดอ่อนของนายกฯ อาเบะ
ดูๆ ไปแล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะลดปริมาณหนี้ลงคงเป็นไปได้ยากในระยะสั้น อีกทั้งภาคเอกชนและประชาชนยังเรียกร้องให้อัดฉีดแรงขึ้นไปอีก
นั่นคงพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า หากอาเบะอยากได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกในกลางเดือนหน้า เขาต้องสัญญาว่าจะใช้ยาแรงยิ่งกว่านี้
นัยยะของสถานการณ์แบบนี้ทำให้เราเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าโอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกฟื้นในระยะอันใกล้นี้ยังริบหรี่เต็มที
แต่สิ่งที่จะดีคือตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั่นเอง
ดังนั้น ชาวเราที่คิดจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ อาจถึงเวลาที่จะตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดญี่ปุ่นได้อย่างค่อนข้างวางใจ เพราะนอกจากธนาคารชาติมีแนวโน้มจะเข้ามาในตลาดหุ้นโดยตรงแล้ว ตลาดญี่ปุ่นเองก็มีราคาถูกลงมาแยะแล้ว และถูกกว่าตลาดสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดยุโรปยังไม่น่าสนใจ
MBA Magazine
21 พ.ย. 2557
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น