Kickstarter.com เป็นนวัตกรรมใหม่ในแวดวงการเงิน
มันเป็นกึ่งๆ Venture Capital กับเว็บไซต์ขายของล่วงหน้า
ในแง่ VC นั้น มันสามารถหยิบยื่นเงินก้นถุงให้กับผู้ประกอบการที่มีไอเดีย มีแรงบันดาลใจ มีแพชั่น มีโครงการ มีแผนธุรกิจจริงจังขึงขัง แต่บ่อจี้
วงการเงินเรียกเงินตั้งตัวก้อนนั้นว่า Seed Financing คือเอากันตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นเมล็ดความคิด ยังไม่รู้ว่าจะแตกเป็นหน่ออ่อน แล้วแตกกิ่งแตกใบ ให้ผลเหลืออร่ามน่ากิน หรือจะเหี่ยวแห้งเฉาตายไปก่อนเวลาอันควรหรือไม่อย่างไร
Seed Financing จึงเสี่ยงมากกว่าถึงมากที่สุด
มีแต่ VC บางประเภทเท่านั้นแหละที่เกิดมาเพื่อลงทุนแบบนั้น จะมาหวังให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปมาใส่ใจ คงหวังได้ยาก แม้หลายธนาคารจะโฆษณาจนออกนอกหน้าว่าตัวเองสนับสนุน SME แต่พอจะเอาเข้าจริง ก็ติดโน่นติดนี่ สุดท้ายก็ต้องโอละพ่อโดยการวางสินทรัพย์ค้ำประกันกันอยู่ดี
แล้วนายบิลเกตส์สมัยที่ยังหน่อมแน้มโนเนะ เพิ่งจะ drop out จากฮาร์วาร์ด หรือนายสตีฟ จ๊อบส์ ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นนิดนึง หรือแม้แต่นายมาร์ค ซุคเคอะเบิก สมัยยังเป็นนักศึกษาเมื่อไม่นานมาเนี่ย มันจะมีบ้านหลังโตๆ หรือผืนดินแปลงงามๆ หรือแม้แต่เครื่องจักรล้ำค่า ไปจดจำนองเพื่อกู้เงินมาตั้งตัวได้ไงละ
VC จึงเป็นที่พึ่งเดียวของมนุษย์พันธ์ุใหม่พวกนี้
ดังนั้น เมื่อเด็กหนุ่มหัวดีแต่ชอบความโลดโผนท้าทายพวกนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แบบที่พวกเรารู้ๆ กัน บรรดา VC ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมากับคนเหล่านั้นตั้งแต่แรก ก็ล้วนแล้วแต่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีกันไปในขบวนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่พวกเขาเลือกจะอยู่เงียบๆ แล้วก็ออกค้นหาเพชรในตมเม็ดใหม่ของพวกเขาต่อไป
ในยุคที่คนทั่วโลกท่องอินเทอร์เน็ตกันทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมงแบบทุกวันนี้ พวก VC หัวใสก็คิดออกว่าตัวเองควรฉวยโอกาสทดลองความคิดใหม่กับเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางให้มนุษย์พันธุ์หลงรักความเสี่ยงเหล่านั้นได้โคจรมาพบกับผู้สนับสนุนเงินทุนโดยตรงเลยโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (อย่าว่าแต่ตัวกลางประเภทสถาบันการเงินเลย แม้แต่ VC ก็ถูกตัดออกด้วยละงานนี้)
Kickstarter.com จึงถูกทำคลอดออกมา
ทว่า Kickstarter ก้าวหน้าไปกว่า VC ปกติอยู่สามข้อ
ข้อแรกมันเข้าถึงคนเล็กคนน้อยได้จริง คือมันอนุญาตให้ใครก็ได้ จะเล็กจะน้อยแค่ไหนไม่เกี่ยง ขอให้มีโปรเจกต์เจ๋งๆ มานำเสนอ แม้วงเงินที่ต้องการจะไม่มาก ก็สามารถเข้ามาขอพึ่ง Kickstarter ได้เหมือนกัน
ข้อสองคือมันยอมให้ผู้สนับสนุนเงินทุน เป็นใครก็ได้ในโลกนี้ จะสนับสนุนเพียงเล็กน้อยหรือมากๆ ก็ได้ตามแต่ศรัทธาและกำลังของตน (โปรเจกต์ส่วนใหญ่ตั้งต้นกันเพียงแค่เหรียญฯ เดียวเท่านั้น) และการสนับสนุนก็ทำง่ายๆ โดยเพียงคลิกสองคลิก ผ่าน PayPal หรือผ่านบัตรเครดิตก็ยังได้
ข้อสามคือมันผูกพันผู้ประกอบการตั้งแต่แรกให้ระบุผลตอบแทนว่าผู้สนับสนุนแต่ละพวกจะได้อะไรเป็นการตอบแทน เมื่อโปรเจกต์นั้นๆ สำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อยแล้ว
โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ส่วนใหญ่จะเป็น “ผลของงาน” หรือ “ตัวงาน” มากกว่าผลตอบแทนที่เป็นเงิน หรือ Capital Gain เหมือนกับ VC ที่ต้องคอย Exit ด้วยการขายหุ้นเมื่อกิจการเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือถูกเทคโอเวอร์โดยกิจการยักษ์ใหญ่ เป็นต้น
ฝรั่งเรียกผลตอบแทนแบบนี้ว่า Return-in-kind มิใช่ Return-in-cash
นั่นทำให้ Kickstarter.com มีลักษณะค่อนไปทางเว็บไซต์ขายของล่วงหน้าด้วยเช่นกัน (โดยรับเงินมัดจำจากผู้ซื้อหลายๆ คนมาเป็นขวัญถุงเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบและจ้างแรงงานสำหรับผลิตของช้ินนั้น)
ถ้าใครลองคลิกเข้าไปดู Kickstarter.com ณ ขณะนี้ ก็จะเห็นหนังสั้นหรือ VDO Presentation ของสี่ห้าโปรเจกต์ที่เลือกสรรแล้วหราอยู่หน้าเว็บพร้อมกับคำอธิบายสั้นๆ เพียงให้ได้ใจความคร่าวๆ ว่าผู้ประกอบการแต่ละคนคิดจะผลิตหรือรังสรรค์อะไร หนังสั้น หนังสือการ์ตูน แอพพลิเคชั่นบนมือถือหรือไอแพท รองเท้าหนังตัดเย็บด้วยมือ หรือแม้แต่ผลงานศิลปะ ฯลฯ
เมื่อคลิกเข้าไปอีก ก็จะเห็นรายละเอียดและ Mock-up ที่พวกเขาทำมาให้ดูเพื่อจูงใจ “ผู้ลงทุน/ผู้จองซื้อล่วงหน้า” เป้าหมายของพวกเขา
คนที่ “ปิ๊ง” กับไอเดียของใครคนไหน ก็ส่งเงินให้เจ้าของโปรเจกต์ได้โดยคลิกส่งให้ตั้งแต่เหรียญฯ เดียวจนถึง 10,000 เหรียญฯ ตามแต่ความชอบความศรัทธาส่วนตน โดยเจ้าของโปรเจกต์ต้องสาธยายผลตอบแทนอย่างละเอียดไว้บนหน้าเว็บเลยว่า 1 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้คำขอบคุณเฉยๆ) 5 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้ไปรษณียบัตรขอบคุณส่งถึงบ้าน) 10 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานหนึ่งชิ้นเมื่อผลิตเสร็จ) 50 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานพร้อมลายเซนต์) 100 เหรียญฯ ได้อะไร...ฯลฯ
Blogger ว่าผู้ประกอบการไทยน่าจะลองใช้ช่องทางนี้กันให้มาก เพราะลงทุนลงแรงน้อย ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาการเงินมาวาดลวดลาย Cashflow Analysis หรือนักกลยุทธ์มาเขียนแผนธุรกิจให้วุ่นวาย ขอเพียง Presentation แบบเนียนๆ ก็ใช้ได้แล้ว
ข้อจำกัดมีเพียงอันเดียวคือต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารในสหรัฐฯ เพื่อรับเงินสนับสนุนก้อนนั้น
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Blog ของนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2554 ภายใต้นามปากกา Blogger
***โปรดคลิกอ่านข้อเขียนของผมที่ว่าด้วย Private Equity ได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้
Private Equity ห่วงโซ่อาหารข้อต้นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น