วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

สื่อใคร สื่อมัน



แรง!

ผมเขียนบทความนี้ในวันที่ “เครือมติชน” ยื่นลาออกจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเพราะถูกหาว่ารับเงินจากพรรคการเมือง โดยมติชนก็กล่าวหาว่าสภาฯ ดังกล่าวถูกการเมืองภายนอกแทรกแซงบิดเบือน


นักการเมืองกับหนังสือพิมพ์เป็นของคู่กัน


ทั้งโลกก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ใช่เฉพาะแค่เมืองไทย คือถ้าไม่มีนักการเมือง หนังสือพิมพ์คงเงียบเหงาปาก ไม่รู้ว่าจะด่าและกระแนะกระแหนใครดี นักเขียนการ์ตูนล้อคงต้องเลิกอาชีพไปเขียนการ์ตูนขำขันหรือมังงะ ข่าวหน้า 1 และหน้าข่าวต่อ ก็คงจะมีแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคม ข่าวธุรกิจ ข่าวบันเทิง ข่าวราชสำนัก ข่าวนางงาม และข่าวชาวบ้าน ประเภทแมวของคุณยายข้างบ้านดันปีนขึ้นไปบนต้นไม้แล้วลงเองไปได้ ต้องร้อนถึงตำรวจดับเพลิง...หรือวันนี้คุณหญิงคุณนายคนนั้นคนนี้ซื้อโคตรเพชรและกระเป๋าหลุยส์แจกลูกสะใภ้...ไปตามเรื่องตามราว


ถ้าคุณเดินผ่านแผงหนังสือในช่วงเดือนสองเดือนสามเดือนมานี้ แล้วหยุดมองสักนิด หรือแม้แต่แลด้วยหางตา คุณก็จะเห็นรูปของคุณยิ่งลักษณ์เต็มตาไปหมด


แยะจริงๆ !


ทั้งที่หราบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารวารสารรายสัปดาห์และรายเดือนและแม้กระทั่งหนังสือดูดวงดูลายมือและหนังสือการ์ตูนขำขัน...


ผมอยากยกตัวอย่างข้อความใน “ขายหัวเราะ” นิตยสารความฮาประจำบ้านรายสัปดาห์ ที่ออกวางแผงหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาฯ ว่า...


“วิชุดาสาวใหญ่วัย 45 ปรับทุกข์กับเพื่อนสนิทถึงเรื่องปัญหาหนักอกหนักใจของเธอ...


“ชาตินี้ฉันมีหวังไม่ได้ลงจากคานแหงๆ ขนาดเมื่อก่อนคุณแม่ฉันท่านล็อกสเปกว่าที่ลูกเขยไว้แค่ขอให้เป็นคนซื่อสัตย์ขยันอดทน แค่นี้ยังไม่เคยมีผู้ชายหน้าไหนที่มาจีบฉันเข้าตาแกเลย แล้วตอนนี้สถานการณ์กลับยิ่งแย่ไปกันใหญ่ เพราะคุณแม่ฉันท่านปรับโครงสร้างว่าที่ลูกเขยใหม่เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล...”


“โห...แม่เธอนี่ทันสมัยจริงๆ แล้วว่าที่ลูกเขยตามนโยบายใหม่น่ะ ต้องเป็นอย่างไรเหรอ” เพื่อนซักด้วยความอยากรู้ วิชุดาถอนหายใจพร้อมกับตอบด้วยสีหน้าหมดอาลัยตายอยาก


“เฮ้อ...คนที่จะมาเป็นว่าที่ลูกเขยตามนโยบายใหม่ของแม่ฉันได้ นอกจากจะต้องซื่อสัตย์ขยันอดทนแล้ว ยังต้องจบปริญญาตรีมีเงินเดือนอย่างต่ำหมึ่นห้า ต้องเป็นผู้ชายที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ด้วยการซื้อรถคันแรกกับบ้านหลังแรกตามนโยบายรัฐบาล แถมถ้าบ้านใครมีที่นาและปลูกข้าวจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแม่ฉันให้เหตุผลในเรื่องนี้ไว้ว่าครอบครัวคนทำนาต่อไปจะเป็นเศรษฐี เพราะราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้สูงลิบลิ่วเป็นประวัติการณ์ ฟังสเปกว่าที่ลูกเขยของแม่ฉันแล้วเธอก็ลองคิดดูแล้วกันนะว่า ในประเทศไทยจะมีผู้ชายแบบนี้อยู่สักกี่คนกันเชียว”...(อ้างจากเรื่อง “ปรับตามนโยบาย” โดย Mini-me ตีพิมพ์ใน ขายหัวเราะ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1149 ประจำวันพุธที่ 10-16 สิงหาคม 2554)


ยังงี้แหละครับ สื่อมวลชนกับนักการเมือง นี่ขนาดขำขันแบบไม่ “คอการเมือง” มาก แต่ถ้าเป็นมือการ์ตูนล้ออย่างคุณเซียไทยรัฐ คุณขวดเดลินิวส์ ท่านชัยราชวัตร คุณต่าย คุณนิด และคุณต้อม ก็ย่อมมีเรื่องการเมืองให้กระแนะกระแหนกันเป็นประจำ อยู่ที่ว่านักเขียนแต่ละคนถือหางข้างไหนในช่วงนั้นๆ


ผมเห็นด้วยกับ George Orwell ที่บอกว่านักเขียนทุกคนที่มาเขียนหนังสือกันส่วนหนึ่งก็เพราะมีความอึดอัดขัดข้อง อัดอั้นตันใจ และมีความในใจกัน หรือเห็นความจริงบางอย่างแล้วอยากให้คนอื่นเห็นด้วย และมี “วัตถุประสงค์เชิงการเมือง” (Political Purpose) ซึ่งหากเรานิยาม “การเมือง” โดยความหมายกว้างแล้ว (เขาว่าคือต้องการมีอิทธิพลเหนือผู้อ่าน ให้ผู้อ่านคล้อยตามและเห็นดีเห็นงามไปกับข้อเขียน ที่เสนอแบบอย่างของสังคมและชีวิตอันพึงปรารถนาแบบใดแบบหนึ่ง) ย่อมไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ปลอดการเมืองไปได้ แม้แต่หนังสือที่ประกาศตัวเองว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเด็ดขาด (คำประกาศแบบนั้น แท้จริงแล้ว) ก็เป็นเป้าหมายทางการเมืองโดยตัวของมันเอง (อ้างจาก “Why I Write” ตีพิมพ์ใน The Collected Essays, Journalism and Letters of George Orwell Vol.1: An Age Like This 1920-1940, 1st Edition, Secker & Warburg, หน้า 4 ปี 1968)


คนที่เลือกมาประกอบอาชีพนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวทุกคนย่อมมีอีโก้สูงอยู่แล้ว และอาชีพนี้ เมื่อทำไปเรีื่อยๆ ก็จะยิ่งหล่อเลี้ยงให้อีโก้นั้นเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังนั้นการแสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมืองย่อมมีอยู่ในข้อเขียนของพวกเราเป็นธรรมดา


เว้นแต่ตารางเรียน ตารางสอนที่เราเขียนให้ลูกเอาไปโรงเรียน หรือคู่มือเดินรถ และระเบียบการสอบคัดเลือก หรืออะไรทำนองนี้แล้ว ข้อเขียนนอกจากนั้น ย่อมมีความคิดเห็นของพวกเราเจือปนไปด้วยไม่มากก็น้อย


เดี๋ยวนี้ แม้แต่คู่มือทำกับข้าวหรือคู่มือท่องเที่ยว ยังมีความเห็นทางการเมืองของผู้แต่งแทรกอยู่เยอะแยะไปหมด...นี่อาหารชาววัง นั่นน้ำพริกชาวบ้าน โน่นวังเจ้าเรือนผู้ดีเก่า และนั่นราชดำเนินถนนลุกขึ้นสู้ เป็นต้น


และนักเขียนนักข่าวเราส่วนใหญ่แม้จะเป็นคนที่รักความจริง และรักที่จะแสวงหาความจริง รักในเสรีภาพ อิสระภาพ และเชื่อว่าความยุติธรรมมีจริง แต่ก็เป็นคนธรรมดาที่มักมีจิตใจโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งในเชิงความเห็นทางการเมือง...บางคนได้ยินเพลงชาติแล้วต้องยืนตรง ไม่ไหวติง แต่บางคนก็เฉยๆ ทำยุกยิ้กแบบเสียไม่ได้ หรือบางคนหนักข้อ ก็แกล้งทำหูทวนลมและออกเดินต่อไปหน้าตาเฉย...บางคนเพียงได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ขนลุกซู่หรือถึงขั้นน้ำตาซึม แต่บางคนกลับอดรนทนไม่ได้เอาเลย ต้องแอบทำปากขมุบขมิบ แสดงว่า นั่นแหน่ะ! แอบวิพากษ์วิจารณ์อยู่กับคนข้างๆ...บางคนชอบนโยบายพรรคโน้น บางคนชอบพรรคนี้...บางคนก็ชอบบุช บางคนชอบโอบามา บางคนบูชาบินลาเดน...บางคนพกเหรียญเสด็จพ่อ ร.5 บางคนก็กรมหลวงชุมพรฯ แต่บางคนกลับนิยมหลวงพ่อพระยาตาก และยกย่องเทียนวรรณ กศร.กุหลาบ และนรินทร์กลึง...บางคนหลงอภิสิทธิ์ บางคนปลื้มยิ่งลักษณ์ บางคนเชื่อสนธิ-จำลอง แต่บางคนก็ไม่นับถือใครเลย เพราะคิดเอาเองและเชื่อตัวเอง แต่เลือกที่จะคบทุกคนและสนับบางคนในบางเวลา ฯลฯ


ในแง่องค์กรธุรกิจนั้น สื่อมวลชนเดี๋ยวนี้จำเป็นต้องพึ่งพาโฆษณา เพราะนับวัน Content จะมีราคาลดลง ลดลงเรื่อยๆ จนให้ฟรีกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง และเป็นกันทั่วโลกเพราะอิทธิพลของอินเทอร์เน็ต...จะให้ทำไงได้ เพราะไม่ว่าคุณจะบริหารกิจการเล็กใหญ่ หนึ่งล้านหรือพันล้านหมึ่นล้าน เอ็มบีเอหรือประถมสี่ บรรทัดสุดท้ายของผู้บริหารทุกคนก็คือ “รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร”


ในเมืองไทยนั้น หนังสือพิมพ์เล่มสำคัญที่ทรงอิทธิพลต่อแหล่งข่าวและมีอิทธิพลต่อผู้อ่านสูงและทีวีและวิทยุช่องสำคัญ ล้วนอยู่ได้ด้วยโฆษณา

แน่นอน ผู้ลงโฆษณามักจะ “เซ็นเซ่อร์” ข้อเขียนของหนังสือพิมพ์และบทของทีวีวิทยุ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม...ข้อนี้เป็นกันทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย


และผมก็ยังไม่เห็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีและวิทยุไหนที่ประกาศเป็น Mission ว่าจะไม่รับโฆษณาหรือเงินค่าหุ้น หรือเงินกู้ยืม หรือแม้กระทั่งเงินอุดหนุน จากรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มการเมืองต่างๆ

สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพล ซึ่งสามารถทำกำไรได้ด้วยและเป็นกลางเด๊ะไปพร้อมกันได้ด้วย ย่อมเป็นไปแทบจะไม่ได้เลย...เท่าที่ดูในโลกนี้ (ถ้าไม่นับ BBC แล้ว) ผมไม่เห็นว่าจะมีสักรายเดียว

ยิ่งสมัยนี้เป็นสมัยของ Social Media และสมัยของอินเทอร์เน็ต ของบล็อก ของยูทูป ของเว็บบอร์ด ที่นับวันอิทธิพลของสื่อมวลชนแบบ Mass Media จะลดพลังลง และสะดวกที่ผู้คนซึ่งมีความคิดเห็นเหมือนกันจะไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แลกเปลี่ยนข่าวสารความเห็นกันเอง เจ๊าะแจ๊ะกันเองทุกวัน เป่าหูกันไปกันมา วันละหลายๆ เวลา โดยมีความเป็นส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม เฉพาะหมู่เหล่าที่ชอบพอและมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน



ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสภาวการณ์แบบนี้ย่อมจะทำให้อุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วยอย่างแน่นอน การแบ่งค่าย แบ่งสี แบ่งฝ่าย และถือหางกันอย่างชัดเจนและเปิดเผย ย่อมเป็นแนวโน้มสำคัญของหนังสือพิมพ์และอุตสาหกรรมสื่อที่จะต้อง “วัตนาการ” ไป (ผมใช้คำว่า “วัตนาการ” แปลว่า “เปลี่ยนแปลง” เฉยๆ เท่านั้น ผมไม่ได้ใช้คำว่า "วัฒนาการ" หรือ “วิวัฒนาการ” ซึ่งหมายถึงความเจริญ)

ดังนั้น “ความเป็นกลาง” จึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่จะมาคาดหวังจากผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ และต้องมาพูดมาถกกันให้เป็นเรื่องเอิกเกริกในระดับสมาคมวิชาชีพอีกต่อไปแล้ว


ความรักและเคารพต่อความจริง รักที่จะแสวงหาความจริง รักเสรีภาพ หวงแหนอิสระภาพ ขัดขวางพฤติกรรมหรืออำนาจอันจะเป็นการตัดรอนมันไปเสีย ไขว่คว้าหาชีวิตที่อุดมและสังคมที่พึงปรารถนา และเชื่อว่าความยุติธรรมมีจริง และต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านั้น ต่างหาก ที่ควรเป็นประเด็นสำคัญต่ออาชีพของพวกเราในอนาคต

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
8 กันยายน 2554



ตีพิมพ์ครั้งแรกภายใต้ชื่อ "อนาคตที่เอียงเป็นปกติของหนังสือพิมพ์" ในนิตยสาร MBA ฉบับควบเดือนสิงหาคม-กันยายน 2554


หมายเหตุ: คลิกอ่านบทความของผมที่เคยอ้างถึงคำพูดเฉียบๆ ของ George Orwell ได้ตามบทความข้างล่างนี้ครับ


***ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่าง กับการเปลี่ยนแปลง




และ ***หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น