คนอังกฤษมักพูดถึง Shakespeare เสมอว่า “The greatest of English poets is but a name.” นั่นเป็นเพราะขาดหลักฐานร่วมสมัยที่จะพิสูจน์ว่าเขามีตัวตนอยู่จริง ไม่มีต้นฉบับลายมือเขียน ไม่มีบันทึกว่าใครเคยพูดหรือสนทนากับเขา ไม่ปรากฏแม้กระทั่งรูปวาดในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่
แต่กระนั้น คนอังกฤษทุกคน ก็มีความรับสำนึกในรสไพเราะของ Shakespeare ว่ามีอยู่จริงๆ พวกเขาสัมผัสได้กับวลีและประโยคเด็ดๆ จำนวนมากที่เปล่งออกจากปากของบรรดาตัวละครของ Shakespeare และยังคงอ้างอิงกันต่อมาในภาษาพูดและภาษาเขียนประจำวันของคนอังกฤษจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เช่น “All the world’s a stage.” “The wheel is come full circle.” “There is nothing left remarkable beneath the visiting moon!” “Our remedies oft in ourselves do lie.” “Sweet are the uses of adversity.” “It was Greek to me!” “The evil that men do lives after them, the good is oft interred with their bones.” “Oh, that way madness lies.” “The face is as a book where men may read stage matters.” “Throw physic to the dogs—I’ll none of it!” “To the last syllable of recorded time.” “Murder will out.” “A blinking idiot.” “A Daniel come to judgment.” “A good deed in a naughty world.” “I’ll met by moonlight.” “Night and silence—who is here?” “Lord, what fools these mortals be!” “A foregone conclusion.” “A heart as sound as a bell.”.....
“Put money in they purse.” “Thereby hangs a tale.” “The green-eyed monster.” “Trifles light as air.” “Call back yesterday.” “Uneasy lies the head that wears a crown.” “I am not in the giving vein today.” “A horse, a horse, my kingdom for a horse!” “That which we call a rose by any other name would smell as sweet.” “A plague o’both your houses!” “I am Fortune’s fool.” “The dark backward and abysm of time.” “A very ancient and fish-like smell.” “Time hath a wallet at his back in which he puts alms for oblivion.” “Dost thou think, because thou are virtuous, there shall be no more cakes and ale?” “Why, this is very midsummer madness.” “My salad days, when I was green in judgment.” “This sceptred isle.”…….(อันที่จริงสำนวนของ Shakespeare ตลอดจนคำที่เขาประดิษฐ์ขึ้นใช้ และยังคงใช้กันอยู่ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน ยังมีอีกมาก ถ้าใครสนใจ ควรอ่าน The Stories of English ของ David Crystal)
“Put money in they purse.” “Thereby hangs a tale.” “The green-eyed monster.” “Trifles light as air.” “Call back yesterday.” “Uneasy lies the head that wears a crown.” “I am not in the giving vein today.” “A horse, a horse, my kingdom for a horse!” “That which we call a rose by any other name would smell as sweet.” “A plague o’both your houses!” “I am Fortune’s fool.” “The dark backward and abysm of time.” “A very ancient and fish-like smell.” “Time hath a wallet at his back in which he puts alms for oblivion.” “Dost thou think, because thou are virtuous, there shall be no more cakes and ale?” “Why, this is very midsummer madness.” “My salad days, when I was green in judgment.” “This sceptred isle.”…….(อันที่จริงสำนวนของ Shakespeare ตลอดจนคำที่เขาประดิษฐ์ขึ้นใช้ และยังคงใช้กันอยู่ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน ยังมีอีกมาก ถ้าใครสนใจ ควรอ่าน The Stories of English ของ David Crystal)
มิเพียงเท่านั้น คนอังกฤษจำนวนมากยังเคยเล่นเป็นตัวละครและเป็นเพื่อนกับตัวละครของ Shakespeare เมื่อพวกเขายังเล็ก พวกเขาส่วนใหญ่ล้วนเคยร้องไห้ เสียใจ เศร้าใจ เสียดแทงใจ รันทดใจ และลิงโลดใจไปกับละครของ Shakespeare ไม่อารมณ์ใด ก็อารมณ์หนึ่ง
คนอังกฤษตระหนักถึงความมีอยู่ของ Shakespeare จากผลงานอันยิ่งใหญ่จำนวนมาก ที่แทรกทะลวงเข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเขาตั้งแต่เล็กจนโต
ว่าไปแล้ว ก็คล้ายๆ กับกรณี “ศรีปราชญ์” ของเราเหมือนกัน ที่ยิ่งมายิ่งลางเลือน เหลือเค้าลางความมีตัวมีตนอยู่น้อยเต็มที แม้งานนิพนธ์สำคัญที่ถือเป็นเพชรน้ำเอกของวงวรรณคดีไทย “โคลงกำสรวลศรีปราชญ์” ก็ลงความเห็นกันเกือบจะร้อยทั้งร้อยแล้วว่า ไม่ใช่งานของกวีเอกผู้นั้น เราจึงเห็นชื่อเรียกใหม่ของคณะโคลงดั้น บาทกุญชร ทั้ง ๑๒๙ บทดังกล่าว ว่า “นิราศกำสรวล” บ้าง “กำสรวลสมุทร” บ้าง “นิราศนครศรีธรรมราช” บ้าง
คนไทยทุกคนที่เคยเรียนภาษาไทยเมื่อเล็ก ย่อมต้องรู้จักศรีปราชญ์ วลีของศรีปราชญ์ที่ยังคงใช้กันมาในภาษาพูดและเขียนของคนไทยก็ยังคงมีพยานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “ดาบนั้นคืนสนอง” หรือ “เจ้าข้า ฟ้าเดียวกัน” หรือแม้กระทั่ง “ทุกย่านฟูมฟาย” และ “ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณฯ”
ความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนของศรีปราชญ์นั้นต่างจาก Shakespeare ก็ตรงที่มีหลักฐานเป็นบทสนทนากับผู้คนร่วมสมัยที่กวีรุ่นหลังท่องจำสืบทอดกันมา (เพิ่งจะมาจดบันทึกลงไว้แล้วพิมพ์เป็นหนังสือกันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง)
มี Conversations อย่างน้อย ๒ บท ต่างกรรมต่างวาระกัน ที่เชื่อกันว่าเป็นของศรีปราชญ์กับคนร่วมสมัย คือกับนายทวารเฝ้าประตูพระราชวังครั้งหนึ่ง และกับพญาแสนหลวงฯ อีกครั้งหนึ่ง (พระเจ้าเชียงใหม่ที่ถูกสมเด็จพระนารายณ์จับตัวลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาคราวแพ้ศึกแก่กองทัพไทย พ.ศ.๒๒๐๕) โดยบทเจรจาเป็นโคลงสี่สุภาพทั้งสองครั้ง ใจความว่า
นายทวารฯ: แหวนนี้ท่านได้แต่ ใดมา
ศรีปราชญ์: เจ้าพิภพโลกา ท่านให้
นายทวารฯ: ทำชอบสิ่งใดมา วานบอก
ศรีปราชญ์: แต่งกลอนถวายไท้ ท่านให้ รางวัล
และ
พญาแสนหลวง: ศรีเอยพระเจ้าหื้อ ปางใด
ศรีปราชญ์: หื้อเมื่อพระเสด็จไป ป่าแก้ว
พญาแสนหลวง: รังสีบ่สดใส สักหยาด
พญาแสนหลวง: รังสีบ่สดใส สักหยาด
ศรีปราชญ์: ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ ฯ
อันที่จริง งานของศรีปราชญ์ก็เหมือนกับงานกวี ตำราราชศาสตร์การปกครอง กฎหมายเก่า ตำราโหร ตำรายา คัมภีร์พุทธศาสนา พงสาวดาร และเอกสารสำคัญของไทยส่วนใหญ่ ที่สูญหายไปเกือบหมดในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๓๑๐
ต่อเรื่องนี้ แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ฯ รัชกาลที่ ๑ ยังเคยทรงปรารภไว้ว่า “พระราชกำหนด บทพระอัยการสำหรับแผ่นดินกระษัตริย์มีมากหลายต่อๆ มา จะนับคณนามิได้ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่อ้ายพม่าข้าศึก พระธรรมศาสตร์ราชศาสตร์ บทพระอัยการกระจัดกระจายหายเก้าส่วน สิบส่วนมีอยู่สักส่วนหนึ่ง” (อ้างใน “พระราชกำหนดใหม่” บทที่ ๒๘ จุลศักราช ๑๑๕๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๓๗)
พระองค์ท่านในฐานะที่ทรงมี First-hand Experience เพราะทรงประสูติในตระกูลขุนนางเก่าแก่ ทรงเล่าเรียน และทรงเคยรับราชการในกรุงศรีอยุธยา ทรงประเมินว่าสูญหายไปถึง ๙๐% ยังดีที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการตื่นตัวกับเรื่องพวกนี้ มีคณะของหลวงออกเสาะแสวงหาต้นฉบับเอกสารโบราณ ได้กลับมาระดับหนึ่ง ตัวอย่างสำคัญเช่น เมื่อพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์ ผู้แต่งประวัติศรีปราชญ์คนแรก) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้รับบัญชาจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ออกเสาะแสวงหาเอกสารและวัตถุโบราณของไทยที่กระจัดพัดพรายไปครั้งเสียกรุงฯ มารวบรวมไว้ใน Royal Library
ท่านได้ไปพบหนังสือ พงสาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับที่พระนารายณ์โปรดให้รวบรวมขึ้น ที่จังหวัดเพชรบุรี ขณะแม่เฒ่าผู้เป็นเจ้าของกำลังจะนำไปเผาเอาถ่านสมุดดำไปทำฝุ่นผสมรักอยู่แล้ว จนต่อมาได้เรียกหนังสือนั้นว่า พงสาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ (อ้างจากข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ใน “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา”)
ผมเคยอ่านประวัติของ Geoffrey Chaucer นักประพันธ์คนสำคัญของอังกฤษก่อนยุคเช็กสเปียร์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๘๘๕-๑๙๔๓ ร่วมสมัยกับยุคที่พระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยา โน่นแล้ว (กรุงศรีฯ สถาปนาเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓) ก็พบว่าที่อังกฤษขณะนั้น มีกระดาษใช้อย่างแพร่หลายแล้ว แถมยังราคาถูกด้วย
คนทั่วไปสามารถซื้อหามาเขียนโน่นเขียนนี่ได้ กระดาษที่นิยมในตอนนั้นเรียกว่า “a sheet of 8-octavo pages” เข้าใจว่าขนาดเท่ากับกระดาษที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า “8 หน้ายกพิเศษ” อีกทั้งอาชีพ “clerk” (อาจแปลได้ว่า “อาลักษณ์”) ก็เริ่มเฟื่องฟู เพราะต้องอาศัยคนพวกนี้คัดลอกหนังสือ ด้วยตอนนั้นยังไม่มีอุตสาหกรรมการพิมพ์
ห้องสมุดเริ่มแพร่หลาย ทั้งของโรงเรียน และอารามสงฆ์ อีกทั้งคนทั่วไป ก็เริ่มเก็บสะสมหนังสือและมีห้องสมุดส่วนตัวกันแล้ว ตอนที่ Chaucer ตาย ก็มีหลักฐานแน่ชัดว่ามี Private Book Collection กว่า 500 แห่งในลอนดอนขณะนั้น (อ้างจาก Chaucer โดย Peter Ackroyd) นั่นตรงกับรัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา (จากจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์)
คนทั่วไปสามารถซื้อหามาเขียนโน่นเขียนนี่ได้ กระดาษที่นิยมในตอนนั้นเรียกว่า “a sheet of 8-octavo pages” เข้าใจว่าขนาดเท่ากับกระดาษที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า “8 หน้ายกพิเศษ” อีกทั้งอาชีพ “clerk” (อาจแปลได้ว่า “อาลักษณ์”) ก็เริ่มเฟื่องฟู เพราะต้องอาศัยคนพวกนี้คัดลอกหนังสือ ด้วยตอนนั้นยังไม่มีอุตสาหกรรมการพิมพ์
ห้องสมุดเริ่มแพร่หลาย ทั้งของโรงเรียน และอารามสงฆ์ อีกทั้งคนทั่วไป ก็เริ่มเก็บสะสมหนังสือและมีห้องสมุดส่วนตัวกันแล้ว ตอนที่ Chaucer ตาย ก็มีหลักฐานแน่ชัดว่ามี Private Book Collection กว่า 500 แห่งในลอนดอนขณะนั้น (อ้างจาก Chaucer โดย Peter Ackroyd) นั่นตรงกับรัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา (จากจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์)
จิตร ภูมิศักดิ์ เคยสอบสวนพบว่าในยุคก่อนสร้างกรุงศรีฯ คนไทยก็สามารถประดิษฐ์กระดาษชนิดเนื้อเหนียว ทนทาน หนา เนื้อดี และขัดพื้นหน้าเรียบ ขึ้นใช้กันแล้ว จิตรว่า “กระดาษนี้ทำจากเยื่อไม้ข่อย, สามารถทำได้เป็นแผ่นยาวพับได้เป็นปึกใหญ่เรียบร้อย, มีทั้งสีขาวและสีดำ, การค้นพบวิธีทำกระดาษข่อยดังกล่าวเป็นประดิษฐกรรมที่มีลักษณะก้าวหน้าอีกก้าวใหญ่ในวงการอักษรศาสตร์ของไทย, โดยเฉพาะชาวไทยแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้เองเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น เขาจึงได้ขนานนามสมุดที่ทำด้วยกระดาษพับยาวๆ นี้ว่า “สมุดไทย” เพื่อประกาศให้รู้ว่านี่มิใช่ กระดาษสา อย่างของชาวเชียงใหม่ (ซึ่งเขาเรียกว่า “ยวน”) และก็ไม่ใช่ สมุดโผ ของจีน ตลอดจนมิใช่ สมุดฝรั่ง ที่เข้ามาภายหลังอีกด้วย...” (อ้างจาก “สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา”)
เราไม่รู้เลยว่า กว่า ๔๐๐ ปีของอยุธยานั้น มี Private Book Collection มากน้อยเพียงใด อย่างน้อยปัญญาชนและขุนนาง รวมถึงบรรดาเศรษฐี และชาวยุโรปที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยา ก็ต้องสะสมหนังสือกันบ้างหละ แต่ในช่วงกรุงแตกนั้น Royal Library และ Public Library (ที่อาจมีอยู่ตามวัดใหญ่ๆ บางแห่ง) คงจะถูกเผาทำลายเสียหายสิ้น
ส่วนผู้ที่มีหนังสือสะสมไว้ และหนีรอดมาได้ ก็คงมีน้อยคนที่หอบหิ้วหนังสือไปด้วย ถึงเอาไปได้ก็คงไม่กี่เล่ม เพราะหนังสือสมุดไทยมันยาว พกยาก แถมฉีกขาดง่าย เพราะไม่เหมือนหนังสือฝรั่งที่มักเข้าเล่มอย่างดีแล้วหุ้มด้วยปกหนังหนา ทนทาน พกสะดวก ยิ่งหนังสือแบบสี่หน้ายก (Folio) บางยุค ถึงกับลั่นดาลด้วย (อีกอย่าง คนไทยเราไม่เหมือนชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวยิว ที่เวลาอพยพไปไหน มักหอบหิ้วหนังสือไปด้วย แม้จะยากเย็นแสนเข็นเพียงใด ก็ต้องเอาไป)
นี่ถ้ามีคนบันทึกงานของศรีปราชญ์ไว้ในกระดาษแบบ Folio หรือ 8-octovo แล้วเย็บเล่มเข้ากี่ หุ้มปกหนังแบบหนังสือฝรั่งบ้าง ก็คิดว่างานพวกนั้นคงเหลือรอดมาถึงยุคเราได้แบบสมบูรณ์ ไม่สึกหรอ ไม่ปลิวหาย กันบ้าง สักเล่มสองเล่ม
โชคดีที่คนไทยเก่งเรื่องท่องจำ อย่างคนรุ่นพ่อรุ่นปู่ ที่ผมเคยสัมผัสมา ส่วนใหญ่ท่องคาถาภาษาบาลีได้คนละหลายๆ บท แต่ละบทล้วนยืดยาวเป็นสิบๆ นาที ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความหมายเลยก็มี ความสามารถแบบนี้แหละ ที่ทำให้คนรุ่นเรายังได้รับโอกาส ให้ได้ชื่นชมในความไพเราะของบทกวีสมัยอยุธยาได้ ทั้งๆ ที่ต้นฉบับถึง ๙ ใน ๑๐ ส่วน สูญหายไปเสียสิ้นแล้ว
บทกวีของศรีปราชญ์ก็สืบทอดกันมาโดยวิธีนี้เช่นกัน ผู้รู้ต่างลงความเห็นว่า งานของศรีปราชญ์คงได้รับการท่องจำสืบทอดกันมาในหมู่กวีอยุธยาที่รอดชีวิตแล้วก็กลับมารวมตัวกันที่กรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จนมาปรากฏชัดเมื่อนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ได้แต่ง “นิราศนรินทร์” ขึ้น โดยยึดเอาศรีปราชญ์เป็นต้นแบบ หรือเป็น “ครู” (ทั้ง Plot, ลีลา และลำดับการ Observe) โคลงหลายบทของนิราศนรินทร์ ล้อกันกับโคลงของศรีปราชญ์อย่างเด่นชัด เช่น
อยุธยาล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร เจิดจ้า
บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
และ
โฉมครวญจักฝากฟ้า ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อ เรียมสงวน
ฝากอุมาสมรแม่แล้ ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี เกลือกใกล้
เรียมคิดจบจนตรี โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้ ยิ่งด้วย ใครครอง
นายนรินทร์ธิเบศร์เป็นข้าราชบริพารในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ หรือ “วังหน้า” ในสมัยรัชการที่ ๒ และที่วังหน้าสมัยนั้น คงเป็นแหล่งรวมของกวีชั้นแนวหน้าของไทย ความเด่นของบุคลากรวังหน้าในเชิงกวีและการประพันธ์ คงมีสืบทอดมาจนกระทั่งเร็วๆ นี้ นับแต่นายนรินทร์ธิเบศร์ แล้วก็สุนทรภู่ แล้วก็ น.ม.ส. แล้วส่งต่อมายัง พ. ณ ประมวลมารค และ ว. ณ ประมวลมารค ผู้เป็นทายาท (ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าลูกสาวของ ว. ณ ประมวลมารค ที่ปัจจุบัน แต่งงานกับอดีตศิลปินนักร้องนักดนตรีคุณภาพคนหนึ่งนั้น ได้รับถ่ายทอดพรสวรรค์ทางด้านนี้ มาด้วยหรือไม่)
ในที่สุด ลูกศิษย์วังหน้าคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ก็ได้แต่ง “ตำนานศรีปราชญ์” ขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ศรีปราชญ์ก็เลยมี Unauthorized Biography และมีตัวตนขึ้น ณ บัดนั้น แม้การประพันธ์จะใช้วิธีเก็งความจริงมากอยู่ (พระยาปริยัติธรรมธาดา เป็นลูกศิษย์ของ สมเด็จพระสังฆราช (สา) พระสงฆ์ Genius แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอบเปรียญ ๙ ได้ตั้งแต่ยังเป็นเณร และเป็นนาคหลวงรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ เล่าเรียนจากสำนักวังหน้ามาแต่เล็กแต่น้อย แล้วต่อมาก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมัยที่ยังครองเพศบรรพชิตอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ)
นับแต่นั้น ประวัติและผลงานของศรีปราชญ์ ก็ได้รับการแต่งเติม เสริมแต่ง รื้อ และสอบสวนใหม่ อีกหลายครั้งหลายครา
เรารู้แน่นอนว่าศรีปราชญ์เป็นกวี Generation รุ่นหลานปู่ของเช็กสเปียร์ (เช็กสเปียร์มีชีวิตอยู่ระหว่างรัชสมัยของพระมหาจักรพรรดิจนถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตรงกับสมัยพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๑ ของอังกฤษ) เข้าใจว่าถ้าไม่เกิดในยุคปลายรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองก็เป็นต้นรัชสมัยพระนารายณ์ เป็นบุตรของพระโหราธิบดี Scholar คนสำคัญของราชสำนัก ผู้แต่งหนังสือ จินดามณี ดังนั้น ศรีปราชญ์ก็น่าจะได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศ ได้ศึกษาจากครูชั้นเลิศเท่าที่พึงจะหาได้ในสมัยนั้น ได้อ่านหนังสือเล่มสำคัญๆ ของยุคสมัย และคงได้เดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์อย่างกว้างขวาง เยี่ยงลูกคนชั้นสูงสมัยนั้นด้วย
เมื่ออายุย่าง ๑๒ ศรีปราชญ์ก็ได้ปรากฏตัวบนเวทีประวัติศาสตร์วรรณคดีไทย ด้วยการแอบเติม โคลง ๒ บาท ต่อท้ายโคลงพระราชนิพนธ์ของพระนารายณ์ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ค้างไว้ และโปรดให้พระยาโหราธิบดีนำเอาไปแต่งต่อที่บ้าน ดังนี้
พระนารายณ์: อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
พระนารายณ์: ยุงเหลือบฤาริ้นพราย ลอบย้ำ (หมายเหตุ: บ้างก็ว่า “ลอบกล้ำ”)
ศรีปราชญ์: ผิวคนแต่จะกลาย ยังยาก (หมายเหตุ: บ้างก็ว่า “ผิวชนแต่จักกราย”)
ศรีปราชญ์: ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน
ดูจากโคลงสองบาทแรกที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้เพียงนั้นแล้ว ก็ให้นึกได้ว่า เศรษฐีสมัยนี้ น่าจะมีความเป็นอยู่สะดวกสบายกว่ากษัตริย์ในสมัยก่อนมาก เพราะแม้แต่ยุงและตัวริ้นไร ก็เป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่น้อย
ไม่นานนัก ศรีปราชญ์ก็เข้าฝากตัวเป็นมหาเล็ก เป็นที่โปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัย ระหว่างนี้ศรีปราชญ์คงได้แสดงไหวพริบ ปติพาน ในเชิงกวีให้เป็นที่ประจักษ์ต่อคนหมู่มาก และชื่อเสียงในเชิงกวีของศรีปราชญ์ก็คงจะเป็นที่เลื่องลือ เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการบันทึกไว้ถึงสองครั้งสองครา ว่าผู้มีใจรักทางนี้ เมื่อมีโอกาสเจอตัวศรีปราชญ์ เป็นต้องต่อกลอน ต่อโคลงกัน ดังกรณีของนายทวารฯ และพระเจ้าเชียงใหม่ ที่ได้กล่าวแล้ว
จุดอ่อนสำคัญของศรีปราชญ์ ที่นำภัยใหญ่หลวงมาให้เขาและสุดท้ายก็ต้องพบจุดจบก่อนวัยอันควร ก็คือ “ความเป็นคนเจ้าชู้” ว่ากันว่า ช่วงหนึ่ง เขาได้แอบพัวพันกับพระสนมเอกของพระนารายณ์ แล้วถูกจับได้ และด้วยความที่พระโหราธิบดีเคยขอพระราชทานอภัยให้ละเว้นโทษตายไว้ก่อนแล้วเมื่อครั้งศรีปราชญ์แรกเข้าฝากตัว ศรีปราชญ์เลยถูกอาญาแค่เพียงเนรเทศ นั่นจึงเป็นที่มาของ โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ อันลือลั่น
สมัยที่เขายังพัวพันอยู่กับพระสนม ศรีปราชญ์ได้ว่าโคลงรับตอบกับโคลงของพระสนมที่กล่าวแก่เขา โคลงบทนั้น ใช้คำได้กินใจมาก สำหรับคนที่มี Class Conscious ถ้าได้อ่านโคลงบทนี้ ก็ต้องถูก “กระทบใจ” ให้คิดจินตนาการไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และสำหรับคนที่เป็น Marxist อ่านแล้ว อาจเกิดความ “สะใจ” ดีไม่ดี จะพาคิดไปได้ว่าผู้ประพันธ์ก็เป็น Marxist ด้วย (ผมแปลกใจที่ผู้ประพันธ์วรรณกรรมและละครไทย ไม่มีใครที่เคยนำเรื่องราวตอนนี้ไปเป็น Plot กันเลย ผมว่ามัน somewhat romantic! แบบไทยๆ ดีออก)
เชิญท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาเอาเองดังนี้
พระสนมฯ: หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อย เดียรฉาน
ศรีปราชญ์ตอบ: หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดู ฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
ระดู ฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน (บ้างว่า “อยู่ฟ้าเดียวกัน”)
ระหว่างที่อยู่บนเรือ ขณะถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชนั้นเอง ศรีปราชญ์ได้ประพันธ์ โคลงที่รู้จักกันภายหลังว่า โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ ขึ้น โคลงคณะนี้ได้กลายเป็น เพชรน้ำเอก ในวงวรรณคดีไทย ว่ากันว่ามันมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งแรง ลึกซึ้ง งดงาม กินใจ ยั่วล้อ เปรียบเปรย ถวิลหา ใช้คำน้อยแต่กินความมาก และมีลักษณะ Originality
ในที่นี้ ผมคงไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ ทั้งในเชิงวรรณคดี ภาษาศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์ได้ เพราะเป็นเรื่องเหลือวิสัย เหลือความสามารถที่จะทำได้ และก็มีผู้รู้ในอดีตทำไว้มากแล้ว แต่ผมอยากเสนอ Observation บางประการที่อาจมีส่วนช่วยให้ การเสพโคลงอันอ่านได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญนี้ ได้รับรสไพเราะยิ่งขึ้นไป
1. เนื่องจาก โคลง เป็นกาพท์กลอนที่มีกำเนิดขึ้นโดยยึดมั่นอยู่กับรสไพเราะแห่งระดับเสียงเอกโทของภาษา ดังนั้น การเสพด้วยการฟังย่อมหนุนใจให้เข้าถึงความงามได้ยิ่งกว่าการดูหรือการอ่าน ผมเอง ได้มีโอกาสฟังอาจารย์คึกเดช กันตามะระ อ่านโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ บางบทเป็นทำนองเสนาะแบบโบราณ ก็รู้สึก “Move” ยิ่งกว่าการอ่านสัมผัสแต่เพียงบนกระดาษด้วยตาเท่านั้น ถึงระดับเสียงและจังหวะ จะมีลักษณะ Monotone ไม่มีการเปลี่ยน Key และไม่มี Harmony เหมือนงานของคีตกวี (อย่างอุปรากรหรือซิมโฟนี) แต่ก็มี Tonality ที่สวยงาม มิน่าเล่า การรับฟังบทกวีขับกล่อม จึงเป็นโปรแกรม Entertainment ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกษัตริย์และชนชั้นปกครองในสมัยโบราณ ที่ทางเลือกของ Home Entertainment Software ยังไม่มากและหลากหลายเหมือนสมัยนี้
2. ด้วยคุณสมบัติของโคลงในข้อที่ ๑ ทำให้กวีเมื่อแรกประพันธ์ ต้องหมายใจไว้เผื่อการอ่านออกเสียงทำนองเสนาะด้วย นั่นหมายความว่า กวีต้องเลือกคำที่นอกจากจะมีพลัง สามารถแสดงความหมายของภาพหรือจินตนาการที่สัมผัสได้ด้วยโสตประสาทหรือเห็นในใจ (ความรู้สึก-นึก-คิด ของกวี หรือที่กวีต้องการให้ผู้เสพเห็นและรู้สึก) แล้ว ยังต้องเป็นคำที่ เมื่อเปล่งเสียงตามพยัญชนะ สระ และตัวสะกด ย่อมต้องไพเราะและหนุนใจให้เข้าถึงความงามในอุดมคติของกวีด้วย (เช่น เมื่อบรรยายความงามก็เป็นคำที่ฟังดูแล้วให้บรรยากาศที่เพริศแพร้ว แน่งน้อย อรชร เมื่อบรรยายถึงความน่ากลัวก็เป็นคำที่ฟังดูแล้วน่าพรั่นพรึง หวาดหวั่น คุกคาม สยดสยอง เมื่อบ่งบอกจำนวน ก็ต้องท่วมท้น สุดคณานับ เมื่อเป็นคำสั่ง ก็ต้องเป็นคำที่เฉียบขาด ขึงขัง ไว้อำนาจ เมื่อบรรยายถึงความรัก ก็ต้องน่าพิสมัย หวามใจ กระสัน รันจวน เมื่อแสดงความรังเกียจ ก็ต้อง เดียดฉันท์ ขยะแขยง สะอิดสะเอียน น่าหมั่นไส้ เมื่อบรรยายถึงความท้อถอย ทอดอาลัย ก็ต้องอ้อยสร้อย โหยหา อาวรณ์ กลัดกลุ้ม และอาดูร สอดคล้องกันระหว่างเสียง จังหวะ กับอารมณ์ (ที่ต้องการสื่อ) นั้นๆ ด้วย...ฯลฯ...) นั่นหมายความว่ากวีหรือผู้ประพันธ์ ย่อมต้องมีความรู้เรื่อง Tonality เป็นอย่างดี จึงจะสามารถเลือกใช้คำที่อ่านออกเสียงแล้วไพเราะคล้องจอง คุณสมบัติข้อนี้ โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ มีอยู่อย่างน่าอัศจรรย์
ยกตัวอย่างโคลงบทแรกที่ศรีปราชญ์ กล่าวชมความงดงามและความยิ่งใหญ่ของอยุธยาสมัยนั้น ว่า
อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีลอออินทร ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสรม ฯ
หรือแสดงความใคร่และช้ำระทมด้วยการเปรียบเปรย ดังนี้
จากมาอกน่านน้ำ นองกาม
กามกระเวนแรมรศ ร่วงไส้
จากมาราชครามคราม อกก่ำ
อกก่ำเพราะชู้ให้ ตื่นตี ฯ
หรืออย่างบทสุดท้ายที่เป็นการออกคำสั่ง (บทสั่งนาง) ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้
สารนุชนี้แนบไว้ ในหมอน
อย่าแม่อย่าควรเอา อ่านเหล้น
ยามนอนนารถเอานอน เปนเพื่อน
คืนค่ำฤาได้เว้น ว่างใด ฯ
3. โดยปกติแล้ว สายตากวีย่อมละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง และมองเห็นต่างมุมออกไปจากคนธรรมดา กวีชั้นเลิศ นอกจากต้องมีความสามารถในการหยั่งประมาณความพึงใจของผู้เสพบทกวีของตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องมี Observation ที่ต่างจากคนธรรมดา การประพันธ์นั้น ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ กวีมีอิสระที่จะถ่ายทอดจินตนาการได้พร้อมกันหลายมิติ ผมว่าผู้แต่ง โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ เข้าใจและใช้ประโยชน์เรื่องนี้ได้เต็มที่ อีกทั้ง Observation ของเขาที่ถูกบันทึกไว้ในโคลงแต่ละบท ก็สะท้อนถึง จินตนาการ และ ประสบการณ์ ชั้นเลิศของตัวเขาเอง การเปรียบเปรยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าตัวศรีปราชญ์เป็นผู้มีการศึกษาสูง รู้เรื่องโบราณเป็นอย่างดี และนอกจากจะช่ำชองเรื่องผู้หญิงแล้ว ยังมีประสบการณ์สูงในเรื่องของการสำรวจจิตใจเบื้องลึกและอารมณ์ ตลอดจนกิเลศแต่ละประเภท ของตัวเองอีกด้วย
4. ถ้าพูดแบบฝรั่ง โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ นับเป็น Traveling Tale หรือ Traveling Saga แบบหนึ่ง (ในที่นี้เป็นการต่อสู้กับใจตัวเอง) โดยปกติแล้ว มหากาพย์ (Epic) อันยิ่งใหญ่ทั้งหลายของโลก มักเป็น Traveling Saga ดูอย่าง Odyssey ของกรีก (เขียนแบบโรมันได้ว่า Ulysses) และรามายาณะ ของอินเดีย (เขียนแบบเขมรได้ว่า รามเกียรติ์) ก็ล้วนเป็น Traveling Saga ทั้งสิ้น ผู้อ่านลองคิดดูสิครับ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? (ที่เขียนนี้ มิได้หาญจะเอา กำสรวลศรีปราชญ์ ไปเทียบรุ่นกับมหากาพย์เหล่านั้น นะครับ เพียงเป็น Observation อันหนึ่งเฉยๆ หาได้มีความนัยอะไรไม่)
5. เนื่องจากรูปแบบการประพันธ์ของ กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นแบบ โคลงดั้น บาทกุญชร มันจึงสามารถดัดแปลงเป็นกลอนและร่ายได้อย่างสวยงามไม่แพ้กัน จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายไว้ว่า สัมผัสแบบ บาทกุญชร เปรียบไปเหมือนช้างย่างเดิน ที่เวลาก้าวไปข้างหน้าจะก้าวพร้อมกันทั้งขาหน้าขาหลัง ทีละข้าง ซ้ายที ขวาที ไม่เหมือนกับมนุษย์ ที่เมื่อก้าวเท้าซ้าย มือซ้ายจะแกว่งไปข้างหลังสลับกัน ดังนั้น “สัมผัสแบบบาทกุญชร คือ วรรคคี่ สัมผัส วรรคคี่ คือ ๑-๓-๑-๓-๑-๓ ฯลฯ เรื่อยไป และ วรรคคู่ สัมผัส วรรคคู่ คือ ๒-๔-๒-๔-๒-๔ ฯลฯ ตลอดไปไม่ขาดสาย โยงกันตลอดทั้งเรื่อง, ถ้านำเอามาเขียนเรียงสองแถวอย่างกลอนแล้ว ก็ย่อมอ่านแถวซ้ายได้สัมผัสเป็นร่าย และอ่านแถวขวาก็ได้สัมผัสเป็นร่ายทั้งสิ้น”
จิตร ได้ยกตัวอย่างจาก โคลงกำศรวลศรีปราชญ์ บทที่ ๑๔, ๑๕, และ ๑๖ มาบิดเป็นร่ายให้เห็นดังนี้ (จิตร สะกดคำว่า “กำศรวล” ด้วยตัว “ศ” มิใช่ “ส”)
โคลงเดิม:
โฉมแม่จักฝากฟ้า เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤขัดเจ้าหล้า สู่สม สองสม ฯ
โฉมแม่ฝากน่านน้ำ อรรณพ แลฤา
เยียวนาคเชยชมอก พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ จอมสวาท กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้ เท่าเจ้าสงวนเอง
เสนาะนิราศน้อง ลงเรือ
สาวสั่งลเวงเต็ม ฝั่งเฝ้า
เสนาะพี่เหลียวเหลือ อกสั่ง
สารดั่งข้าสั่งเจ้า สั่งตน ฯ
เขียนเรียงเป็นสองแถว (เพื่อความสะดวกและชัดเจน จิตรขอตัดสร้อยออก):
โฉมแม่จักฝากฟ้าเกรงอินทร์ อินทร์ท่านเทอกโฉมเอาสู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดินดินท่าน ดินฤขัดเจ้าหล้าสู่สม ฯ
โฉมแม่ฝากน่านน้ำอรรณพ เยียวนาคเชยชมอกพี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบจอมสวาดิ โฉมแม่ใครสงวนได้เท่าเจ้าสงวนเอง ฯ
เสนาะนิราศน้องลงเรือ สาวสั่งลเวงเต็มฝั่งเผ้า
เสนาะพี่เหลียวเหลืออกสั่ง สารดั่งข้าสั่งเจ้าสั่งตน ฯ
อ่านลงทีละแถวเป็นร่าย:
โฉมแม่จักฝากฟ้าเกรงอินทร์ โฉมแม่จักฝากดินดินท่าน โฉมแม่ฝากน่านน้ำอรรณพ โฉมแม่รำพึงจบจอมสวาท เสนาะนิราศน้องลงเรือ เสนาะพี่เหลียวเหลืออกสั่ง.......ฯลฯ......
อีกบทหนึ่งทางขวา:
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอาสู่ฟ้า ดินฤขัดเจ้าหล้าสู่สม เยียวนาคเชยชมอกพี่ไหม้ โฉมแม่ใครสงวนได้เท่าเจ้าสงวนเอง สาวสั่งลเวงเต็มฝั่งเฝ้า สารดั่งข้าสั่งเจ้าสั่งตน.......ฯลฯ......
จิตรบอกอีกว่า “ขอให้สังเกตว่า ร่ายที่ได้รับนี้ แถวซ้ายจะส่งสัมผัสด้วย คำสุภาพ กับ คำเอก สลับกันเสมอไป ไม่มีคำอื่น ส่วนแถวขวา ก็จะส่งสัมผัสด้วย คำโท กับ คำสุภาพ สลับกันเสมอ ไม่มีคำอื่นเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะลักษณะโคลงกำหนด....” (อ้างจาก “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา”)
ผมคิดว่าศรีปราชญ์คงไม่ได้แต่งโคลงทั้ง ๑๒๙ บทจบอย่างสมบูรณ์แบบบนเรือ ขณะถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชเป็นแน่ เพราะโคลงแต่ละบทล้วนสมบูรณ์ Perfect ทั้งในแง่คำที่ใช้ และความหมาย คงไม่สามารถแต่งแบบกะทันหันได้หมด และสมบูรณ์ขนาดนั้นด้วย (ขนาดพระนารายณ์ยังแต่งได้เพียง ๒ บาท แล้วโปรดให้พระโหราธิบดีนำกลับไปแต่งต่อที่บ้าน และเมื่อกลับมาถึงบ้าน พระโหราธิบดีก็ยังคิดไม่ออก ต้องวางกระดานทิ้งไว้ จนศรีปราชญ์มาพบเข้าแล้วแอบเติมลงไปเอง) คงเป็นแต่การแต่งคร่าวๆ ที่เหลือก็จดจำอารมณ์ขณะนั้นๆ ตลอดจนรายละเอียดรอบข้างไว้ แล้วมาขัดเกลาต่อที่นครศรีธรรมราช
เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองเก่าโบราณ มีภูมิปัญญาสืบทอดมายาวนาน ยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก และก็คงจะมีปัญญาชนและกวีอยู่ไม่น้อย (อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีคนสำคัญยุคปัจจุบัน ก็เป็นคนนครศรีธรรมราช และเขาก็ภูมิใจในความเป็นคนเมืองนั้น เพราะเขาว่าเป็นเมืองกวีมาแต่โบราณ)
ศรีปราชญ์มาอยู่นครศรีธรรมราชก็ได้ไปสนิทสนมกับเจ้าพระยานครฯ ซึ่งชอบในทางกวีอยู่ด้วย และก็คงจะได้ร่วมสมาคมกับปัญญาชนและวงกวีที่นั่นด้วย เราไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่นั่นนานเพียงใด แต่รู้แน่ว่าเขาได้แอบมีสัมพันธ์สวาทกับผู้หญิงของเจ้าพระยานครฯ แล้วก็ถูกจับได้ เลยถูกเจ้าพระยานครฯ สั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิต
ณ ลานประหาร ก่อนเพชฌฆาตจะลงดาบ เขาได้นิพนธ์ โคลงสี่สุภาพ บทสุดท้าย โดยการเอานิ้วเท้าเขียนลงบนพื้นทราย (อาจารย์คึกเดช กันตามาระ ว่าเป็นดินปนทรายชุ่มด้วยน้ำ เพราะอยู่ใกล้บ่อน้ำใหญ่ ที่ทุกวันนี้ยังอยู่..แต่ผมเองก็ยังไม่เคยไปเห็นสถานที่นั้น) ว่า
ธรณี ภพนี้แพ่ง ทิพญาณ หนึ่งรา (บ้างก็ว่า “ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน”)
เราก็ลูกอาจารย์ หนึ่งบ้าง (บ้างก็ว่าวรรคหน้าเป็น “เราก็ศิษย์มีอาจารย์”)
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง (บ้างก็ว่า “ดาบนั้นคืนสนอง”)
โคลงบทสุดท้ายนี้ สะท้อนให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของศรีปราชญ์ ที่ยังผูกใจเจ็บ ด้วยความพยาบาท อาฆาต มาดร้าย ยังไม่สามารถ “ปลงตก” ได้ แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าศรีปราชญ์เป็นคนหยิ่งในความรู้ความสามารถของตน ภูมิใจในกำพืดปัญญาชนของตน และก็เป็นคนกล้า แม้จะตายยังมีความเยือกเย็น ไม่หวั่นไหว มีสมาธิ สมองและจิตใจยังไม่สับสน สามารถหาคำที่มีพลัง เสียดแทงใจคน มา Crafted ขึ้นเป็นโคลงบทสุดท้ายของชีวิตได้
ว่ากันว่า หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบเรื่องของศรีปราชญ์ ก็ทรงกริ้ว และได้สั่งประหารเจ้าพระยานครฯ ให้ตายตกไปตามกัน เลยทำให้วลี “ดาบนั้นคืนสนอง” เป็นจริงขึ้นมา
ขณะเสียชีวิต ศรีปราชญ์มีอายุราวสามสิบต้น นับว่าตายก่อนเวลาอันควร หากเขามีชีวิตยืนยาวตามปกติที่ผู้ชายสมัยนั้นพึงมี เขาอาจจะผลิตงานศิลปะระดับเพชรน้ำเอก ประดับวงวรรณคดีไทยอีกหลายชิ้น ก็เป็นได้
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551
(ภาพเขียนของอังคาร กัลยาณพงศ์ ยืมมาจาก www.manager.co.th)
***โปรดคลิกอ่านบทความชุด Final Exit ที่ผมเรียบเรียงขึ้นได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้
1. วาระสุดท้ายของนโปเลียน
2. พระราชพินัยกรรม สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
3. ความประทับใจ ณ ลานประหาร: Sir Walter Raleigh
4. วาระสุดท้ายของโสกราตีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น