วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

อนาคตรัฐสภาในอดีต





มีหนังสือดีจำนวนมาก ที่ขาดตลาดไปนาน และไม่มีใครสนใจนำต้นฉบับมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เลยเป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่ต้องสืบเสาะหาหนังสือเหล่านั้นจากพ่อค้าหนังสือเก่า ซึ่งมีขายให้ในราคาแพงถึงแพงมาก เพราะหนังสือเหล่านั้น ได้กลายสภาพจาก หนังสือ ธรรมดา เป็น ของสะสม อันล้ำค่า ที่ต้อง เล่น กันด้วยระดับราคาอ้างอิง ในตลาดของสะสม มิใช่ราคาของหนังสือปกติ

ถึงกระนั้น การเพิ่มมิติของสะสมเข้ามา ก็มิได้ทำให้คุณค่าและพลังของตัวอักษรที่เรียงร้อยอยู่ในนั้น ด้อยค่าลงไป มันยังคงทำหน้าที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินเจริญใจ แก่คนอ่านอยู่อย่าง คงเส้นคงวา ว่าแต่ต้องอ่านมันด้วยความทะนุถนอม และระมัดระวังกว่าปกติ เพราะกลัวว่า ปึกกระดาษซึ่งผ่านกาลเวลามายาวนานที่ถืออยู่ตรงหน้า จะยุ่ยสลายไปต่อหน้าต่อตา

MBA เห็นความสำคัญของหนังสือเหล่านี้ เลยฝากบอกมาว่า อยากจะเชิญชวนผู้สนใจ ร่วมกันช่วยทำหน้าที่ขุดกรุ ขึ้นมาเขียนแนะนำ และวิจารณ์บ้าง ตามแต่จะเห็นสมควร เพื่อขยายแหล่งและพรมแดนแห่งความรู้ ตลอดจนความบันเทิง ออกไปให้ปกคลุมถึงวันเวลาในอดีตที่มีหนังสือดีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้อยโอกาสที่จะเผยตัวออกสู่สังคมวงกว้างในปัจจุบัน อยากวิงวอนให้ผู้อ่านและผู้สนใจช่วยกันส่งต้นฉบับมาที่เรา เพื่อเราจะได้จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นหนังสือแนวไหน เพราะเราต้องการทุกแนว.....
             
             เมื่อครั้งยังดำรงอิสริยยสเป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งสโมสรทวีปัญญาขึ้นที่วังสราญรมย์ ที่ประทับในขณะนั้น ทรงโปรดให้ออกหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อ ทวีปัญญา ขึ้นด้วย โดยมีเจ้านายและขุนนางรุ่นใหม่เข้าร่วมเขียนและจัดทำด้วยกันหลายคน อย่างกรมหมึ่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (หรือ ครูเทพ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระยาไพศาลศิลปะศาสตร์) และพระยาอุปกิตศิลปะสาร เป็นต้น พระองค์เองก็ทรงพระนิพนธ์บทความมาลงพิมพ์จำนวนมาก โดยอาศัยพระนามแฝงอย่าง อัศวพาหุ รามจิตติ พันแหลม น้อยลา นายแก้ว-นายขวัญ พระขรรค์เพชร ศรีอยุธยา ไก่เกี่ยว สุครีพ เป็นอาทิ (ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าคนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนนโยบายการศึกษาของไทยในเวลาต่อมา)

              สมัยนั้น ชนชั้นปกครองไทย คือเจ้านายและขุนนางเพียงไม่กี่ตระกูล ที่ปกครองประเทศภายใต้ระบอบสมบูรณายาสิทธิราช (Absolute Monarchy) กำลังเริ่มถูกท้าทายโดยความคิดแบบประชาธิปไตย (Democracy) ทั้งจากสมาชิกในราชตระกูลเอง (เช่นคณะของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) และปัญญาชนนอกแวดวงราชการ (เช่น เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ) ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครอง ให้มีรัฐธรรมนูญ มีสภา มีการเลือกตั้ง และมี ส.ส. โดยพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

              เป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดแบบนี้ ต้องถูกปฏิเสธโดยชนชั้นปกครองในสมัยนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ล้วนต้องประสบ ราชภัย ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญ ความคิดแบบประชาธิปไตย ย่อมต้องถูก Discredit เพื่อให้เห็นว่ามันไม่เหมาะ หรือยังไม่เหมาะ กับสังคมไทยในขณะนั้น ปัญญาชนฝ่ายเจ้าและขุนนาง ได้เขียนและพูดเรื่องทำนองนี้ไว้หลายแห่ง

              บทความที่ยกมาให้อ่านในฉบับนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการ Discredit ที่ว่า แต่อาศัยสำนวนเขียนแบบ เย้ยหยัน (Satire) อ่านแล้วสนุก ตลก แต่บางที ก็อดเปรียบกับรัฐสภาสมัยนี้ไม่ได้ เพราะ บรรยากาศ ในจินตนาการของผู้เขียนกับของจริงสมัยนี้ บางทีก็คล้ายกันอย่างประหลาด


              บทความนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นับไปก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ลองอ่านและจินตนาการต่อกันเอาเองเลยครับ


              บทความนั้น มีอยู่ว่า........

เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าอ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง พบ เมื่อไรหนอ ต่างๆ ข้าพเจ้าเป็นคนชอบอ่าน เมื่อไรหนอ เพราะธรรมดาคนที่รู้สึกตนว่าโง่ ย่อมพอใจชมบุญผู้ฉลาด ข้าพเจ้าเชื่อแน่นอนอยู่ว่า ท่านผู้ถาม เมื่อไรหนอ นั้น ต้องเป็นคนฉลาด ถ้ามิฉะนั้นที่ไหนจะคุ้ยหาข้อความเก่งๆ มาถามได้มากมายเช่นนั้น ข้อที่จับใจข้าพเจ้าที่สุด คือข้อถามที่ว่า เมื่อไรหนอเราจะมี ปาลิเมนต์ (หมายเหตุบรรณาธิการหมายถึง Parliament, สมัยนั้นยังไม่มีใครบัญญัติศัพท์คำว่า รัฐสภา หรือ สภาผู้แทนราษฎร) จริงทีเดียว ทำไม เราก็ศิวิไลซ์แล้วจะมี ปาลิเมนต์ บ้างไม่ได้ทีเดียวหรือ แต่ญี่ปุ่นยังมีได้

วันนั้นเป็นวันร้อนมาก ข้าพเจ้านอนอ่านหนังสือพิมพ์เรื่อยสบายอยู่ ก็พอได้รับคำสั่งท่านสาราณียกร (หมายเหตุบรรณาธิการทรงสมมุติให้หมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ทวีปัญญา ที่ตีพิมพ์พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ให้ไปฟังการประชุมใน ปาลิเมนต์ เรื่องงบประมาณทหาร ข้าพเจ้าก็รีบเตรียมตัวไป เมื่อข้าพเจ้าออกจากบ้านนั้น บ่ายสัก ๕ โมงแล้ว เพราะฉะนั้นต้องรีบร้อนมาก ที่ประชุมเปิดตั้งแต่บ่ายสามโมงแล้ว ข้าพเจ้าไปก็ตรงไปที่เฉลียง สำหรับพวกหนังสือพิมพ์ เห็นแผ่นกระดาษวางอยู่บนโต๊ะทุกๆ โต๊ะ เขียนชื่อหนังสือพิมพ์ไว้ ข้าพเจ้าตรงไปที่มีกระดาษเขียนชื่อ ทวีปัญญา แล้วนั่งลง เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ท่านอรรคมหาเสนาบดี ไปรมีนิสเตอร์ (หมายเหตุบรรณาธิการหมายถึงนายกรัฐมนตรีกำลังชี้แจงเรื่องงบประมาณนั้นอยู่ ข้าพเจ้าบันทึกคำพูดท่านพวก เมมเบอร์ (หมายเหตุบรรณาธิการหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างๆ ไว้ดังต่อไปนี้

อรรคมหาเสนาบดี ตั้งแต่ดั้งเดิมมา การทหารนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นธรรมดา ชาติใดที่มีความประสงค์จะเป็นไทย ย่อมต้องคิดการป้องกันบ้านเกิดเมืองบิดร โบราณราชประเพณีท่าน จึงต้องจัดให้บรรดาชายฉกรรจ์เป็นทหารทั้งสิ้นไม่เว้นหน้า...

นายเกศร์ ข้าพเจ้าขอรับรองในข้อที่ท่านอรรคมหาเสนาบดีกล่าว ข้าพเจ้าอาจชักจูงสิ่งซึ่งจะให้เห็นเป็นพยานได้ดังนี้ คือ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์....

ประธาน (สปีเกอร์) รอก่อน รอก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะแสดงโวหาร (หมายเหตุบรรณาธิการหมายถึงประธานรัฐสภา)

อรรคมหาเสนาบดี ข้าพเจ้ากล่าวอยู่ว่าบรรดาชายฉกรรจ์ต้องเป็นทหารทั่วหน้า ก็เมื่อแต่โบราณกาลยังเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมในกาลบัดนี้เราจะยับยั้งอยู่หรือ ก็การทหารซึ่งเป็นการสำคัญครั้งนั้น ครั้งนี้ไม่สำคัญหรือ ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าเราตกลงเห็นเช่นนี้แล้ว เราจะควรทำอะไร ก็ควรต้องคิดอ่านบำรุงการทหาร ให้เจริญเทียมทันชาติอื่นเขาบ้างจึงจะถูก แต่ก่อนอำนาจเป็นใหญ่ จะจัดการสิ่งใดก็ล้วนจะสำเร็จได้เพราะอำนาจ เดี๋ยวนี้อะไรเป็นใหญ่ เงินเป็นใหญ่มิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ที่ประชุมคงจะเห็นได้ว่า ถ้าประสงค์ความเจริญของทหาร ซึ่งเป็นความเจริญของบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องช่วยให้รัฐบาลได้จัดการทหารให้ดำเนินไปโดยสะดวกตามที่ได้กะไว้ แลได้อ่านให้ท่านฟังแล้วขอให้ที่ประชุม พร้อมกันอนุญาตให้รัฐบาลใช้เงินแผ่นดินสำหรับการทหารตามที่ขอนั้นเถิด

นายเกศร์ ข้าพเจ้าขอกล่าวแสดงให้แจ้งเหตุผลว่า เหตุไรข้าพเจ้าจึงรับรองลงเนื้อเห็นด้วยกับท่านอรรคมหาเสนาบดี ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์ ราชาธิราชเจ้า สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชเจ้าคือ เป็นพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาคือกรุงเก่า กรุงเก่าคือกรุงที่สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้าง สมเด็จพระรามาธิบดีคือที่เรียกกันว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าอู่ทองนี้เสด็จมาจากเมืองเทพนคร เมื่อเสด็จมาหาที่สร้างพระนครใหม่ พระนครใหม่นี้คือกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาคือกรุงเก่า สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติกรุงเก่าองค์หนึ่ง ข้อนี้หลักฐานแน่นอน คือได้มีความจากจดหมายเหตุของเจ้าแม่วัดดุสิต เจ้าแม่วัดดุสิตได้จดหมายเหตุเรื่องราวไว้พิสดารเป็นเรื่องประวัติกรุงเก่า มีข้อมีความแปลกประหลาด  ดียิ่งกว่าข้อความที่มีอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ที่มีพิมพ์ไว้แล้วนั้นหลายพันหลายหมื่นส่วน ประวัตินี้แต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิต เมื่อจุลศักราช ๙๙๒ ปี ต้นฉบับเดิมของจดหมายเหตุนั้นอยู่ที่เรา เอดิเตอร์.....โอย  ขอรับประทานโทษเผลอไป....อยู่ที่ข้าพเจ้า ไม่ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้ามีสมุดฝรั่งเศสอีกเล่มหนึ่ง เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ เรียกชื่อตามภาษาฝรั่งเศสดังนี้ คือ ฮีสตอเดรอยนารายณ์ ดังนี้ หนังสือเล่มนี้แต่งโดยคนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งได้มาอยู่ด้วยกับท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์คือคนชาวฝรั่งเศส ชื่อเดิมคือ ฟอลคอน ดังนี้ ชายชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ ฮีสตอเดรอยนารายณ์ นั้น เป็นคนชอบพอคุ้นเคยกับท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ฟอลคอน หนังสือซึ่งแต่งโดยชายชาวฝรั่งเศสนั้น เป็นหนังสือฝรั่งเศส แปลโดยท่านสังฆราชปัลละกัวบิฉบ เป็นภาษาไทย หนังสือชื่อ ฮีสตอเดรอยนารายณ์ ซึ่งแต่งโดยชายชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนชอบพอกับท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์นั้น มีข้อความพิสดารน่าอ่านน่ารู้น่าฟัง ยิ่งกว่าที่มีในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าหลายร้อยเท่า ในหนังสือจดหมายเหตุแต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิต กับหนังสือภาษาฝรั่งเศสนั้น มีกล่าวข้อความพิสดาร ถึงการเสด็จประพาสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร เสด็จเที่ยวทรงขับยานชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพิศวงแก่ชาวกรุงเก่า และชาวลพบุรีมาก คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมารนั้นได้ทรงโปรดฯ ให้ชายชาวชาติฝรั่งเศสผู้หนึ่งเข้าเฝ้า ชายชาวชาติฝรั่งเศสนี้เป็นพ่อค้า มาตั้งห้างค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากะลาโหมกรุงเก่า ชายชาวชาติฝรั่งเศสคนที่ดังกล่าวมานี้ ได้นำยานอย่างใหม่มาถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่าดังนี้ คือ ออโตโมไบต์ ดังนี้ ยานชนิดที่ฝรั่งเศสเรียก ออโตโมไบต์ นี้คือ เป็นรถชนิดหนึ่งซึ่งเดินไปด้วยไม่อาศัยแรงม้าเลย ใช้อาศัยน้ำมะพร้าวทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้น เดินไป เปรียบคล้ายรถไฟที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ ชนิดที่ฝรั่งเรียกว่า ออโตโมไบต์ นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร ได้ทรงประพาสพอพระทัยเสด็จไปเที่ยวแต่จำเพาะข้าหลวงเดิม ๙ คน คุณเล็ก ๑  คุณปาน ๑ ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรหม่อมเจ้าบัวพระนมเอก นายทองคำ บุตรเปรมพระนมรอง๑ สังบุตรเจ้าพระยาพิษณุโลก ๑ นายเรือง มอญ บุตรเจ้าพระยารามจัตรุรงค์ ๑ นายแหวน แขก บุตรเจ้าพระยาไทรบุรี ๑ นายน้อย ยะทิปะ แขก บุตรพระยาราชวังสัน แขก ๑ นายเผื่อน บุตรพระยามหาอำมาตย์ ๑ นายบุนนาค บุตรพระยาเพชรพิไชย ๑ รวมข้าหลวงเดิมที่พอพระทัย ๙ นายด้วยกัน แต่ข้าหลวงเดิม ๙ คนนี้ ล้วนเป็นเด็กที่มีอายุคล้ายๆ กัน กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมารทั้งนั้น

              ผู้ส่งข่าวของเราไม่ได้จดจำคำพูดของนายเกศร์ต่อไป เพราะแลไม่เห็นว่ามีข้อความเกี่ยวกับงบประมาณทหารอย่างไร ส่วนนายเกศร์นั้นพูดเรื่อยไปประมาณเกือบชั่วโมงหนึ่ง

ประธาน ข้าพเจ้าฟังท่านสมาชิกมานานแล้ว ก็ยังไม่เห็นกล่าวข้อความอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำลังปรึกษากันอยู่เลย

นายเกศร์ ถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้ามีเวลาอีกหน่อย ข้าพเจ้าก็จะได้ตั้งใจพยายามที่จะกล่าวถึงทหารเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ตามที่มีกล่าวถึงในประวัติแต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิตกับ....

เสียงจากหลังประธาน เลิกที เลิกที

นายเกศร์ ข้อความในประวัติแต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิต กับหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อ……

เสียงจากหลังประธาน พอแล้ว พอแล้ว

ประธาน เงียบ เงียบ

นายเกศร์นั่งลงแสดงกิริยาไม่สู้พอใจนัก

ต่อนี้ไปมี เมมเบอร์ แสดงโวหารอีกหลายท่าน แต่จะเป็นเพราะเหตุไรไม่ทราบ ผู้ส่งข่าวของเราจำไม่ได้ หรือลืมจด อะไรอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นมาได้อีกต่อเมื่อฝ่ายพวกคัดค้านพูดต่อไปนี้

นายทวน ข้าพเจ้าจะขอกล่าวสุนทรกถาแต่พอสมควรแก่เวลาดังต่อไปนี้

ข้อ ๑.              เราต้องการที่สุด ขอให้เจ้านายของเราทรงพระราชดำริถึงตัวข้าพเจ้าผู้มีอายุมาก
ข้อ ๒.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้ชนทั้งหลายเข้าใจว่าเราเป็นผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน
ข้อ ๓.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้เปิดทางให้ผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดินเช่นตัวเรา ออกหน้าอาสาแสดงสติปัญญาความดีได้โดยสะดวก มิให้มีที่กีดขวางจนไม่ต้องแลดูเสียก่อนว่าลมพัดมาทางไหน
ข้อ ๔.              เราต้องการที่สุด ในการที่เปิดปากมนุษย์ให้แสดงโวหารอธิบายได้ตามสติปัญญาโดยไม่ต้องกลัวติดคุก
ข้อ ๕.              เราต้องการที่สุด ให้ตัวบุคคลสามารถ คือเสนาบดี และอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกระทรวง ผู้ช่วย แม่ทัพ นายทหาร พลทหาร ที่รู้จักหน้าที่ของตน คือรู้จักว่าใครเป็นผู้สติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดินแล้ว แลฟังเสียงผู้นั้น
ข้อ ๖.              เราต้องการที่สุด ในผู้ที่ตั้งอยู่ในยุติธรรม เพื่อเป็นความสุขแก่มนุษย์ คือเป็นต้นว่า ผู้พิพากษาตุลาการ เมื่อถูกติเตียนโดยผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน อย่าตัดสินกักขังตักเตือน ๗ วันฐานหมิ่นประมาทศาล
ข้อ ๗.              เราต้องการที่สุด ในท่านผู้มีสติปัญญาและผู้มีวิชาเก่าแก่กว่าผู้อื่นจริง สำหรับเป็นผู้ช่วยแนะนำในราชการบ้านเมืองทั่วไป ให้มีความเจริญฉับไวทันเวลา
ข้อ ๘.              เราต้องการที่สุด ในพวกเรา ให้รู้วิชาลึกซึ้งจริงๆ ทุกคนควรตั้งใจเรียนในความรอบรู
ข้อ ๙.              เราต้องการที่สุด ให้ตัวเรามีความนับถือแม่หญิงทุกคน แลให้แม่หญิงได้มีความรู้วิชา แลมีความดีเท่ากับบุรุษทั้งหลาย
ข้อ ๑๐.              เราต้องการที่สุด ให้พวกเรามีความรู้สึกในความรักชาติศาสนาประเทศที่เกิดของตน แลให้มีความอายแก่ชาติชาวต่างประเทศ แลอย่าอวดดี ว่าเย่อหยิ่ง ว่าเรารู้มากแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องฟังเสียงใครอีก
ข้อ ๑๑.              เราต้องการที่สุด ที่จะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเราเป็นคนกล้าหาญหมั่นเพียรแลกตัญญูต่อชาติ แลเต็มใจที่จะรับหน้าที่ทำการใหญ่ทุกอย่างทุกสิ่ง
ข้อ ๑๒.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้ประเทศอันเป็นที่เกิดของเราเป็นศิวิไลซ์ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น  นอกจากผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อศาสนาแลบ้านเมืองของเราเอง
ข้อ ๑๓.              เราต้องการที่สุด ในการที่คนเราจะไม่ไว้ใจคน ที่ดีแต่พูดอ้างตำรับตำราฝรั่งโดยไม่มีจริงเลยนั้น
ข้อ ๑๔.              เราต้องการที่สุด ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่ามีแต่ผู้ปกครองก็ไม่ได้ มีแต่ไพร่พลเมืองก็ไม่ได้ ต้องมีทั้งสองจำพวก ต้องอาศัยกันและกัน
ข้อ ๑๕.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า มีแต่ผู้ปกครอง ทั้งไพร่พลเมือง ต้องอาศัยผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อชาติ ช่วยแนะนำให้เดินไปในมรรคาอันถูกต้อง
ข้อ ๑๖.              เราต้องการที่สุด ที่จะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าร่างกายของมนุษย์ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี ถ้าไม่บริบูรณ์ก็ไม่เป็นที่เจริญตา
ข้อ ๑๗.              เราต้องการที่สุด ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าในสมัยนี้เมืองเรายังมีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือยังไม่ได้ฟังคำแนะนำตักเตือนแห่งผู้มีวิชาจริงเช่นตัวเรา
ข้อ ๑๘.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้ท่านผู้มีหน้าที่ปกครองพวกเรา ทอดพระเนตรเห็นความดีความสามารถของผู้มีความดี ความสามารถ
ข้อ ๑๙.              เราต้องการที่สุด ที่จะให้ผู้มีความดีความสามารถจริง ได้มีโอกาสจัดการงานทั่วไป แม้
อย่างน้อยสัก ๓ วัน
ข้อ ๒๐.              เราต้องการที่สุด ให้ผู้ที่มีทรัพย์ใช้เงินค่าหนังสือของเรา
ข้อ ๒๑.              เราต้องการที่สุด ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ซื้อหนังสือของเราคิดอ่านลงชื่อซื้อกัน
ข้อ ๒๒.              เราต้องการที่สุด เพื่อให้ที่ประชุมนี้มีความคิดเห็นตามเรา ผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อบ้านเมือง
ข้อ ๒๓.              ............


เสียงจากหลังประธาน ยังมีอีกกี่ข้อ


นายทวน ยังมีอีกสองสามข้อ ข้อ ๒๓......


เสียงจากหลังประธาน เราต้องการที่สุดที่จะฟังผู้อื่นพูด


นายทวน ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้เป็นประธาน ได้โปรดใช้อำนาจให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดให้จบ


ประธาน ได้ แต่ขอให้ท่านพูดในประเด็น


นายทวน ข้าพเจ้าก็พูดในประเด็นอยู่แล้ว


เสียงจากหลังประธาน เถียงนายก เถียงนายก


ประธาน เงียบ เงียบ


นายทวน ข้อ ๒๓ เราต้องการที่สุด .......


เสียงจากหลังประธาน ไม่จริง เราไม่ต้องการเลย


เสียงจากที่อื่นๆ เลิกที เลิกที


ประธาน ( ตบโต๊ะ) เงียบ เงียบ


อรรคมหาเสนาบดี ข้าพเจ้าแนะนำว่าให้งดการแสดงโวหารเสียที มิฉะนั้นจะเสียเวลามากไป


นายทวน อะไร ท่านอรรคมหาเสนาบดีจะปิดปาก เมมเบอร์ ไม่ให้พูดทีเดียวหรือ นี่อิสสระแห่งที่ประชุมนี้ไปอยู่ที่ไหน นี่จะเอาคนพูดถูกๆ เข้าคุกอย่างแต่ก่อนหรือ


เสียงพวกฝ่ายขวา              เลิก เลิก


เสียงพวกฝ่ายซ้าย              ว่าไป ว่าไป


ประธาน เงียบ เงียบ


เสียงจากพวกฝ่ายขวา หยุด หยุด


เสียงจากพวกฝ่ายซ้าย พูดไป พูดไป


เสียงพวกจีน ลักทะบางฉิบหาย


ประธาน เงียบ เงียบ


เสียงพวกจีน ลักทะบางข่มเหงอ้า

ต่อไปต่างคนต่างพูดกันอึงเต็มห้อง จนจับเนื้อความไม่ได้ อรรคมหาเสนาบดีลุกขึ้นพูด แต่ไม่ได้ยินว่าพูดว่ากระไร ได้ยินแต่ เลิก เลิก บ้าง ว่าไป ว่าไป บ้าง กับเสียงพวกจีนร้องตะโกนโลเล้ๆ ต่างๆ ลงปลายประธานลุกขึ้นยืนกวักมือ พลตะเวนรูปร่างล่ำสัน พากันเข้ามาอุ้มพวก เมมเบอร์ จีนออกไป คนอื่นเปล่งเสียงอื้อราวกับจะตีกัน เอะอะเหลือเกิน แล้วข้าพเจ้าก็ตกใจตื่น หัวเราะเสียพักใหญ่

จบบริบูรณ์


หมายเหตุ: คลิกอ่าน "รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่าด้วยปัญหาภาคใต้" ได้ที่ลิงก์ข้างล่าง


***รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าด้วยปัญหาภาคใต้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น