วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

จีน-ฝรั่ง ใน ไทย-พม่า




ในบรรดาเพื่อนบ้านของเรา พม่านับเป็นประเทศสำคัญที่มีแนวพรมแดนร่วมกับไทยมากที่สุด คือยาวประมาณ 1,780 กิโลเมตร (พรมแดนไทย-ลาว เพียง 1,750 ก.ม., ไทย-กัมพูชา 800 ก.ม., ไทย-มาเลเซีย 500 ก.ม.) 

น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ของเรา ไม่ส่งเสริมให้เรารู้จักเพื่อนบ้านเท่าที่ควร เราจึงรู้จัก (และใคร่จะรู้จัก) สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือใครต่อใคร มากกว่าพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย หรือญวน โดยที่ลึกๆ แล้ว พวกเราออกจะดูถูกเพื่อนบ้านเหล่านี้ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับที่เรายกย่องฝรั่ง ญี่ปุ่น และเกาหลี

และในบรรดาเพื่อนบ้านทั้งหมดอีกเช่นกัน พม่าก็นับเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญที่สุดของเรา ความขัดแย้งและเกลียดชังในหมู่ชนชั้นปกครองทั้งสองฝ่ายตกค้างมานานแสนนาน เพิ่งจะมายุติลงเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เองเพราะพม่าสิ้นฤทธิ์ ต้องตกเป็นข้าฝรั่ง และแม้จะปลดแอกจากฝรั่งได้ตอนหลังสงครามโลก ก็กลับแตกแยกเป็นก๊กเล็กก๊กน้อยจนต้องปกครองกันด้วยระบอบเผด็จการทหารจนกระทั่งปัจจุบัน 

ฝรั่งบางคนที่อยู่เมืองไทยมานานและเคยอยู่พม่ามาก่อนเปรียบว่าพม่ากับไทย เป็นเหมือน ฝรั่งเศสกับเยอรมันเวอร์ชั่นอุษาคเนย์ (ผมว่าใกล้เคียงความจริงกว่าความเห็นของอีกคนหนึ่งซึ่งเปรียบเป็นอิสราเอลกับอาหรับ) 

สมัยผมยังเล็ก ก็เคยได้ยินคนเก่าแก่ทางเหนือเรียกพม่าว่า ข้าศึกเจ่นป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย หมายความว่าเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย (ท่านผู้อ่านที่เคยดูภาพยนตร์การ์ตูน ก้านกล้วย จะสังเกตุเห็นว่าแม้กระทั่งช้างของทั้งสองฝ่ายก็ได้แสดงความเกลียดชังกันอย่างออกนอกหน้า)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยทำวิจัยสืบสวนสอบสวนพงศาวดารฝ่ายไทย ก็พบว่าพม่ากับไทยเคยรบกันถึง 44 ครั้ง เป็นสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา 24 ครั้ง สมัยกรุงธนบุรี 10 ครั้ง และกรุงรัตนโกสินทร์อีก 1ครั้งด้วยกัน 

สงครามครั้งแรกรบกันที่เมืองเชียงกราน เมื่อปี ๒๐๘๑ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และครั้งสุดท้ายรบกันที่เชียงตุง พ.ศ. ๒๓๙๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดย การสงครามที่พม่ายกมาตีเมืองไทย รบกันเป็นยุคใหญ่แต่ ๒ คราวคือ เมื่อรบกับพระเจ้าหงสาวดี ๓ องค์ติดๆ กัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จนตลอดแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นระยะเวลา ๕๗ ปีคราวหนึ่ง และมารบกับพระเจ้าอังวะ ๓ องค์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศที่กรุงศรีอยุธยา มาจนตลอดแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นระยะเวลา ๕๐ ปี อีกคราวหนึ่ง... (อ้างจากพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไทยรบพม่า สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.๒๕๕๑ หน้า ๑๑) ถ้านับแบบฝรั่งก็คงคล้ายกับ Hundred Years’ War หรือ Eighty Years’ War หรือ Thirty Years’ War อะไรเทือกนั้น

ฝรั่งมักรู้กิตติศัพท์ว่าพม่ากับไทยเป็นศัตรูและเกลียดชังกัน เวลาจะจัดการกับพม่าก็มักจะมายุไทยให้เข้าด้วย อย่างสมัยเมื่ออังกฤษกำลังจะหาเรื่องเอาพม่าเป็นเมืองขึ้นใหม่ๆ ตั้งแต่ยุคปลายรัชกาลที่ ๒ ต่อต้นรัชกาลที่ ๓ ก็ส่งคนเข้ามายุให้ไทยเข้าด้วย 

โดยชนชั้นนำของทยสมัยนั้นก็เห็นพ้องว่าต้องเข้าข้างฝรั่ง และได้ส่งกองทัพเข้าไปในพม่าหลายครั้ง แม้จะไม่ได้ช่วยรบจริงจัง แต่ก็แสดงออกว่ายืนข้างฝรั่งอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อหวังจะได้หัวเมืองชายทะเลเมาะตะมะมาอยู่ใต้อิทธิพลของไทยโดยเด็ดขาด 

ชนชั้นนำไทยสมัยนั้นคำนวณแล้วว่านโยบายแบบนั้นเป็น Pre-emptive Strategy ที่จะสามารถตัดช่องทางมิให้กองทัพพม่าใช้หัวเมืองแถบนั้นเป็น Springboard สำหรับมาตีไทยได้อีกในอนาคต แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ฝรั่งก็ไม่ได้ให้อะไรกับไทยเป็นการตอบแทนเลยแม้แต่น้อย (ท่านผู้อ่านลองเปรียบเรื่องนี้ดูกับที่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติจะให้ไทยแสดงท่าทีหรือออกแถลงการณ์ประณามพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าโดยเนื้อแท้แล้วมันแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด......แล้วไทยจะได้อะไรจากการทำแบบนั้น หรือชนชั้นปกครองไทยสมัยนี้คำนวณว่าจะได้อะไรเป็นการตอบแทนจากการที่ต้องทำให้พม่าเสียความรู้สึกแบบนั้น)

แม้ชนชั้นนำสมัยนั้นจะมองความสัมพันธ์กับพม่าโดยเน้นน้ำหนักเรื่อง ความมั่นคง เป็นหลัก ทว่า นับแต่พม่าเสียเมืองให้อังกฤษในปี ๒๔๒๘ นโยบายต่างประเทศทางด้านพม่าก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมี Commercial Content เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะหลังจากสามารถผนวกเอาล้านนาไทยเข้ามาอย่างมั่นคงแล้ว นโยบายทางด้านพม่าก็น่าจะมี Timber Component เป็นหลักคิดพื้นฐานอยู่ลึกๆ เพราะอย่าลืมว่ารายได้ของราชวงศ์จักรีและรัฐบาลสยามที่ได้จากล้านนาในขณะนั้นล้วนมีแหล่งที่มาจากไม้สักเป็นส่วนสำคัญ 

อย่างน้อยในปี ๒๔๕๑-๒๔๕๔ ที่เมืองมะละแหม่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักของอังกฤษสมัยนั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฝ่ายไทยประจำอยู่ที่นั่น นัยว่าเพื่อคอย เก็บภาษีไม้สักที่ตัดในเขตป่าของไทยแล้วล่องมาตามน้ำสาละวิน (อ้างจาก ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เทือกเถาเหล่ากอ สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ. ๑๕๕๒ หน้า 107, ซึ่งท่านว่าเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ช่วงนั้นก็คือคุณตาของท่านนั่นเอง และท่านยังให้ความเห็นว่ากรมป่าไม้น่าจะยังส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่นั่นต่อมาอีกหลายปี)

ในยุคสงครามเย็น อเมริกาเข้ามามีบทบาทในอุษาคเนย์อย่างมาก ชนชั้นผู้นำไทยสมัยนั้นใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์และปัญหาอินโดจีนตามความต้องการของอเมริกา ส่วนทางด้านพม่าซึ่งกำลังมีปัญหาภายในกับชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ไทยก็ได้อาศัยสนับสนุนชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นให้ทำตัวเป็นรัฐกันชนระหว่างไทยกับพม่า 

สมัยนั้นผู้นำกระเหรี่ยง ว้า ปะโอ และไทยใหญ่ ล้วนมีบ้านช่องอัครฐานเป็นของตัวเองในจังหวัดเชียงใหม่ และลูกหลานก็ส่งมาเรียนในเมืองไทย (เดี๋ยวนี้ก็น่าจะยังเป็นเช่นนั้นอยู่) ชนชั้นผู้นำไทยโดยเฉพาะบรรดาทหารบกที่กุมอำนาจการเมืองในยุคนั้น ก็ได้มีส่วนสนับสนุนกระบวนการส่งออกยาเสพติดของชนกลุ่มน้อยไปในตลาดโลก เพื่อหารายได้มาสร้างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลกลางของพม่า

นั่นเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำของพม่าในปัจจุบันน่าจะยังไม่ลืม แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมาแล้ว

สถานการณ์ภาพรวมในเชิง Geopolitics ของโลกช่วงนั้น ประกอบกับความไม่ไว้วางใจฝรั่งของชนชั้นนำพม่าที่ฝังลึกมาแต่เดิม ได้ผลักดันให้พม่าดำเนินนโยบายปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเอง และหันไปหาจีนที่ดำเนินนโยบายแบบเห็นอกเห็นใจประเทศโลกที่สามซึ่งมีสถานะแบบ Underdog 

นโยบายดังกล่าว (ซึ่งเริ่มในสมัยของนายพลเนวิน) ส่งผลให้เศรษฐกิจและการเมืองของพม่าล้าหลัง ว่ากันว่าอดีตนายพลพม่าคนหนึ่งถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อนั่งรถออกจากสนามบินดอนเมืองมาตามถนนวิภาวดีรังสิตเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะไม่คิดว่าประเทศไทยจะเจริญรุดหน้ากว่าพม่าอย่างมาก ในเมื่อสมัยก่อนปิดประเทศ พม่ากับไทยมิได้ต่างกันมากนัก โดยทีมฟุตบอลของไทยก็มักจะแพ้พม่าเสมอๆ อีกทั้งคนพม่าคนหนึ่งก็ได้เป็นถึงเลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ หลังจากองค์กรแห่งนั้นก่อตั้งมาได้ไม่นาน ฯลฯ

เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากอุษาคเนย์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองจีน เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมากุมอำนาจสูงสุดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลต่อกระบวนทัศน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนอย่างมากด้วย ในการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2521 เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าวแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (Sovereignty related conflicts) นั้น ขอให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไปเถอะ (left for the next generation)

คำกล่าวนั้น ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจีนต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นมาก ความขัดแย้งที่มีมาแต่เดิมนั้นควรเก็บเอาไว้ก่อน และนับแต่นั้นมา นโยบายต่างประเทศของจีนก็ให้ความสำคัญกับ Economic Content เป็นหลัก ผิดกับสมัยเหมาเจ๋อตงที่เน้นไปในด้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และส่งออกการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

เมื่อจีนรวยขึ้นด้วยการเปิดพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้มีการลงทุนรับจ้างผลิต Hardware ให้กับฝรั่ง สะสม Foreign Exchange Reserve อย่างมหาศาล จีนก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเอเชีย นโยบายต่างประเทศของจีนต่อเพื่อนบ้านในเอเชียก็เป็นไปอย่างเหมาะสมผ่อนปรน โดยจีนยอมที่จะขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้น แต่ละปีจีนจะนำเข้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนวัตถุดิบ จากประเทศเอเชียอื่น รวมทั้งไทยเป็นจำนวนมาก นับเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างชาญฉลาด

จุดพลิกผันของจีน ย่อมเป็นจุดพลิกผันของเอเชียด้วย เมื่อคนจีนรวยขึ้นและเริ่มรู้จัก ใช้ชีวิต การบริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยจำนวนประชากรขนาดนั้น จีนย่อมต้องการชีวปัจจัยและ Luxury Products ตลอดจนพลังงานจำนวนมหาศาล และอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์ทางด้าน Geopolitics และทางด้านพลังงาน และทางด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกทั้งหลาย ต่างลงความเห็นร่วมกันว่าจุดพลิกผันสำคัญที่สุดของจีนคือปี 2537 เมื่อจีนเริ่มมีสถานะเป็น ผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net Importer of Oil) เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายการต่างประเทศของจีนก็เริ่มมีเนื้อหาที่เรียกว่า “Petroleum Component” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อสิ้นปี 2549 ยอดนำเข้าน้ำมันของจีนก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2537 และได้กลายเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ โดยได้แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยครองอันดับสองมาก่อน 

และมิเพียงเท่านั้น ยอดนำเข้าวัตถุดิบชนิดอื่นที่จำเป็นต่อการผลิตและบริโภคก็ก้าวกระโดดขึ้นด้วยในอัตราเร่งเช่นเดียวกับน้ำมัน Logic แบบนี้ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยไม่มากก็น้อย

เมื่อหูจินเทาและเหวินเจียเป่าขึ้นมากุมอำนาจเป็นคู่ล่าสุด ก็ได้ผลัดกันออกเดินสายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรซึ่งจีนคาดว่าต้องพึ่งพิงในอนาคต ทั้งรัสเซีย (ซึ่งจีนอยากวางท่อส่งน้ำมันตรงจากไซบีเรียและอาจวางผ่านมองโกเลียด้วยในอนาคต) ออสเตรเลีย อินโดนีเชีย หรือแม้กระทั่งอียิปต์ อัลจีเรีย อิหร่าน ปากีสถาน และกาบอน ปัจจุบันจีนมีกองทหารประจำการในซูดานเพื่อดูแลสัมปทานน้ำมันของจีนที่นั่น และกิจการปโตรเลียมของจีนก็หาโอกาสเข้าซื้อกิจการสัญชาติอื่นเพื่อครอบครองสัมปทานน้ำมันอยู่อย่างขมักเขม้น

ด้วยโลกสันนิวาสแบบนี้เองที่ทำให้ภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะในดินแดนที่เป็นแหล่งน้ำมัน แหล่งพลังงาน แหล่งวัตถุดิบ และเป็นเส้นทางลำเลียงของโภคภัณฑ์เหล่านั้นเข้าจีน

ขณะนี้ จีนกำลังลงทุนสร้าง Infrastructure ให้กับอิหร่าน สร้างท่าเรือและฐานทัพเรือที่ Gwadar และ Pasni ในปากีสถาน และที่ Chittagon ในบังคลาเทศ สร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงที่ทางตอนใต้ของศรีลังกา และตามหมู่เกาะรายทางในมหาสมุทรอินเดีย และลงทุนสร้างท่าเรือตลอดจนถนนหนทางและเส้นทางขนส่งในพม่าเพื่อต่อเชื่อมระหว่างปากอ่าวเบงกอลกับจีนตอนใต้ ตลอดจนสนใจสนับสนุนให้มีการขุดคลองลัดที่คอคอดกระที่จังหวัดประจวบคีรีขันท์หรือระนอง เพื่อสร้างทางเลือกของการขนส่งน้ำมันมิให้ต้องผ่านช่องแคบมะละกาแต่เพียงทางเดียว นอกจากนั้นจีนยังมีโครงการจะวางท่อก๊าซตรงจาก Azerbaijan, Kazakhstan, Turkmenistan อีกด้วย นี่ยังไม่นับโครงการสำรวจก๊าซในอ่าวไทยที่กำพูชากำลังหาทางอ้างสิทธิอยู่ในขณะนี้ด้วย

สำหรับพม่า ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศหนึ่งที่ครองชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนต้องการให้คุ้มครองกองเรือขนส่งน้ำมันไปสู่จีนแล้ว โดยตัวของพม่าเองยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรที่จีนต้องการเพื่อเป็นวัตถดิบในการผลิตสินค้าและยุธโทปกรของจีน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองแดง สังกะสี ไม้สัก ยูเรเนียม และพลังน้ำ 

วงการทูตของประเทศตะวันตก คาดการณ์กันว่าแต่ละปี รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารของพม่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ในขณะเดียวกันจีนก็ได้ส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและ Hardware ให้กับสังคมพม่าในราคาถูก (เดี๋ยวนี้ถ้าพวกเราอยากได้ DVD ปลอม หรือพวกนาฬิกาปลอม หรือกระเป๋าปลอม ก็ต้องไปเอามาจากแม่สาย เป็นต้น) รวมตลอดถึงได้ส่งบริษัทก่อสร้างของจีนเข้ามาสร้างอะไรต่อมิอะไรในพม่าด้วยราคากันเอง

จีนไม่สนใจหรอกว่ารัฐบาลทหารของพม่า (หรือรัฐบาลของประเทศอื่นที่จีนติดต่อด้วย) จะปกครองแบบเผด็จอำนาจ และพวกเขาจะเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนหรือไม่เพียงใด จีนดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ Pragmatic และไม่สนใจแม้กระทั่งว่าพม่าจะส่งออกฝิ่นและยาเสพติดไปทั่วโลกหรือไม่ (อย่าลืมว่าจีนเคยเป็นเหยื่อของอังกฤษและอเมริกามาก่อน สมัยที่มอมเมาจีนด้วยฝิ่นจำนวนมากอย่างไร้มนุษยธรรมโดยดำเนินการส่งฝิ่นเข้าไปจากอินเดีย และผมว่าชนชั้นผู้นำของจีนปัจจุบันยังไม่ลืมเหตุการณ์เหล่านั้น) 

จีนสนใจเพียงว่า ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน เช่นเกิดวิกฤติขึ้นกับไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย จนต้องปิดช่องแคบมะละกา จีนจะสามารถลำเลียงน้ำมันผ่านพม่าได้ โดยให้เรือบรรทุกน้ำมันจากตะวันออกกลางมาขึ้นฝั่งที่พม่า ซึ่งจีนลงทุนสร้างท่าเรือให้แล้ว และขนส่งผ่านท่อหรือลำเลียงผ่านเส้นทางบกเข้าสู่ยูนนาน เพื่อไม่ให้การผลิตและเครื่องจักรเศรษฐกิจของจีนต้องหยุดชะงัก 

นอกจากนั้นจีนยังสนใจยูเรเนียมในพม่าอีกด้วย (ซึ่งระยะหลังเราก็ได้ยินจากหน่วยข่าวกรองของฝรั่งแล้วว่าเกาหลีเหนือซึ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่นของจีนและฝรั่งกลัวมาก มาตั้งหน่วยงานวิจัยสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในพม่า ฯลฯ)

ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า พม่าได้กลายสถานะเป็นประเทศที่มี “Strategic Importance” ต่อจีนพอสมควร ในขณะที่ไทย เมื่อสงครามในเขมรสิ้นสุดลง และจีนไม่จำเป็นต้องพึ่งไทยให้เป็นจุดลำเลียงความช่วยเหลือไปสู่กองกำลังเขมรแดงอีกต่อไป ความสำคัญของไทยในสายตาจีนก็มิได้เป็นดังเดิม

อย่างน้อยในรอบสิบปีมานี้ มหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกและสหาย ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไล่จับผู้ก่อการร้าย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กับทรัพยากรจำนวนมากไปกับสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก จึงยุ่งเกินกว่าที่จะหันมาจัดวางยุทธศาสตร์ด้านอุษาคเนย์ หรือแม้กระทั่งเอเชียโดยรวมก็ตามที จึงเป็นโอกาสให้จีนได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่

แน่นอน จีนและรัสเซียย่อมไม่อยากให้สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในอัฟกานิสถานและอิรัก เพราะมันจะทำให้อิทธิพลของฝรั่งในเอเชียกลางหมดไป และจีนกับรัสเซียจะได้เข้าไปทำอะไรต่อมิอะไรกับทรัพยากรของย่านนั้นอย่างถนัดมือ เหมือนกับที่ได้ทำมาแล้วกับพม่า

ทว่า ชัยชนะของประธานาธิบดีโอบามาย่อมเป็นสัญญาณว่าคนอเมริกันเริ่มเปลี่ยนความคิดในเรื่องสงคราม และใครๆ ก็ย่อมจะคาดการณ์ได้ว่ามันจะต้องส่งผลต่อกระบวนทัศน์ของนโยบายต่างประเทศของอเมริกาโดยภาพรวมและโดยภาพย่อยอย่างแน่นอน นโยบายต่อพม่า จีน และอุษาคเนย์ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย การแสดงบทบาทของนางคลินตันที่ภูเก็ตเมื่อเร็วๆ นี้ ย่อมยืนยันความข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

ดูเหมือนว่าฝรั่งสมัยนี้ ก็เหมือนกับบรรพบุรุษของพวกเขาที่รู้ว่าไทยกับพม่ารู้สึกต่อกันอย่างไรในเชิงลึก และพยายามจะใช้ความรู้อันนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในแบบที่ตนถนัด แต่ผมก็ยังค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันและข้าราชการกระทรวงต่างประเทศจะไม่หลงกลและถลำลึกจนทำให้ดุลความสัมพันธ์กับพม่าที่อุตส่าห์รักษามาได้เป็นเวลานานต้องเสียศูนย์ไป

อันที่จริง การดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น แม้ในทางเปิด ทุกประเทศจะแสดงออกว่าตัวเองยืนอยู่ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายความถูกต้อง และฝ่ายความดีงาม แต่ในทางปิด ทุกประเทศย่อมมีแนวโน้มที่จะยึดเอาผลประโยชน์ของชาติตนยิ่งกว่าอย่างอื่น

ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำทหารพม่าปัจจุบันยังคิดจะรบกับไทยอยู่หรือไม่ แต่ถ้าพวกเขายังคิดจะทำ ผมก็ว่าพวกเขาต้องได้เปรียบ เพราะอย่างน้อย พวกเขาจะรูความเคลื่อนไหวของผู้นำประเทศ ตลอดจนแม่ทัพ นายกอง และผู้กุมตำแหน่งสำคัญทางทหาร ราชการ และธุรกิจ ของเราแทบจะตลอดเวลา โดยที่เราเองรู้เรื่องเกี่ยวกับพวกเขาน้อยมาก (ยิ่งย้ายเมืองหลวงไปแล้วยิ่งรู้น้อยเข้าไปใหญ่)

เพราะใครจะไปรู้ว่า คนรับใช้ คนสวน พี่เลี้ยง แม่บ้าน แม่ครัว พ่อครัว คนงานก่อสร้าง ช่างเฟอร์นิเจอร์ คนเลี้ยงหมา คนล้างจาน หรือคนทำความสะอาด ฯลฯ ที่พวกเราใช้บริการอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะทำตัวเป็น Intelligence Agent ให้กับรัฐบาลทหารของพม่าหรือไม่ เพียงใด

ท่านผู้อ่านที่รู้เรื่องญี่ปุ่นบุกครั้งกระโน้น คงคิดได้ว่าผมไม่ได้พูดเล่น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2552

**โปรดคลิกอ่านความเห็นต่อเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของผมได้ตามลิงก์ข้างล่าง

***ไทย-เขมร ในมุมมองผม


(ผมยืมภาพข้างบนนี้มาจากเว็บไซต์ www.prachatham.com ของ "ประชาธรรม" สถานีข่าวประชาชน...ต้องขออนุญาตมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

และ

***จีน: พี่เบิ้มผู้มั่งคั่ง ทว่าว่างเปล่า




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น