วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

กองทุน "บ้านไร่นาเรา"






"Buy land. They're not making it anymore."

Mark Twain


ความหวาดกลัวภัยสงครามทั้งร้อนและเย็น รวมถึงปฏิบัติการใต้ดินบนดินของผู้ก่อการร้ายที่ดูเหมือนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง นับแต่สหรัฐฯ เข้าเทคโอเวอร์อัฟกานิสถาน และหางเลขมาสู่อิรัก ทำให้คนรวยในโลกมองหา “ทางหนีทีไล่” ให้กับตนและครอบครัวยามฉุกเฉิน อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกเมื่อภัยมา



ราคาที่ดินและค่าเงินที่พุ่งทะยานขึ้นในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็มีสาเหตุมาจาก “ความกลัว” อันนี้แหละ แต่พอเกิดปากต่อปากจนฮิตติดตลาด กลายเป็นแฟชั่น ที่ต้องเฮโลสาระพาแห่กันไปตามกระแส พฤติกรรมการใช้เงินแบบนี้ก็เลยกลายเป็น “ความเห่อ” และหนทางลงทุนโดยใช้ “เงินออกไปทำงาน” กลายเป็นแนวการลงทุนอีกทางเลือกหนึ่งของคนรวยในปัจจุบัน



คนเงินบูดในโลกนี้หันไปลงทุนในกองทุนที่เข้าไปกว้านซื้อ “บ้านไร่นาเรา” ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กันมาก เพราะมองว่ามันเงียบสงบและห่างไกลจากดินแดนก่อการร้าย อีกทั้งยังอยู่นอกลู่วิ่งและรัศมีของหัวรบนิวเคลียร์อีกด้วย



การเติบโตของจีน อินเดีย บราซิล และการเพิ่มจำนวนประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนโหมกระพือ ความเชื่อ” และ “ความเห่อ” แบบนี้ให้ดับเบิ้ล ทริปเบิ้ลขึ้นไปอีก และอย่างต่อเนื่อง



“มนุษย์ต้องกินเพื่ออยู่” เป็นสัจธรรม ยังไม่นับว่าในโลกนี้ก็มีคนประเภท “อยู่เพื่อกิน” อีกเป็นจำนวนมาก

ยิ่งคนมากขึ้น ยิ่งต้องการอาหารมากขึ้นเป็นเงาตามตัว



ความเชื่อแบบนี้แหละครับ ที่โหมกระพือให้ราคาโภคภัณฑ์เขยิบสูงขึ้นมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา

การเข้ามากว้านซื้อผลผลิตแทบทุกชนิดในตลาดโลกโดยรัฐบาลและภาคเอกชนของจีน ก็มีส่วนโหมกระพือให้ราคายืนอยู่ในระดับแพงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย (นั่นเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่ารัฐบาลของเราคงจะไม่สามารถแก้ปัญหา "เงินเฟ้อ" ได้สำเร็จ เพราะราคาอาหารมันถูกกำหนดโดยตลาดโลก)



หตุผลสองประการนี้เป็นเสมือน “เทอร์โบชาร์ต” ที่ขับเคลื่อนให้เกิดความนิยมเอาเงินไปลงทุุนใน “Farmland” หรือ “บ้านไร่นาเรา” มากมายทั่วโลก



ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา ที่เศรษฐีฝรั่ง แขก จีน พากันแอบเข้ามากว้านซื้อผืนนากันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง ไล่ไปตั้งแต่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร กระเพื่อมออกไปทุกทิศทุกทาง แต่ที่ถูกกว้านซื้อจนน่าเป็นห่วงก็น่าจะตั้งแต่อยุธยาขึ้นไปจนถึงสิงหบุรี อ่างทอง



World Bank เพิ่งจะออกรายงานมาไม่นานนี้ เตือนว่าความนิยมของการลงทุนใน Farmland ที่กำลังแล่นเป็นกระแสสูงอยู่ขณะนี้ อาจรบกวนความสงบสุขของท้องถิ่ง เพราะเนื่องมาแต่การกว้านซื้อผืนดินในประเทศโลกที่สามอย่างไม่ค่อยถูกครรลองคลองธรรม ด้วยราคาที่ไม่ค่อยเหมาะสม และการขยายตัวของแนวคิดนี้อาจทำให้สังคมแตกสลาย เช่น ทำให้ชาวนากลายเป็นผู้รับจ้างทำนา เป็นต้น (ผู้สนใจคลิกอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่  http://siteresources.worldbank.org/INTARD/Resources/ESW_Sept7_final_final.pdf)



แม้รสนิยมแบบนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเศรษฐีไทยก็มักนิยมมี “บ้านไร่นาเรา” ที่ต่างจังหวัดกันมาก แต่สำหรับการบริหารการลงทุนแนวใหม่ที่พูดถึงนี้มันต่างกันในเชิงความเอาจริงเอาจังและผลผลิต ตลอดจนผลตอบแทนในการลงทุนเมื่อเวลาผ่านไป



ทุกอย่างต้องวัดได้ ซีเรียสจริงจัง มีการจัดการ มิใช่เพื่อซื้อไว้เล่นๆ หรือเอาไว้ตากอากาศยามว่าง



ระยะนี้มีนักลงทุนระดับโลกผู้มีชื่อเสียงหลายคน ได้แนะนำให้เจียดเงินไปลงทุนใน Farmland เช่น George Soros, Barton Bigg, Nassim Taleb, Lord Rothschild, Jim Rogers, Michael Burry, และ Marc Faber เป็นต้น



เพื่อความเข้าใจอันลึกซึ้งถึงความเป็นไปของโลกการเงินและวิธีคิดของนักลงทุนระดับโลกทั้งหลาย Blogger ใคร่ขอแนะนำ์เว็บไซต์ของ Colvin & Co โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Slide Presentation ที่สามารถสรุปรวบยอดให้เราเข้าใจแนวทาง “บ้านไร่นาเรา” ได้ภายในชุดเดียว (คลิก  http://farmlandforecast.colvin-co.com/files/4/0/0/4/6/174324-164004/Colvin__Co_LLP_Farmland_Outlook_for_2010_9_20_10.pdf)



พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Blog ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนตุลาคม 2553 ภายใต้นามปากกา Blogger


**ติดตามบทความแนะนำ Blog เศรษฐกิจการเงินทำนองนี้ที่ผมเขียนได้จากคลิกข้างล่าง


Greg Mankiw บล็อกเศรษฐกิจอันดับ 1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น