อินเทอร์เน็ตช่วยสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ หลายอย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและกิจการขนาดเล็กขนาดกลาง (SMEs)
Blogger เคยเขียนถึง Kickstarter.com และ ProFounder.com ซึ่งเป็น Web-based Venture Capitalist (หรือตอนหลังนิยมเรียกกันว่า “Crowdfunding Web”) ที่ให้โอกาสผู้ประกอบการซึ่งเปี่ยมไปด้วยไอเดียทว่าขาดแคลนเงินทุนตั้งตัว ได้มาสำแดงตนบนหน้าเว็บให้นักลงทุนได้อ่าน ฟัง ดู และพิจารณาร่วมลงทุน สุดแท้แต่ความชอบและระดับดีกรีพร้อมรับความเสี่ยงของตน
Blogger ยังเคยเขียนถึง Kiva.com แหล่งเงินบนเว็บสำหรับคนรากหญ้าจริงๆ คือเน้นปล่อยกู้หรือระดมเงินร่วมลงทุนสำหรับโครงการมูลค่าไม่มากของชาวบ้านในชนชนยากจนและกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยผู้ร่วมลงทุนสามารถคลิกเข้ามาดูโครงการจำนวนนับพัน และเลือกว่าจะร่วมลงขันกับใครเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือ PayPal คล้ายๆ กับการบริจากเงิน เพียงแต่อันนี้ผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในรายละเอียดของแต่ละโครงการบนเว็บนั้น
Kiva.com ถูกเรียกโดยศัพท์เฉพาะว่า “Crowdfunding Microfinance”
เหล่านี้ล้วนเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่น่าสรรเสริญยกย่องแก่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ และน่าสนับสนุนให้เติบโตแข็งแรงและเผยแพร่กว้างขวางยิ่งขึ้น
ที่สำคัญควรส่งเสริมให้มีขึ้นในเมืองไทยเรา
Receivables Exchange (www.receivablesexchange.com) และ MarketInvoice (www.marketinvoice.com) ก็
เป็นนวัตกรรมการเงินบนอินเทอร์เน็ตอีกแบบหนึ่งที่น่าสนับสนุนให้มีขึ้นในบ้านเราเช่นกัน
ความคิดเบื้องหลัง Receivables Exchange และ MarketInvoice ถูกพัฒนาขึ้นจากธุรกิจซื้อขายลูกหนี้การค้าหรือใบวางบิลค้างรับที่เรียกว่า “Factoring” ซึ่งนักการเงินบ้านเราคุ้นเคยอยู่แล้ว
โดยปกติธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนใหญ่ๆ จะให้บริการแฟกทอริ่งอยู่แล้ว เพราะถือเป็นการบริการลูกค้าที่มีลูกหนี้การค้าอยู่ในมือ สามารถนำเอามาขายลดให้ธนาคาร แล้วเบิกเงินสดไปใช้ก่อนโดยไม่ต้องรอเรียกเก็บตามรอบบัญชี ซึ่งอาจจะต้องรอถึง 60 วัน 90 วัน หรือ 120 วัน ตามแต่กรณี
มันช่วยเพิ่ม “เงินทุนหมุนเวียน” ให้กับกิจการ โดยเฉพาะกิจการ SME ซึ่งมิได้มีเงินถุงเงินถังหรือมีผู้ถือหุ้นประเภทกระเป๋าหนัก ย่อมได้ประโยชน์จาก Working Capital Financing แนวนี้มาก
อินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มความลึกและความกว้างให้ตลาดแฟกทอริ่ง โดยการสร้างตลาดกลางขึ้นมาซื้อขายอินวอยส์แบบออน์ไลน์ โดยผู้ซื้อ (ผู้ลงทุนหรือผู้ปล่อยกู้) ไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้ขายโดยตรง
Receivables Exchange และ MarketInvoice ทำตัวเป็นตลาด O-T-C (Over the counter) กลาง คือเป็นเจ้าของตลาดนี้ โดยอนุญาตให้ผู้ต้องการจะขายลูกหนี้ค้างรับ นำอินวอยส์ที่ยังไม่ได้เรียกเก็บมา List ในตลาด พร้อมรายละเอียด และสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมส่วนลดที่จะให้กับผู้ลงทุน (Discount Fee) พร้อมทั้งวงเงินที่ต้องการเบิกล่วงหน้าจากผู้ลงทุน (Advance Amount)
เมื่อผู้ลงทุนประมูลเข้ามาหลายราย ผู้ขายสามารถเลือกขายให้กับรายที่เสนอเงื่อนไขดีที่สุด แล้วก็รับเงินล่วงหน้าไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันแล้วนั้น
พอหนี้ครบกำหนดตามอินวอยส์ RE หรือ MI ก็จะทำการเรียกเก็บไปยังลูกหนี้การค้ารายนั้นๆ และเมื่อลูกหนี้ชำระเงินตามจำนวนแล้ว RE หรือ MI ในฐานะตัวกลางก็จะจ่ายเงินก้อนที่เหลือให้กับผู้ขาย และในขณะเดียวกันก็จ่ายคืนให้กับผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนเป็นจำนวนเท่ากับ “เงินเบิกล่วงหน้า” บวก “ค่าธรรมเนียมส่วนลด” เป็นอันจบดีล
นั่นแหละ ตลาดซื้อขายลูกหนี้การค้าที่น่าจะสนับสนุนให้มีขึ้นในบ้านเราสักวันหนึ่ง
-------------------------
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555 ในคอลัมน์แนะนำ Financial Blog ภายใต้นามปากกา Blogger
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น