“ความจนเป็นอุปสรรค์”
ใช่! ความจนเป็นอุปสรรค์หลายเรื่องในสมัยนี้และสมัยไหนๆ
ความรัก การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การหาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ อาหารการกิน เสื้อผ้า ยารักษาโรค และเงื่อนไขแห่งการดำรงชีวิตทั้งมวล ย่อมอึดอัดขัดข้อง อัตคัดขัดสน ติดๆ ขัดๆ ถูกกีดถูกกัน ยังไงชอบกล เมื่อเราจน
ศาสดาผู้ประเสริฐที่เคยผ่านมาในโลกมนุษย์แม้จะยกย่องความจนและคนเล็กคนน้อย แต่ก็ล้วนต้องการขจัดความจนให้สิ้นไป ทั้งเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โคตมโคตร หรือ Jesus of Nazareth เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ คำสอนของท่านทั้งสองแฝงไว้ด้วยเป้าหมายดังว่า ไม่มากไม่น้อย
รวมถึงนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักคิดนักเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ Adam Smith จนถึง Karl Marx ซึ่งความคิดของท่านเหล่านั้นมีผู้ติดตามนำมาประยุกต์ใช้จัดระเบียบสังคมและระเบียบโลก ก็ล้วนมุ่งมั่นขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปด้วยกับทุกคน แม้มรรคาจะต่างแนวกันไปคนละแบบคนละทาง ก็ตามที
แม้กระนั้น ความจนยังหาได้ปลาสนาการไปจากสังคมมนุษย์ไม่ โลกปัจจุบันมีการผลิตโภคทรัพย์อย่างล้นเหลือ ความมั่งคั่งนับเป็นตัวเงินมีอยู่อย่างเหลือคณานัป มหาเศรษฐีที่สะสมทรัพย์กันคนละหลายแสนหลายล้านล้านบาทก็มีให้เห็นแบบตัวเป็นๆ แต่ความจนกลับระบาดไปทั่ว จำนวนคนยากจนในโลกเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน
ถ้าเราปล่อยให้ความยากจนยังมีอยู่ในอัตราปัจจุบัน ความยากจนนี้เองที่จะถ่วงหรือเหนี่ยวรั้งมนุษยชาติโดยรวมไม่ให้ก้าวหน้าไปได้ เพราะความจนเป็นสาเหตุสำคัญของความไม่รู้ และเป็นสาเหตุของความอึดอัดขัดข้องต่อการดำเนินชีวิตของคนหมู่มาก ซึ่งจะส่งผลต่อวงจรที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงทั้งต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และต่อธรรมชาติ
ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งพุ่งแรงที่เอาใจใส่ต่อปัญหาความยากจนนั้น มี Esther Duflo แห่ง MIT อยู่ด้วยคนหนึ่ง
งานวิจัยของเธอน่าสนใจไม่น้อย เธอมักลงพื้นที่ เก็บข้อมูลละเอียด โดยผลวิจัยสามารถมี Implications ต่อการดำเนินนโยบายสังคม หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่
MBA คิดว่าการตั้งคำถาม และหาคำตอบแบบที่เธอทำนั้น น่าจะนำมาประยุกต์กับสังคมบ้านเราได้ไม่ยาก (อย่างนโยบายแจก Tablet ของรัฐบาลปัจจุบันนั้น สามารถใช้วิธีวิจัยในแบบของเธอ มาวัดประสิทธิภาพของนโยบายได้เลยทันที)
ตัวอย่างที่เธอนำมาแสดงบนเวที TED Conference (ผู้สนใจคลิกดูได้ที่ blog.ted.com/2010/05/03/social_experime/) ก็น่าสนใจ ทั้งแนวทางการจูงใจให้ผู้ปกครองในชนบทยากจนของอินเดียให้นำลูกมาฉีดวัคซีนโดยการแจกถั่วคนละ 1 กิโลกรัม และการวัดประสิทธิภาพของนโยบายลดการติดเชื้อมาเลเรียในอัฟริกาโดยทางเลือกต่างๆ เช่นการแจกมุ้ง ขายมุ้งให้ชาวบ้าน หรือให้ส่วนลดไปซื้อมุ้งกับชาวบ้าน เป็นต้น
หนังสือของเธอเรื่อง Poor Economics: Barefoot Hedge Fund Managers, DIY Doctors and the surprising truth about life on less than 1$ a day (เขียนร่วมกับแฟนเธอ Abhijit Banerjee) เพิ่งจะออกวางตลาดด้วยเวอร์ชั่นปกอ่อน มีกรณีศึกษาจำนวนมากจากการลงพื้นที่ยากจนเป็นเวลานาน และมีข้อสรุปที่น่าสนใจ
แม้เธอจะพบว่ามันไม่มีมาตรการใดหรือหนทางใดหนทางหนึ่งแต่เพียงแนวเดียวในการขจัดความยากจนให้หมดไป แต่เราก็พอรู้ว่าจะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ยากไร้กันอย่างไร โดยเธอได้ข้อสรุปในเชิงเศรษฐศาสตร์มา 5 ประการดังต่อไปนี้
ประการแรก เธอพบว่าผู้ยากไร้ส่วนใหญ่ขาดแคลนข้อมูล จึงมีความรู้หรือฝังใจผิดๆ เกิดตึดยึดกับความหลง ความงมงาย หรือเชื่อในเรื่องไม่จริง มิจฉาทิฎฐิเหล่านี้มักทำให้พวกเขาตัดสินใจผิดพลาด เช่นพวกเขาไม่แน่ใจต่อผลดีของการฉีดวัคซีนให้ลูกหลาน หรือผลดีของการส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนให้ได้รับการศึกษาขั้นต้น หรือไม่รู้ว่า HIV ติดต่อกันได้ยังไง เป็นต้น และแม้ต่อมาพวกเขาจะเพิ่งมารู้และตระหนักว่าความเชื่อเก่าที่ยึดถือมานั้นมันผิด แต่การตัดสินใจก่อนหน้านั้น อาจสร้างความเสียหายไปแล้ว และการกลับตัวมักจะสายเกินไป
ประการที่สอง คือเธอมองว่าผู้ยากไร้เหล่านี้แบกความรับผิดชอบหนักหน่วงเกินไปในหลายแง่มุมของการดำเนินชีวิต เพราะคนจนต้องคิดเรื่องต่างๆ มากกว่าคนรวย เช่น พวกเขาต้องคิดหนักในเรื่องอาหารและน้ำดื่ม เพราะพวกเขาไม่มีน้ำประปาใช้ พวกเขาจึงไม่ได้ประโยชน์จากคลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่การประปาจัดหาให้จากส่วนกลาง พวกเขาต้องแบกรับต้นทุนในการจัดหาน้ำสะอาดด้วยตัวเอง และพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือ afford อาหารเช้ามาตรฐานสำหรับเด็กอย่างเช่น Cereal ได้ด้วย แต่ก็มีภาระที่จะต้องจัดหาอาหารสำหรับลูกหลานให้ครบสามมื้อ เป็นต้น ดังนั้น โอกาสที่คนจนจะตัดสินใจ “ผิดพลาด” จึงมีมากกว่าคนมีฐานะ
ประการที่สาม คือกลไกตลาดมักทำงานสวนทางในตลาดคนยากจน และมักคิดราคาสูงสำหรับคนยากจน เช่นตลาดสินเชื่อปกตินั้น คนยากจนมักเข้าถึงยาก และถ้าเข้าถึงได้ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่าปกติ แม้กระทั่งตลาดเงินฝาก สำหรับคนยากจนแล้ว ดอกเบี้ยรับมักจะต่ำกว่าทั่วไปด้วยซ้ำ
ประการที่สี่ เธอว่าประเทศยากจนมักพบกับความจนซ้ำซาก แต่ไม่ใช่เพราะมันต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ไม่ใช่เพราะความจน หรือประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่มา แน่นอนว่านโยบายหรือโครงการยกระดับฐานะผู้ยากไร้ต่างๆ มักไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ได้ผลเต็มที่ในประเทศเหล่านั้น นักการเมืองโกงกิน ระบบราชการล่าช้า แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ก็มักไม่อยากสอนหรือสอนไม่เต็มที่ ถนนหนทาง เขื่อน สะพาน ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเพราะถูกเหลือบไรคอรับชั่นออกไปแต่แรก ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นเพราะทุนนิยมสามานย์หรือเกิดจากการกีดกันของพวกชนชั้นนำที่ไม่อยากเห็นคนจนมีฐานะดีขึ้น อย่างที่มักเชื่อกันตามแนว “ทฤษฎีสมคบคิด” (Conspiracy Theory) แต่มันเกิดจากการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด และการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ และสิ่งที่เธอเรียกว่า “Ubiquitous Three I’s” คือ Ignorance, Ideology และ Inertia
หรืออย่างนักการเมืองไร้ชื่อส่วนใหญ่ที่ไม่คิดว่าตัวเองคงทำอะไรไม่ได้มากในรัฐสภา ถึงกระนั้นผู้คนก็ยังคงเลือกตน ทำให้เขาเข้าใจไปว่าประชาชนคงมิได้คาดหวังอะไรในตัวเขามากนัก ก็เลยพาลเป็นคนเรื่อยเฉื่อย หมดความคิดสร้างสรรค์ ไม่คิดที่จะหาทางปรับปรุงชีวิตราษฎรให้ดีขึ้นตามหน้าที่ความรับผิดชอบของนักการเมืองที่ควรจะเป็น
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ในคอลัมน์แนะนำหนังสือ ภายใต้ชื่อเรื่อง "ความจนมิใช่อุปสรรค?"
***ผู้สนใจโปรดคลิกอ่านบทความที่คล้ายคลึงกันข้างล่าง
***Patient Capital การเงินเพื่อลดช่องว่าง
***Greg Mankiw บล็อกเศรษฐกิจ NO. 1
***"กระแสสำนึก" ของนายธนาคารแห่งอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น