วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"อึมครึม" ของ Tyler Cowen



ท้องฟ้าเมืองกรุงตอนต้นมิถุนาปีนี้ช่างมืดครึ้มเสียเหลือเกิน หมู่เมฆดำทะมึนแผ่กว้างปกคลุมขอบฟ้าเบื้องตะวันออกจนถึงกลางฟ้า นี่ก็โมงกว่าเข้าไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าดวงตะวันยังคงอ้อยอิ่ง ไม่ค่อยเต็มใจที่จะขับไล่เอาความขมุกขมัวของอุษาสางให้พ้นไปจากขอบฟ้า เพื่อหลีกทางแก่ฉายฉานแห่งอรุณรุ่ง ให้ได้อวดสำแดงศักยภาพอันโชติช่วงของมันในแบบที่ควรจะเป็น...มันช่างช้าเชือนเสียนี่กระไรในเช้าวันนี้

ความอ้อยอิ่งช้าเชือนทำให้เกิดบรรยากาศอึมครึม งึมๆ งำๆ อิดๆ ออดๆ หัวก็ไม่ใช่ ก้อยก็ไม่เชิง ดังภาวะการเมืองไทยและสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงนี้นั่นเอง

ความไม่แน่นอนแทรกอยู่ในทุกอณูอากาศที่ผู้คนต่างหายใจเอามันเข้าไป คนที่เคยมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในอนาคต ก็ชักไม่แน่ใจ พูดได้ไม่เต็มปากเสียแล้ว นักทำนายอนาคตและคนสำคัญหลายคน-รวมถึงราษฎรอาวุโส- ยังแสดงความห่วงกังวลออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง ทำให้ผู้คนยากจะสงบใจลงได้ในภาวะอย่างนี้ ต่างก็หวาดระแวงและต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ราวกับพายุฝนจะจู่โจมเอาได้ทุกเมื่อ

ความล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐฯ และภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของหลายรัฐบาลในยุโรป ตลอดจนภาวะอาหารแพง น้ำมันพุ่ง และความวุ่นวายทางการเมือง ที่ประดังถาโถมเช้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ช่วยถ่วงความอึมครึมให้รีรออยู่ ไม่เปิดทางให้ความโชติช่วงชัชวาลได้กลับคืนมาแบบง่ายๆ

Stagnation จึงเป็นคำซึ่งเหมาะเจาะมากที่จะนำมาใช้อธิบายภาวะการณ์ของสังคมเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้

The Great Stagnation เป็นหนังสือเล่มใหม่ของ Tyler Cowen ที่สั้น กระชับ อ่านง่าย กระชากความคิด ให้หันมามองสาเหตุของความอึมครึมและแสวงหา Creative Solutions กันอย่างเป็นระบบ นักอ่านที่ไม่มีพื้นทางเศรษฐศาสตร์การเงินก็อ่านเข้าใจได้

แม้เนื้อหาจะว่าด้วยสหรัฐอเมริกา แต่วิธีวิเคราะห์และข้อเสนอแนะก็กินใจและกระตุ้นไอเดียได้มาก Blogger ชอบที่ Cowen บอกว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ เผชิญความทุกข์เข็ญในวันนี้ เพราะขาดแรงจูงใจที่จะคิดหา Innovation ใหม่ๆ เอาแต่กินบุญเก่า อุปมาเหมือนดั่งคนมักง่ายที่เที่ยว เก็บเอาผลไม้ใกล้มือมากินเสียจนเกลี้ยงแล้ว นับแต่นี้ไป หากจะได้กินกัน ก็จำต้องออกแรงปีนป่ายหรือหาเครื่องทุ่นแรงมาสอยเอาจึงจะได้กิน

Innovation ที่สหรัฐอเมริกานำออกมาเปลี่ยนแปลงโลกในรอบหลายสิบปีนี้ กลับอยู่ในแวดวงจำกัด เช่น Silicon Valley ที่นำโด่งทางด้านคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ซอฟท์แวร์ และอินเทอร์เน็ต หรืออย่าง Wall Street ที่นำโด่งทางด้านการเงินการลงทุน การคิดค้น Financial Instuments ใหม่ๆ และการหมุนเงินตลอดจนควบคุมเงินทุนก้อนใหญ่ของโลกไว้ในมือ หรือแวดวงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอื่นอย่าง Nanotechnology, Biotechnology และ Artificial Intelligence นั้น Cowen ก็ว่ามันไม่ได้สร้างงานให้กับสังคมอเมริกันสักกี่มากน้อย เพราะงานเหล่านี้ต้องการทักษะเฉพาะ ต้องเป็นคนมีการศึกษาและมีทักษะระดับกลางขึ้นไป (Middle Skill) อีกทั้งกิจการเหล่านั้นยังได้จ้างวานให้จีนและเอเชียนำเทคโนโลยีของตนไปผลิตขั้นต้นเสียหมด ถ้าดูกันจริงๆ จังๆ แล้ว กิจการอย่าง Google, Facebook, Apple, หรือ Microsoft หรือ Investment Bank, Hedge Fund, Private Equity, Ventur Capital ก็มิได้สร้างงานให้กับคนสหรัฐฯ ทั่วไปมากสักเท่าใดนัก และงานส่วนใหญ่ที่สงวนไว้ในสหรัฐฯ กลับสำเร็จลงได้ด้วยเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์ หาได้พึ่งพาแรงงานมนุษย์สักกี่มากน้อยไม่

และความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตอย่างมากมายนั้น แม้มันจะช่วยให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้นมาก แต่มันกลับมิได้สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ ตรงข้าม มันกลับทำให้มูลค่าในบัญชีประชาชาติ (เช่น GDP) ลดลง ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้คนหันไปค้นคำจาก Wikipedia พวกเขาก็ซื้อหาพจนานุกรมกันน้อยลง หรือเมื่อผู้คนหันไปอ่านข่าวอ่านข้อมูลกันฟรีผ่าน Google หนังสือพิมพ์และนิตยสาร รวมตลอดถึงธุรกิจสื่อสารมวลชนอย่างเก่า ย่อมร่อยหรอรายได้ลงจนเกือบจะล้มหายตายจากกันไปเสียสิ้น หรืออย่างอุตสาหกรรมยาและ Healthcare หรือการศึกษา ที่ก้าวหน้าขึ้นมากในสหรัฐฯ แต่กลับส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลอย่างมากมายมหาศาลและเรื้อรัง เป็นต้น

Cowen จึงสนับสนุน Innovation ในอุตสหกรรมที่จะสามารถสร้างงานจำนวนมากได้ คือจำต้องหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพื้นๆ อุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน เกษตรกรรม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ขนส่ง ฯลฯ และสนับสนุนการปรับโครงสร้างเชิงการจัดการสำหรับ Healthcare และการศึกษา

ฟังดูแล้วก็น่าคิด!

นาย Cowen คนนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย George Mason เคยจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเป็นคนอ่านหนังสือมากเหลือเกิน อ่านมันดะไปทุกแนว

เขาจึงมีอะไรคับอกคับใจอยู่ไม่น้อย และต้องระบายออกมาเสียมั่ง

Outlet ของเขาคือบล็อกชื่อ Marginal Revolution (เขียนและโพสต์ร่วมกับ Alex Tabarrox) เนื้อหาน่าอ่าน คลอบคลุมในหลายประเด็น แค่คลิกอ่านเม้นต์ต่อท้ายในแต่ละกระทู้ก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ สะกิดใจไม่น้อยเลย

ไม่แปลกที่บล็อกของพวกเขาจะติดอันดับบล็อกยอดนิยม 1 ใน 10 ประเภท Economics Blog เคียงคู่ไปกับบล็อกของเศรษฐดาพยากรณ์นามอุโฆษอย่าง Paul Krugman, Gregory Mankiw, และ Robert Reich  

Blogger เพิ่งคลิกเข้าไปดูสารคดีของ BBC เรื่อง “All Watched Over by Maching of Loving Grace” ที่พวกเขาโพสต์ไว้ ว่าด้วยความคิดของ Ayn Rand ที่เกี่ยวโยงมาถึงการเกิดและเติบโตของ Silicon Valley และการล่มสลายของ Sub-Prime Crisis ทั้งแปลก ทั้งตื่นเต้น ทั้งอึมครีม ทั้งเหนือจริง

ไว้วันหลัง เราค่อยมาว่ากันด้วยเรื่อง Ayn Rand ซึ่งความคิดของเธอกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาจนได้รับความนิยมมากในหมู่นักการเงินและผู้ประกอบการแห่ง Silicon Valley อยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้

วันนี้ขอจบเพียงแค่นี้ก่อน www.marginalrevolution.com

---------------


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน 2554 ในคอลัมน์ Financial Blog ภายใต้นามปากกา Blogger

หมายเหตุ: โปรดคลิกอ่านบทความทำนองเดียวกันได้จากลิงก์ข้างล่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น