วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ProFounder.com ร่วมเสี่ยง ร่วมรับ




เราคงไม่มีโอกาสได้รู้จักกับคนอย่าง Steve Jobs, Bill Gates, Mark Zuckerberg, Steven Spielberg, George Lucas, หรือกิจการชั้นแนวหน้าอย่าง Yahoo!, Google, Amazon.com, eBay, Groupon, Twitter หากไม่มี Venture Capital ที่กล้าเอาเงินให้คนเหล่านั้นไปลงทุนกันตั้งแต่พวกเขายังเป็น Nobody และ No Name

แรกเริ่มเดิมที Venture Capitalist ก็คือบรรดานายธนาคาร นักลงทุน นักการเงิน และเศรษฐีที่มองการณ์ไกลและชอบลงทุนในคน

พวกเขาต้องดูคนเก่ง รู้จักค้นหาเพชรในตม มองเห็นเนื้อทองของพระสังข์ในตัวเจ้าเงาะ รู้จักเจียรนัยเพชร ใจเย็น และรู้เคล็ดลับของการลงทุนในคน โดยหยิบยื่นโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจกล้าหาญ มุมานะ และชอบเสี่ยงแบบนักประกอบการ โดยหวังว่า เมื่อได้รับการฟูมฟักอย่างดีจนถึงเวลาอันควร ศักยภาพของเขาเหล่านั้นจะได้สำแดงตนออกมาให้เห็น จนเปล่งประกายออกมาเป็นกิจการอันรุ่งโรจน์และมีอนาคต แล้วจึงสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำ

แทนที่จะเอาเงินไปฝากธนาคารหรือฝังดินไว้เฉยๆ คนเหล่านี้กลับเลือกเอาเงินไปลงทุนร่วมเสี่ยงกับพวก Nobody ที่แม้จะมามือเปล่า แต่พวกเขาก็แอบเห็นศักยภาพบางอย่างที่ซ่อนอยู่

ถ้ามีใครคิดจะแปลคำ Venture Capital เป็นภาษาไทย Blogger ขอเสนอคำว่า “กองทุนร่วมเสี่ยง” เพราะน่าจะให้ความหมายได้ใกล้เคียงที่สุด

แต่ด้วยเหตุผลเชิงวัฒนธรรมบางประการ Venture Capital สามารถเติบโตอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้เพียงในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยเฉพาะกับกิจการไฮเทคที่ระยะหลังมาเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น

แม้ระยะหลังมานี้ เราจะได้ยินว่า Venture Capital เริ่มมีบทบาทต่อกระบวนการสร้างผู้ประกอบการและกระบวนการระดมทุนมากขึ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และแถบสแกนดิเนเวีย หรือแม้แต่ในจีน แต่เมื่อเทียบกับอเมริกาแล้ว ก็นับว่ายังเตาะแตะอยู่มาก

ในเมืองไทยเรา กิจการประเภทนี้ก็ไม่โต แม้บางกองทุนจะทำคลอดโดยธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งนำเงินมาร่วมลงขันกัน ก็ยังล้มเหลว

ปัจจุบัน Venture Capital ในสหรัฐอเมริกาเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่โดยตัวของมันเอง เด็กรุ่นใหม่ที่จบ MBA จากมหาวิทยาลัยชั้นนำนิยมมาประกอบอาชีพนี้ และเทคนิควิธีในการเข้าถึงลูกค้าก็พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น เปิดกว้างยิ่งขึ้น แพร่หลายยิ่งขึ้น และเข้าถึงคนเล็กคนน้อยได้มากขึ้น และยิ่งเล็กๆ น้อยๆ ลงไปอีกเรื่อยๆ ด้วย

สมัยก่อนเมื่อพูดถึง Venture Capital ก็ต้องว่ากันเป็นหลักล้านจนถึงหลักร้อยล้านเหรียญฯ แต่ต่อมาก็เริ่มมีกองทุนที่ลงมาเล่นหลักต่ำกว่าล้าน และต่ำลงมาเรื่อยๆ จนถึงระดับรากหญ้าก็ยังมี อย่างเช่นที่เราเคยเขียนถึงไปแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Acumenfund.org, Kiva.org ที่เน้นให้กู้สำหรับโครงการรากหญ้าในประเทศยากจน หรือ Kickstarter.com ที่เปิดให้ผู้ต้องการระดมทุนเข้าไปนำเสนอโปรเจกต์ต่างๆ บนเว็บไซต์ ด้วยการเขียนรายละเอียดของโครงการพร้อม Mock-up และ VDO Presentation แล้วเสนอผลตอบแทนการลงทุนเป็นสินค้าและบริการที่คิดจะผลิตขึ้นนั้น แทนการจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือเป็นหุ้น ซึ่งดูไปแล้วก็คล้ายกับการมาขายล่วงหน้ากลายๆ

นักการเงินเรียกผลตอบแทนแบบนี้ว่า PIK หรือ Payment In-Kind โดยเราอาจเรียกกิจกรรมร่วมเสี่ยงทำนองนี้ว่า PIK Venture ก็ได้ เพราะตัว Kickstarter.com มิใช่กองทุนร่วมเสี่ยง เพียงแต่เป็นตัวกลางให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมาเจอกันบนเว็บไซต์ของตัว

นับว่า Venture Capital กลายรูปกลายร่างไปมากแล้ว

ProFounding.com ก็เป็น Web-based Venture Capital สำหรับรายย่อย อีกแห่งหนึ่งที่กำลังมาแรง

แต่รายนี้มาแปลก เพราะให้ผู้ระดมทุนเสนอจ่ายผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากรายได้ หรือ Revenue Sharing (ไม่ใช่ส่วนแบ่งจากกำไร) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการ

ที่ต้องทำแบบนี้ Blogger เข้าใจว่าเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมายหลักทรัพย์ของหน่วยงาน ก.ล.ต. (SEC) เพราะถึงแม้ตัว ProFounding จะมีกองทุนเป็นของตัวเอง และสามารถร่วมลงทุนกับโครงการต่างๆ ที่เข้ามานำเสนอบนเว็บไซต์ของตนได้ แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เมื่อเทียบกับทั้งก้อน ซึ่ง ProFounding ต้องการกระจายให้กับผู้ลงทุนรายเล็กรายน้อยที่สนใจเข้าร่วมโดยการคลิกผ่านหน้าเว็บ ดังนั้นจึงเสมือนเป็นการกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ซึ่งต้องเข้ากฎเกณฑ์ยุ่งยาก เช่นต้องทำหนังสือชี้ชวนฯ และต้อง Filing อีกทั้งยังต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาการเงินและ Underwriter เป็นต้น

ProFounding จึงเลือกใช้วิธีให้เจ้าของโปรเจกต์และผู้ลงทุนทำสัญญาพิเศษต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะของการซื้อขายหรือเข้าถือหุ้นสามัญ (ที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินปันผล) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้าลักษณะของสัญญาเงินกู้ (ที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย) ทว่าให้จ่ายเป็นส่วนแบ่งจากรายได้ทันทีที่กิจการนั้นเริ่มทำกำไร

ProFounding จะเน้นสนับสนุนโครงการเล็กๆ และเน้นการระดมทุนจากเพื่อนฝูงพี่น้องในชุมชน คือเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน คล้ายๆ กับแนวคิดขององค์กรพัฒนาเอกชน


ดูไปแล้วก็เข้าท่าดี น่าจะมีคนเอาไอเดียมาลองทำกันดูในบ้านเรามั่ง

---------------


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2554 ในคอลัมน์แนะนำ Financial Blog ภายใต้นามปากกา Blogger

**คลิกอ่านแนะนำบล็อก VC เพิ่มเติมได้ตามลิงก์ข้างล่าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น