วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติผู้นำแบบไทยๆ นั้นน่ากลัว




ถามราษฎรส่วนใหญ่ในตอนนี้ จำนวนมากกังวลใจเรื่องทำมาหากิน เรื่องปากท้อง และของแพง และรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากภาวะน้ำท่วม แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ตามที

อันที่จริง ปัญหาเศรษฐกิจนั้น ถ้าพูดให้ถึงที่สุด โดยพิสูจน์จากบทเรียนในอดีต ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้น่าหวาดหวั่นสักเท่าใดนัก เพราะถ้าพวกเราขยันทำมาหากิน ทำงานกันทุกคน ทั้งหญิงทั้งชายทั้งหนุ่มทั้งแก่ ทุ่มเทกันคนละไม้คนละมือ และมีผู้นำที่คอยคัดหางเสืออย่างชาญฉลาด ได้มาก็แบ่งๆ กันไปให้ทั่วถึงเท่าเทียม มิใช่ไปกระจุกอยู่ในมือพวกใดพวกหนึ่ง จนคนส่วนใหญ่ได้กินแต่ "เศษเนื้อ"...ไหนเลยเศรษฐกิจจะยังตกต่ำอยู่ได้ แม้หลายกรรมหลายวาระ บ้านเมืองเราจะเคยเป็นหนี้เป็นสินมากมายสักเพียงใด สุดท้ายก็ทะยอยใช้จนหมดไปได้

ประเทศเราอุดมสมบูรณ์มาแต่ไหนแต่ไร และบัดนี้ก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ แม้ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายไปมากแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นไร้ไม้ตอก

ที่สำคัญจะต้องมีผู้นำและคณะผู้นำที่ราษฎร “เชื่อใจ” และรู้สึกว่า “พึ่งได้”

ปัจจุบันเราขาดผู้นำประเภทนั้น คือไม่มีผู้นำหรือคณะผู้นำที่ราษฎรส่วนใหญ่ไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความไว้วางใจ หรือ “Trust” ได้

นับเป็นปัญหา Leadership ที่อันตรายและน่าหวาดเสียวมาก!

ลองมองขึ้นไปข้างบนสิครับ ว่าท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมไหม...

เริ่มจากคุณยิ่งลักษณ์ แม้จะน่ารัก แต่งตัวดี และท่าทางขยันขันแข็ง เหมือนแม่บ้านชนชั้นกลางที่มีการศึกษา แต่ก็ไม่ใช่ Manager ตัวจริง ซึ่งลึกๆ แล้วก็บังคับบัญชาคนได้จำกัด และยังต้องเรียนรู้ระบบบริหารราชการแผ่นดินอีกมาก สั่งราชการยังไม่ค่อยได้ผล และแทบจะไม่เคยแสดงความคิดเห็นแบบผู้นำเป็นของตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจงเลย โดยเฉพาะในเชิงของการจัดการเศรษฐกิจ ความมั่นคง และอนาคตของประเทศ

คุณอภิสิทธิ์ก็ดีแต่พูด พูดแต่ละทีเป็นย่อหน้าๆ แต่หาใจความสำคัญไม่ได้ ไม่เฉียบ และไม่ลึกซึ้ง ไม่สมกับที่ได้รับการศึกษาชั้นเยี่ยมของโลกมา คนเก่งรอบข้างก็มีจำนวนไม่พอ และชอบทำให้ตัวเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองน้ำเน่า

ส่วนนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแทบทั้งหมดนั้นเล่า ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่ง ส.ส. (รวมทั้งกลุ่ม “บ้านเลขที่ 111”) ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุนพรรคและพ่อค้าจำนวนไม่กี่คน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับฝ่ายค้าน ที่เมื่อกลับข้างมาเป็นรัฐบาล ได้ถือครองอำนาจรัฐแล้ว ก็ไม่ต่างกัน

หันมาดูผู้นำนอกสภาฯ อย่างคุณทักษิณ แม้จะเก่งเรื่องเศรษฐกิจ หูตากว้างไกล และพิสูจน์มาแล้วว่าบริหารงานเศรษฐกิจของแผ่นดินให้เกิดประสิทธิผลได้ แต่ถ้าแบ่งคนในประเทศเป็นสามส่วน เข้าใจว่าส่วนหนึ่งชอบและคิดว่า “พึ่งได้” ส่วนที่สองเกลียดและไม่ไว้ใจ หาว่ามีเจตนาร้ายแฝงอยู่ และส่วนที่เหลือแม้จะ “รับได้” เพราะเห็นว่าเป็นคนเก่ง แต่ก็ไม่ Trust ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

ส่วนท่านเปรม แม่ทัพของฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณนั้นเล่า ก็อยู่ในบั้นปลาย และคงเหลือเวลาในชีวิตอีกไม่เท่าไหร่ ทุกอย่างอยู่ในช่วงขาลง กำลังวังชาถดถอย พูดจาซ้ำๆ ซากๆ และ Ultra Conservative และไม่พยายามหรือไม่คิดจะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง สังเกตจากโอกาสที่ได้จัดตั้งรัฐบาลหลังรัฐประหาร แล้วลองพิจารณาตัวบุคคลและคณะบุคคลที่ท่านเลือกให้มาบริหารประเทศในช่วงนั้นดู...โอ้ว! ท่านช่าง Squander the Chance ไปอย่างน่าเสียดาย ผมว่าคนจำนวนมากเลิกหวังในตัวท่านไปแล้วหล่ะ

ฝ่ายผู้นำขบวนการทางการเมืองทั้งสองสี ยิ่งพึ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะขืนใครได้ขึ้นมาปกครองประเทศ อีกฝ่ายคงยอมยาก ล่อแหลมต่อการปะทะกันบนท้องถนน และผู้นำเหล่านี้ ส่วนใหญ่แสดงความสามารถในการนำม็อบหรือฝูงชน ด้วยการพูด การแสดงโวหาร การเล่าเรื่อง และแสดงเหตุผล แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือใช้อำนาจรัฐกันเลย

หันมาดูฝ่ายผู้นำธุรกิจ ซึ่งควบคุมความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของประเทศไว้ และนับวันคนกลุ่มนี้จะทรงอิทธิพลมากยิ่งขึ้นต่อชะตากรรมของบ้านเมือง...เอาง่ายๆ ท่านลองมองไปที่ยอดปิรามิด ดูแค่ไทคูนธนินท์กับไทคูนเจริญ ดูว่าสองคนนี้หากินกันอย่างไร โลภไหม เอาเปรียบคู่ค้าหรือผู้บริโภคหรือไม่เพียงใด ทั้งไก่ เหล้า และสะดวกซื้อ ผูกขาดตัดตอนกันยังไงบ้าง เบียดเบียนคนเล็กคนน้อยอย่างไรบ้าง เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง มีส่วนต่อการคอรัปชั่นในระดับข้าราชการชั้นสูงและระดับการเมืองอย่างไรบ้างเพื่อ Shape กฎเกณฑ์ให้ตัวเองได้เปรียบ บิดเบือนระบบตลาดอย่างไรบ้าง และกินน้ำใต้ศอกฝรั่งกันอย่างไร พอใจแค่เป็นนายหน้าฝรั่งหรือญี่ปุ่นหรือจีน พอใจเพียงแค่ Margin เล็กๆ น้อยๆ แต่เคยคิด Innovation หรือคิดการณ์ไกล แล้วลงทุนสร้างอะไรให้เป็นของตัวเองเพื่อไปต่อกรกับฝรั่งเขาบ้างไหม อย่างที่พวกไทคูนญี่ปุ่นและเกาหลีเขาทำกัน...เคยคิดจะสร้างอะไรอย่าง Toyota, Sony, Sumsung, Hundai ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์บ้างไหมหล่ะ

ที่สำคัญ อภิมหาเศรษฐีระดับนี้ เคยแสดงออกหรือให้ความสำคัญหรือเจียดเงินให้กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดความจรรโลงใจจรรโลงวิญญาณบ้างไหม (โดยไม่หวังผลในเชิงพีอาร์น๊ะ) เคยคิดอย่างอื่นนอกจากค้าขาย ลงทุน ซื้อมา ขายไป ซื้อถูก ขายแพง กำไร ขาดทุน บ้างหรือไม่...ผมหมายถึงอะไรก็ตามที่ฝรั่งเรียกว่า Sursum Corda หน่ะ

ที่น่าเศร้าคือ เท่าที่ผมเห็นมา นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ฝันอยากเป็นแบบท่านทั้งสองกันทั้งนั้นแหล่ะ...

ปัญหา Leadership ที่ผมกล่าวมานี้ อาจไม่ส่งผลร้ายต่อสังคมไทยในอนาคต หรืออาจไม่ก่อให้เกิดวิกฤติ หากว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความอ่อนแอของสถาบันหลักในสังคมไทย

แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเคยไว้เนื้อเชื่อใจหรือ Trust คนบางกลุ่มบางอาชีพ ที่เป็นแกนหลักให้สังคมได้ยึดเหนี่ยว ไม่ให้เกิดวิกฤติร้ายแรงขึ้นกับสังคมไทย

แน่นอน สถาบันพระมหากษัตริย์คือคนกลุ่มแรกที่อยู่บนยอดสุดของปิรามิด ที่ผ่านมาสถาบันพระมหากษัตริย์ช่วยทำให้คนไทย “วางใจ” และ “อุ่นใจ” ต่ออนาคต ช่วย Manage ความเสี่ยงในแง่ของความรุนแรงหรือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เพราะเป็นส่วนสำคัญให้ระบอบการเมืองมีความต่อเนื่อง และเป็น Last Resort ที่ช่วยระงับวิกฤติใหญ่ๆ อันเนื่องมาแต่ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ให้ลุกลามจนเป็นสงครามกลางเมืองที่รุนแรง...นายกรัฐมนตรีมาแล้วก็ไป ทว่ากษัตริย์คงอยู่ตลอดมา

คนกลุ่มที่สองซึ่งเคยเป็นหลักของสังคมไทย (อย่างน้อยตั้งแต่สมัยช่วงกลางของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา) คือข้าราชการ ข้าราชการเคยเป็นมือไม้ของพระมหากษัตริย์ ข้าราชการยุคแรกๆ จึงเป็นกลุ่มคนที่พระมหากษัตริย์ Trust นั่นคือพระบรมวงศานุวงศ์ (คือลูกหลานเหลนโหลนของกษัตริย์) และบรรดาผู้ที่มาจากตระกูลผู้ดี (ลูกหลานเหลนโหลนของกลุ่มขุนนางที่เคยทำงานและกำลังทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในขณะนั้น) จนต่อมาเมื่ออาณาเขตของประเทศกว้างขวางขึ้นและระบบเศรษฐกิจใหญ่โตขึ้น งานราชการแผ่นดินมีมากและซับซ้อน จึงต้องอาศัยลูกหลานชาวบ้านที่ Bright สอบแข่งขันเข้ามารับทุนเรียนหนังสือทั้งเมืองนอกเมืองไทย แล้วจบออกมารับราชการ (Tradition นี้สืบทอดมาจนถึงนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ทุนอานันทมหิดล ทุน ก.พ. ทุนวิเทศสหการ ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ)

ข้าราชการสมัยโน้นจึงมักเป็นคนเก่งกว่าคนทั่วไป ได้รับการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไป จนมีความรู้และมีอภิสิทธิ์กว่าคนทั่วไป เลยพากันถือศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อย พวกเทคโนแครตก่อนยุควิกฤติเศรษฐกิจถือเป็นรุ่นสุดท้ายของข้าราชการลักษณะนั้น

อีกกลุ่มหนึ่งคือพระ ซึ่งช่วยให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น และช่วย Manage กิจกรรมทางด้านจิตวิญญาณให้กับคนในสังคมไทย คือช่วยจัดการกับความกลัว ความกังวล ความสงสัย ความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ ตลอดจนความดี ความชั่ว และจริยธรรม ให้กับผู้คนในสังคมไทยมาช้านาน อีกทั้งวัดและสถาบันศาสนายังเป็นแหล่งสร้างสรรค์ พัฒนา ทำนุบำรุงรักษาและถ่ายทอด ศิลปะ วรรณกรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งจรรโลงใจให้กับผู้คนในสังคมไทยเสมอมา (สังคมไทยไม่เหมือนสังคมโรมันที่พอรับสมาทานศาสนาคริสต์แล้วก็เสื่อม...อย่างน้อย Edward Gibbon ก็โทษศาสนาคริสต์ว่าทำให้โรมันเสื่อม ในงานคลาสสิกของเขา The History of the Decline and Fall of the Roman Empire)

ท่านผู้อ่านที่พิจารณาและสังเกตสังคมไทยอย่างใกล้ชิดและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนและซื่อสัตย์ต่อตัวเอง คงไม่ปฏิเสธว่า Trust ที่ผู้คนในสังคมไทยมีต่อคนทั้งสามกลุ่มที่เคยเป็นหลักยึดของสังคมไทยในปัจจุบันลดลงไปอย่างน่าใจหาย

หากเกิดวิกฤติการณ์ที่รุนแรงขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต กลุ่มคนที่จะมีขีดความสามารถในการจัดระเบียบของสังคม คงหนี้ไม่พ้นทหาร เพราะกองทัพไทยนั้นควบคุมอาวุธหนักทั้งหมดของสังคมไทยไว้ในมือ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธเหล่านั้นด้วย

ผมไม่แน่ใจว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้นำทางทหารในอนาคตจะเป็นเช่นไร

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
28 เมษายน 2555





ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นบทบรรณาธิการของนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2555 ในชื่อ "วิกฤติผู้นำ กัดกร่อนอนาคตไทย"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น