วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตลาดหุ้นลาว ดาวฤกษ์ที่ค่อยๆ “รุ่ง”



คิดจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้ากว่าที่เป็นอยู่ แต่ด้วยเหตุที่มีเงินลงทุนน้อย จำนวนประชากรน้อย จะขยับไปทางไหนก็ลำบาก พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงได้มีมติให้ก่อตั้ง “ตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange : LSX) ขึ้น เพราะเห็นความจำเป็นในการมีตลาดทุนเพื่อระดมเงินลงทุนในระยะยาว ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี (2006-2010) ครั้งที่ 6

ในปี 2009 มีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนเกิดขึ้น ระหว่างธนาคารแห่ง สปป. ลาว ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และให้ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เข้ามาถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเกาหลีใต้สนใจจะให้ความช่วยเหลือ โดยเข้ามามีบทบาทด้านการลงทุน การดูแลระบบซื้อขายและไอที

เพื่อนบ้านอย่างไทยก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ แต่ในช่วงวางรากฐาน ตลาดหลักทรัพย์ลาวบริหารงานโดยคน 3-4 กลุ่ม แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ศูนย์กลางพรรคฯ จึงเสนอให้ รศ.ดร.เดดพูวัง มูลรัตน์ ซึ่งกำลังดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว เข้ามาเป็น ประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ลาว 

รศ.ดร.เดดพูวังเห็นบทเรียนจากการบริหารงานที่ผ่านมาจึงตั้งเงื่อนไข 2 ข้อ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ข้อแรก ตลาดหลักทรัพย์ลาว “ต้องเป็นเอกราช” หมายถึง ต้องมีอิสระในการคิดริเริ่มและในการดำเนินงาน และข้อสอง “ต้องให้ Facilities” เพราะปรารถนาให้ตลาดหลักทรัพย์ลาวเป็นอิสระจากทุกภาคส่วนเพื่อให้บริหารงานได้สะดวกขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลลาวเห็นชอบ รศ.ดร.เดดพูวังจึงเดินเครื่องเต็มที่ กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ลาวได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553 (10-10-10) และเปิดให้มีการซื้อขายหุ้นได้จริงตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2554 (11-01-11)

ท่านเดชพูวังทำงานด้านบัญชีมาโดยตลอด และเคยเป็นผู้วางระบบบัญชีให้กับลาวมาก่อน จึงมีความเข้าใจเรื่องบัญชีอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระบบบัญชีแบบเดิมที่ลาวใช้อยู่และระบบบัญชีที่เป็นสากล ท่านจึงมีข้อมูลเศรษฐกิจของลาวในระดับจุลภาคอยู่ในมือ เห็นภาพรวมและศักยภาพของกิจการลาวว่าตรงไหนแข็งตรงไหนมีศักยภาพ นับเป็นคุณสมบัติที่เหมาะมากกับการบุกเบิกตลาดทุนในระยะแรก

จนถึงวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ลาวมีบริษัทจดทะเบียนแล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL-Gen) และ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (BCEL) และมีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก (Brokerage Firm) แล้ว 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ล้านช้างมหาชน (Lanexang Securities Public Company : LXS) บริษัทหลักทรัพย์ บีซีอีเอล-เคที จำกัด (BCEL-KT Securities Company Limited) บริษัทหลักทรัพย์ลาว-ไชน่า (Lao-China Securities Company) และบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็ม ลาว จำกัด (Asset Pro Management (Lao) Securities Co., Ltd) ซึ่งเป็นของสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม นักการเงินฝั่งไทย 

ถ้าเทียบกับจำนวนหลักทรัพย์ในตลาดไทยซึ่งมีหลายร้อยบริษัทแล้ว ที่กว่าจะเติบโตมาถึงวันนี้ก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี ลาวก็คงรู้ว่ายังต้องอาศัยเวลาอีกพักใหญ่กว่าอะไรๆ จะ Take-Off

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งนอกจากจำนวนหลักทรัพย์และสภาพคล่องการซื้อขายต่อวันแล้ว ปัจจุบันการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ (Foreign Limit) ซึ่งลาวกำหนดไว้ว่าให้ได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ติดเพดานไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถดึงเงินเข้ามาในระบบเทรดเพิ่ม แต่มองอีกแง่หนึ่งก็แสดงว่านักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าถือหุ้นของกิจการทั้งสอง

ในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ลาวอาจเปิดช่องโดยให้มีหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ที่เป็น Non-voting Rights เพื่อดึงความสนใจและเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนอีกทางหนึ่ง คือให้ชาวต่างชาติซื้อขายหุ้นหรือกองทุน ฯลฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยนักลงทุนจะได้รับเงินปันผล แต่ไม่สามารถโหวตหรือออกเสียงใดๆ ได้ นับเป็นการแก้ปัญหาที่ Innovative มาก หากทำได้สำเร็จ

ขณะที่ช่วงขึ้นลงของราคา ซึ่งตลาดฯ กำหนดให้มีความเคลื่อนไหวได้ไม่เกินบวกลบ 5% จัดว่าน้อยมาก และในสายตาของนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงอาจหันหลังให้หากไม่ปล่อยให้ราคาหวือหวาได้บ้าง

ต่อประเด็นนี้ ท่านเดดพูวังคาดว่าจะขยายช่วงเพิ่ม แต่ต้องพิจารณาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตก่อน เพราะตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียนเพียงแค่ 2 บริษัท ยังน้อยเกินไปที่จะวางแผนให้แน่ชัด แต่มีสิ่งที่ทำได้คือ ใช้ยุทธศาสตร์ 2 ข้อในการพัฒนาตลาดทุน คือ ต้องเพิ่ม Maximize Liquidity” หรือเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น และต้อง Modernize IT” พัฒนาด้านไอทีให้ทันสมัย

ถามถึงก้าวต่อจากนี้ รศ.ดร.เดดพูวังแห่งตลาดหลักทรัพย์ลาวบอกเราแบบภาษาลาวปนไทยว่า

เฮาได้ตั้งวิชั่นไว้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นหนึ่งที่มีมาตรฐานสากล ปัจจุบันเฮาค่อยยกระดับไปทีละขั้น แต่เฮาจะมีสเต็ปเข้า AEC ก่อน อย่างน้อยหลังปี 2015 ถึงจะกล้าไปสู่มาตรฐานโลก โดยเฮาจะเว่าเรื่องกฎหมายก่อน กฎหมายต้องมีมาตรฐานสากล นี่เฮาก็ยกดำรัสมาเป็นกฎหมายให้ไปตามเงื่อนไขของสังคมอยู่ เรื่องบริษัทหลักทรัพย์ จำเป็นต้องเพิ่มบริษัทหลักทรัพย์ เพราะแสดงถึงความยืนยงในระยะยาว ผมเป็นรองศาสตราจารย์เลยหันกลับคืนมาทำรีเสิร์ช รีเสิร์ชแล้วทั้งเมิดมี 9,000 หน่วยกิตที่เสียอากร (9,000 บริษัทที่เสียภาษี) ยังเหลือ 1,068 หน่วยที่เห็นหว่าพอเป็นการเซอร์เวย์ได้ และพอเซอร์เวย์เข้าไปลึกๆ มีก็แต่ 30 บริษัท ถามแท้ๆ ยังบ่ทราบที่สมัครใจ อยู่ในซาวที่สมัครใจนั้น เฮาก็ได้ไปค้นพบตัวจริงเวลาที่เขาเสนอมา เงื่อนไขจริงที่ยากที่ซุดคือ เรื่องการบัญชี บัญชีก็เว่าเรื่อง External & Internal Audit เป็นหัวใจ อันที่สองเว่าเรื่อง Good Governance (ธรรมาภิบาล) ของเขายังบ่ค่อยเข้มแข็ง ต้องออกแฮงสูงสมควร”

ฟังแล้ว ก็เห็นถึงศักยภาพ

อยู่ที่ว่าจะแต่งตัวได้รวดเร็วทันใจกันได้แค่ไหน


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ก.พ. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น