วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทเรียนจากพิพิธภัณฑ์ไกสอน พมวิหาน


ลาวเฮานี่มีทั้งหมด 49 ซนเผ่า และแยกออกไปอีกกว่า 160 ย่อยๆ แล้วใน 49 ซนเผ่า เพิ้นได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มสาย มีลาว-ไต มอน-ขแม ม้ง-เมี่ยน และ จีน-ทิเบต ต๋ามข้อต๊กลงของสภาแห่งซาด เมื่อวันที่สาวสี่ เดือนซิบสอง ปี๋สองพันแปด"

มัคคุเทศน์หนุ่มน้อยแห่งพิพิธภัณฑ์ไกสอน พมวิหาน บอกให้พวกเราฟังเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะนำเราเข้าสู่เรื่องราวการปฏิวัติและการก่อร่างสร้างสาธารณรัฐจนรุ่งโรจน์รุ่งเรือง ควบคู่ขนานไปกับประวัติและบทบาทอันสูงเด่นของท่านไกสอน พมวิหาร บิดาแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แทนที่จะขึ้นต้นว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” เฉกเช่นการเล่าเรื่องราวหรือตำนานทั่วไป 

ที่ต้องขึ้นต้นแบบนี้ในการเล่า Story ของลาว ก็เพราะบทบาทสำคัญที่สุดอันหนึ่งของท่านไกสอนและพรรคคอมมิวนิสต์หรือที่เรียกว่า "พรรคประชาชนปฏิวัติลาว" (Lao People's Revolutionary Party) ก็คือการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในหมู่ราษฎรลาวซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ นั่นเอง

ก่อนหน้านั้น ชนเผ่าต่างๆ ในลาวต่างคนต่างอยู่ และไม่ค่อยไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีลักษณะพรรคพวกนิยมและท้องถิ่นนิยมสูง โดยเฉพาะพวกลาวเทิง และลาวสูง (ซึ่งมีจำนวนประมาณ23% และ 9% ของประชากรลาวตามลำดับ) ล้วนรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าพวกลาวลุ่ม (ชนเผ่าไต-ลาว ซึ่งเป็นคนหมู่มากและมีบทบาทสูงทางการปกครอง) เอาเปรียบและดูถูกตัว

ยิ่งสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองในฐานะเจ้าอาณานิคมด้วยแล้ว พวกเขาใช้วิธี "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ให้ชนเผ่าต่างๆ ระแวงและคานอำนาจกันเอง แถมยังเอาชาวเวียดนามเข้ามากินตำแหน่งสำคัญๆ ในระบบราชการ และสนับสนุนชาวจีนให้เป็น Player สำคัญทางเศรษฐกิจ

นับเป็นการซ้ำเติมปัญหา

แม้ท่านไกสอนจะมีพ่อเป็นคนเวียดนามและพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็เป็น Derivative ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่มีเวียดนามเป็นพี่เอื้อย อีกทั้งผู้นำคนสำคัญๆ สมัยก่อตั้งพรรคก็ล้วนเกี่ยวข้องในระดับแนบแน่นกับเวียดมินห์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นท่านหนูฮัก พูมสะหวัน หรือ เจ้าสุพานุวง ซึ่งล้วนมีภรรยาเป็นชาวเวียดนาม ทว่า นโยบายของพรรคฯ ตั้งแต่แรกคือการเป็นศูนย์รวมใจของลาวทุกชนเผ่าและโดยเท่าเทียมกัน

ดังจะเห็นว่าพรรคฯ มีตัวแทนของชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกองทัพประชาชนและศูนย์การนำมาตั้งแต่แรก

ทั้ง สีทน กมมะดำ และ ไฟด่าง ลอเบลียเยา ศูนย์กลางการนำพรรคฯ ยุคก่อตั้งล้วนเป็นตัวแทนของชนเผ่าลาวเทิงและลาวสูง (ม้ง)

Martin Stuart-Fox นักวิชาการผู้ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลาวที่สุดในโลก เคยเขียนไว้ในหนังสือ History of Laos ว่า "….สิ่งที่ขบวนการปะเทดลาวทำคือ การให้โอกาสผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชนชาติส่วนน้อยมีบทบาทในเวีการเมืองระดับชาติ โดยการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติและเลื่อนตำแหน่งขึ้นสูงทั้งในกองทัพและ/หรือในพรรค ขบวนการปะเทดลาวให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การก่อกบฏของเหล่าบรรดาชนกลุ่มน้อยเพื่อนำมาวางโครงสร้างการปฏิวัติชาตินิยมที่รวมลักษณะแบบแผนของการปฏิวัติแบบลัทธิชาตินิยมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทุกคนที่เคยต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของการต่อสู้ผู้ไม่ย่อท้อต่อการปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยประเทศลาวจากการตกเป็นเบี้ยล่างและการถูกกดขี่ ทุกคนที่เคยต่อสู้และยังคงต่อสู้กับฝรั่งเศสต่อไปคือชาวลาวผู้รักชาติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นชนชาติอะไร พวกเขาจะได้รับการยกย่องและยอมรับหากเคยช่วยทำงานเพื่อการเคลื่อนไหวของขบวนการปะเทดลาว ข้อพิสูจน์คือทั้งไฟด่างและสีทนได้รับตำแหน่งผู้นำภายในพรรค ไม่เคยมีครั้งใดที่ชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงจะได้รับการยินยอมพร้อมใจให้ดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรีมาก่อน ไม่เคยมีครั้งใดที่ความเท่าเทียมกันของชนทุกเผ่าพันธุ์ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายทางการเมืองระดับชาติ...” (อ้างจากคำแปลโดยจิราภรณ์ วิญญรัตน์ "ประวัติศาสตร์ลาว" หน้า 149)

และแนวนโยบายอันนั้นก็ได้สืบทอดมาจนบัดนี้

ปัจจุบัน (คือระหว่างสมัยที่ 9) ในคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Politburo) ซึ่งเป็นคณะผู้นำสูงสุดของลาว ก็มีตัวแทนของชนชาติกลุ่มน้อยดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย และยังมีอีกหลายคนที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงเช่นคณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค (Secretariat of the Central Executive Committee) กรรมการศูนย์กลางพรรค (Central Committee) รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย เจ้าแขวง และตำแหน่งสำคัญในกองทัพ

นั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พรรคปฏิวัติของลาวภายใต้การนำของท่านไกสอนและสหายประสบความสำเร็จในการยึดครองอำนาจรัฐและสถาปนาสาธารณรัฐได้สมความมุ่งหมาย

อย่าลืมว่าปัญหาเชื้อชาตินั้นเป็นปัญหาละเอียดอ่อน และมักเป็นปัญหาการเมืองที่น่าปวดหัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ชนชาติต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจเผด็จการของเจ้าอาณานิคมมาก่อน เมื่อได้ลิ้มรสของเสรีภาพและต้องปกครองตนเอง ก็มักจะมีปัญหาแก่งแย่งชิงดีและเหยียดกันไปกันมา ความต่างในแง่วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และการกระทบกระทั่งเพียงน้อยนิด อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ความเก็บกดอันน่าเกลียดที่เคยมีมาแต่เก่าก่อน ทว่าไม่เคยสามารถแสดงออกได้ ก็จะเผยตัวออกมาให้เห็นให้สัมผัสกันในตอนนั้น จนบางทีก็ทำให้เกิดความรุนแรง และบางกรณีถึงกับเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกก็เคยมีมาแล้ว

ดังที่เราเห็นกันในยุโรปเมื่ออาณาจักรออสโตร-ฮังการีแตกสลายหรืออีกหลายชาติในยุโรปหลังนาซีพ่ายแพ้ หรือพม่าหลังจากญี่ปุ่นวางอาวุธ หรือยูโกสลาเวียหลังติโตเสียชีวิต หรือกำลังที่เกิดขึ้นในพม่าและสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยขณะนี้

การดำเนินกุศโลบายแบบที่ท่านไกสอนเคยทำมา คือให้หัวหน้าของชนชาติสำคัญๆ เข้ามาร่วมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ และในที่สุดก็ผนวกชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการอันเข้มงวดกวดขันโดย "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นความสำเร็จของท่านไกสอนและสหายที่ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้

เมื่อมัคคุเทศน์หนุ่มจบการบรรยาย หลังจากที่พาเราดูจนทั่วพิพิธภัณฑ์และฟังเรื่องราวแห่งความสำเร็จและเอื้ออาทรของท่านไกสอนมาแทบทุกด้านแล้ว MBA พบว่าท่านไกสอนก็ไม่ต่างจากผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เลนิน สตาลิน เหมาเจ๋อตง หรือโฮจิมินห์ ที่เคยมีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านและความนับถือของคนในประเทศของตนอย่างล้นเหลือ (และล้วนมีพิพิธภัณฑ์เป็นของตน) แต่ก็ถูกเปิดโปงข้อมูลด้านมืดและจุดอ่อนออกมาให้เห็นมากขึ้นๆ ในโลกยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นเกินอยู่ในขณะนี้

ดีกรีของความนับถือที่มีต่อท่านไกสอนในหมู่คนลาวปัจจุบันยังล้นเหลือ ไม่แพ้กับที่คนเวียดนามปัจจุบันมีต่อโฮจิมินห์

แม้เราจะไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ดีกรีอันนั้นมันจะลดน้อยถอยลงไปหรือไม่อย่างไรในอนาคต เฉกเช่นที่คนจีนปัจจุบันมีต่อเหมาเจ๋อตง และคนรัสเซียหรือคนในแคว้นอื่นที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียตมีต่อสตาลิน

แต่ MBA ก็ยังค่อนข้างมั่นใจว่าความสำเร็จในเชิงนี้ของท่านไกสอนย่อมจะไม่ถูกบดบังไปได้อย่างแน่นอน

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA  ฉบับเดือน ก.พ. 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น