วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เช่


นับถึงปีนี้ ได้ 40 ปีพอดี ที่ เช่ เกวาร่า (Ernesto “Che” Guevara) ถูกยิงตายในประเทศโบลิเวีย ขณะเข้าไปช่วยกองกำลังปฏิวัติรบแบบสงครามจรยุทธ์กับรัฐบาลเผด็จการในประเทศโบลิเวีย ทั้งๆ ที่เขามิใช่คนที่นั่น เขาเป็นคนอาร์เจนตินา ทว่า เขาถือการปฏิวัติเป็นอุดมการณ์นำทางชีวิต อย่างที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ Guerrilla Warfare ที่ตัวเองแต่ง ว่า “the duty of the revolutionary is to make the revolution” นั่นแหละ ถ้าเขาอยู่ ป่านนี้เขาจะมีอายุถึง 79 ปีแล้ว

อันที่จริงเขาเคยเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติมาก่อนหน้านั้นในหลายประเทศ ทั้งที่คองโกและคิวบา ซึ่งเขาได้ช่วยสหาย ฟิเดล คาสโตร โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของนายพลบาตีสต้า (Fulgencio Batista) และก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรมอยู่ระยะหนึ่ง ชีวิตและอุดมคติของเขา นับเป็นแบบอย่างและได้สร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวละตินอเมริกันจำนวนมากเข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองอย่างกดขี่อยู่ในหลายประเทศเวลานั้น

แม้ เช่ จะโด่งดังตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อวายชนม์แล้ว ชื่อเสียงของเขากลับโด่งดังยิ่งกว่าเก่า ตำนานของ เช่ ถูกสร้างใหม่ แถมต่อเติม เสริมแต่ง ไปจากเดิมอีกหลายแง่ หลายมุม สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา ครอบคลุมกิจกรรมหลากหลายแขนง และได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ สารคดี เพลง สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการที่อาศัยรูปถ่ายของเขาปะติดไว้

ว่ากันว่า สินค้าและบริการที่มีรูปถ่ายของเขาปะติดไว้ นั้น มีตั้งแต่ ของที่ระลึก ไปจนถึง เหล้า บุหรี่ เสื้อยืด และกางเกงในผู้หญิง หรือแม้แต่ บังโคลนรถสิบล้อ และ รอยสักบนตัวคน โดยรูปถ่ายที่ว่า ย่อมเป็นรูปๆ นั้น คือ รูปใบหน้าอันคมขำของเขา กับทรงผมลอนยาวประบ่า ใต้หมวกแบเร่ต์ใบนั้น ขณะที่ดวงตาเพ่งมองไปยังเบื้องหน้ามุมสูง ที่ อัลแบร์โต้ กอร์ด้า (Alberto Gorda) เป็นผู้ถ่ายไว้ได้

เดี๋ยวนี้ ภาพดังกล่าว กลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการต่อต้านระบบ “โลกานุวัตร” (Globalization) โดยความหมายกว้าง หรือต่อต้าน “อเมริกา” ในความหมายแบบเฉพาะเจาะจง ไปเสียแล้ว ยิ่งผู้คนรู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบ จากระบบโลกานุวัตรมากเพียงใด Image ของ เช่ อันนี้ ย่อมถูกเน้นย้ำ และเชิดชูขึ้นมา ให้เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม มากเพียงนั้น อย่างในคิวบา หรือเวเนซูเอล่า ปัจจุบันนั้น เรื่องราวบางด้านของ เช่ ถูกเน้นย้ำ และยกย่องราวกับนักบุญในศาสนาคริสต์ เพราะอย่าลืมว่า ชนชั้นปกครองของสองประเทศนั้น เกลียดอเมริกาแบบเข้าไส้

ร้อนถึงนักคิดฝ่ายขวาโลกานุวัตร ที่ต้องปฏิบัติการ “เจาะยาง” เช่ อย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นว่าระยะหลัง มีหนังสือชีวประวัติและบทความที่เขียนถึงเช่ โดยย้ำที่จุดอ่อนของเช่ ว่าเป็นคนโหดร้าย เคยฆ่าคนมาก็มาก อย่างตอนได้ชัยที่ Sierra Maestra นั้น เขาก็สังหารผลาญชีวิตพวกเดียวกันที่ถูกสงสัยว่าจะเป็นไส้ศึกไปเสียหลายคน หรือการนำคนบริสุทธิ์ไปตายในสงครามกลางเมืองเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพยายามลบภาพนักบุญโดยให้ข้อมูลว่าเขานิยม Marxism แบบสุดขั้ว ที่เมื่อได้ชัยชนะแล้ว ก็มิได้มุ่งหวังการปลดปล่อยอะไร แต่กลับทำตัวเป็นผู้เผด็จการเสียเอง อย่างตอนที่เป็นรัฐมนตรี ก็ทำการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จนคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนกันทั่วหน้า

นับเป็นสงคราม Propaganda ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ ตำนานของ เช่ เป็นเดิมพัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ในเมื่อ เช่ เคยเป็นมนุษย์ปุถุชน ก็ย่อมมีทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง มีดี มีชั่ว มีเกลียด มีกลัว มีกะล่อน ปลิ้นปล้อน มีเมตตา กรุณา และอื่นๆ อีกสารพัด ตามธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่หลุดพ้น และแม้ว่า คนขับรถสิบล้อ ขึ้นล่อง กรุงเทพฯ อิสาน จะรู้จักหรือนำพาต่อเรื่องราวแต่หนหลังของคนในภาพ บนบังโคลนรถที่เขาขับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือไม่ก็ตาม ตำนานของ เช่ ก็ จะยังอยู่เคียงคู่ขนานมุมกลับ ไปกับระบบทุนนิยม ตราบนานเท่านาน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
5 ธันวาคม 2550
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น