“บ้านดงเค็ง” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลหนองน้ำใส อำเภอสี้คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา หมู่บ้านนี้ ไม่มีอะไรน่าสนใจ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ มีถนนลูกรังสายเล็กที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อตัดผ่าน คล้ายๆ กับ One-street Town ในหนังคาวบอยตะวันตก นานๆ จึงจะมีรถวิ่งผ่านสักคัน ถนนสายนี้คล้ายกับซอยย่อยที่เชื่อมมาจากซอยใหญ่ “คลองไผ่-หนองน้ำใส” ซึ่งเชื่อมมาจากถนนมิตรภาพอีกทอดหนึ่ง
ชาวบ้านดงเค็งน้อยคนนัก ที่ภูมิใจกับถนนเล็กๆ สายนี้
ในยามแล้งและยามหนาว ฝุ่นแดงละเอียดจะคลุ้งขึ้นเสมอเมื่อรถวิ่งผ่าน กิ่งและใบเค็ง เต็มไปด้วยผงฝุ่นเกาะเขรอะจนขาวหม่น แต่เมื่อฝนเริ่มมา ชะล้างกิ่งใบจนใสสะอาด ทว่า เบื้องล่างกลับกลายเป็นโคลนเลน
ที่นี่ คะเนดูด้วยตาแล้ว น่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่สักไม่เกินหกสิบครัวเรือน ก่อสร้างบ้านเรือนเกาะกลุ่มกันบนพื้นที่ประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร แล้วตัดถนนล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดินสักสิบนาทีก็รอบหมู่บ้าน พ้นจากตรงกลางออกมา ล้วนเป็นทุ่งนา ล้อมรอบหมู่บ้านทั้งสี่ด้าน กว้างจนสุดลูกหูลูกตา ด้านเหนือและด้านตะวันตก จรดภูเขา ส่วนด้านใต้กับตะวันออก จรดหมู่บ้านอื่น ที่มองเห็นอยู่ลิบๆ หมู่บ้านนี้จึงดูเหมือนเกาะที่ลอยอยู่กลาง “ทะเลทุ่งนา”
แหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน คือบ่อบาดาลส่วนกลาง ที่ติดตั้งระบบสูบน้ำอัตโนมัติ ขึ้นกักเก็บไว้บนแท็งก์ซีเมนต์สูง แล้วแจกจ่ายไปตามท่อให้สำหรับทุกครัวเรือนเหมือนระบบประปาเมืองหลวง ระบบนี้เพิ่งเสร็จสมบูรณ์ในยุครัฐบาลทักษิณ ก่อนหน้านั้น สมาชิกของทุกครัวเรือนต้องออกไปตักน้ำจากบ่อ แล้วเข็นกลับบ้าน หรือเวลาจะอาบน้ำ ก็ต้องไปอาบกันตรงนั้น เช่นเดียวกับหมู่บ้านอิสานสมัยก่อนนั่นแหละ
อากาศปลายมกรายังคงหนาวเย็น กลางคืนถ้าอยู่กลางแจ้งต้องผิงไฟ และถ้าอยู่ในบ้านก็ต้องห่มผ้าหลายชั้น ถึงจะนอนสบาย ยุงไม่มี และเงียบมากจนได้ยินเสียงหูตัวเอง คนจมูกดีอาจได้กลิ่นฟางข้าวในตอนกลางวัน
ดูจากสภาพภูมิศาสตร์แบบนี้ ไม่บอกก็รู้ว่าอาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนา ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สืบสายมาจากตระกูลไม่กี่ตระกูล
กลุ่มคนรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่บางคน ยังคงมีชีวิตอยู่ พวกเขาหนีแล้งมาจากอำเภอประทายเมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว โดยตอนแรกก็มารับจ้างตัดไม้ แล้วสุดท้ายก็ตัดสินใจปักฐานอยู่กันที่นี่กันเสียเลย อยู่ไปอยู่มาก็ออกลูก ออกหลาน ออกเหลน ลูกหลานก็แยกกันไปปลูกบ้านเป็นของตนๆ บ้างก็แต่งออกไปอยู่ที่อื่น แต่บ้างก็แต่งเข้า พาคนที่อื่นมาอยู่ในหมู่บ้าน เป็นอย่างนี้เรื่อยมา ตลอด 60 ปี ทำให้ชาวบ้านที่นี่ นอกจากจะมีความผูกพันกันสูงแล้ว ยังคิดอะไรคล้ายๆ กันอีกด้วย
ชาวบ้านที่นี่ บริหารความกลัวกันด้วยการพึ่งพิงผีสางผสมกับพระพุทธศาสนา พัวพันแบบนี้มาแต่บรรพบุรุษ สังเกตได้จากศาลเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้นั้น เพียบพร้อมไปด้วยตุ๊กตาม้าช้าง และเครื่องเซ่นเครื่องบนต่างๆ จำนวนมาก ยิ่งใกล้ฤดูทำนา ก็ต้องมีพิธีบวงสรวง ขอฝน แห่นางแมว และทำบุญบ้องไฟ ที่ถือเป็นอุบายอันแยบคายในการช่วยขจัดความกลัวในใจตัว (กลัวแล้ง ปลูกข้าวไม่ดี ไม่มีข้าวไว้กิน และสุดท้ายก็ขายข้าวไม่ได้) และเสริมความมั่นใจแบบหนึ่ง
ส่วนความสัมพันธ์กับพุทธศาสนานั้นย่อมต้องมีขนานกันไป กิจกรรมในวันพระและวันนักขัตฤกษ์ก็มีไม่ขาด หรือเมื่อต้องมีงานบุญ ก็ย่อมต้องเชิญพระสงฆ์องค์เจ้ามาสวดมาแหล่ และเมื่อสังเกตดูทุกบ้าน ก็เห็นมีหิ้งพระกันถ้วนหน้า
พูดแบบฝรั่ง ก็ต้องบอกว่า ทางด้านจิตวิญญาณ คนหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ ล้วน Fear God กันเป็นพื้นฐาน
ดังนั้น งานพิธีต่างๆ ทั้งเฉลิมฉลองและเศร้าโศก ที่จัดขึ้นในแต่ละช่วงแห่งชีวิตของแต่ละคน ตั้งแต่เกิดไปจนตาย (หรือแม้กระทั่งตายแล้วแต่ยังมีคนจัดงานเพื่อระลึกถึง) ย่อมต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอยู่ในโปรแกรมด้วยทางหนึ่งเสมอ
อย่างวันนี้ ก็เช่นกัน
ตั้งแต่ตีสี่มาแล้ว ที่เราได้ยินเสียงเพลงจากเครื่องขยายเสียงขนาด 500 วัตต์ เปล่งออกจากตับลำโพงกว่า 20 ตัว ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนร้านเหล็ก สูงกว่าหลังคาบ้านใดๆ ทั้งสิ้น ในหมู่บ้านนั้น จนดูเหมือนว่า คงไม่มีผู้ใดหลบเร้นเสียงเพลงที่แผดออกและทะลุทะลวงไปในทุกอณูของหมู่บ้านได้พ้น ทุกคนจึงรู้เป็นสัญญาณว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมารวมกันที่บ้านของอานนท์ มูลสระคู เพื่อร่วมงานบวชของน้องภรรยา ควบงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงพ่อแม่ภรรยาและลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่ล้วนล่วงลับไปนานแล้ว
งานวันนี้มีความสำคัญมากต่ออานนท์และครอบครัว เพราะนอกจากจะเป็นการบุญแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงอัครฐานในแบบของคนอิสานอีกด้วย
ความยิ่งใหญ่ของงานย่อมสะท้อนถึงหน้าตาของเจ้าภาพอย่างช่วยไม่ได้
จำนวนและชนิดของอาหาร เครื่องดื่ม กองบุญ แขกเหรื่อ เครื่องเสียง เครื่องไฟ เวที หมอลำ หางเครื่อง ตลอดจนจำนวนพระสงฆ์ที่รับนิมนต์มาเพื่อประกอบพิธีและเทศน์แหล่ ล้วนเป็นดัชนีบ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพโดยทางอ้อม
เหล้าขาว 150 ลัง เบียร์ 100 ลัง หมู 2 ตัว วัว 1 ตัว เครื่องไฟชุดใหญ่ครบชุด วงหมอลำซิ่งขนาดเล็ก หางเครื่อง 4 คน รถดนตรี 1 คัน พระสงฆ์ 3 รูป สำหรับเทศน์แหล่ ยังไม่นับน้ำแข็ง โซดา น้ำอัดลม ผัก ผลไม้ และค่าน้ำร้อนน้ำชา ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อานนท์ได้มาจากเงินที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบจากการทำงานในเมืองหลวงมาหลายปี เพื่อตระเตรียมไว้รองรับงานบุญที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
โปรแกรมทางด้านบุญ ดำเนินไปด้วยดี ตั้งแต่บวชนาค แห่ลูกแก้ว บวชพระ จนถึงเทศน์แหล่ ที่เป็นการเทศน์พุทธประวัติ ตอน “ปตาจยา” หญิงสาวผู้มีความกตัญญูอย่างเหลือล้น เล่นเอาลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ซับน้ำตากันอย่างไม่อาย
ทว่า ในขณะที่โปรแกรมทางด้านบุญดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด อีกด้านหนึ่งของหมู่บ้านก็กำลังตระเตรียมภารกิจที่จำเป็นต้องมีคนลงมือกระทำ พูดแบบฝรั่งอีก ก็ต้องว่าเป็น Necessary Evil
วัวขนาดกลางตัวหนึ่งกำลังถูกพาไปที่ท้องทุ่ง ใต้พุ่มไม้ ที่เจ้าของปลูกเถียงไว้พักผ่อนเวลาทำนา ค่อนข้างลับตาชาวบ้านส่วนใหญ่ที่กำลัง “อิน” กับ ปตาจยา
นายฮ้อย ผู้เป็นคนพาวัวมา เล่าให้ฟังว่า เขาเพิ่งเจอวัวตัวนี้เมื่อสองวันก่อนที่ตลาดนัดวัวควาย เห็นหน่วยก้านดี และราคาสมเหตุสมผล สอดคล้องกับข้อกำหนดที่เจ้าภาพออเดอร์ไว้ ก็เลย “จับ” มาด้วยราคาที่พอมีกำไรบ้างนิดหน่อย
ระหว่างนี้ เขาดูแลมันอย่างดี ให้หญ้าให้น้ำอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเราสังเกตอาการมัน ก็เห็นมันยืนเฉย เหมือนกับมันยังไม่ล่วงรู้เลยสักนิดว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง
ไกลลิบออกไปทางด้านหมู่บ้าน พวกเราเริ่มเห็นชายฉกรรจ์กว่า 10 คน มุ่งหน้ามาทางนี้ โดยบ้างก็หอบเสื่อ บ้างก็หอบถัง บ้างก็หอบกะละมัง หอบเข่ง ที่เหลือก็ช่วยกันแบกทางมะพร้าวมาด้วยจำนวนหนึ่ง
ในกลุ่มนั้น มีชายร่างเล็ก ผอมเกร็ง ถือมีด พร้า ค้อน ขวาน มาอย่างพะรุงพะรัง อานนท์กระซิบกับเราว่า เขาคือ เพชฌฆาต ประจำหมู่บ้าน รับงานทำนองนี้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น วัว หมู ไก่ หนู งู แมว กระต่าย หรือตัวอะไรก็ตามที่พอจะนำมาปรุงเป็นอาหารจานเด็ดได้ จรรยาบรรณของเขาคือ “ฆ่าด้วยมือที่ชำนาญ ไม่ให้เจ็บปวดทรมานโดยไม่จำเป็น”
เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เพชฌฆาตแต่ละคนย่อมมีวิธีการเป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าถูกฝึกฝนมาจากสำนักไหน โดยทั่วไปแล้ววิธีปฏิบัติที่มาตรฐานและเป็นที่นิยมสำหรับการ “ล้มวัว” คือการใช้ค้อนทุบลงไปที่หัว ให้เกิดความมึนหรือเกือบสลบ แล้วก็ฉวยโอกาสนั้น เชือดคอด้วยมีดปลายแหลม จนวัวถึงแก่ความตาย
ทว่า เพชฌฆาตนายนี้ มีวิธีปฏิบัติเป็นของตัวเอง คือก่อนที่จะเชือดคอและทำการแล่เนื้อเถือหนังนั้น เขาต้องใช้มีดปลายแหลมเล็กเรียว ยาวเกือบช่วงแขน แทงเข้าไปที่ชายโครงซ้าย เสียก่อน นัยว่าเพื่อให้ถูกอวัยวะสำคัญ และวัวจะ “ล้ม” ด้วยภาวะเลือดตกใน
พริบตานั้น เราเห็นเขาโผเข้าไปหาวัว เสียบมีดเข้าที่สีข้างแล้วก็ดึงออกอย่างรวดเร็ว เหมือนในภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่พระเอกชักกระบี่ออก ปาดข้ามหัวตัวเองรอบหนึ่ง แล้วก็เก็บกลับเข้าฝัก แต่แล้วศัตรูก็ทำหน้าบิดหน้าเบี้ยว ร่วงลงราวกับใบไม้ร่วง โดยเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบนั้น เกิดขึ้นเพียงในชั่วพริบตา
แผลที่สีข้างวัว เป็นจุดแดงเล็กนิดเดียว เหมือนเอาสีมาแต้มไว้ ถ้าไม่มีใครบอกให้รู้ก่อน เราก็คงคิดไม่ถึงว่าแผลขนาดนี้ มันจะเป็นเรื่องใหญ่โตถึงชีวิตได้
“เอาแหล้ว” ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ที่นั่นด้วย ให้สัญญาณกับทุกคนเป็นภาษาพื้นเมือง ว่าควรเตรียมพร้อมได้แล้ว
ระหว่างนั้น เราเห็นหลายคนหยิบมีดปลายแหลมในลักษณะเตรียมพร้อม บางคนเคลียร์พื้นที่ เอาทางมะพร้าวที่เตรียมมาปูซ้อนกันหลายชั้น บางคนก็เริ่มผสม “แจ่ว” คือน้ำจิ้มที่ประกอบด้วย “ผงนัว” พริกป่น มะนาว และน้ำปลา
อีกไม่กี่อึดใจ วัวตัวนั้นก็ล้มลง ผู้ช่วยเพชฌฆาตตีซ้ำด้วยค้อนลงไปที่หัวสองที ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงมือเชือดคอด้วยมีดอีกเล่มหนึ่ง วัวกรีดร้องออกมาเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็สิ้นใจ พลันในหัวผม ก็จินตนาการไปถึงหนังเรื่อง Silent of the Lamb ที่ตั้งชื่อตามลักษณะการตายแบบเดียวกันนี้
เป็นอันหมดหน้าที่เพชฌฆาตแต่เพียงนี้ ถึงเวลาที่คนอื่นจะต้องลงมือบ้างแล้ว
ในกระบวนการ “แล่เนื้อเถือหนัง” นั้น พวกเขายึดเป้าหมายเดียวกัน ว่าต้องให้ “เสียของ” น้อยที่สุด อวัยวะทุกชิ้นของวัว นอกจากอุจจาระที่อยู่ในท้อง ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น (อุจจาระที่อยู่ในไส้ ที่เรียกว่า “ขี้อ่อน” นั้น ถือเป็น “ของดี”)
เริ่มจาก “เลือด” ที่ต้องนำกะละมังไปรอง ไม่ให้หกเลอะเทอะเสียหาย จนหยดสุดท้าย
ร่างวัวไร้วิญญาณที่ถูกสูบเลือดออกจนเกือบหมดแล้ว ถูกนำมาวางบนเตียงทางมะพร้าว หันหน้าท้องขึ้น ขาชี้ฟ้า (เหมือนกับเตรียมการผ่าพิสูจน์ในกระบวนการ Autopsy) คนสี่คนที่จับขาทั้งสี่ เริ่มใช้มีดสั้นกรีดที่ปลายขาเป็นวงกลมเหมือนกับ “ควั่นอ้อย” แล้วก็กรีดสะพายแร่งเป็นทางยาวขึ้นมาถึงต้นขา เพื่อเปิดหนังออก แล้วก็บรรจงเลาะพังผืดด้วยความประณีต เพื่อไม่ให้หนังเสียหาย เลาะไปที่ละนิดจนได้หนังเป็นผืน ปูรองทับกับทางมะพร้าวอีกชั้นหนึ่งโดยอัตโนมัติ ส่วนคนที่ห้าและหกรับผิดชอบด้านอก หน้าท้อง และเครื่องใน
เขาลงมือกรีดหน้าท้องเป็นทางยาว เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้าถึงตับไตไส้พุง แล้วก็หันมาสนใจกับ “เนื้อยอดอก” ซึ่งถือเป็นส่วน Cream of the cream ในหมู่คนอิสานที่ชอบ “เปิบ” เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่วที่เพิ่งตักเลือดสดๆ และน้ำดีดิบมาผสมหมาดๆ ว่ากันว่า เนื้อส่วนนี้หวานกรอบ เคี้ยวแล้ว “กรุบๆ” ให้รสชาติต่างกับเนื้อวัวปรุงสุก อร่อยกว่าหลายเท่าตัว ทว่า พวกเราที่อยู่ที่นั่นด้วย ก็ใจไม่ถึงพอที่จะชิมกัน
ทุกคนล้วนชำนาญในการใช้มีด บางคนเคยทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กอยู่กับโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ มาแล้ว ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เนื้อส่วนต่างๆ ก็ถูกแล่ออกจนหมดสิ้น เหลือแต่ “เนื้อคาโครง” ที่ทุกคนรุมกินแกล้มเหล้าขาวกันแบบสดๆ
“ตับ” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นิยมกินกันสดๆ เพราะถือกันว่า รสชาติของมันจะอร่อยที่สุดตอนถูกตัดออกจากร่างวัวที่เพิ่งเสียชีวิต คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่เราไม่เคยได้เห็นเนื้อยอดอกกับตับเหลือรอดกลับไปที่หมู่บ้านอีกเลย แม้ตับวัวหนึ่งตัว จะมีปริมาตรไม่น้อยเลยก็ตามที
ผมพยายามข่มใจให้เป็นปกติ เพื่อจะได้ Observe กระบวนการทั้งหมดด้วยความเป็นกลาง และก็แปลกใจที่พบว่าบรรยากาศขณะนั้น มันสบายๆ ไม่มีอะไรให้เครียด ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้ว “การฆ่า” มันน่าจะแผ่รังสีอำมหิตมากกว่านี้ แต่นี่ผมกลับพบบรรยากาศการพูดคุยเล่น แล่ไปด้วยกินไปด้วย ดื่มไปด้วย สูบไปด้วย หัวเราะไปด้วย แซวไปด้วย....ราวกับเป็นกิจกรรมบันเทิงประเภทหนึ่ง
ผมอดนึกย้อนเปรียบเทียบไม่ได้ถึงความรู้สึกครั้งหนึ่ง ที่เคยเข้าไปในห้องผ่าตัดในฐานะ “พ่อ” ครั้งนั้น ผมเห็นหมอและพยาบาล พูดคุยหยอกล้อ และหัวเราะอยู่ตลอดเวลา จนการผ่าตัดเอาลูกของเราออกมาจากท้องแม่ของเขาสำเร็จ
ผมเลยรู้ว่า “การหัวเราะ” บางทีก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ และ “ความสามารถที่จะหัวเราะได้ หรือหัวเราะออก หรือหัวเราะเป็น” ในสถานการณ์คับขัน น่าอึดอัด และหมดหนทาง นั้น เป็น “พรประเสริฐ” ที่มนุษย์ได้รับมาเลยทีเดียว
มิน่าเล่า ปราชญ์ฝรั่งถึงยกย่องคนที่สามารถหัวเราะเยาะ หรือเย้ยหยัน ตัวเองได้ เพราะนั่นถือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญและมีสติมาก
ผมว่าคนอิสานที่ผมพบเจอ ล้วนมีคุณสมบัติข้อนี้เพียบพร้อม น่ายกย่อง (อันนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่นักจิตวิยาสมัยใหม่เรียกด้วยภาษายอดฮิตว่า “EQ”)
ผมมารู้สึกตัวอีกที ก็พบว่า เนื้อทุกส่วนถูกแยกแยะไว้เป็นหมวดหมู่แล้วในแต่ละเข่ง ทั้ง Chuck, Rib, Short Loin, Serloin, Tenderloin, Top Serloin, Button Serloin, Round, Brisket, Plate, Flank, Shank รวมทั้งเครื่องใน (Hormone) เลือด น้ำดี หนัง หัว และลิ้น
ตอนนั่งรถกลับมาจากทุ่งนาที่เป็นลานประหาร ผมสังเกตเห็นเนื้อที่โคนขาสีขาวโพลนกระตุกอย่างแรง หลายที อานนท์อธิบายว่า ตรงที่กระตุกนั้น ถ้าได้มีโอกาสเอามีดเฉือนออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจิ๋มแจ่วกินสดๆ แบบนั้น “จะเลิศมาก”
ค่ำวันนั้น ระหว่างหมอลำซิ่งบรรเลงอยู่บนเวทีพร้อมแสงสีเสียงและหางเครื่องนุ่งน้อยห่มน้อย แขกเหรื่อทุกคนก็กำลัง Busy อยู่กับอาหารเมนูหลัก ต้มเนื้อ ลาบ และเครื่องในทอด
ผมเองก็เพิ่งจะรู้ว่า อาหารที่ปรุงจากเนื้อสด ที่แล่จากวัวเพิ่งตาย จะให้รสชาติอร่อย แตกต่างกับเมนูเนื้อในกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง
ผมสงสัยอยู่อย่างเดียวว่า พรุ่งนี้เช้า หลังจากพระท่านประกอบพิธีสงฆ์แล้วเสร็จ จะมีเมนูเดียวกันนี้ถวายเป็นภัตราหารเพล ด้วยหรือเปล่า
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
(ขอขอบคุณ อานนท์ มูลสระคู ผู้ชักนำให้ได้เห็นการล้มวัวและพิธีทำบุญต่างๆ ตลอดจนให้สถานที่พักพิงตลอดหลายวัน)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2551
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น