วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ฮาราคีรียุคโลกานุวัตร


ข้อเขียนชุด "สังเกตญี่ปุ่น", Part I

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกผู้ชาย มักเป็น “เสือยิ้มยาก”

แม้จะพานพบเรื่องพึงใจ ก็ยากจะฉีกยิ้มให้คนอื่นเห็น

บ.ก. MBA คนปัจจุบัน เคยตั้งคำถามเอากับ สามีญี่ปุ่นของอดีต บ.ก. MBA คนหนึ่ง ว่า “ทำไมผู้ชายญี่ปุ่นถึงไม่ค่อยยิ้มเอาเสียเลย ?”

“เพราะถ้าเรายิ้ม คนก็จะมองว่าเราเป็นคนไม่ซีเรียส และคนที่ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะไม่มีทางก้าวหน้าในองค์กร” คำตอบของเขาถึงกับทำให้ทุกคนอึ้งไปชั่วขณะ

คำตอบนี้ สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน ว่าพวกเขาให้คุณค่ากับ “ความขยัน” และ “เอาจริงเอาจัง”

แน่นอน บริษัทที่พนักงานขยันและเอาจริงเอาจังกับงาน ย่อมพัฒนาก้าวหน้ากว่าบริษัทที่พนักงานขี้เกียจและเหลาะแหละ

ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน หากประชาชนขยันขันแข็ง ย่อมมีโอกาสจะเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศที่ประชาชนพลเมืองเอาแต่สรวนเสเฮฮา

นั่นหมายความว่า “ความขยันและเอาจริงเอาจัง” เป็นลักษณะนิสัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ หรือ Economic Value อย่างเห็นได้ชัด

คนงานญี่ปุ่นนั้น ทำงานกันหนัก แม้การสรวญเสเฮฮา หรือกินเหล้าเมายา ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย

ถ้าเดินเล่นในโตเกียวตอนดึก ก็มักจะเห็นอาคารสำนักงาน สว่างไสว เพราะพนักงานยังทำงานกันเป็นปรกติ ใครจะกลับบ้านก่อน ก็เกรงใจ ไม่กล้า ด้วยเหตุว่าหัวหน้างานหรือพนักงานที่อาวุโสกว่ายังนั่งทำงานกันอยู่ครบ

การทำงานล่วงเวลา จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่น แม้ประเทศญี่ปุ่นจะร่ำรวยและก้าวหน้ากว่าใครเพื่อนแล้ว แต่แทนที่จะได้พักผ่อน หรือให้รางวัลกับชีวิตกันบ้าง กลับยังก้มหน้าก้มตาทำงาน ยังกับสมัยแพ้สงครามใหม่ๆ ไม่มีผิดเพี้ยน

ว่ากันว่า คนวัยทำงานในญี่ปุ่นที่อยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ทำงานกันโดยเฉลี่ยเกินกว่าอาทิตย์ละ 60 ชั่วโมง เลยทีเดียว อันนี้ยังไม่นับเวลาที่ต้องไปอบรม สัมมนา ซึ่งอาจจัดกันในวันเสาร์-อาทิตย์

การทำงานล่วงเวลาในญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องของความเสียสละ ตามความเชื่อแบบบูชิโด ที่เน้นให้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

นั่นก็อธิบายได้อีกว่าทำไม Teamwork ของคนญี่ปุ่นถึงดีนักดีหนา มีคนเปรยว่า ถ้าให้แข่งตัวต่อตัวแล้ว คนไทยไม่แพ้คนญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่กันเป็นทีมแล้ว เราแพ้เขาแน่นอน

องค์กรญี่ปุ่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินพิเศษให้กับพนักงานที่อยู่ล่วงเวลา เพราะเป็นเรื่องของความเสียสละ แต่มีหน้าที่ต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบตลอดไป จนกว่าพนักงานจะเกษียณ

Life-time Employment จึงสมเหตุสมผล ในวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่น

แต่คนก็คือคน ไม่ใช่เครื่องจักร

ใช้งานกันหนักเกินไปขนาดนี้ ย่อมต้องบาดเจ็บล้มตาย กันบ้างเป็นธรรมดา

เดือดร้อนถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการเรื่องทำนองนี้ และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศเดียวที่รัฐบาลรับรองว่า “การทำงานเกินกำลัง” (Overworked) เป็นสาเหตุการตายประเภทหนึ่ง ตามกฎหมาย

หลายปีมาแล้วที่ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดช่องให้ญาติพี่น้องของ “คนที่ตายเพราะทำงานหนักเกินกำลัง” (ญี่ปุ่นเรียกว่า “คาโรชิ”) ยื่นคำร้องต่อศาลให้รับพิจารณา และถ้าศาลเห็นว่าเข้าข่าย รัฐบาลก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับญาติพี่น้อง เทียบเท่าปีละ 700,000 บาทโดยประมาณ และอาจได้จากบริษัทอีกก้อนใหญ่ ซึ่งบางกรณีก็อาจได้ถึง 33 ล้านบาท เลยทีเดียว

คำร้องลักษณะนี้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ก็โดนมาแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เอง

กรณีของโตโยต้า ทำให้พวกปัญญาชนฝรั่งที่หมั่นไส้ญี่ปุ่นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงกับออกมาเรียกร้องให้ กิจการของญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงานที่ต้องทำงานเกินเวลา

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อาจทำให้ระบบคุณค่าของญี่ปุ่นกลับตาลปัตรได้ เพราะระบบที่เคยเกื้อกูลกันระหว่างส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและ Work Ethics ที่ช่วยหนุนส่งให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลาอันรวดเร็ว จะกลายเป็นระบบ “หมูไปไก่มา” หรือ “ยื่นหมูยื่นแมว” แบบฝรั่ง ที่อาจทำลายคุณค่าสำคัญที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นอยู่กันได้อย่างสันติมายาวนาน นั่นคือ “ความสามัคคี” หรือ “ความสมานฉันท์”

อันที่จริง คนงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เขาก็ไม่ได้คิดมากอะไร ที่เขาต้องทำงานกันหนักและไม่ได้เงินค่าล่วงเวลา

ชนชั้นนักรบ หรือซามูไร ในอดีต มักมีวิธีตายอย่างสมเกียรติในแบบของตัวเอง ที่เรียกว่า “ฮาราคีรี”

คนงานญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็ไม่ต่างจากซามูไรในอดีต เพราะพวกเขาล้วนมีสังกัดเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ มีสนามรบเป็นตลาดโลก และมีศัตรูที่เป็นกิจการต่างชาติ เพียงแต่เปลี่ยนจากสมรภูมิรบจริงมาเป็นสมรภูมิการค้า

ที่เคยไปทิ้งระเบิดเพิลร์ ฮาร์เบอร์ เดี๋ยวนี้ก็เข้าซื้อตึกเอ็มไพร์เสตท หรือเข้าตีตลาดอเมริกา จนผู้ผลิตอเมริกันต้องล้มหายตายจากกันไปในหลายอุตสาหกรรม

ในแง่นี้ พวกเขาก็ไม่ได้ต่างอะไร กับกองทัพญี่ปุ่นในอดีต เลยแม้แต่น้อย

แล้วทำไม พวกเขาจะเลือกวิธีตาย ที่สมเกียรติบ้าง ไม่ได้เชียวหรือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ธันวาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น