“In the late summer of that year, we lived in a house in a village that looked across the river and plain to the mountains. In the bed of the river there were pebbles and boulders, dry and white in the sun, and the water was clear and swiftly moving and blue in the channels. Troops went by the house and down the road and the dust they raised powdered the leaves of the trees. The trunk of the trees too were dusty and the leaves fell early that year and we saw the troops marching along the road and the dust rising and leaves, stirred by the breeze, falling and the soldiers marching and afterward the road bare and white except for the leaves.
The plain was rich with crops; there were many orchards of fruit trees and beyond the plain the mountain were brown and bare. There was fighting in the mountains and at night we could see flashes from the artillery. In the dark it was like summer lightning, but the nights were cool and there was not the feeling of a storm coming.”
นั่นเป็นสองย่อหน้าแรก ของนวนิยายอเมริกันเรื่องสำคัญ A Farewell to Arms ของ Earnest Hemingway ที่นักอ่าน นักเขียน นักวิจารณ์ และนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง ตลอดจนนักภาษาศาสตร์และผู้ที่ต้องการเอาดีทางด้านเขียนหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วน พากัน อ่าน ชำแหละ แยกแยะ วิเคราะห์ วิพากษ์ นำไปบรรจุเป็นบทเรียนในชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย......อ่านซ้ำรอบสอง รอบสาม รอบสี่ รอบห้า และอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนั้น เขียนเสร็จเมื่อ 90 ปีมาแล้ว
สไตล์การเขียนแบบนี้แหละที่ “โดนใจ” คนอ่านและนักเขียนรุ่นหลังจำนวนมาก จน Hemingway แทบจะกลายเป็นเสมือนเจ้าลัทธิที่มีสาวกจำนวนมากทั่วโลก ที่คอยจำเริญรอยตาม “ปฏิปทา” ของเขา ทั้งในแง่การเขียน การพูด ทัศนะต่อโลกและชีวิต รสนิยมการใช้ชีวิต ตลอดจนสไตล์การดำเนินชีวิตประจำวัน ที่เต็มไปด้วยความโลดโผนโจนทะยานแบบลูกผู้ชาย ยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ ร่องเรือ โต้คลื่น สู้วัว และกิน เที่ยว ดื่ม แบบค่อนข้างจะ “หัวราน้ำ” (หนังสือ A Farewell to Arms ฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นของเขามีค่าถึง 5,877 เหรียญสหรัฐฯ บน www.ebay.com เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา)
สไตล์การเขียนของ Hemingway ห้วน สั้น กระชับ เน้นผูกรูปประโยคแบบพื้นฐาน “ประธาน-กิริยา-กรรม” คำขยายน้อย บางทีก็ตั้งใจละไว้ให้เข้าใจหรือรู้สึกเอาเอง ถ้าเปรียบเป็นหนัง ก็เป็นหนัง Action ที่การเดินเรื่องรวดเร็ว เข้าใจง่าย ใครที่เคยอ่านชิ้นงานข่าวของเขา (เช่นใน By-Line) ย่อมเห็นว่ามันกระชับมาก แต่ก็ครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วน ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เขาเคยเขียนโทรเลขถึง Lincoln Steffens ว่า “Steffens อ่านโทรเลขสิ มันไม่มีไขมัน ไม่มีคุณศัพท์ ไม่มีวิเศษณ์ มีแต่เลือด กระดูก และกล้ามเนื้อ…..มันเป็นภาษาแบบใหม่” (“Steffens, look at this cable: no fat, no adjectives, no adverbs – nothing but blood and bones and muscle…..It’s a new language”)
ก่อนจะดัง Hemingway ชอบแต่งบทกวีมาก เขาเลียนแบบ Ezra Pound ที่ต้องสรรหาคำที่ “ใช่” โดยหลีกเลี่ยงคำขยาย เขาว่า “งานเขียนคือโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มิใช่การตกแต่งภายใน หมดยุคบารอคแล้ว” (Prose is architecture, not interior decoration, and the Baroque is over” )
สไตล์ที่ Hemingway เขียน เป็นการก่อเกิดวิธีเขียนแบบใหม่ในภาษาอังกฤษ ผมอยากจะยกตัวอย่างประโยคหนึ่งจาก A Movable Feast ที่เขาบรรยายช่วงท้ายของการซ้อมมวยระหว่างเขากับ Ezra Pound ภาษาอังกฤษที่ใช้นั้นห้วนกระชับ และเดินเรื่องรวดเร็ว ครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่ชกจนเลิกได้ภายในประโยคเดียว ราวกับหนัง Action ของ Arnold Schwarzenegger ยังไงยังงั้น
เขาเขียนว่า “ผมไม่ได้ตอบโต้เลย เพียงแต่ต้อนให้เอสรายักย้ายตามผม ยกการ์ดซ้ายและแย๊บขวาบ้าง แล้วก็พูดว่าพอเถอะ แล้วกินน้ำกินท่า เอาเหยือกราดหัว เช็ดด้วยผ้าเช็ดตัว แล้วก็คลุมด้วยเสื้อคลุม” (“I never countered but kept Ezra moving after me and sticking out his left hand and throwing a few right hands and then said we were through and washed down with a pitcher of water and toweled off and put on my sweatshirt.”)
หรืออีกประโยคหนึ่งจากหนังสือเล่มเดียวกันว่า “บนเขาสูงเหนือราวป่า ผมจำได้ว่ากำลังตามจิ้งจอกภูเขา จนเข้าใกล้ขนาดมองเห็นว่ามันกำลังยืนยกขาหน้าขวาของมัน แล้วก็ย่องเข้าไปอย่างระมัดระวัง พอหยุดมันก็ตะครุบ ไก่ป่าสีขาวดิ้นรนกระเสือกกระสน ขนปลิวว่อน แต่ก็หลุดบินขึ้นจากหิมะไปบนสันเขาได้สำเร็จ” (“In the high mountains above the tree line I remember following the track of a fox until I came in sight of him and watching him stand with his right forefoot raised and then go carefully to stop and then pounce, and the whiteness and the clutter of a ptarmigan bursting out of the snow and flying away and over the ridge.”)
Hemingway ถือหลัก “Pass-through” คือเมื่อตัวเอง “เห็น” และ “รู้สึก” อย่างไร ก็เขียนให้คนอ่าน “เห็น” และ “รู้สึก” เช่นนั้นด้วย นั่นต้องเกิดจากการสำรวจจิตใจตัว และเลือกสรรคำที่แสดงความรู้สึกจากประสบการณ์ทางอารมณ์นั้นๆ ถ้าให้ดีก็ต้องเป็นคำที่อ่านแล้ว “เห็นภาพพจน์ชัดเจน” ในคำๆ เดียว ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่ถ้าคำแบบนั้นไม่มี ก็ต้องหาคำที่ใกล้เคียงที่สุด หรือหาคำอื่นมาประกอบ แล้วค่อยบรรจงถ่ายทอดออกมาผ่านภาษาเขียน ที่บรรจงผูกร้อยขึ้นเป็นคำ เป็นวลี เป็นประโยค เป็นหลายประโยค กระทั่งเป็นย่อหน้า และหลายย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพในหัวหรือในจินตนาการ เหมือนกำลังดูภาพเขียนหรือดูภาพยนตร์ เขาเขียนหนังสือเหมือนกำลังวาดฉากและเหตุการณ์ให้เราดู ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็ว่า มันคืองาน Illustration นั่นเอง
เขาเคยให้ความเห็นต่อหลักการเขียนแบบนี้ว่า “จงหาว่าอะไรที่ทำให้คุณสะเทือนอารมณ์ เหตุการณ์ที่ทำให้คุณตื่นเต้น แล้วลงมือเขียนให้ชัด ให้มั่นใจว่าคนอ่านเขาสามารถเห็นและรู้สึกอารมณ์เดียวกันนั้นได้ ประหนึ่งว่าเป็นตัวคุณเอง” (“fine what gave you the emotion; what the action was that gave you the excitement .Then write it down making it clear so the readers can see it too and have the same feeling that you had.”) หรือ “หนังสือดีทั้งหมดคล้ายกัน มันจะเป็นจริงยิ่งกว่าที่มันเกิดขึ้น เมื่ออ่านหนังสือดีจบ คุณจะรู้สึกคล้ายกับมันเกิดขึ้นกับตัวคุณ สิ่งดี สิ่งเลว ความสุข ความเศร้า ความทุกข์ ผู้คนและสถานที่ สภาพดินฟ้าอากาศ” (หมายเหตุ-วรรคหลังนี้ ผมอ้างจากคำแปลของพิมาน แจ่มจรัส ใน “ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว” เลยไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ)
เขาไม่เชื่อว่าการเขียนหนังสือจะสอนกันได้ มันต้องเรียนรู้ก็ด้วยการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงและเนิ่นนาน จากข้อเขียนของเขาและปากคำของคนรอบข้าง เราพบว่า Hemingway ตื่นขึ้นมาก็เขียนหนังสือเลย และเขียนวันละหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่จะพักตอนบ่ายโมง แล้วกลับมาเขียนอีกในตอนกลางคืน เขาเป็นคนพิถีพิถัน เขามักตรวจแก้หลายรอบกว่าจะพอใจ เขาว่าวิธีการของเขาอุปมา “เหมือนกับมองดูอะไรบางอย่างด้วยตาของท่าน เช่นมองดูฝั่งทะเล แล้วมองดูอีกครั้งด้วยกล้องขยาย หรืออีกวิธีหนึ่งมองดูมัน และเข้าไปอยู่ภายในมัน จากนั้นก็ออกมาแล้วมองดูอีกครั้ง”
งานเขียนของ Hemingway ได้รับการยกย่องอย่างมาก ถือกันว่าเป็นงานประเภท Breakthrough ของโลกวรรณกรรม ชนิดที่ถ้าลบผลงานเขาออก ประวัติศาสตร์ของวงวรรณกรรมโลกจะไม่สมบูรณ์เลยทีเดียว ทั้งยังเป็นแม่แบบให้นักเขียนรุ่นหลังได้เลียนแบบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ งานเขียนอย่าง The Sun Also Rises, A Farewell to Arms, For Whom the Bell Tolls, หรือ The Old Man and the Sea นั้น ย่อมเป็นงานศิลปะที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และทักษะสูงมาก หนังสือประเภท Creative Writing ทุกเล่มที่สอนการเขียนภาษาอังกฤษแบบสร้างสรรค์และมีสไตล์ ย่อมต้องคัดเอาประโยคหรือย่อหน้าของเขาไปเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ ไม่มากก็น้อย
สมัยที่ผมเริ่มเข้าวงการหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ จำได้ว่าวันหนึ่ง หลังกลับจากลี้ภัยรัฐประหารในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก พันศักดิ์ วิญญรัตน์ มาบรรยายให้ฟังถึงวิธีการเขียน Non-Fiction Writing และได้มอบหนังสือเล่มหนึ่งของศาสตราจารย์ทางด้านภาษาศาสตร์และสื่อสารมวลชนคนสำคัญของอเมริกาไว้ให้ ในนั้น ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างงานเขียนของ Hemingway จำนวนมาก ที่ได้รับการอ้างอิง ชำแหละ และวิเคราะห์ ด้วยความยกย่อง
The Creative Mind
MBA เราสนใจ “กระบวนคิด” ของนักคิด นักสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดทั้งหลายของโลก (Creators) ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือนักบริหารที่สร้างสรรค์ธุรกิจจนแผ่กิ่งก้านสาขาให้ผู้คนจำนวนมากได้อาศัยร่มเงา ไปจนถึงรัฐบุรุษ นักปราชญ์ราชบัณฑิต และบรรดาศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ ให้ไว้เป็นมรดกสำหรับชนรุ่นหลัง
เรามักถามคำถามเสมอว่า พวกเขา “คิดออก” ได้อย่างไร ทำไมความคิดพวกเขาถึง “บิน” ไปได้ ผลงานของพวกเขาจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคสมัยหรือที่เคยมีมาก่อน นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มันมาได้อย่างไร พวกเขาเรียนรู้อะไรกัน เรียนรู้อย่างไร ฝึกทักษะกันแบบไหน นิสัยหรือสิ่งแวดล้อมแบบใดบ้างที่พึงปรารถนาต่อการงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ในบุคคลนั้น เวลาพวกเขามีทุกข์ พวกเขาจัดการตัวเองให้ออกจากสภาวะทุกข์นั้นๆ หรือให้พ้นทุกข์ไปได้อย่างไร การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร มีนิสัยที่น่ายกย่องและน่ารังเกียจบ้างไหม พวกเขาปฏิบัติต่อคนรอบข้าง เช่นเพื่อนฝูงหรือครอบครัว อย่างไร ฯลฯ
ในกรณีของ Hemingway ผมพบว่า เขาเป็นคนมีครบองค์อิทธิบาท 4 โดยเฉพาะกับสองคุณสมบัติแรก เขามีฉันทะแรงกล้า คิดและใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน อยากเห็นโลกกว้าง อยากมีชื่อเสียงตั้งแต่ยังเด็ก เขาตั้งใจ วางเข็มมุ่ง มีวินัย รับผิดชอบสูง และขยันขันแข็งอย่างยิ่ง แม้เขาจะเรียนไม่สูง แต่ก็ Self-taught อย่างหนัก ช่วงก่อนที่จะดัง เขาแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองแทบจะตลอดเวลา เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก จดบันทึก วิเคราะห์ ถกเถียง หัดเขียน และเข้าหานักเขียนเก่งๆ เขาไม่ละเลยที่จะเรียนรู้แบบ “ครู พัก ลัก จำ” โดยเฉพาะกับ Ezra Pound และ James Joyce
ช่วง Formative Years ของเขาในฐานะนักเขียน เป็นช่วงที่เขาอยู่ปารีส ช่วงนั้นเขาอ่านงานวรรณกรรมอย่างหนักหน่วง (แม้จะยังไม่มีเงินพอซื้อหนังสือ ก็อาศัยเช่าอ่านจากร้าน Shakespeare & Co.) เขาศึกษาวรรณกรรมคลาสสิกของอังกฤษแทบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ Rudyard Kipling, Joseph Conrad, และ Shakespeare เขาอ่านทุกเรื่องอย่างละเอียด (และอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดชีวิตเขา) นอกนั้นก็ยังศึกษางานเขียนของ Stendhal (นามปากกาของ Marie-Henri Beyle), Gustave Flaubert, Henore’ de Balzac, Guy de Maupassant, Emile Zola, Leo Tolstoy, Ivan Turgenev, Fyodor Dostoyevsky, Henry James, Mark Twain, Stephen Crane, Joseph Conrad, T.S. Eliot, Gertrude Stein, D.H. Lawrence, Ezra Pound, Maxwell Anderson, และ James Joyce (เขายอมรับว่าสไตล์ของตัวเองตกผลึกมาจากสไตล์ของ Kipling และ Joyce) เขาศึกษาแม้กระทั่งงานเขียนของนักเขียนชั้นรองอย่าง Hugh Walpole, George Moore, Sherwood Anderson, Simenons, และ Frederick Marryat
ชีวิตของ Hemingway มีสีสัน น่าศึกษา ทั้งในแง่ที่เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง และในแง่ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชั้นสูง งานเขียนของเขาเรียกร้องให้มนุษย์กล้าหาญ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ยึดมั่นในความสัตย์ ความจริง ความเข้มแข็ง ความทรหด ไม่สะท้านสะเทือน ความสง่างาม ความสูงส่ง เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรี ฯลฯ ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง นิสัยส่วนตัวบางอย่างและการปฏิบัติต่อคนรอบข้างของเขา บางทีก็ไม่ยักกะเป็นอย่างที่เขียนในนวนิยายและความเรียงจำนวนมากนั้น
เขาเกิดเมื่อปี ๒๔๔๒ ราวปลายรัชกาลที่ ๕ ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน บ้านอยู่แถว Oak Park ใกล้เมืองชิคาโก พ่อเป็นหมอ ชอบตกปลา ล่าสัตว์ ยิงปืน เที่ยวป่า ร่องเรือ และเล่นกีฬา แม่ก็เป็นคนฉลาด มีการศึกษา เรียนจากสถาบันศิลปะที่นิวยอร์ก ชอบอ่านหนังสือ วาดรูป ออกแบบเครื่องเรือน สร้างบ้านและตกแต่งภายในเอง เขียนหนังสือสำนวนดี ร้องเพลงเก่ง เล่นดนตรีได้หลายชนิด แถมแต่งเพลงเองจำนวนมาก Hemingway เป็นลูกชายคนโต เลยได้รับถ่ายทอดความสามารถพิเศษบรรดามีของพ่อแม่มาแต่เล็ก เขาอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน เขาอ่านหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย อ่านผลงานวรรณกรรมแนวผจญภัยของ Rudyard Kipling จบทุกเล่มเมื่อยังเด็ก และชอบชีวิตกลางแจ้งเหมือนพ่อ แถมปู่กับตา ก็เคยไปรบสมัยสงครามกลางเมือง ทั้งคู่ชอบเล่าเรื่องสงครามและวีรบุรุษสงคราม ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อ Hemingway ให้สนใจสงครามด้วยเช่นกัน
เขาเรียนหนังสือเก่ง คะแนนวิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” เขาสนใจการเขียนตั้งแต่เด็ก พอมัธยมก็ร่วมทำหนังสือพิมพ์โรงเรียน ต่อมาก็ได้เป็นบรรณาธิการ ระยะนี้เขาเขียนเรื่องสั้นจำนวนมาก แม่เขาบังคับให้เล่นเชลโล่ แต่พ่อให้ชกมวย เขาชอบอย่างหลัง พอจบมัธยมปลายก็เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Kansas City Star ช่วงนี้สไตล์การเขียนของเขาพัฒนารุดหน้าไปมาก เขาถูกฝึกให้เขียน สั้น-ห้วน-กระชับ-ง่ายๆ-ธรรมดา
ต่อมาเมื่อมีชื่อเสียงแล้ว เขารับว่าความรู้และทักษะเรื่องการเขียนของตัวเองพัฒนาก้าวกระโดดขึ้นมากในช่วงนี้เอง เขาว่าคู่มือการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นดีมาก (เรียกว่า “110 Rules—does and doesn’t”) ช่วยให้เขาพัฒนาสไตล์ของตัวเองขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา
ในเชิงปัญญา เขาก็เหมือนกับปัญญาชนฝรั่งส่วนใหญ่ที่เมื่อโตขึ้นก็เริ่มปฏิเสธพระเจ้า หันมายึดมั่นกับความคิดตัวเอง ยึดเอาคุณธรรมประจำใจเป็นตัวนำทางชีวิตแทนพระคัมภีร์ ทั้งๆ ที่พ่อแม่เขาเคร่งศาสนา ทัศนะต่อชีวิตแบบไม่มีพระเจ้ากับทักษะการเขียนภาษาอังกฤษแบบใหม่นี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญของนวนิยายที่เขาเขียน ทำให้งานเขียนของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนถือกันว่าเป็นงานระดับ Breakthrough ดังได้กล่าวมาแล้ว
อีกแง่หนึ่ง เขาก็เหมือนหนุ่มอเมริกัน ที่มีความทะเยอทะยาน อยากมีชื่อเสียง ประกอบกับความกระสันอยากผจญภัยไปในโลกกว้างและความฝังใจต่อเรื่องสงคราม เขาจึงตัดสินใจไม่เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่กลับสมัครเข้าเป็นทหาร เพื่อไปรบในยุโรป ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งแรก เขาได้อยู่ประจำหน่วยรถพยาบาลของกาชาดสากล เพราะสายตาสั้น
Hemingway ได้ประจำการที่แนวรบอิตาลีเหนือ แถบเทือกเขา Alp ที่เรียกว่า Dolomite ถือเป็นแนวหน้าที่อันตราย ทั้งหนาว ทั้งสูงชัน เป็นแนวที่อิตาลียันกองทัพออสเตรีย ใครที่เคยไปเที่ยวแถวนั้น จะต้องขึ้นไปบนเขา เที่ยวดูอุโมงค์สำหรับการยุทธ์ที่ขุดไว้เต็มไปหมดเพื่อเตือนใจถึงความโหดร้ายของสงคราม สมัยโน้น Hemingway ได้รับบาดเจ็บที่ขา และมีสัมพันธ์รักกับพยาบาล ต่อมาก็ได้รับเหรียญกล้าหาญ ช่วงนี้เขาเริ่มดื่มจัด ประสบการณ์ช่วงนี้แหละ ที่ต่อมาเขาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเรื่อง A Farewell to Arms (อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลเป็นไทยชื่อ “รักระหว่างรบ”) ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดของเขา ทั้งพล็อต ฉาก สถานที่ ตัวละคร การดำเนินเรื่อง และบทสนทนา ล้วนมาจากความทรงจำของชีวิตช่วงนี้เอง
เมื่อหายดี เขากลับอเมริกา แต่งงาน แล้วก็ย้ายมาปารีส
Hemingway เริ่มชีวิตนักเขียนหนุ่มในปารีสราวปี ๒๔๖๔ (ร่วมสมัยกับที่บรรดานักปฏิวัติคนสำคัญของไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในปารีสขณะนั้น) โดยมีงานหลักเป็นนักข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เขาคลุกคลีอยู่กับบรรดานักเขียน ศิลปิน กวี และปัญญาชน แถบ Left Bank เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้น โดยอาศัยร้านกาแฟและภัตตราคารต่างๆ เป็นประจำ เขาทำงานหนัก มีวินัยสูง ถ้าอ่านบันทึกประจำวันช่วงนี้ของเขา ประกอบกับ A Moveable Feast (ดวงวิภา สามโกเศศ เคยแปลเป็นไทยชื่อ “ชีวิตไม่จีรัง”) ก็จะรู้ว่าเขาทำงานอย่างมีวินัย ควบคุมตัวเอง ค้นคว้า และพยายามคิดค้นอย่างหนัก เพื่อหาสไตล์ของตัวเอง บางประโยคเขาเขียนแล้วเขียนอีก ขีดฆ่าและปีกกาแทรกคำหรือวลีเพิ่มจำนวนมาก บางครั้งเขาก็สารภาพว่ากว่าจะเขียนได้สักย่อหน้าหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาทั้งวัน ผมว่าบันทึกและหนังสือเล่มนั้น รวมทั้งคำแนะนำในการเขียน ที่เขาเปิดเผยในภายหลัง ทั้งใน The Green Hills of Africa, Death in the Afternoon, และ By-line ล้วนเป็นประโยชน์มาก น่าที่นักเขียนหรือนักข่าวรุ่นหลัง ควรมีไว้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
Ezra Pound กวีอเมริกันคนสำคัญ เป็นคนตามีแวว ทำนายตั้งแต่ตอนนั้นว่า Hemingway จะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ Pound แนะนำให้ Hemingway เข้าทำงานกับ Ford Madox Ford ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการของนิตยสาร Transatlantic Review ที่ถือเป็นนิตยสารแนว Avant-garde ในขณะนั้น เขาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ศิลปินในฐานะนักเขียนและกวีหน้าใหม่ผู้เปี่ยมความสามารถ และเป็นเจ้าของงานเขียนที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่าง สร้างสรรค์ แบบไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร (Originality)
กระนั้นก็ตาม คนในวงกว้างก็ยังไม่รู้จักเขา ผลงานชิ้นแรก Three Stories and Ten Poems ยังต้องพิมพ์ในปารีส เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ยังไม่สนใจ อีกทั้งนักวิจารณ์จากนิตยสารหัวหลักก็ยังไม่ได้เหลียวแลที่จะวิจารณ์หนังสือเล่มนี้กันเลย ว่ากันว่าเรื่องสั้นชั้นยอดของเขาในช่วงนี้คือ The Undefeated
งานเขียนของ Hemingway กลายเป็นความสดใหม่ที่ทะลุกลางปล้องและโดดเด่นออกมาจากบรรดาความเรียงภาษาอังกฤษในขณะนั้น นอกจากสไตล์ที่เรียบง่าย “ห้วน-สั้น-กระชับ” แบบฉายภาพให้เห็นในหัวหรือจินตนาการของคนอ่าน ด้วยการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว ฉับๆ ๆ ๆ ๆ ดังที่ได้อธิบายแล้ว มันยังแฝงไว้ด้วย “แม่แบบชีวิต” หรือ “ค่านิยม” หรือ “คุณค่าทางจริยธรรม” อย่างใหม่ ที่เขาตั้งใจวางแบบไว้ให้เป็น “ต้นแบบ” ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกด้วย
ตัวเขาเอง ก็พยายามที่จะนำพาชีวิตให้ดำเนินไปตามครรลองที่เขาวางแบบไว้ในข้อเขียนและนวนิยายของเขาเองด้วย มันเป็นระบบการดำเนินชีวิต และการยึดถือคุณค่าบางอย่างในชีวิต ที่ไม่มีพระเจ้า แต่ยึดเอาความจริง ความสูงส่ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความกล้า ความแกร่ง ความเข้มแข็ง ความขยัน ความแข็งแรง ความเปี่ยมพลังชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนักสร้าง นักทำ นักปฏิบัติ นักล่า ผู้ครอบครอง และผู้ชนะ ฯลฯ แต่ทว่าตรงไปตรงมา เยือกเย็น ข่มใจ และอ่อนน้อมถ่อมตน....นั่นเป็นสไตล์
มันเป็นชีวิตที่ “Noble”
ทุกการกระทำของมนุษย์ในสายตา Hemingway ล้วนแฝงไว้ด้วย “ระบบคุณค่า” และ “การตัดสินคุณค่า” เพราะมันมีทั้งวิธีการปฏิบัติที่ถูกและผิดวิธี แม้แต่การดื่มไวน์ที่ผมอยากจะยกมาเป็นตัวอย่าง ดังที่เคยกล่าวไว้ใน A Moveable Feast ว่า “ในยุโรปสมัยโน้น เราถือว่าไวน์เป็นอะไรที่ดีต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับอาหาร ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น มันยังเป็นตัวหยิบยื่นความสุข ความสำราญ และความแจ่มใสอย่างยิ่ง ให้เราอีกด้วย การดื่มไวน์ ไม่ได้เป็นเรื่องโก้เก๋ หรือเป็นเรื่องทันสมัย หรือเป็นลัทธิอะไรเลย มันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง เหมือนกับการกินอาหารนั่นแหละ และสำหรับผมแล้ว มันจำเป็นมาก ผมไม่เคยคิดว่าต้องกินอาหารโดยไม่มีไวน์ หรือไซเดอร์ หรือเบียร์ คอยแกล้ม มาก่อนเลย” (“In Europe then we thought of wine as something as healthy and normal as food and also as a great giver of happiness and well being and delight. Drinking wine was not snobbish nor a sign of sophistication nor a cult; it was as natural as eating and to me as necessary, and I would not have thought of eating a meal without drinking either wine or cider or beer.”)
นั่นจึงทำให้ Hemingway แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนักเขียนคนอื่น เพราะข้อเขียนของเขาเป็นดั่งคัมภีร์ชีวิต ที่แม้แต่ตัวเองก็พยายามจะยึดถือไว้ด้วยในโลกที่ไม่ใช่นิยาย ด้านหนึ่งมันคล้ายกับลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ต่างโดยสิ้นเชิง เพราะเขาชิงชังรังเกียจการเทศนาสั่งสอนคนอ่าน และปฏิเสธวิธีเขียนแบบนั้นโดยสิ้นเชิง
Self-image หรือ “ยี่ห้อ” ที่เขาสร้างขึ้นชั่วชีวิต คู่ขนานกันไปกับงานเขียนของเขา ก็สอดคล้องกับระบบคุณค่าอันนั้นด้วย เรามักนึกถึง Hemingway ในฐานะ “A man of Action” กับชุดซาฟารี กับสัตว์หรือปลาที่ล่ามาได้ กับคู่ต่อสู้บนสังเวียนชกมวย กับการสกีจากยอดเขาสูง กับปืนและรังลูกกระสุนพาดบ่า กับเหล้า กับบุหรี่ กับการสู้วัวกระทิง และกับสงคราม เหมือนกับบรรดาตัวเอกในงานเขียนของเขา
เขาทำให้ชีวิตแบบ Action หรือชีวิตกลางแจ้ง กลายเป็นกิจกรรมที่มีเกียรติ์หรือ “Noble” ทั้ง “นอกจอ” และ “ในจอ”
แน่นอน สาวกของ Hemingway ย่อมมีอยู่ทั่วโลก ผมคิดเอาเองว่า ช่วงหนึ่ง งานเขียนของนักเขียนใหญ่ของเราที่มีความสามารถสูงมากอย่าง เสกสรร ประเสริฐกุล ก็เคยได้รับอิทธิพลจาก Hemingway อย่างมาก แม้คนอย่างเสกสรร ถ้าไม่เห็นความจริงด้วยการตริตรองของตัวเองหรือประจักษ์ด้วยตัวเองแล้ว ก็ยากที่จะชักจูงเขาได้ง่ายๆ ที่ว่านี้ ไม่ได้บอกว่าตัวเสกสรรเป็นสาวกของ Hemingway นะครับ อย่าเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์และผู้เขียนชีวประวัติเขายุคหลัง มักมีหลักฐานจับผิดหาว่าเรื่องบางอย่างที่เขาเขียนเกี่ยวกับตัวเขาและคนอื่น เป็นเรื่องโกหก หรือไม่ก็กุขึ้น ทำให้เรื่องจริงหลายเรื่องถูกลดทอนความน่าเชื่อถือไปด้วย ดังตัวอย่างเรื่องสายตาสั้นแล้วอดอยู่หน่วยรบ เรื่องผู้หญิงซิซิเลี่ยนที่กักเขาไว้เพื่อให้บำเรอเธอกว่าอาทิตย์ เรื่องหยุดม้าด้วยมือเปล่าเมื่ออายุห้าขวบ เรื่องที่เขาเคยหมั้นหมายกับนักแสดง Mae Marsh เรื่องน้องสาวคนหนึ่งของเขาถูกข่มขืน เรื่องโอ่เพื่อนตอนอายุ 18 ว่าตกปลาได้ทั้งๆ ซื้อปลาตัวนั้นมาจากตลาด เรื่องเคยจมูกหักตอนชกมวยครั้งหนึ่ง ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับแม่ เมีย และบรรดาเพื่อนนักเขียนของเขา เป็นต้น ฯลฯ นักวิจารณ์บางคนถึงกับยกคำกล่าวอ้างที่ตัว Hemingway เคยเขียนไว้ในงานเขียนเรื่องสั้น Soldier’s Home มาย้อน Discredited ตัวเขาเอง ที่ว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักเขียนชั้นยอดจะเป็นคนพูดปด...ความสามารถพิเศษที่สำคัญของพวกเขาอย่างหนึ่งก็คือการโกหกหรือกุเรื่องขึ้น.....พวกเขามักโกหกโดยไม่รู้ตัว....” (“It is not unnatural that the best writers are liars,….A major part of their trade is to lie or invent…They often lie unconsciously…..”)
Hemingway เริ่มโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อตีพิมพ์งานรวมเรื่องสั้น In Our Time ที่ถือเป็นงานระดับ Breakthrough ของเขาและของวงการ นั่นตรงกับปี ๒๔๖๘ ยุคต้นรัชกาลที่ ๗ และ (ด้วยคำแนะนำของ Ezra Pound ที่บอกให้เขาหันมาเขียนนวนิยายแทนเรื่องสั้น) ย้ำด้วยนิยายที่ดังคับโลกอีกสองเล่ม The Sun Also Rises และ A Farewell to Arms ในปี ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๒ ตามลำดับ หนังสือทั้งสองเล่มนั้นขายได้หลายแสนเล่มทั่วโลก พื้นเรื่องทั้งสองดึงเอามาจากประสบการณ์ตรงของเขาในสงครามโลกครั้งแรก
ทว่าในยามสงบ เขาก็เริ่มหันไปสนใจการสู้วัวในสเปน และการออกล่าสัตว์ในทุ่งซาฟารี และตกปลาน้ำลึกในฟลอริดาและคิวบา โดยประสบการณ์อันแรกเขาใช้มันหมดไปกับ Death in the Afternoon และเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง ผมเองมีนิตยสาร Fortune ฉบับเดือนมีนาคม ๒๔๗๓ ซึ่งถือเป็นฉบับที่สองรองจากฉบับปฐมฤกษ์ ในนั้นมีบทความของเขาเรื่อง Bullfighting, Sport and Industry ที่เขาเขียนเป็น Scoop สำหรับนิตยสารธุรกิจ เน้นเรื่องจริงมิใช่เรื่องแต่ง มีตัวเลขสถิติอ้างอิงอย่างน่าสนใจ พิสูจน์ให้เห็นว่าเขารู้เรื่องการสู้วัวและอุตสาหกรรมสู้วัวดีมาก แถมยังเขียนหนังสือได้หลายแนวอีกด้วย
ส่วนประสบการณ์อย่างหลัง ถ้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในซาฟารี ก็ต้องนับว่าเขาใช้มันหมดไปกับ Green Hills of Africa และ The Snow of Kilimanjaro (ถ้านับอย่างกว้างก็อาจรวมถึง The Dangerous Summer ที่ตีพิมพ์รวมเล่มหลังเขาตายด้วยก็ได้) ส่วนประสบการณ์ในการตกปลาน้ำลึกนั้น เขาค่อยๆ ใช้มันไปอย่างค่อนข้างคุ้มค่า ทั้งกับบทสัมภาษณ์และเรื่องสั้นที่เขาให้กับนิตยสารจำนวนมาก (เขาดังยิ่งกว่าดาราเสียอีก) ทว่า ที่สำคัญมากก็คือนวนิยายเรื่อง The Old Man and the Sea ซึ่งถือเป็นผลงานชั้นยอด และนำพาให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ๒๔๙๗ นับว่ากู้ชื่อเสียงให้เขามากในตอนแก่ หลังจากที่เขาไม่สามารถผลิตงานชั้นยอดได้อีกเลยนับแต่ For Whom the Bell Tools ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ โน่นแล้ว (และถ้านับอย่างกว้างอีก ก็อาจต้องรวมเอา Island in the Stream ที่ตีพิมพ์หลังเขาตายไว้ด้วยเช่นกัน)
เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในสเปน Hemingway ก็เข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้ร่วมรบเหมือนอย่าง George Orwell แต่ก็เข้าข้างพรรคคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน เขารอจนถึงปี ๒๔๕๓ จึงค่อยดึงเอาประสบการณ์ช่วงนั้นมาใช้ใน For Whom the Bell Tools (อาษา ขอจิตต์เมตต์ เคยแปลเป็นไทยไว้ในชื่อ “ศึกสเปน”) นวนิยายที่ขายดีที่สุดของเขาและทำให้เขากลายเป็นเศรษฐี และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ลดทอนความกระตือรือร้นของเขาต่อสถานการณ์สงครามในเวลาต่อมา เพราะเมื่อมองความสัมพันธ์ของเขาต่อสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว จะเห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงน้อยมาก ทำให้สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไม นวนิยายของเขาที่มีพื้นเรื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองถึงไม่มี แม้เขาจะเป็นคนชอบสงครามและฉากสงครามก็ตามที
Dark Side of an Artist
กลับกัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขากลายเป็นคนดื่มหนักและใช้ชีวิตหัวราน้ำในฟลอริดาและคิวบา เขาซื้อบ้าน (The Finca Vigia) และเรือในคิวบา และใช้ชีวิตที่เหลือส่วนใหญ่ที่นั่น เขาสนุกกับการตกปลาน้ำลึก และใช้ชีวิตเข้าสังคม และดื่มกับคนทุกชนชั้นในฮาวานา เมื่อฮิตเล่อร์เริ่มบุกโน่นบุกนี่ เขาก็เริ่มเชื่อในทฤษฎีที่ว่าคิวบาจะต้องตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของพวกเผด็จการฟัซชิสเหมือนอย่างสเปน โดยฮิตเล่อร์จะแอบส่งเรือดำน้ำ U-boat เข้ามาส่งกำลังบำรุงให้กับกลุ่มปฏิวัติหรือพวกสเปนฝ่ายขวาในฮาวานา เขาจึงเริ่มขายความคิดนี้ให้กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำคิวบาซึ่งเป็นเพื่อนวงเหล้ากับเขาเอง เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนให้เขาจัดตั้งกองกำลังสอดแนมขึ้นระวังภัย
รัฐบาลสหรัฐฯ “ซื้อ” ความคิดเขา เลยเป็นที่มาของปฏิบัติการที่เขาเรียกว่า The Crook Factory ซึ่งเขาได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 1,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน เพื่อจัดจ้างสายสืบ 6 คน และจารชนอีกกว่า 20 คน ให้คอยติดตามและรายงานพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย กับน้ำมันอีกเดือนละ 122 แกลลอน พร้อมปืนกลและระเบิดมือ สำหรับติดตั้งบนเรือของเขา ที่ต้องใช้ลาดตระเวนในพื้นที่ที่คาดว่า U-boat จะโพล่มา
จุดนี้ นับเป็นจุดด่างพร้อยอันหนึ่งในชีวิตของ Hemingway เพราะนอกจากจะไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่าทีมของเขาได้พบ Spy ฝ่ายเยอรมันแล้ว คนยังวิจารณ์เขาว่าทำเรื่องไม่เป็นเรื่องเพื่อต้องการเที่ยวเล่นตกปลาฟรีๆ เสียมากกว่า (“Just cruise around and have a good time.”) ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ผมก็ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผมพบว่าเอกสารของ FBI สมัยนั้น ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว โดยมีคนหัวใสบางคนเอาแฟ้มทั้งแฟ้มที่เกี่ยวกับ Hemingway ที่ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 127 หน้า มาถ่ายสำเนาลงไว้ในแผ่น CD-ROM แล้วนำมาขายผ่านเว็บไซต์บางแห่ง ตรวจสอบดูก็พบว่า FBI ขณะนั้นก็สงสัยในตัว Hemingway มาก พวกเขาทำรายงานส่ง J. Edgar Hoover ว่าข้อมูลที่เฮมิ่งเวย์ได้มานั้น มันไร้สาระ ไม่มีมูลพอเชื่อถือได้ รัฐบาลสหรัฐฯ สูญเงินเปล่า
จุดด่างอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้คนและนักเขียนชีวประวัติเขามักตำหนิเสมอ ก็คือการปฏิบัติต่อเพื่อนฝูง ข้อนี้เขาเหมือนกับรุสโสที่วิวาทกับเพื่อนฝูงเกือบทุกคน ทั้งสนิทและไม่สนิท นักวิจารณ์เห็นลงกันว่า อาจเกิดจากความที่เขาเป็นคนขี้อิจฉา เขาวิจารณ์เพื่อนปัญญาชนอย่างรุนแรงใน A Moveable Feast จะมียกเว้นก็แต่ Ezra Pound ที่เขาถือว่าตัวติดหนี้บุญคุณอยู่ และ James Joyce ที่เขายกย่องในฝีมือการเขียนมาก ถึงกับกล่าวว่า Joyce เป็น “นักเขียนที่ยังมีชีวิตอยู่คนเดียวที่เขานับถือ” (“The only alive writer that I ever respected”) และ Scott Fitzgerald ที่เขามองว่าหน่อมแน้ม ไม่เคยแม้กระทั่งนอนกับสาวอื่นนอกจากภรรยาตน และเพียงแค่คำพูดวางยาของภรรยา ก็ถึงกับเก็บมาคิดเป็นปมในใจ เขาเลยขอให้เจ้าตัวควัก “อวัยวะเพศ” ออกมาตรวจสอบดู เมื่อเห็นว่าขนาดของมันปกติดี จึงบอกให้เลิกกังวลได้ เพราะมันไม่ได้เล็กเกินไปอย่างที่ภรรยาตัวดีปรามาสเอาไว้
กับครอบครัวเอง Hemingway ก็มักปฏิบัติด้วยแบบไม่ค่อยดีนัก เพราะนอกจากเขาจะเขียนด่าแม่ตัวเอง (เคยใช้คำว่า “Bitch” เรียกแม่ตัวเองด้วย) และไม่พูดกันเลยในช่วงหลัง นับแต่พ่อเขาฆ่าตัวตาย เขายังด่าและถากถางพี่น้อง จะมีก็แต่น้องสาวคนเดียวเท่านั้น ที่เข้ากับเขาได้ (Ursula) ยิ่งกับภรรยาทั้ง 4 ของเขาด้วยแล้ว ยิ่งมีเรื่องราวให้เศร้าใจมากหลาย เร็วๆ นี้ ขนาด Gore Vidal นักเขียนใหญ่ของอเมริกา ยังกล้าเขียนไว้อย่างเปิดเผยในอัตชีวประวัติตัวเองว่า เขาเห็นใจผู้หญิงของ Hemingway ทุกคนเป็นอย่างยิ่ง (หมายเหตุ—ถ้าสนใจก็ลองอ่าน Point to Point Navigation ได้นะครับ)
อันที่จริง เรื่องผู้หญิงกับเฮมิงเวย์ เป็นเรื่องใหญ่ มีรายละเอียดมาก สามารถเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาต่างหากได้ พอๆ กับเรื่องเขากับเหล้านั่นแหละ ในที่นี้ผมจะคัดมาเพียงให้เห็นภาพความสัมพันธ์แบบคร่าวๆ ส่วนผู้สนใจอาจหาอ่านแบบเจาะลึกได้ในหนังสือชีวประวัติของเขาจำนวนมาก โดยเฉพาะงานของ Bernice Kert ชื่อ The Hemingway Women ที่นักวิจารณ์ให้การยอมรับ
Hadley Richardson ภรรยาคนแรกของ Hemingway แก่กว่าเขา 8 ปี เป็นคนง่ายๆ แต่มีเสน่ห์ และค่อนข้างมีฐานะ พวกเขาอยู่กินกันในปารีสระยะแรกด้วยเงินของเธอ ตอนนั้นพวกเขาเริ่มมีลูกเล็ก (Jack หรือ “Bumby”) หลังจากนั้นเธอก็อ้วน ขณะใช้ชีวิตร่วมกัน เฮมิ่งเวย์นอกใจเธอหลายครั้ง ที่สำคัญคือกับ Lady Twysden สาวสังคมพราวเสน่ห์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครสำคัญ Brett Ashley ใน The Sun Also Rises และกับ Pauline Pfeiffer บุตรีของเจ้าที่ดินใหญ่และพ่อค้าธัญพืชแห่ง Arkansas เธอทั้งสวย ทั้งเซ็กซี่ และทั้งรวย แต่แก่กว่าเขา 4 ปี
ความสัมพันธ์แบบรักสามเส้าดำเนินไปแบบเปิดเผย และกล้ำกลืนเหลือทนต่อ Hadley จนเธอทนไม่ไหวและขอหย่า เฮมิ่งเวย์ก็เลยหมดเสี้ยนหนาม และแต่งงานกับพอลลีน เธอลงทุนซื้อบ้านสวยที่ Key West ฟลอริดา ไว้ตกปลาน้ำลึก จนกลายเป็นเรื่องที่เฮมิ่งเวย์หลงใหลไปเกือบจะตลอดชีวิต เธอมีลูกกับเขาสองคนคือ Patrick และ Gregory ระหว่างที่ท้องลูกคนหลังนี้เอง ที่เฮมิ่งเวย์เริ่มนอกใจเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Jane Mason ภรรยาสุดสวยของผู้จัดการสายการบิน Pan-American Airways ในคิวบา เขาและเธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฮาวานา กินเหล้า เล่นเรือ ตกปลา ขับรถแข่ง และใช้ชีวิตหัวราน้ำ ขณะนั้นเป็นราว พ.ศ. ๒๔๗๔
Hadley พยายามดึงเขากลับหาเธอทุกหนทาง เธอเขียนจดหมายง้อเขาอย่างหยาดเยิ้ม ทำศัลยกรรมใบหน้าใหม่ สร้างสระน้ำใหม่ที่บ้าน Key West แต่ก็ช่วยได้อีกพักใหญ่ (หมายเหตุ—หาอ่านได้ใน Earnest Hemingway: Selected Letters, 1917-61 โดย Carlos Baker) แล้วความสัมพันธ์ก็แย่ลงอีก เฮมิ่งเวย์โทษเธอทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตคู่ต้องพินาศลง เฮมิ่งเวย์เคยเขียนไว้ใน To Have and Have Not (กร โกศล เคยแปลเป็นไทยไว้ในชื่อ “ชีวิตเถื่อน”) ไว้ว่า “ยิ่งคุณเอาใจใส่ผู้ชายดีเท่าใด และให้เขารู้ว่าคุณรักเขามากเพียงใด เขาก็จะเบื่อคุณเร็วเท่านั้น” (The better you treat a man and the more you show him you love him, the quicker he gets tired of you”)
ภรรยาคนที่สามของเขาคือ Martha Gellhorn นักข่าวหญิง ผู้มีความทะเยอทะยานสูงมาก เขาพบเธอครั้งแรกในร้านเหล้าเจ้าประจำ Sloppy Joe’s ที่ Key West เมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๔๗๙ แล้วก็ชวนเธอไปสเปนด้วยในปีต่อมา เธอชอบเขาเพราะเขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อ และอยากจะซึมซับศิลปะการเขียนจากเขา เธอเป็นคนฉลาดและขัดขืนเฮมิ่งเวย์มากที่สุดในบรรดาภรรยาของเขา เธอห้ามไม่ให้เขากินเหล้า ครั้งหนึ่งหลังงานเลี้ยง เธอยืนยันจะขับรถเองเพราะเห็นว่าเขาเมา จนทะเลาะกัน เขาตบหน้าเธอ เธอเลยขับ Lincoln รถหรูของเขาพุ่งเข้าหาต้นไม้ แล้วก็ทิ้งเขาไว้อย่างนั้น นอกจากนั้นเธอยังแกล้งแมวที่เขารัก และดุด่าว่ากล่าวเขาเรื่องความสกปรกรกรุงรัง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เลวลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สิ้นสุดลงอย่างถาวรเมื่อปี ๒๔๘๗
Mary Welsh ภรรยาคนสุดท้ายของเขา เป็นคนที่อยู่กับเฮมิ่งเวย์จนวาระสุดท้าย เธอเป็นนักข่าวของหลายนิตยสาร รวมทั้ง Times ด้วย เธอเคยแต่งงานมาแล้วสองหนก่อนพบกับเฮมิ่งเวย์ ดูเหมือนเธอจะหย่าสามีคนที่สองเพื่อมาแต่กับเขาด้วยซ้ำ เธอไม่ใช่คนทะเยอทะยานแบบ Martha แต่เธอเป็นคนจัดการกับอะไรๆ ได้ดี เธอจึงลาออกจากงานอาชีพ เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เธอช่วยจัดการชีวิตและบ้านช่องให้กับเขาได้มาก เธอยอมอยู่ใต้เขาและรับใช้เขา เธอตามไปรับใช้เขาทุกที่ ตกปลา ล่าสัตว์ สู้วัว ฯลฯ แม้เธอจะกล้ำกลืนกับความเจ้าชู้ของเขา (บางครั้งเขาก็เอาผู้หญิงอื่นไปด้วย) เธอก็ทนได้ ครั้งหนึ่งเขาสาดไวน์ใส่หน้าเธอแล้วก็เปรียบเธอเป็นนางแพศยา เธอตอบเขาว่า ถ้าเขาต้องการกำจัดเธอ เธอจะไม่ยอมไปจากบ้านเด็ดขาด นอกจากเขาจะยอมอ้อนวอนเธอด้วยความน้อบน้อมเท่านั้น (“So try as you may to goad me to leave it and you, you’re not going to succeed….No matter what you say or do, short of killing me, which would be messy, I’m going to stay here and run your house and your Finca until the day when you com here, sober, in the morning and tell me truthfully and straight out that you want me to leave.”)
ผมสามารถรวบรวมรายชื่อผู้หญิงบางคนที่เฮมิ่งเวย์ไปติดพันด้วยขณะใช้ชีวิตอยู่กับ Mary ได้คร่าวๆ ดังนี้คือ Marlene ‘The Kraut’ Dietrich, Lauren Bacall, Nancy ‘Slim’ Hayward, Virginia ‘Jigee’ Viertel, Adriana Ivancich, และ Valerie Danby-Smith ซึ่งเฮมิ่งเวย์จ้างให้ไปทัวร์สเปนด้วย โดยให้เธอนั่งหน้ารถแล้วคอยจับมือเขาไว้ ในขณะที่ Mary นั่งข้างหลัง (เข้าใจว่าตอนนั้นเฮมิ่งเวย์เป็นกามตายด้านแล้ว) และต่อมาเธอก็ได้แต่งงานกับ Gregory ลูกชายคนสุดท้องของเขา
ส่วนบรรดาลูกๆ ของเฮมิ่งเวย์นั้นก็เหมือนกับลูกคนมีชื่อเสียงทั่วไป ที่ต้องประสบปัญหาบ้านแตก พ่อแม่แยกทางกัน และต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับพี่เลี้ยง ลูกคนโตของเขามีลูกสาวเป็นดารา แสดงหนังเรื่อง Lipstick โด่งดังมาก แต่ก็ฆ่าตัวตาย เหมือนกับปู่และทวดของเธอ ลูกคนกลางนั้น ต่อมาได้สานต่องานประพันธ์ของบิดา เขาเป็นคนนำต้นฉบับหลายเรื่องที่เฮมิ่งเวย์เขียนไม่จบมาตีพิมพ์หลังจากพ่อเขาเสียชีวิตแล้ว หลายเรื่องเขาก็มีส่วนอย่างมากในการ Edit ต้นฉบับของพ่อเขาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง True at First Light และ Under Kilimanjaro
ส่วนลูกคนสุดท้อง ก็ได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเกี่ยวกับพ่อ ว่ากันว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความทรงจำที่ขมขื่น อย่างตอนหนึ่งที่ว่า สมัยเด็กเขาถูกตำรวจคาลิฟอร์เนียจับ แม่เขา (Pauline) ซึ่งตอนนั้นหย่าขาดกับเฮมิ่งเวย์ไปนานแล้ว ก็โทรศัพท์ไปหาเขาเพื่อแจ้งว่าลูกชายถูกจับและต้องการปรึกษา แต่กลับถูกเฮมิ่งเวย์ด่ากลับมาในทำนองว่าเธอดูแลลูกไม่ดี แล้วก็เลยทะเลาะกันหนัก จน Pauline ตะโกนใส่โทรศัพท์แล้วก็วางหู และรุ่งขึ้นเธอก็เสียชีวิต (ในวัย 65) ด้วยเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตกำเริบ เรื่องนี้ทำให้พ่อลูกโทษซึ่งกันและกันจนตลอดชีวิต พ่อก็โทษความเหลวไหลของลูก ส่วนลูกก็โทษความเดือดดาลเกินเหตุของพ่อ
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตาย เฮมิ่งเวย์ติดเหล้าอย่างหนัก อันที่จริงเขาเป็นคนดื่มจัดมาแต่แรกรุ่น ทว่า มาเริ่มติดเหล้าอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วงที่เริ่มดื่มหนักกับ Jane Mason ตอนสวิงกันสุดเหวี่ยงในคิวบา เพราะไล่ๆ กันนั้น มีหลักฐานว่าตับของเขามีปัญหา เขาดื่มเหล้ามาแล้วเกือบทุกชนิด เริ่มตั้งแต่สมัยแรกรุ่นที่ชอบ Cider แล้วก็มาเป็น Cognac (สมัยที่นอนซมอยู่ในโรงพยาบาลตอนสงครามโลกครั้งแรก) แล้วก็มาเป็น Wine ตอนอยู่ปารีส (เขาซื้อไวน์ทีละแกลลอน และเคยดื่มไวน์แดงถึง 6 ขวดในคราวเดียว) หนังสือ A Moveable Feast ทำให้เรารู้ว่า เขาเคยสอนให้ Scott Fizgerald ยกซดไวน์จากขวด เขาว่ามันให้ความรู้สึกเหมือน “ผู้หญิงที่ไปว่ายน้ำโดยไม่ใส่ชุดว่ายน้ำ” (“a girl going swimming without her swimming suit”) น้องชายเขา (Leicester) เคยเขียนว่า ช่วงที่อยู่ Key West เขาดื่มวิสกี้กับโซดาอย่างน้อยวันละ 17 แก้ว และยังดื่มแชมเปญก่อนเข้านอนอีกด้วย เขามีร้านเหล้าขาประจำทุกแห่งที่เขาไปอยู่ เมื่อเขารวยแล้ว เขามักเลี้ยงเหล้าคนทั่วไปที่เขาเจอ สมัยคิวบา เขามักดื่มแบบ “สังขยา” โดยเริ่มจาก Rum แล้วก็เปลี่ยนเป็น Vodka แล้วตบท้ายด้วย Whisky ผสมโซดา จนถึงตีสาม พอรุ่งเช้าก็จะถอนด้วยน้ำมะนาวโซดา หรือน้ำส้ม แล้วก็เริ่มด้วย Gin, Champagne, Scotch หรือ “Death in the Gulf Stream” (เขาตั้งชื่อให้) แล้วก็จบลงที่เหล้าวิสกี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบดื่มเป็นประจำ Patrick บอกว่าพ่อของเขาดื่มวิสกี้วันละกั๊ก (หนึ่งส่วนในสี่ส่วน) ทุกวัน ตลอดช่วง 20 ปีหลังของชีวิต
ชื่อเสียงเรื่องกินเหล้าของเขาเป็นที่เลื่องลือ (ว่ากันว่าเขาเชี่ยวชาญ 4W คือ “Words, Wild, Women, Wine) เขาเป็นคนคิดคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Have a drink” และเขามีความสามารถในการเก็บงำความเมาไว้ไม่ให้ใครรู้ ว่ากันว่าหลายครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ เขากำลังเมาอยู่ แต่คนสัมภาษณ์มักไม่รู้ แต่การที่เขาเมาอยู่เป็นส่วนใหญ่นี้เอง ที่น่าจะเป็นสาเหตุให้เขาได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง หนังสือ “ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว” ของพิมาน แจ่มจรัส ประมวลเอาไว้ได้น่าสนใจยิ่ง ตั้งแต่หกล้มไม้แทงคอจนมีปัญหากับต่อมทอนซิลเมื่อยังเล็ก ไล่มาสู่การบาดเจ็บจากชกมวยและเล่นฟุตบอล และถูกเบ็ดเกี่ยวหลัง (ราวปี ๒๔๕๘-๒๔๖๐) ทะลวงหมัดทะลุตู้โชว์กระจก และถูกกระสุนปืนครกและปืนกล จนสมองได้รับความกระทบกระเทือน (๒๔๖๑) เดินเหยียบกระจก และล้มถูกเหล็กฉากผูกเชือกเรือ จนช้ำเลือด (๑๔๖๓) ถูกน้ำร้อนลวก (๒๔๖๕) เส้นเอ็นเท้าขวาขาด (๒๔๖๘) ลูกเอาเล็บปัดโดนตาดำข้างขวาจนอักเสบหนัก (๒๔๗๐) ดึงฝาเปิดหลังคาเหนือศีรษะเพราะนึกว่าชักโครก จนกระแทกหน้าผากแตก เย็บหลายเข็ม (๒๔๗๑) กล้ามเนื้อขาหนีบฉีก (๒๔๗๒) นิ้วชี้ขวาฉีกเพราะการชกถุงลม (๒๔๗๓) ตกม้า ๒๔๗๓) ปืนลั่นใส่ขาตอนเมาขณะกำลังใช้ฉมวกแทงฉลาม (๒๔๗๘) เตะประตูหัวแม่เท้าแตก (๒๔๗๙) กระโดดเตะกระจก (๒๔๘๐) เกาจนตาดำอักเสบ (๒๔๘๑) รถชนถังน้ำจนสมองได้รับการกระเทือนครั้งที่สอง (๒๔๘๗) และอีกครั้งเพราะกระโดดจากจักรยาน จนตาพร่าและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (๒๔๘๗) รถคว่ำ หัวทิ่มกระจก และหัวเข่าอักเสบ (๒๔๘๘) ถูกสิงโตตะปบ (๒๔๙๒) พลาดล้มบนเรือ บาดเจ็บที่หัวและขา เสียเลือดมาก และสมองกระเทือนเป็นครั้งที่สี่ (๒๔๙๒) ตกรถหน้าแตก ไหล่เคล็ด (๒๔๙๖) และช่วงหน้าหนาวของปีนั้น เขาประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในอาฟริกา คือถูกไฟไหม้ขณะเมาและพยายามจะดับไฟ กับเครื่องบินตกสองครั้งซ้อน จนสมองได้รับการกระเทือนอีกครั้ง กะโหลกร้าว เลือดตกใน กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ไขสันหลังเดาะ ตับ ไต และม้ามแตก แขนและหัวไหล่ขวาหลุด ถูกไฟลวกอาการสาหัส (๒๔๙๖-๒๔๙๗ อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เขาต้องพักยาวและอดไปรับรางวัลโนเบลที่สวีเดน) แถมด้วยเอ็นส้นเท้าขาดขณะปีนรั้ว (๒๕๐๑) และรถตกถนนอีกครั้ง (๒๕๐๒)
โรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้สุขภาพเขาเสื่อมโทรม นอกจากตับแข็ง และไตพิการแล้ว เขายังเป็นไฟลามทุ่งที่หน้า เบาหวาน เลือดข้น บวมน้ำ ข้อเสื่อม นอนไม่หลับ และพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า จนต้องเข้ารักษาตัวด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้า แต่ก็รังแต่จะหนักขึ้น จนเขาพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง และในที่สุด เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๔ เขาก็ยิงตัวตาย
Hemingway เป็นตัวอย่างของศิลปินที่ใช้ชีวิตหวือหวา ทว่า รักษาคุณภาพของงานศิลปะ หรืองานเขียนของเขาด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่งตลอดชีวิตของเขา พูดง่ายๆ ว่าเขาเป็นคนที่มี “Artistic Integrity” สูงและคงเส้นคงวา เขาค้นพบวิธีเขียนงานอย่างใหม่ และใช้ภาษาแบบใหม่ แบบที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน สิ่งนั้นคือ “นวัตกรรม” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์” อย่างเยี่ยมยอด จนส่งอิทธิพลต่อการเขียนความเรียงในภาษาอังกฤษมาจนกระทั่งทุกวันนี้
เขาบรรลุถึงศักยภาพอันสุดยอดของตนในช่วงวัยหนุ่ม และหลังจากนั้น เขาก็มีชื่อเสียงคับโลก ทว่าในเชิงงานเขียน เขากลับไม่สามารถทำลายสถิติเดิม หรือทำให้ดีไปกว่าเดิม หรือสร้างสรรค์ยิ่งกว่าเดิม ได้อีกแล้ว แต่ความที่เขาเป็นศิลปินที่มี Artistic Integrity สูง ทำให้เขาต้องดิ้นรน ไขว่คว้า ถีบตัว ตะเกียกตะกาย มุ่งมั่น รีดเร้น และทำทุกวิถีทางที่จะเขียนหรือสร้างสรรค์งานให้ดีกว่าเดิม ให้จงได้
แต่เขาคงจะพบว่า มันไม่ง่ายเลย
เขาจึงเริ่มเข้าหาสุรา จากเดิมที่เขาไม่เคยใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการเขียนหนังสือเลย เขาก็เริ่มใช้มัน จากน้อย ไปหามาก แล้วก็มากๆ คนที่เคยเห็นเขาในช่วงปี ๒๔๘๓-๒๔๙๓ บอกเล่าว่า “เขามักตื่นตอนตีสี่ครึ่ง แล้วก็ดื่มเลย พร้อมกับยืนเขียนหนังสือไปด้วย มือหนึ่งถือปากกา อีกมือก็ถือแก้วเหล้า” (“usually starts drinking right away and writes standing up, with a pencil in one hand and a drink in another”)
พวกเราที่เป็นคนเขียนหนังสือย่อมรู้ดีว่า การใช้แอลกอฮอล์ไม่เป็นผลดีต่องานเขียนเลยแม้แต่น้อย ทว่า กลับกัน มันยิ่งทำให้แย่ (ใครไม่เชื่อก็ลองดูได้) นั่นอาจอธิบายได้ว่างานช่วงหลังของเฮมิงเวย์จึงสู้งานช่วงแรกไม่ได้ จะมียกเว้นก็แต่ The Old Man and the Sea เท่านั้นที่ออกมาดีมาก แต่ก็ยังไม่นับว่า สามารถ “ทะลุ” หรือ Breakthrough ออกไปจากสิ่งที่เคยทำไว้ (นวนิยายเรื่องนี้ เคยมีผู้แปลเป็นไทยอยู่สองสำนวน คือ อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลไว้ในชื่อ “ชายเฒ่ากลางทะเลลึก” และ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ แปลไว้ในชื่อ “เฒ่าผจญทะเล”)
ตัวเฮมิงเวย์เอง ย่อมรู้อยู่เต็มอก ว่าเขาไม่สามารถทำลายสถิติเดิมได้อีกแล้ว ราวกับว่าเขาเป็น “เหยื่อของความสำเร็จในอดีตของตัวเอง” หรือเป็น “Victim of his own success” และนั่น ประกอบกับความที่เขาเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ไม่เชื่อพระเจ้า และไม่มีศาสนาคอยน้อมนำใจ ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์อันใหญ่หลวง และแสนสาหัส โดยไม่รู้จะ “ปลง” หรือ “นิโรธ” อย่างไร แล้วในที่สุดก็เป็นที่มาของวงจรอุบาทว์ในชีวิต คือ สิ้นหวัง-เหล้า-กายเสื่อม-จิตเสื่อม........หรือ เหล้า-สิ้นหวัง-กายเสื่อม-จิตเสื่อม.... แล้วแต่จะคิด (ไม่ได้เทศนานะครับ)
ผมชอบ Paul Johnson ที่วิเคราะห์ถึงการตัดสินใจฆ่าตัวเองและบทเรียนจากการตายของ Hemingway ไว้ดีมากๆ ว่า “He was a man killed by his art, and his life holds a lesson all intellectual need to learn: that art is not enough”
ตอนตาย เฉพาะห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านในคิวบาของเขา มีหนังสือกว่า 7,400 เล่ม
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พฤษภาคม 2551
ขอขอบคุณผู้เขียนและผู้แปลหนังสืออ้างอิงที่ผมใช้ประกอบการเรียบเรียงบทความนี้คือ
1. Paul Johnson, Intellectual
2. พิมาน แจ่มจรัส, ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว
3. เชน จร้สเวียง (แดนอรัญ แสงทอง), "ว่าด้วยการเขียน"
หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านที่สนใจอ่านประวัติของปัญญาชนฝรั่ง สามารถคลิกอ่านจากลิงค์ข้างล่าง (Jean-Paul Sartre)
ซั้ต
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น