วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย


รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นยุคที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกท้าทายมากที่สุด การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (Absolute Monarchy) และทำลายฐานอำนาจของฝ่ายขุนนางเดิมลงอย่างสิ้นเชิง ในรัชสมัยก่อนหน้านั้น แม้จะส่งผลดีต่อฝ่ายกษัตริย์ แต่ก็ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์เอง กลายเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ หรือสนับสนุนให้เกิดระบอบการบริหารแบบ Participative Management ทั้งในนามของ “การปกครองตนเอง” และ “ประชาธิปไตย”

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตได้เพียง 15 เดือน ก็ได้เกิดกรณี “กบฏ ร.ศ.130” ขึ้น ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่กุมอำนาจการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยนั้นหวั่นวิตก และเริ่มมองเห็นว่าในที่สุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิด Innovation มิฉะนั้นอาจจะถึงจุดจบ เหมือนกับหลายประเทศในโลกขณะนั้น

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งมีขึ้นหลังจากเกิด “กบฏ ร.ศ.130” เป็นเวลา 10 เดือน) ที่เรานำมาพิมพ์ต่อไปนี้ น่าจะทำให้พวกเราเข้าใจจุดยืนทางพระราชดำริของพระองค์ต่อประเด็นปัญหานี้ ว่าพระองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีการนำระบอบ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” มาใช้ ณ ขณะนั้น (และอย่างน้อย ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์มีพระราชนิยมไปในทางนั้นเลย)

ปัจจุบัน แม้เราจะมีประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลาน และข้อถกเถียงแบบเดิมก็ยังคงวนเวียนอยู่ แม้ในเชิงวัตถุแล้ว ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก จากยุคสมัยที่กล่าวถึง ลัทธิจักรวรรดินิยมแบบเดิมก็มลายสิ้นไปนานแล้ว แต่ทว่า ในเชิงจิตสำนึกแล้ว ผู้คนจำนวนมาก ก็ยังคงคิดว่าเรายังคงไม่พร้อมที่จะก้าวเดินไปตามหนทางของประชาธิปไตยแบบตะวันตก เฉกเช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยรู้สึกเช่นนั้น มาช้านานแล้ว อยู่ดี

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำถามนี้ ยังคงเป็นปริศนา และยังคงรอคอยคำตอบที่เหมาะสม

ก็ไม่แน่ว่า ถ้าพวกเราหันกลับมาพิจารณาคำถามนี้ร่วมกันอีกสักครั้งหนึ่ง ก็อาจทำให้พวกเราค้นพบ Innovative Solutions ที่จะเป็นทางออกให้กับการเมืองไทยในอนาคต ก็เป็นได้

พระราชดำรัสฯ ต่อไปนี้ เป็น Speech ตอบคำถวายชัยมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๓๑*)

มีเนื้อความดังต่อไปนี้



“ถ้อยคำที่พระยาไพศาล** ได้กล่าวแล้วนั้นจับใจเรายิ่งนัก การโรงเรียนที่เราได้จัดตั้งขึ้นนี้เป็นการทดลอง ถ้าเปรียบด้วยการทำสวน ความสำเร็จที่จะให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้เพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่คนทำ ความหวังในการปลูกเพาะพืชพรรณนั้น ก็เพื่อจะให้งอกงามและเกิดดอกออกผล เมื่อถึงคราวต้นไม้มีผลเข้าแล้ว ถึงแม้ว่าผลประโยชน์จะตกเป็นของเราผู้เป็นเจ้าของสวนก็จริง แต่ชาวสวนซึ่งเป็นผู้ทำย่อมจะได้ส่วนในประโยชน์นั้นด้วย อย่างน้อยก็จะได้ความอิ่มเอิบใจ ว่างานที่ตัวได้ลงแรงทำไว้ในสวนนั้นเป็นผลสำเร็จมิได้เสียแรงเปล่า แต่ในเวลานี้เราพึ่งได้ตั้งต้นเพาะปลูกต้นไม้ลงไว้ เพราะฉะนั้นการที่จะได้เห็นว่า ต้นไม้ของเราเผล็ดดอกออกผลได้ประโยชน์เพียงใดนั้น ต้องอาศัยคอยเวลาให้นานๆ ไปสักหน่อย ในบัดนี้เรายินดีที่จะกล่าวได้อย่างหนึ่งว่า คนทำสวนของเราล้วนแต่ตั้งหน้าเอาใจใส่การงานในสวนจริงๆ การเพาะปลูกได้ดำเนิรไปเป็นอันดี เป็นที่หวังได้ว่าคงจะเป็นผลสำเร็จแน่

การปลูกสติปัญญาฝึกสอนคนให้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ดีนี้ เป็นหน้าที่สำคัญนัก เป็นงานที่ต้องทำด้วยปัญญาความคิดประกอบกับแรงกาย ในเบื้องต้นก็จะต้องใคร่ครวญให้เห็นแน่แก่ใจเสียก่อนว่า การฝึกสอนกล่อมเกลานั้นจะให้ได้รูปอย่างที่เรียกว่า เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอันดีนั้นอย่างไร แล้วจะต้องใช้วิธีฝึกฝนกล่อมเกลาให้สำเร็จรูปได้ดั่งประสงค์ ซึ่งเป็นของยากต้องประกอบพร้อมด้วยสติปัญญาและความสามารถในการฝึกสอนอย่างดีจึ่งจะได้ผลสำเร็จตามปรารถนา หน้าที่ครูจึ่งควรยกย่องว่าเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งนัก ในที่นี้จะขอให้หนทางไว้พอเป็นการช่วยเหลือแก่ครูบ้าง

บรรดาประเทศทั้งปวง ประเทศใดที่รักษานิติธรรมของชาติไว้ได้ดี ประเทศนั้นย่อมดำเนิรขึ้นสู่ความเจริญ ประเทศใดละเลยนิติธรรมของชาติเสีย หรือปล่อยให้เสื่อมทรามไป ภัยย่อมจะมีมาถึงประเทศนั้น ถ้าจะตรวจดูตัวอย่างแล้วจะเห็นได้ในที่ใกล้ๆ กับเรานี้เองเป็นอันมาก นิติธรรมของชาตินั้น คือ คุณสมบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีซึ่งเป็นที่นิยมสืบต่อๆ กันมาในหมู่ประชาชนแห่งชาติ ประเทศตุรกีซึ่งน่ากลัวจะต้องพินาศย่อยยับไปในไม่ช้านี้ ไม่เพราะละเลยนิติธรรมของชาติเสียหรือ*** ถึงประเทศจีนก็เหมือนกัน ถ้าหากไม่รีบจัดการแก้ไขเสียให้ทันท่วงที ก็น่ากลัวอันตรายอย่างยิ่ง**** ในฝ่ายตะวันออกนี้ประเทศที่ยังดำรงเอกราชเป็นปกติอยู่ในเวลานี้ก็มีแต่สยามกับญี่ปุ่นเท่านั้น ในส่วนประเทศเราถ้าหากเราจะต้องเป็นข้าใคร ก็คงเป็นเพราะเรารนหาที่ไปเอง

การที่เราเห็นอะไรของใครแปลก เราพอใจและจะถือเอาเป็นแบบอย่างนำมาใช้สำหรับประเทศเราบ้างนั้น จำเราจะต้องใช้วิจารณญาณสอดส่องเลือกฟั้นให้เห็นเหมาะว่าจะเป็นประโยชน์แก่เราแท้จริงเสียก่อน สิ่งซึ่งเหมาะแก่ประเทศเขา ใช่ว่าจะเหมาะแก่ประเทศเราเสมอไปก็หาไม่ บางทีอาจใช้ไม่ได้ในประเทศเราเสียเลยก็เป็นได้ หรือบางอย่างจะใช้ได้ก็ด้วยเอามาปรุงใหม่ให้เหมาะแก่เรา เพราะฐานะและนิธิธรรมของชาติย่อมต่างๆ กัน การเอาอย่างเขาโดยมิได้พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ เห็นของเขาอย่างไรนึกว่าเก๋ก็เอาอย่างมาทั้งดุ้นๆ นั้น ถ้าไม่เหมาะแก่เราหรือขัดต่อนิติธรรมของเรา ก็จะหาเป็นไปได้อย่างที่เราเห็นของเขานั้นไม่ การเอาอย่างผิดเช่นนี้ เท่ากับกินของแสลงให้โทษมากนัก จะปรากฏอย่างอาการที่เรียกว่าผิดสำแลงทันที ถ้าว่าด้วยการปกครองบ้านเมืองแล้ววิธีปกครองอย่างราชาธิปตัยเป็นนิติธรรมของเราสืบมาแต่โบราณกาล ถ้อยคำที่เราผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่จะกล่าวเข้ากับตนเอง ถ้าหากเราไม่ใช่เป็นพระเจ้าแผ่นดินเราก็คงต้องกล่าวอย่างนี้เหมือนกัน เพราะเราต้องกล่าวด้วยความเห็นอันแน่ชัดแก่ใจเรา ถ้าจะตรวจดูพงศาวดารในเวลาใกล้ๆ นี้ ก็ยังจะเห็นพะยานได้คือ เมื่อสมัยบ้านเมืองเราปั่นป่วนด้วยพระเจ้าแผ่นดินต้องละราชสมบัติเพราะพระจริตวิการ คนทั้งหลายก็พร้อมใจกันเลือกพวกเราคนหนึ่งสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครอบครองกันต่อมา กษัตริย์องค์นั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระปฐมบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ การบ้านเมืองก็ได้ดำเนิรขึ้นสู่ความเจริญเรียบร้อยเป็นลำดับมา

บรรดาครูอาจารย์ทุกคน เมื่อรู้สึกหน้าที่ดั่งที่เราชี้แจงมาและมีความรักชาติบ้านเมือง รักศาสนา จงรักภักดีต่อตัวเรา ดั่งได้กล่าวให้เราได้ฟังแล้ว ขอจงสุจริตต่อหน้าที่ของตน ปฏิบัติหน้าที่แต่โดยชอบปราศจากอคติทั้งสี่ประการ หากจะมีผู้ปกครองเด็ก คือ บิดามารดาหรือคนอื่น ไม่พอใจในหนทางที่ฝึกสอน ก็จงอย่าครั่นคร้าม และคล้อยตามหรือลดหย่อนผ่อนให้เขา แม้เขาไม่พอใจเขาจะขอลาเอาบุตรหลานของเขาออกเสียจากโรงเรียนก็ตามใจเขา หน้าที่ของเราจำจะต้องสอนให้ถูกต้องตามนิติธรรมของชาติดั่งได้ชี้แจงให้ฟังแล้วอย่างไร ก็ให้สอนไปตามหน้าที่ นั่นแหละจะได้ชื่อว่าสุจริตต่อหน้าที่ ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ศาสนา ด้วยความสวามิภักดิ์จงรักต่อเราจริง คนที่รักชาติแต่ปากนั้นมีถมไป แต่การกู้ชาติและรักษาชาติไว้ได้นั้น จะสำเร็จด้วยรักชาติแต่ปากก็หามิได้ พระยาไพศาลมีหน้าที่ในกระทรวงธรรมการ สำหรับจะฝึกหัดกุลบุตรต่อไป ขอให้กำหนดจำไว้ คำที่เรากล่าวแก่ครูในโรงเรียนของเรานี้ ใช้ได้สำหรับครูในโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไปตลอดพระราชอาณาจักร์สยามด้วย

ส่วนนักเรียนทั้งหลาย เจ้าจงมีความพากเพียรในการเรียนและจงเชื่อฟังคำครูสอน จงอยู่ในถ้อยคำของครูเสมอไป จึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นเด็กดีและเป็นศิษย์ดี ต่อไปเจ้าจะต้องรับช่วงเป็นผู้บำรุงชาติของเจ้า และมีหน้าที่ฝึกหัดเด็กๆ เหมือนอย่างที่ครูฝึกหัดเจ้าอยู่ในทุกวันนี้ เจ้าจะรับทำหน้าที่นั้นได้ดี ก็ด้วยเจ้าฝึกหัดตัวของเจ้าดีแต่เวลาเดี๋ยวนี้ไป เพราะฉะนั้นเจ้าต้องเชื่อฟังคำครูสอน โตขึ้นเจ้าจะได้เป็นผู้ฝึกหัดลูกหลานเจ้ากับกุลบุตร ซึ่งจะเกิดมาภายหลังเจ้าให้ดีเหมือนเจ้า นั่นแหละจึ่งจะนับว่าเจ้าเป็นผู้สมควรที่จะเป็นผู้สืบต่อการบำรุงชาติไทย

ในที่สุดนี้เราขอขอบใจเจ้าทั้งหลายที่มาให้พรเราในวันนี้ ขอให้เจ้าทุกคนจงมีความสุขความเจริญ ได้บรรลุประโยชน์และผลสำเร็จในการสอนการเรียนสมความปรารถนาของเจ้าทั้งครูและศิษย์เถิด”

----------------------------



หมายเหตุบรรณาธิการ:

*ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๕ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นเวลา ๒ ปี (โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)

**พระยาไพศาลศิลปะศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อธิบดีกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

***เข้าใจว่าพระองค์ทรงหมายถึงสถานการณ์ในตุรกี หลังจากเหตุการณ์ Young Turk Revolution ในปีค.ศ. 1908 (พ.ศ. ๒๔๕๑) ที่สุลต่านต้องจำยอมลดอำนาจตัวเอง และให้อำนาจกับรัฐสภา

****เข้าใจว่าพระองค์ทรงหมายถึง การก่อตั้ง Republic of China (อาจแปลได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน) ในวันที่ 1 มกราคม 1912 (พ.ศ.๒๔๕๕ คือปีเดียวกันกับท้องเรื่องนี้) ด้วยการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ที่นำโดยด็อกเตอร์ ซุน ยัต เซน (Sun Yat-Zen) ผู้นำสูงสุดของพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) แต่ถึงกระนั้นก็ยังยอมมอบตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกให้กับ หยวนซื่อไข่ (Yuan Shikai ข้าราชการคนสำคัญของราชสำนักชิง) ที่ต่อมาเกิดความมักใหญ่ใฝ่สูง สถาปนาตัวเป็นองค์จักรพรรดิเสียเอง

*****การเน้นประโยคให้เป็น “ตัวดำหนา” และ “ตัวเอียง” เป็นการกระทำของบรรณาธิการเอง ต้นฉบับมิได้เน้นเช่นนั้น

******พระราชดำรัสฉบับนี้ คัดลอกจากต้นฉบับในหนังสือ “พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดพิมพ์โดยได้รับพระบรมราชานุญาตในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น